อดีตอบอวลคลุ้งเรือน สุลักษณ์ ศิวรักษ์

30 มีนาคม 2556

เสียงโทรศัพท์บ้านที่เชื่อมสัญญาณกันไม่ต่ำกว่า 3 เครื่อง แย่งส่งเสียงดังกังวานไปทั้งซอยสันติภาพ

เสียงโทรศัพท์บ้านที่เชื่อมสัญญาณกันไม่ต่ำกว่า 3 เครื่อง แย่งส่งเสียงดังกังวานไปทั้งซอยสันติภาพ

โดย...ชุษณ์วัฏ ตันวานิช

เสียงโทรศัพท์บ้านที่เชื่อมสัญญาณกันไม่ต่ำกว่า 3 เครื่อง แย่งส่งเสียงดังกังวานไปทั้งซอยสันติภาพ ย่านบางรัก หลังเราโทรหา อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ อีกครั้ง เพื่อแจ้งว่าขณะนี้ได้ยืนอยู่หน้าบ้านแล้ว “...เปิดประตูเข้ามาได้เลยครับ” เสียงอบอุ่นของชายชราวัย 80 ปี ตอบรับปลายสาย ก่อนที่เราจะเปิดประตูก้าวสู่รั้วบ้านอันคลุ้งไปด้วยบรรยากาศแสนเงียบสงบสมชื่อซอย

ร่มเงาจากต้นมะม่วงยักษ์อายุกว่า 60 ปี สยายกิ่งก้านปกคลุมอาณาเขตบ้านผสานกับร่มไม้อื่นสารพัด ทำให้บ้านของ ส.ศิวรักษ์ ร่มเย็นธรรมชาติ บนที่ดินไม่กี่ตารางเมตรนี้ถูกแบ่งออกเป็น 2 โซน คือ ตัวบ้านที่อยู่อาศัยและเรือนไม้ทรงมะนิลา

อ.สุลักษณ์ เล่าย้อนว่า เดิมทีเป็นคนฝั่งธนบุรี อาศัยบ้านของท่านล้อม เหมชะญาติ ผู้ดีเศรษฐีเบอร์ 1 สมัยรัชกาลที่ 5 บ้านท่านล้อมหลังใหญ่มากจนขนาดว่ามีผู้อาศัยถึงกว่า 200-300 ครอบครัว พอท่านล้อมสิ้น บ้านจึงแตกสาแหรกขาด พวกที่เคยอาศัยท่านต้องย้ายออกมา บิดาของ อ.สุลักษณ์ จึงย้ายมาเช่าบ้านในตรอกน้อมจิต ซึ่งเป็นคนละบ้านกับหลังปัจจุบัน เพราะขณะนั้นบ้านหลังนี้ยังเป็นบ้านให้ฝรั่งชาวยิว เยอรมัน ที่สอนโรงเรียนนายเรือเช่าอาศัยเเต่เมื่อเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 กลับถูกระเบิดพังทั้งหลัง หลังเสร็จสงคราม บิดา อ.สุลักษณ์ จึงมาซื้อที่ดินและสร้างบ้านจุดนี้แทน จนแล้วเสร็จในปี 2488 เเละล่วงเลยมาจวบจนปัจจุบัน

ส่วนเรือนไทยที่ตั้งอยู่อีกฟาก อ.สุลักษณ์ บอกว่าเป็นเรือนทรงมะนิลา หลังจากแต่งงานกับ นิลฉวี ศิวรักษ์ ชาวอุทัยธานี ทางบ้านภรรยาที่อุทัยฯ ต้องการรื้อเรือนไม้อายุกว่า 80 ปีทิ้ง เขารู้สึกเสียดาย ประกอบกับความไม่ชอบความทันสมัย จึงตัดสินใจยกเรือนจากอุทัยฯ มาปลูกใหม่ที่กรุงเทพฯ นับอายุแล้วเรือนไม้แห่งนี้คงกระพันไม่ต่ำกว่า 125 ปี มีซ่อมแซมหลายครั้ง แต่โดยรวมพื้นไม้ ฝาบ้าน และเสาทุกต้นยังเป็นของเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

“บ้านก็ผุพังเหมือนกับผม” ชายชราว่าพลางยิ้มระหว่างสวมบทไกด์พาเยี่ยมชมซอกซอนทุกมุมบ้าน

สังขารที่เขาว่าคงหมายถึงสภาพเรือนไม้และฝ้าเพดานหลายจุดในบ้านที่เริ่มผุพังลง แต่กลับสวนทางกับกลิ่นอายความทรงจำที่ยังสดใหม่ลอยคลุ้งรอบตัวบ้าน สัมผัสได้ผ่านหนังสือหลายร้อยเล่ม ภาพวาด ผลงานจิตรกรรม ประติมากรรม ที่เจ้าตัวเล่าประวัติให้เราฟังเสมือนเกิดขึ้นมาไม่นาน

ในตัวบ้านเต็มไปด้วยงานจิตรกรรมของ อ.อังคาร กัลยาณพงศ์ อ.เฟื้อ หริพิทักษ์ อ.ช่วง มูลพินิจ โดยเฉพาะงานจิตรกรรม “เรือนแก้ว” และ “มารวิชัย” ที่ อ.อังคาร ศิลปินแห่งชาติคนสนิทตั้งใจวาดให้ อ.สุลักษณ์ ตั้งโดดเด่นภายในบ้าน ปัญญาชนสยามผู้มีงานเขียนครอบคลุมทั้งประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม ปรัชญา พระพุทธศาสนาท่านนี้ ยังมีห้องสมุดแยกเป็นสัดส่วน มีหนังสือดีหลายร้อยเล่ม มุมหนึ่งมีตู้ไม้ตัวแรกในชีวิต ที่ อ.สุลักษณ์ บอกว่าออมเงินได้จนครบ 300 บาท ซื้อมาตั้งแต่เรียนมัธยม 4 ตู้ อายุกว่า 60 ปี สะท้อนความคลั่งไคล้ในตัวอักษรของ อ.สุลักษณ์ ตั้งแต่วัยเยาว์

ทางฟากเรือนไม้มีห้องทำงานที่ตกแต่งย้อนยุค ภายในห้องมี “ปังกา” หรือพัดสมัยโบราณแขวนบนขื่อบ้าน เจ้าตัวเล่าว่าในกรุงเทพฯ เหลืออยู่เพียง 3 แห่ง คือ วังพระองค์เจ้าธานีนิวัติ สถานกงสุลอังกฤษ และเรือนไม้หลังนี้ มุมห้องมีโต๊ะทำงานดีไซน์เป็นทรงโบราณฝีมือเพื่อนรัก อ.อวบ สาณะเสน จิตรกรอาวุโสเลื่องชื่อที่ตั้งใจทำมอบให้ เดินออกมานอกระเบียงเรือน บนพื้นไม้มีการเจาะช่องเป็นวงกว้างให้ต้นมะม่วงโผล่ขึ้นมาปกคลุม

“ผมปลูกเองกับมือก่อนไปเรียนอังกฤษเมื่อปี 2495 ผมสั่งไว้ไม่ให้ใครมาตัดต้นมะม่วง ตอนนี้มันยังออกลูกให้กินอยู่เลย” อ.สุลักษณ์ ว่าพลางจับลำต้น

“...ต้นนี้ก็เหมือนกับสถาบันกษัตริย์ ตัดกิ่ง ลดใบได้ แต่ห้ามโค่น” ผู้ประกาศตัวเป็นรอยัลลิสต์เมืองไทย อดไม่ได้ที่จะเปรียบเปรย

แม้อายุล่วงเลยเข้าเลข 8 แต่ อ.สุลักษณ์ ยังถูกเชิญไปร่วมวิพากษ์สังคมผ่านงานเขียนและปาฐกถาไม่หยุดหย่อน ไม่นับรวมการเข้าขอสัมภาษณ์ที่หัวกระไดบ้านไม่เคยแห้ง ทุกวันนี้กิจกรรมยามว่าง คือ สวดมนต์ ไหว้พระ ภาวนา เดินเล่นในตรอกทุกเช้า 30 นาที ตามประสา “ผู้ดีต้องเดินตรอก” ที่เจ้าตัวยิ้มบอก จากนั้นจะซื้อปาท่องโก๋ กินเต้าฮวย เขียนหนังสือ นั่งฟังเพลงคลาสสิก ทั้งฝรั่ง ไทย เขมร ลาว ศิลปินที่ชอบ คือ Gilbert and Sullivan

...ชีวิตเรียบง่ายของปัญญาชนอาวุโสยังคงหมุนเวียนไปข้างหน้าพร้อมๆ กับเก็บสั่งสมอดีต 8 ทศวรรษที่ผ่านมาไว้ในบ้านกลางซอยสันติภาพแห่งนี้

&<2288;

&<2288;

 

Thailand Web Stat