นพดล ถิรธราดล ทำงานที่รัก รักที่จะทำทุกๆ วัน

28 มกราคม 2556

“ความใฝ่ฝันของผม คือ อยู่กับศิลปะและมันก็เลี้ยงเราได้” ความมาดหมายตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา

โดย... นกขุนทอง ภาพ วีรวงศ์ วงศ์ปรีดี

“ความใฝ่ฝันของผม คือ อยู่กับศิลปะและมันก็เลี้ยงเราได้” ความมาดหมายตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา เพราะส่วนมากเป็นที่ทราบกันว่า ทำงานศิลปะมักไส้แห้ง ทว่าในวันนี้ “นพดล ถิรธราดล” ผู้ชายที่หลงรักศิลปะได้ทำให้มันเกิดขึ้นได้จริงๆ

ปัจจุบัน นพดล ดำรงตำแหน่งรองคณะบดีฝ่ายบริการวิชาชีพ ควบคู่การสอนสาขาวิชาดนตรีแจ๊ซและเครื่องดนตรีดับเบิลเบส ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล 14 ปีที่เป็นอาจารย์สอนดนตรี อีกทั้งยังเป็นนักดนตรีแจ๊ซอีกด้วย ชีวิตนี้ออกแบบได้ดังฝันจริงๆ

“ผมชอบศิลปะ เคยคิดว่าทำไงก็ได้ให้ตัวเองอยู่ในโลกศิลปะและโลกศิลปะก็เลี้ยงเราเหมือนอาชีพอาชีพหนึ่ง ผมมักจะพูดกับนักเรียนว่าพวกคุณไม่รู้หรอกว่า โชคดีขนาดไหนที่ได้เรียนศิลปะ มีมนุษย์สักกี่คนบนโลกนี้ได้เรียนรู้เพื่อจะมอง ได้ยินในสิ่งที่มันดี จะมีสักกี่คนได้ศึกษามันมองให้มันงาม ผมสั่งสอนนักเรียนผมเสมอครับว่าคุณต้องอยู่กับศิลปะ มีความสุขกับมัน มันเลี้ยงคุณได้ แล้วคุณอยู่กับมันไปจนวันตายคุณจะรู้ว่ามันเป็นวิถีชีวิตที่วิเศษมากๆ ยิ่งถ้าคุณสามารถประสบผลสำเร็จในการทำศิลปะแล้วมันมีประเด็นขึ้นมา มีคนสนใจขึ้นมาและคุณทำได้ดี นี้แหละที่เรียกว่า ชีวิตสั้น ศิลปะยืนยาว”

ความรักทำให้ทำงานได้ทุกๆ วัน โดยไม่รู้สึกว่า นี้คืองาน และงานก็ส่งผลให้มีความสุขทุกๆ ครั้งที่ลงมือทำ ทำไมนพดลจึงมีแนวคิดเช่นนี้ “ผมคิดว่ามันเป็นความต้องการที่ธรรมชาติมากๆ จากตอนเป็นวัยรุ่นคิดว่าต้องทำอาชีพนี้และให้มันเลี้ยงเราให้ได้ สุดท้ายพอเราทำได้มันก็สนุกกับมัน เราทำมันทุกวัน คิดเรื่องมันทุกวัน มันอยู่กับเราเหมือนเรามีมอเตอร์ไซค์สักคัน แล้วมันก็พาเราไปที่ต่างๆ ไปเห็นโลก ไปเห็นต้นไม้ ทิวทัศน์ วิถีชีวิตคนอื่น การทำงานที่ดีที่สุดสำหรับผม คือทำอย่างต่อเนื่อง ทุกวัน คิดทุกวัน อยู่กับมันทุกวันและที่สำคัญที่สุดอยู่กับมันเป็นธรรมชาติ

ผมเคยไปงานศพของคริสเตียน ในงานศพเขาพูดว่า ถ้าเราทำความดีมากเท่าไรก็ตาม เราก็ไปได้แค่ประตูสวรรค์ ถ้าเราจะผ่านประตูสวรรค์ไปได้เราต้องศรัทธาในพระเจ้าแบบไม่มีข้อแม้ ไม่มีเงื่อนไข ไม่มีคำถาม ตอนนั้นผมเป็นวัยรุ่นผมก็รู้สึกขัดแย้งกับสิ่งที่เขาพูดมากๆ มันเป็นเรื่องที่ไร้เหตุผลสิ้นดี แต่มาถึงวันนี้ผมรู้สึกว่าในโลกนี้บางสิ่งบางอย่างเราอย่ามีเหตุผลกับมันและมันจะทำให้ชีวิตเรามีที่ยึดเหนี่ยว ศิลปะก็เป็นแบบนั้น ถ้าเรามีเหตุผลมันก็จะมีข้อแม้ๆ จะมีประเด็นอะไรไม่รู้เต็มไปหมด สุดท้ายจะทำให้เราทำไม่ได้เพราะมันจะมีอะไรเยอะแยะไปหมด”

ความภาคภูมิใจอีกอย่างในการทำงาน คือ เป็นโปรเจกต์แมนเนเจอร์ “เทศกาลดนตรีแจ๊ซเพื่อการเรียนรู้” ซึ่งปีนี้ถูกจัดขึ้นเป็นปีที่ 5 ภายใต้แนวคิด “For the love of Jazz” ในวันที่ 13 ก.พ. ณ สวนพฤกษาดุริยางค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

“ผมสอนดนตรี ผมชอบศิลปะ เรื่องที่ว่ามาทั้งหมดเป็นเรื่องส่วนตัว ผมมีความสุขเอง หลับฝันดีเอง โดยที่คนอื่นไม่ได้หลับฝันดีกับเราเลย และผมเพิ่งมาค้นพบเมื่อปีที่ 2 ว่างานนี้สำคัญกับผมมาก เพราะนี้เป็นครั้งแรกที่ผมได้แบ่งปันสิ่งที่ผมมีให้คนอื่นอย่างเป็นรูปธรรม เมื่อก่อนผมไปเล่นดนตรีคนเขาปรบมือให้ผม เขายิ้ม เขากลับบ้านนอนหลับฝันดี ผมก็อาจจะจินตนาการไปแบบนั้นได้ แต่อันนี้มันเห็นเลยว่าผมจัดงานมีคนดู สนุก เขามาปูเสื่อนั่งดูอย่างตั้งใจ ยิ้มแย้ม วันดีคืนดีเขาก็มาชมผมงานดีมาก ชอบดนตรีมาก และเขาก็มาทุกปี อันนี้มันกำไรยิ่งกว่าอะไรและผมรู้สึกว่าชีวิตผมก็มีคุณค่าเหมือนกันที่สามารถแบ่งปันเรื่องนี้ให้คนอื่นได้”

สำหรับการเลือกศิลปินมาโชว์ในงานเทศกาลดนตรีแจ๊ซเพื่อการเรียนรู้ 2013 นพดลให้เหตุผลว่า “ปกติเวลาจะไปหาสปอนเซอร์ สปอนเซอร์จะบอกว่า ไปถามคนดูว่าอยากดูอะไร เอาคนดังๆ แล้วลิสต์รายชื่อมา แต่ของผมคนละอย่าง ของผมจะบอกว่า คนฟังควรฟังอะไร และเราเลือกให้คนฟังบางทีคนฟังไม่รู้จักด้วยซ้ำว่าคนนี้เป็นใคร เพราะคนฟังเขาไม่ได้เชี่ยวชาญในวงการแจ๊ซ เรามีความรู้ตรงนี้ก็ควรจะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้ผู้ชม ที่ผมคิดแบบนี้เพราะผมไปสะดุดมากๆ กับความคิดของสตีฟ จ็อบส์ เขาผลิตไอแพดขึ้นมา เขามีทีมงานหัวกะทิทุกคนเขาค้านว่าอันนี้ขายไม่ได้ ต้องเอาความต้องการของสังคม แต่สตีฟ บอกยังไงก็ทำ เขาให้เหตุผลว่า ผู้บริโภคไม่รู้หรอกว่าเขาอยากได้อะไรเราต่างหากที่ต้องบอกเขาว่าอันนี้ของดี น่าใช้ จริงๆ เขาก็เสี่ยง แต่เขาก็พิสูจน์แล้วว่าโลกทั้งโลกก็ตามเทรนด์นี้หมด”

มาดูกันว่าศิลปินไฮไลต์ของงานมีใครบ้าง “ปีนี้ก็คนที่สำคัญมากๆ คือ เอ็ดดี โกเมซ (Eddie Gomez) เขาเป็นนักดับเบิลเบส ณ วันนี้เขาเป็นเพียงไม่กี่คนที่ยังไม่เสียชีวิตและอยู่ในหนังสือทุกเล่มที่เป็นหนังสือเกี่ยวกับแจ๊ซ คนถัดมาคือ เคนนี วอลเนอร์ (Kenny Werner) คนนี้คนไทยอาจไม่ค่อยรู้จัก เขาเป็นนักดนตรี ครู นักทฤษฎี นักเขียนคนสำคัญมากในนิวยอร์ก เป็นมือเปียโนระดับโลก”

งานทุกอย่างย่อมมีอุปสรรค แต่ด้วยทัศนคติที่ว่า ทำทุกๆ วัน คิดทุกๆ วัน ทำให้ผ่านพ้นมาได้ “สำหรับปีแรกเจ๊งไม่มีดี เพราะลำบากที่เราจะเอางานที่มีคอนเทนต์สูงๆ แล้วมุ่งไปที่คนมันไม่ใช่วัฒนธรรมแบบป๊อป พอทำไปปีที่ 1 ปีที่ 2 ก็เริ่มเห็นแง่มุม เห็นช่องว่าอะไรดี อะไรไม่ดี อย่างที่ผมบอกคิดทุกวัน ทำทุกวัน แก้ไขทุกวัน สุดท้ายมาถึงปีที่ 5 ตัวผมเองคิดว่ามันเกือบจะยืนได้ด้วยตัวเอง คนที่มาดูคนเหล่านี้ตัวจริงทั้งนั้น ทุกคนที่มาคือเสียเงินมาดูทุกคนตั้งใจมาดูแล้วอัตรามาเพิ่มขึ้นร้อยเปอร์เซ็นต์ทุกที”

การทำงานเป็นทีมและได้ทีมที่ดีเป็นส่วนช่วยให้งานราบรื่น “ความเป็นจริงเรามีทีมที่ดีเยี่ยมช่วยกันทำมาเป็นปีที่ 5 ติดต่อกันเปลี่ยนทีมนี้ไม่ได้เลย เพราะเป็นทีมที่ไม่ได้เงิน (หัวเราะ) เป็นทีมที่ทำเหมือนงานการกุศล ผมโชคดีมากกับการทำงาน เจอทีมในอุดมคติมากๆ เพราะว่าทุกคนเป็นนักดนตรี รักดนตรีแจ๊ซ และก็เป็นอาจารย์สอนดนตรีแจ๊ซ และก็อยากสร้างความยั่งยืนให้กับสังคมดนตรีแจ๊ซในประเทศไทย และเราก็ครีเอตงานนี้ขึ้นมา โดยที่มีผู้ใหญ่กับมหาวิทยาลัยมหิดลช่วยสนับสนุนในเรื่องงบประมาณต่างๆ คือ ทีมเราทำเหมือนกับองค์กรที่ไม่มีผลประโยชน์ ทำฟรีทุกอย่าง ทำเหมือนเป็นหน้าที่อย่างหนึ่งที่ต้องทำ

ผมก็ได้ยินเรื่องเล่าประเภททำงานเป็นทีม คนเยอะปัญหามาก มักจะมีข้อขัดแย้งกัน สุดท้ายก็สรุปไม่ได้ พอผมทำหลายคนก็มีข้อขัดแย้งจริงๆ (หัวเราะ) แต่ก็สรุปได้ทุกที สุดท้ายพวกผมจะชอบพูดกันตลกๆ ว่าถ้าเราตกลงกันไม่ได้เรื่องใดเรื่องหนึ่งก็ตาม ก็ใช้ระบบประชาธิปไตยแต่เราไม่โหวต ใครมีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องนั้นคนนั้นตัดสินใจ ถึงผมไม่เห็นด้วยผมก็จะทำเพราะไม่อย่างนั้นสรุปไม่ได้”

ใช้ชีวิตได้ดีเพราะมีแรงขับเคลื่อนพลัง

“พ่อผู้รับผิดชอบ” ตั้งแต่เล็กจนโตสิ่งที่ผมเห็นอ คือ พ่อผมไม่รู้อะไรเลย ไม่เคยเห็นเหมือนพ่อคนอื่นที่เขารู้เรื่องวิทยาศาสตร์ พูดภาษาอังกฤษเก่ง แต่สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นพ่อ คือ รับผิดชอบมากกับครอบครัว พ่อไม่จำด้วยซ้ำว่าผมอายุเท่าไหร่ เรียนชั้นอะไร แต่ให้เงินแม่ส่งผมเรียนหนังสือที่ดีๆ จนจบ ซึ่งตรงนี้พอผมโตมาผมรู้สึกว่า พ่อมีความรับผิดชอบมาก นี่คือคุณค่าของมนุษย์หนึ่งคนที่จะทำได้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

“แมวผู้ไม่ทิ้งนาย” บางวันผมมีเงินก็ซื้อปลาให้มันกิน ถ้าผมไม่มีเงินไม่มีอาหารให้มันก็หายไปสองสามวันแล้วก็กลับมา ผมไม่เคยต้องอาบน้ำให้มัน เพราะมันเลียขนตัวเองได้ พอมันตายผมเผามันเองและเก็บกระดูกของมันไว้ในขวดโหลบนหิ้งพระจนถึงทุกวันนี้ ผมรู้สึกว่าผมต้องเป็นเหมือนแมวตัวนี้ ผมต้องดูแลตัวเองให้ได้ ไม่ต้องมีใครอาบน้ำให้ผม มีคนแบ่งให้ผมกินก็ดีแต่ถ้าไม่มีคนแบ่งให้ผมผมก็ต้องหาเองให้ได้ แมวตัวนี้สอนผม

“จอห์น โคลเทรน นักดนตรีผู้ทุ่มเททั้งชีวิต” ประทับใจมาก แค่ 10 กว่าปี เขาผลิตผลงานที่มีอิทธิพลที่สุดในโลกของแจ๊ซมากกว่าครึ่งในระยะเวลาที่สั้นมาก เขาทำงานหนักมากแทบจะเรียกว่ากินนอนอยู่กับแซ็กโซโฟนจนวาระสุดท้ายของชีวิต ประทับใจในความทุ่มเทมาก

“ดับเบิลเบส เครื่องดนตรีโปรด” จากที่เล่นเองตอนนี้ผมเป็นช่างซ่อมด้วย (หัวเราะ) เป็นเครื่องดนตรีเสียงโทนทางต่ำ ตอนที่ผมเรียนจิตรกรรมผมก็ชอบเขียนโทนสีอุ่น พอเล่นดนตรีก็ชอบเสียงต่ำเหมือนกัน

“ไอแพดรับใช้การทำงานได้เยี่ยม” จริงๆ แล้วผมเป็นคนโบราณมากๆ แต่พอได้ใช้งานมันทั้งการสื่อสาร ทำงาน สอนหนังสือ หาความรู้ จดงาน เอนเตอร์เทนต์ ตอนนี้อะไรก็แล้วแต่แทบจะอยู่บนไอแพด ทั้งที่ผมไม่เก่งคอมพิวเตอร์และไม่ชอบของพวกนี้ด้วย

Thailand Web Stat