โลกที่เปลี่ยนไปของ ‘เนิร์ด’
โดย...หนูดีวนิษา เรซ
โดย...หนูดีวนิษา เรซ
คำว่า Nerd เมื่อก่อนเป็นคำดูถูก เป็นคำสบประมาท ประมาณว่า “อี๋ เด็กคงแก่เรียน” หรือ “พวกหนอนหนังสือ แว่นตาโต” ประมาณนั้น ถ้าในอเมริกาก็เป็นเด็กกลุ่มที่เป็นเป้าถูกรังแก ถูก Bully เช่น ถูกเด็กกลุ่มเกๆ แย่งอาหารกลางวันไปโยนทิ้งบ้าง ทำร้ายร่างกายบ้าง หรือโดนล้อเล่นด้วยคำพูดโหดๆ ทั้งในห้องเรียนและในเวลาพัก
ว่ากันว่า ในปีๆ หนึ่ง เด็กประถมและมัธยมในอเมริกาถูกรังแกโดยเด็กเกเร หรือถูก Bully ในลักษณะนี้รวมกันปีละหลายล้านคน แม้กระทั่งนักร้องคนดังอย่าง เลดี้ กากา เอง ก็เคยเป็นหนึ่งในเด็กกลุ่มที่ถูกรังแกแบบนี้ต่อเนื่องหลายปี จนปัจจุบันเธอถึงกับตั้งโปรเจกต์ช่วยเหลือเด็กที่โดนรังแกแบบนี้อย่างเป็นทางการ เพราะเธอบอกว่า เธอโดนเองต่อเนื่องหลายปี รู้ดีว่ามันโหดร้ายและทรมานใจแค่ไหนที่โดนแกล้งทุกวันเวลาไปโรงเรียน
ในญี่ปุ่น เกาหลี และจีน ก็มีเด็กรังแกกันมากมาย จนเป็นวาระระดับชาติ เมื่อล่าสุดเด็กเกาหลีที่โดนรังแกทนไม่ไหว ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองด้วยการฆ่าตัวตาย ในที่สุดศาลสั่งให้มีการชดเชยค่าเสียหายให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิตด้วย รวมถึงเด็กที่รังแกก็มีคำตัดสินให้จำคุกเช่นกัน
ส่วนข้อมูลที่น่าตกใจ คือ ข้อมูลจาก ผศ.ดร.สมบัติ ตาปัญญา ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งกล่าวว่า ถ้าดูจากข้อมูลผลสำรวจพฤติกรรมรังแกกันในโรงเรียนในประเทศไทยเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่มีปัญหานี้ พบว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 2 ของโลกที่มีสัดส่วนนักเรียนถูกรังแกถึงร้อยละ 40 รองจากประเทศญี่ปุ่น โดยประเทศญี่ปุ่นมีนักเรียนร้อยละ 60 ถูกรังแก อันดับต่อมาเป็นประเทศอังกฤษและอเมริกา ซึ่งมีประมาณร้อยละ 2025 ซึ่งได้ส่งผลให้เกิดปัญหาอื่นตามมา เช่น ปัญหานักเรียนฆ่าตัวตาย เพราะทนความกดดันที่ถูกรังแกไม่ไหว หรือส่งผลให้เด็กเป็นโรคซึมเศร้าระยะยาว
ปัญหาเด็กรังแกกันนั้นมีกันทุกประเทศ ไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้น ซึ่งเป็นวาระระดับชาติ แต่ในปัจจุบันกลุ่มเด็กที่ถูกรังแกกำลังค่อยๆ เปลี่ยนไปจากเมื่อก่อนมักเป็นกลุ่มเด็กเรียน หรือเด็กที่ตัวเล็ก อ่อนแอ แต่ในวันนี้ ตั้งแต่ บิล เกตส์ รวมถึง มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซึ่งเป็นเด็กที่มีลักษณะ “เนิร์ด” หรือ Nerd สุดๆ ได้พากันประสบความสำเร็จมหาศาล จนกลายเป็นที่กล่าวขานกันไปทั่วโลก จนเกิดคำกล่าวกันในอเมริกาเลยทีเดียวว่า “อย่าไปรังแกเด็กกลุ่มเนิร์ดนะ เพราะเธอไม่รู้หรอกว่าเธอจะโตขึ้นแล้วกลายไปเป็นลูกจ้างของเขาในวันไหน”
หรือแม้กระทั่งในระดับมหาวิทยาลัย ที่ในอดีตสาวๆ จะอยากเดตกับนักกีฬามหาวิทยาลัยที่ดูเท่ ไปแข่งกีฬากันที่ไหนมีสาวๆ กลุ่มใหญ่ตามไปกรี๊ด ส่วนหนุ่มๆ คงแก่เรียนที่วันๆ เอาแต่อยู่ในห้องสมุด ทำรายงาน หรือไปทำงานรับจ้างหาเงินส่งตัวเองเรียนนั้น ถูกมองข้ามโดยสาวๆ สวยๆ แต่เวลาหลายช่วงอายุคนที่ผ่านไป ก็ได้พิสูจน์แล้วว่า หลายๆ ครั้ง นักกีฬาคนหล่อ คนเท่ เมื่อเรียนจบแล้วหางานดีๆ ทำไม่ค่อยได้ เพราะเอาเวลาเรียนไปซ้อมกีฬา หรือไปปาร์ตี้เสียหมด ส่วนบรรดาหนอนหนังสือที่โดนมองข้ามนั้น ต่างมีงานดีๆ ทำ หรือก่อตั้งบริษัทของตัวเองจนมีฐานะเป็นปึกแผ่นมั่นคง หลายครั้งหนุ่มหล่อในสมัยมหาวิทยาลัยที่ไม่ตั้งใจเรียน กลับกลายไปเป็นลูกจ้างบริษัทเพื่อนเนิร์ดที่ตัวเองเคยดูถูกไว้ในสมัยมหาวิทยาลัยเสียด้วยซ้ำ
เคยมีเรื่องของฝรั่งที่หนูดีอ่านแล้วเห็นภาพสังคมที่เปลี่ยนไปได้มากทีเดียวคือ เด็กหัวโจกคนเท่ของเพื่อนๆ สมัยมัธยม ต้องการเปลี่ยนงาน และได้รับเรียกไปสัมภาษณ์งานที่บริษัทขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง เมื่อถึงห้องสัมภาษณ์ ในกลุ่มคณะกรรมการสัมภาษณ์ก็มีเจ้าของบริษัทนั่งอยู่ด้วย เมื่อทุกคนถามเสร็จ ก็เป็นคิวของท่านประธานกันบ้าง ท่านมีคำถามเดียว ถามว่า “คุณยังพอจำสมัย ม.ต้นได้ไหม ที่มีเด็กขี้แยคนหนึ่งในห้อง ที่ใครๆ พากันแกล้ง บางวันถึงขั้นช่วยกันจับตัวโยนลงในถังขยะได้ไหม” หนุ่มหัวโจกนึกอยู่ตั้งนานกว่าจะนึกออกว่า อ๋อ เจ้าเด็กแว่นคนนั้นเอง ที่วันๆ เอาแต่อ่านหนังสือ ก็เลยโดนแก๊งของเขารุมแกล้งประจำ พอนึกออกก็เลยบอกว่า “อ๋อ จำได้แล้วครับ ท่านรู้จักเขาหรือครับ” ท่านประธานบอกว่า “รู้จักสิ เด็กคนนั้นก็คือผมเอง” ...เรื่องนี้เดาตอนจบได้ง่ายๆ นะคะ ว่าผู้ชายคนนี้จะได้รับเข้าทำงานหรือไม่
ส่วนตัวหนูดีเองคิดว่า การเลี้ยงลูกให้เป็นเด็กคงแก่เรียน หรือเป็นหนอนหนังสือในปัจจุบันมีความเสี่ยงลดลงกว่าสมัยก่อน เพราะเด็กเรียนเก่ง หรือหนอนหนังสือในปัจจุบันนี้ นอกจากจะไม่ค่อยโดนแกล้งแล้ว ยังจะกลายเป็นที่รักที่บูชาของเพื่อนๆ โดยเฉพาะในช่วงเวลาใกล้สอบ หากเด็กเก่งเลือกที่จะแบ่งปันวิชาและติวให้เพื่อนๆ นั้น รับรองว่าไม่มีใครกล้าคิดแกล้งแน่ๆ เพราะกลัวเด็ก “เนิร์ด” ไม่ติวให้หนหน้า
ในหนังสือ “อัจฉริยะเรียนสนุก” โฉมใหม่ที่หนูดีกำลังจะวางแผง หนูดีเพิ่มเติมเนื้อหาในส่วนที่ให้น้องๆ นักเรียนเก่งในปัจจุบัน ที่ลองอ่านและนำวิธีที่หนูดีแนะนำไปใช้ในชีวิตการเรียนจริงๆ เขียนเข้ามาเล่าถึงการเรียนและเกรดที่เปลี่ยนไปของตัวเอง ได้รับคัดเลือกมาลงในเล่มใหม่ 10 คน ใน 10 บทความนี้ น่าสนใจมากว่านักเรียนรุ่นใหม่หลายคนเลือกที่จะใช้ “การติว” ให้เพื่อนๆ ก่อนสอบเป็นหนึ่งในวิธีการ “ทบทวนบทเรียน” ของตัวเองไปด้วย ซึ่งส่งผลให้น้องหลายคนได้เกรดดีขึ้นแบบก้าวกระโดด บางคนได้ท็อปของวิชา และได้เพื่อนมากมาย ซึ่งเด็กรุ่นใหม่สมัยนี้มีความสนุกสนานกับการทำเกรดกับการเรียนให้ดี เพราะเขาเล็งเห็นแล้วว่าเกรดที่ดีจะเปิดประตูแห่งโอกาสให้เขาได้อีกหลายบานในชีวิต
ในสัปดาห์หน้า หนูดีจะมาชวนคุยถึงเทคนิค How to Raise a Nerd สร้างเด็กเนิร์ดและหนอนหนังสืออย่างไรให้ได้ผล แต่ในช่วงสัปดาห์ที่กำลังจะถึงนี้ อย่าพลาดไปเดินเล่นงานสัปดาห์หนังสือก่อนค่ะ มีตั้งแต่วันที่ 29 มี.ค.-8 เม.ย. ส่วนตัวหนูดีเองจะไปแจกลายเซ็นเพียงเวลาเดียวเท่านั้นคือ วันเสาร์ที่ 6 เม.ย. เวลา 15.00-16.00 น. ที่บูธนายอินทร์ค่ะ แล้วพบกันนะคะ