posttoday

ชีวิตยามสนธยาของจิตรกรผู้เห็นมดยิ้มสวย ‘ช่วง มูลพินิจ’

13 มีนาคม 2556

โดย...อินทรชัย พาณิชกุล ภาพ ภัทรชัย ปรีชาพานิช

โดย...อินทรชัย พาณิชกุล ภาพ ภัทรชัย ปรีชาพานิช


ในวัย 72 ช่วง มูลพินิจ ยังคงเท่ สมาร์ต ดูดีมิเสื่อมคลาย ประกายตาดุดันบนใบหน้าเปื้อนยิ้ม หนวดเคราสีเทาเงางามดกเฟิ้ม ร่างบึกบึน สง่าสมวัยในเครื่องแต่งกายสุดเนี้ยบตั้งแต่หัวจรดเท้า บ่งบอกถึงความเก๋าได้อย่างน่าโค้งคารวะ

ทุกครั้งที่ปรากฏตัวต่อสาธารณชน ย่อมทำให้ผู้คนในแวดวงศิลปะเหลียวมอง เพียงแต่ว่าคราวนี้เป็นโอกาสสุดพิเศษ เพราะเขามาพร้อมกับผลงานภาพวาดกว่า 80 ชิ้น

แดนสนธยา เป็นชื่อนิทรรศการจิตรกรรมเดี่ยวในรอบสิบปีของ ช่วง มูลพินิจ ศิลปินอาวุโสผู้มีฝีมือโดดเด่นระดับแถวหน้าของไทย บอกเล่าแนวคิดเกี่ยวกับวาระสุดท้ายของชีวิต ดังคำกล่าวที่ว่า "โพล้เพล้ เย็นย่ำ สนธยา พลบค่ำแล้วสิหนาชีวิตเรา" แม้ดวงตะวันใกล้ลาลับ ไม่รู้จะได้ตื่นขึ้นมาเห็นแสงวันใหม่หรือไม่ก็ไม่รู้ แต่หวังว่าศิลปะวิสุทธิ์จะยังคงอยู่กับมวลมนุษย์ เพื่อความดีงามตลอดไป

“คำว่าแดนสนธยา ไม่ได้หมายถึงตัวงาน เพราะศิลปะมันเป็นอกาลิโก คือไม่มีเวลา แต่แดนสนธยามันหมายถึงตัวผม ปีนี้อายุ 72 แล้ว ถ้าเป็นเวลาก็เหมือนเช้าจรดเย็น จวนจะมืดแล้ว พระอาทิตย์กำลังจะลาลับขอบฟ้า”

ผลงานภาพเขียนทั้ง 80 ชิ้นในนิทรรศการชุดนี้ ช่วง บอกว่า นำงานเก่าผสมผสานกับงานใหม่ ค่อยๆ เขียนไปเรื่อยให้ไหลลื่นไปตามธรรมชาติ

“ทุกวันนี้ผมทำงานช้าลง เพราะเราต้องทำในสิ่งซึ่งเราพร้อมจะตายกับมันได้ ไม่ต้องพะวงว่าปล่อยไปแล้วมันจะไม่ดี ไม่เต็มที่ งานทุกชิ้นถึงแม้ไม่เสร็จก็ตายได้ เป็นคำที่ผมพูดเสมอ เพราะเราไม่เคยทำงานคลุมเครือ รีบร้อน งานช้าเพราะเราไม่ได้รีบร้อน

รีบร้อนกับรีบเร่งไม่เหมือนกัน รีบร้อน หมายความว่า ต้องการให้เสร็จเร็ว รีบเร่ง หมายความว่า เราเร่งให้งานออกมามาก ก็ไม่ดีทั้งคู่ ไปเรื่อยๆ ตามธรรมชาติดีกว่า”

บนเส้นทางศิลปะ ชื่อของ ช่วง มูลพินิจ ได้รับการยกย่องในฐานะศิลปินภาพเขียนลายเส้นที่ประยุกต์ความอ่อนช้อยของลายไทย เข้ากับรูปทรงแบบเหมือนจริงได้อย่างกลมกลืน ต่อมาพัฒนามาใช้เทคนิคสีน้ำและสีน้ำมันเฉกเช่นปัจจุบัน

นิทรรศการจิตรกรรมเดี่ยวหนนี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นชีวประวัติของเขา เพราะได้รวบรวมเอาผลงานระหว่างปี 25032555 ทั้งภาพวาดลายเส้นด้วยปากกาหมึกดำบนกระดาษในช่วงยุคแรกๆ งานสีน้ำและสีน้ำมันบนผืนผ้าใบในกาลต่อมา

ความงามที่มือคู่นี้เนรมิตขึ้น ส่วนใหญ่แสดงถึงเรื่องราวของดอกไม้ แมลง สัตว์ มนุษย์ ทั้งในแง่อีโรติก จนกระทั่งถึงนัยการมองเห็นในวัฏสงสารของชีวิต เป็นการผนึกเรื่องราวทางอุดมคติกับธรรมชาติเข้าไว้ด้วยกันอย่างแนบเนียน

“งานผมมันคลี่คลายมาเรื่อยๆ เพราะทำมาอย่างต่อเนื่อง เลยไม่รู้ว่าก้าวต่อไป หรือก้าวที่แล้วมันมายังไง แต่รู้ว่ามันมาจากก้าวแรก และเราก้าวไม่เคยหยุด คนทำงานต้องมองย้อนข้างหลังตลอด เพราะข้างหลังมีครูเรา เราต้องแก้ไขสิ่งที่เราทำแล้วตลอดเวลา

อย่างที่อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ท่านสอนว่า เราต้องทำงานเสมอ เพื่อจะได้แก้ไขงานเราต่อไป และต่อไป ชีวิตกับงานศิลปะคือสิ่งที่แก้ไขซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่มีอะไรเพอร์เฟกต์ มีแต่ดีขึ้น ถ้าเลวลงเขาไม่เรียกแก้ไข (หัวเราะ)”

อายุอานามที่มากขึ้น ชายชราท่านนี้ยังคงออกกำลังกาย ควบคู่กับจัดการจิตใจให้แจ่มใสเบิกบานตลอดเวลา

“ไอ้เรื่องความเท่ คนวัยผมไม่คิดแล้ว คิดแค่ว่าทำยังไงไม่ให้มันทรุดโทรมมากไปกว่านี้ก็พอ (หัวเราะ) ผมยังยกดัมเบลล์ วิดพื้น เดินออกกำลังกาย ส่วนเรื่องจิตใจ ไม่ต้องอะไรมาก เราสร้างมันได้ สร้างโดยไม่ต้องสร้างมันเลย แค่ลดความโลภ”

เจ้าตัวยังยืนยันว่า พึงพอใจกับความแก่ชรามากกว่าวัยหนุ่ม

“ตอนเป็นหนุ่มมันรีบร้อน เหมือนเด็กเดินไม่มีเรียบ กระโดดกระเด้งตลอดเวลา แต่แก่ๆ นี่จะนิ่ง สุขุม สง่า ผมชอบตอนแก่มากกว่า เพราะสมัยหนุ่มๆ ผมทำพลาดเยอะ เพราะกระโดดกระเด้ง เร่งรีบ ข้ามขั้นตอนซึ่งไม่ควรจะข้าม พอแก่ได้เคี้ยวอะไรที่มันละเอียดขึ้น ประณีตขึ้น แหม ชุ่มฉ่ำ จะให้ผมหนุ่มอีกไม่เอาแล้ว นี่พูดจริงๆ นะ” อาจารย์ช่วงหัวเราะจนตาหยี

นิทรรศการแดนสนธยาของ ช่วง มูลพินิจ จะจัดแสดงไปจนถึงวันที่ 30 เม.ย. 2556 ตั้งแต่เวลา 10.0019.00 น. (ยกเว้นวันพุธ) ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนารถ

คอศิลปะต้องมาดูให้เป็นบุญตาสักครั้งในชีวิต

ช่วง มูลพินิจ เกิดเมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2483 ที่ อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม ศึกษาด้านศิลปะที่โรงเรียนศิลปศึกษา และเข้าศึกษาต่อที่คณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร

สร้างชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในฐานะนักวาดภาพประกอบลายเส้นมือฉมัง ให้แก่หนังสือและนิตยสารต่างๆ อาทิ ช่อฟ้า ชาวกรุง เฟื่องนคร และสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ผลงานที่รู้จักกันดี คือ การออกแบบตัวหนังสือชื่อเรื่องและโปสเตอร์ภาพยนตร์ไทยในแนววรรณคดีหรือนิทานพื้นบ้านของไทย เช่น แผลเก่า เลือดสุพรรณ เพื่อนแพง ไกรทอง กากี ซึ่งภาพโปสเตอร์เรื่อง เพื่อนแพง ได้รับเลือกเป็นหนึ่งในโปสเตอร์ที่งามที่สุดในโลกในการส่งเข้าประกวด ที่สถาบันโรงภาพยนตร์แห่งชาติ กรุงลอนดอน เมื่อปี 2526

“จิตรกรผู้เห็นมดยิ้มสวย” เป็นฉายาที่ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ นักเขียนชื่อดังเป็นผู้ตั้งให้ มาจากฝีไม้ลายมือการวาดลายเส้นอันประณีตละเอียดลออ

ปัจจุบันพำนักอยู่ที่บ้านพักย่านบางกะปิ โดยมีหอศิลป์ที่แสดงผลงานของตัวเองชื่อ “หอศิลป์ช่วง มูลพินิจ” เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชมทุกวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือน เวลา 10.0017.00 น โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย