posttoday

TQM กับ เครือข่ายสีเขียว

23 พฤศจิกายน 2555

ในการบริหารจัดการคุณภาพทั่วทั้งองค์กร (Total Quality Management หรือ TQM)

โดย...วิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม


ในการบริหารจัดการคุณภาพทั่วทั้งองค์กร (Total Quality Management หรือ TQM) นั้นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือความเข้าใจใน “กระบวนการ” (Process)

กระบวนการที่ว่านี้ ก็คือ กระบวนการในการสร้างมูลค่าเพิ่มในแต่ละขั้นตอน หรือที่รู้จักกันดีก็คือ กระบวนการผลิต หรือกระบวนการให้บริการ

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจหรือโรงงานอุตสาหกรรมประเภทใดก็ตาม กระบวนการจะต้องมีองค์ประกอบ 3 ส่วน แต่อาจแตกต่างกันไปบ้างตามลักษณะของกิจการ ได้แก่ องค์ประกอบด้านปัจจัยนำเข้า (Input) การแปลงสภาพปัจจัยนำเข้า (Transformation) และผลผลิตที่เป็นสินค้าหรือบริการ (Product & Service)

ผู้บริหารขององค์กรต่างๆ จะต้องบริหารจัดการองค์ประกอบทั้งสามให้มีข้อผิดพลาดน้อยที่สุด หรือมีคุณภาพสูงที่สุดตามความต้องการของลูกค้า จึงเป็นที่มาที่ไปของความจำเป็นใน “การปรับปรุงกระบวนการอย่างต่อเนื่อง” (Continuous Process Improvement) ทั้งในส่วนของปัจจัยนำเข้า ที่ต้องได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพจากผู้ส่งมอบหรือซัพพลายเออร์ (Supplier) ในส่วนของการผลิตหรือบริการก็ต้องมีขั้นตอนและวิธีการที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพ และในส่วนของผลผลิตก็ต้องรับประกันว่ามีคุณภาพ ความคงทนถาวร หรือความสวยงาม ตามแต่ที่ลูกค้าต้องการหรือคาดหวังไว้

การบริหารคุณภาพทั่วทั้งองค์กรหรือแบบองค์รวม TQM จึงไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะการพัฒนากระบวนการภายในสถานประกอบการเท่านั้น แต่รวมไปถึงการให้ความช่วยเหลือ การกำกับ และควบคุมดูแล (Supervise) ผู้ส่งมอบ หรือซัพพลายเออร์จากภายนอกให้ผลิตและส่งมอบวัตถุดิบที่มีคุณภาพด้วย นอกจากนี้ยังต้องสำรวจและเข้าใจถึงความต้องการของลูกค้าและผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อจะได้ออกแบบกระบวนการและสินค้าอย่างเหมาะสม

เรื่องปรัชญาแนวคิดของ TQM นี้ ยังปรากฏให้เห็นเป็นข้อความในกฎหมายด้วย ดังเช่น รัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 ซึ่งกล่าวไว้ว่า “การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน”

บทบัญญัติข้างต้นนี้แสดงให้เห็นว่า การออกแบบกระบวนการผลิตต่อไปในอนาคตต้องคำนึงถึงลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อให้การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมไม่ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชุมชน

ในส่วนของอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) นั้น เมื่อกระบวนการภายในสถานประกอบการมีระบบและขั้นตอนที่ชัดเจนซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว ขั้นตอนสุดท้ายของการพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียวอย่างเต็มรูปแบบ คือ “การสร้างเครือข่ายสีเขียว” (Green Network)

คุณเสถียร จิรรังสิมันต์ จากสำนักส่งเสริมและประสานการมีส่วนร่วมองค์กรเครือข่าย สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้นิยามความหมายของ “เครือข่าย” ว่า เป็นการเชื่อมโยงร้อยรัดเอาความพยายามและการดำเนินงานของฝ่ายต่างๆ เข้าด้วยกันอย่างเป็นระบบและอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อปฏิบัติภารกิจอย่างใดอย่างหนึ่งร่วมกันโดยที่แต่ละฝ่ายยังคงปฏิบัติภารกิจหลักของตนต่อไปอย่างไม่สูญเสียเอกลักษณ์และปรัชญาของตนเอง การเชื่อมโยงนี้อาจเป็นรูปของการรวมตัวกันแบบหลวมๆ เฉพาะกิจตามความจำเป็น หรืออาจอยู่ในรูปของการจัดองค์กรที่เป็นโครงสร้างของความสัมพันธ์กันอย่างชัดเจนก็ได้

ดังนั้น “เครือข่ายสีเขียว” จึงหมายถึง การเชื่อมโยงการดำเนินการหรือธุรกรรมระหว่างองค์กรต่างๆ บนพื้นฐานของแนวคิด หลักการ และการปฏิบัติร่วมกัน ในการเป็นมิตรกับสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม

การที่สถานประกอบการมีความต้องการให้องค์กรของตนเองเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวในขั้นสูงสุด (ระดับที่ 5: Green Network) จึงจำเป็นจะต้องเชิญชวนเครือข่ายธุรกิจของตนเอง หรือซัพพลายเออร์ (Supplier) ให้เข้าสู่กระบวนการของอุตสาหกรรมสีเขียวด้วย ซึ่งตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงอุตสาหกรรมแล้ว ซัพพลายเออร์ที่ใกล้ชิดกับสถานประกอบการ หรือที่มีธุรกรรมโดยตรงกับสถานประกอบการนั้นๆ จะต้องผ่านถึงระดับที่ 2 หรือที่เรียกว่า ปฏิบัติการสีเขียว (Green Activity)

ทุกวันนี้การบ่มเพาะเครือข่ายธุรกิจของสถานประกอบการให้เข้าสู่กระบวนการอุตสาหกรรมสีเขียว จะต้องอาศัยตัวอย่างแนวทางการปฏิบัติที่ดี (Best Practices) ของผู้เป็นพี่เลี้ยง และต้องถ่ายทอดหลักการ แนวคิด ตลอดจนวิธีการปฏิบัติแก่เครือข่ายของตน และหากสถานประกอบการใดไปถึงระดับที่ 5 (เครือข่ายสีเขียว : Green Network) ได้ ต้องถือว่าสุดยอดจริงๆ

นโยบายการพัฒนาให้เศรษฐกิจเติบโตบนพื้นฐานของการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Growth) ของภาครัฐจะเป็นจริงได้คงต้องพึ่งพาอาศัยทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานประกอบการที่เข้มแข็งในทางปฏิบัติอยู่แล้ว ควรมีบทบาทเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงด้านทัศนคติ ความเชื่อ และการดำเนินธุรกิจ ที่มุ่งมั่นว่าการประกอบกิจการจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่องค์กรธุรกิจประเภท SMEs ซึ่งยังขาดความเข้มแข็งด้วยการตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของแนวความคิดเรื่อง Green Growth ว่า จะมีผลสะท้อนกลับที่คุ้มค่าอย่างยิ่ง

ปัจจุบัน Green Growth จึงเป็นแนวโน้มใหม่ของการบริหารจัดการธุรกิจอย่างมืออาชีพ ครับผม !