ดาวพุธ ดาวศุกร์ และดาวอังคารในปี 2556
ดาวพุธ
ดาวพุธ
ดาวพุธเป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด มุมห่างที่จำกัด ทำให้เรามีโอกาสสังเกตดาวพุธได้เฉพาะในเวลาพลบค่ำหรือรุ่งสาง เวลาที่สังเกตดาวพุธได้ คือช่วงที่ดาวพุธทำมุมห่างจากดวงอาทิตย์มากพอสมควร ปี 2556 มีช่วงที่สังเกตดาวพุธได้ดีในเวลาเช้ามืดอยู่ 3 ช่วง ช่วงแรกตั้งแต่กลางเดือน มี.ค.ถึงปลายเดือน เม.ย. เป็นช่วงที่ดาวพุธทำมุมห่างดวงอาทิตย์มาก ช่วงที่ 2 คือ ปลายเดือน ก.ค.ถึงกลางเดือน ส.ค. ช่วงที่ 3 อยู่ในครึ่งหลังเดือน พ.ย.
ช่วงเวลาที่สังเกตดาวพุธได้ดีในเวลาหัวค่ำมี 3 ช่วง ช่วงแรกเริ่มตั้งแต่กลางเดือนถึงปลายเดือน ก.พ. โดยมีดาวอังคารอยู่ใกล้ดาวพุธ ช่วงที่ 2 คือ ปลายเดือน พ.ค.ถึงปลายเดือน มิ.ย. เป็นช่วงที่ดาวพุธอยู่ใกล้ดาวศุกร์และดาวพฤหัสบดี ช่วงสุดท้าย คือ ปลายเดือน ก.ย.ถึงกลางเดือน ต.ค. เมื่อสังเกตด้วยกล้องโทรทรรศน์กำลังขยายสูงจะเห็นดาวพุธมีการเปลี่ยนแปลงคล้ายดิถีของดวงจันทร์
ดาวศุกร์
ต้นเดือน ม.ค. 2556 ดาวศุกร์ยังคงเป็น “ดาวประกายพรึก” ต่อเนื่องมาจากปี 2555 ปรากฏอยู่บริเวณกลุ่มดาวคนแบกงูและคนยิงธนู ใกล้ขอบฟ้าค่อนไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ดาวศุกร์เคลื่อนเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้นทุกวัน ปลายเดือน ม.ค. เริ่มสังเกตได้ยาก วันที่ 29 มี.ค. ดาวศุกร์จะอยู่ในทิศทางเดียวกับดวงอาทิตย์
ราวกลางเดือน พ.ค. ดาวศุกร์จะย้ายไปเป็น “ดาวประจำเมือง” อยู่บนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำ และปรากฏบนท้องฟ้าเวลานี้ตลอดช่วงที่เหลือของปี ช่วงแรกยังอยู่ต่ำใกล้ขอบฟ้าบริเวณกลุ่มดาววัว มีเวลาสังเกตได้ไม่นานก่อนตกลับขอบฟ้า ดาวศุกร์จะผ่านใกล้ดาวพุธในวันที่ 2425 พ.ค. และผ่านใกล้ดาวพฤหัสบดีในวันที่ 28 พ.ค. ช่วงนั้นเราจึงเห็นดาวเคราะห์ 3 ดวงนี้อยู่ใกล้กันเหนือขอบฟ้าทิศตะวันตกท่ามกลางแสงสนธยา
ช่วงวันที่ 1921 มิ.ย. ดาวพุธกับดาวศุกร์จะปรากฏใกล้กันอีกครั้งขณะอยู่ในกลุ่มดาวคนคู่ วันที่ 3 ก.ค. ดาวศุกร์ผ่านเข้าไปในกระจุกดาวรังผึ้ง ซึ่งเป็นกระจุกดาวเปิดในกลุ่มดาวปู วันที่ 22 ก.ค. ดาวศุกร์อยู่ใกล้ดาวหัวใจสิงห์ในกลุ่มดาวสิงโตที่ห่างเพียง 1.1 องศา จากนั้นวันที่ 6 ก.ย. ดาวศุกร์จะผ่านใกล้ดาวรวงข้าวในกลุ่มดาวหญิงสาวที่ระยะ 1.7 องศา
วันที่ 18 ก.ย. ดาวศุกร์ผ่านใกล้ดาวเสาร์ที่ระยะ 3.5 องศา จากนั้นวันที่ 16-17 ต.ค. ผ่านใกล้ดาวแอนทาเรส หรือดาวปาริชาตในกลุ่มดาวแมงป่องที่ระยะ 1.6 องศา วันที่ 1 พ.ย. ดาวศุกร์ทำมุมห่างจากดวงอาทิตย์มากที่สุด แต่การสังเกตในซีกโลกเหนือจะเห็นดาวศุกร์อยู่สูงเหนือขอบฟ้าไม่มากนัก เนื่องจากอยู่ค่อนไปทางซีกฟ้าใต้ เมื่อดูด้วยกล้องโทรทรรศน์กำลังขยายสูงในช่วงเวลานั้น จะเห็นดาวศุกร์สว่างครึ่งดวง หลังจากนั้นดาวศุกร์จะมีพื้นผิวด้านสว่างลดลงน้อยกว่าครึ่งดวง
ช่วงสิ้นปีถึงสัปดาห์แรกของปี 2557 ดาวศุกร์จะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้นจนปรากฏเรี่ยขอบฟ้าทิศตะวันตกในเวลาพลบค่ำ กล้องโทรทรรศน์ส่องเห็นดาวศุกร์เป็นเสี้ยวและมีขนาดใหญ่
ดาวอังคาร
ดาวอังคารได้ชื่อว่าดาวแดง เนื่องจากปรากฏบนท้องฟ้าเป็นดาวสว่างสีแดง ชมพู หรือส้ม ต่างจากดาวเคราะห์ดวงอื่นและดาวฤกษ์ส่วนใหญ่บนท้องฟ้า ช่วงที่สังเกตดาวอังคารได้ดีที่สุดคือขณะที่ดาวอังคารอยู่ใกล้โลก ตรงกับช่วงที่ดาวอังคารอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ เกิดขึ้นเฉลี่ยทุก 2 ปี 2 เดือน วงโคจรของดาวอังคารที่เป็นวงรี ทำให้ดาวอังคารอยู่ห่างโลกไม่เท่ากันในการเข้าใกล้แต่ละครั้ง ตลอดปี 2556 ดาวอังคารไม่ผ่านตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ ครั้งที่แล้วเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2555 ครั้งถัดไปจะเกิดขึ้นในวันที่ 9 เม.ย. 2557
ช่วงต้นปี 2556 ดาวอังคารอยู่บนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำ สูงเหนือขอบฟ้าทิศตะวันตกไม่มากนัก ดาวอังคารย้ายออกจากกลุ่มดาวแพะทะเล เข้าสู่กลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำในปลายเดือน ม.ค. ดาวพุธปรากฏอยู่ใกล้ดาวอังคารภายในระยะ 1 องศา ในค่ำวันที่ 89 ก.พ. โดยใกล้กันที่สุดในค่ำวันที่ 8 ที่ระยะห่าง 19 ลิปดา โดยอยู่เหนือขอบฟ้าไม่มากนัก
วันที่ 18 เม.ย. ดาวอังคารอยู่ร่วมทิศกับดวงอาทิตย์ จากนั้นกลางเดือน มิ.ย. น่าจะเริ่มเห็นดาวอังคารได้บนท้องฟ้าเวลาเช้ามืด ปรากฏใกล้ขอบฟ้าในกลุ่มดาววัว โดยอยู่ทางซ้ายมือของดาวอัลเดบารันประมาณ 6 องศา ดาวอังคารย้ายเข้าสู่กลุ่มดาวคนคู่ในกลางเดือน ก.ค. และอยู่ใกล้ดาวพฤหัสบดีในเช้ามืดวันที่ 22 ก.ค. ด้วยระยะห่าง 0.8 องศา โดยอยู่ทางทิศเหนือ (ซ้ายมือ) ของดาวพฤหัสบดี
ปลายเดือน ส.ค. ดาวอังคารเข้าสู่กลุ่มดาวปู เช้ามืดวันที่ 8 และ 9 ก.ย. ดาวอังคารจะผ่านเข้าไปอยู่ท่ามกลางดาวฤกษ์ในกระจุกดาวรังผึ้ง จากนั้นเข้าสู่กลุ่มดาวสิงโต ผ่านใกล้ดาวหัวใจสิงห์ในเช้ามืดวันที่ 16 ต.ค. ห่าง 1.0 องศา โดยอยู่ทางทิศเหนือ (ซ้ายมือ) ของดาวหัวใจสิงห์ อาจสังเกตได้ว่าดาวหัวใจสิงห์สว่างกว่าดาวอังคารเล็กน้อย และเป็นโอกาสที่จะได้เปรียบเทียบสีที่ต่างกัน
ดาวอังคารเข้าสู่กลุ่มดาวหญิงสาวในปลายเดือน พ.ย. จากนั้นทำมุม 90 องศา โดยห่างไปทางทิศตะวันตกของดวงอาทิตย์ในช่วงสิ้นปี จึงเห็นดาวอังคารอยู่สูงกลางฟ้าในเวลาเช้ามืด
ปรากฏการณ์ท้องฟ้า (9–16 ธ.ค.)
ดาวพฤหัสบดีเป็นดาวสว่างบนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำทางทิศตะวันออก ขณะที่ดาวอังคารยังคงอยู่ทางทิศตะวันตก ดาวอังคารตกลับขอบฟ้าก่อน 2 ทุ่มเล็กน้อย จึงมีเวลาสังเกตได้ไม่นาน แตกต่างจากดาวพฤหัสบดีที่สามารถสังเกตได้ตลอดทั้งคืน ดาวพฤหัสบดีอยู่ในกลุ่มดาววัว เห็นอยู่กลางท้องฟ้าเหนือศีรษะในเวลา 5 ทุ่มครึ่ง และตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตกในเวลา 6 โมงเช้า
ดาวเสาร์อยู่ในกลุ่มดาวคันชั่ง ราวตี 4 เริ่มเห็นดาวเสาร์อยู่เหนือขอบฟ้าตะวันออก จากนั้นก่อนตี 5 เล็กน้อย ดาวศุกร์จะเริ่มปรากฏเหนือขอบฟ้าทางทิศเดียวกัน ส่วนดาวพุธซึ่งทำมุมห่างดวงอาทิตย์มากที่สุด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กำลังเคลื่อนกลับเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ ทำให้สังเกตได้ยากขึ้นในปลายสัปดาห์
ต้นสัปดาห์ดวงจันทร์เป็นเสี้ยวอยู่ทางทิศตะวันออกในเวลาเช้ามืด วันจันทร์ที่ 10 ธ.ค. ดวงจันทร์อยู่บริเวณระหว่างดาวเสาร์กับดาวรวงข้าว วันถัดไปดวงจันทร์เคลื่อนไปอยู่ระหว่างดาวศุกร์กับดาวเสาร์
เช้ามืดวันพุธที่ 12 ธ.ค. ดวงจันทร์เสี้ยวบางๆ อยู่ทางขวามือของดาวพุธ ห่างเพียง 1 องศา โดยปรากฏใกล้ขอบฟ้าในเวลาที่ท้องฟ้าเริ่มสว่าง จึงอาจต้องใช้กล้องสองตาช่วยกวาดหาบริเวณเหนือขอบฟ้า หลังจันทร์ดับในวันที่ 13 ธ.ค. เราจะเริ่มเห็นดวงจันทร์ได้อีกครั้งในเวลาหัวค่ำของวันเสาร์ที่ 15 ธ.ค. โดยจันทร์เสี้ยวจะอยู่ทางขวามือของดาวอังคารที่ระยะห่าง 5 องศา หรือประมาณครึ่งหนึ่งของขนาดกำปั้น เมื่อกำมือแล้วเหยียดแขนออกไปข้างหน้าให้สุด