posttoday

เมตตาธรรม

09 เมษายน 2556

เมตตา หมายถึง ความมีน้ำใจเยื่อใยไมตรีต่อกันฉันมิตร ความปรารถนาอยากให้สรรพชีพ สรรพสัตว์ มีความสุข ความรู้สึก

โดย...ว.วชิรเมธี ผู้อำนวยการสถาบันวิมุตตยาลัย

เมตตา หมายถึง ความมีน้ำใจเยื่อใยไมตรีต่อกันฉันมิตร ความปรารถนาอยากให้สรรพชีพ สรรพสัตว์ มีความสุข ความรู้สึก รักใคร่ไยดีที่มีต่อคน สัตว์ ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และต่อโลก

ความสำคัญของเมตตา

เมตตาเป็นองค์ธรรมสำคัญในพุทธศาสนาและศาสนาอื่น จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นหลักธรรมที่เป็นสากล ซึ่งมีปรากฏอยู่ในหลักธรรมคำสอนของศาสดาสำคัญของโลกทุกพระองค์ ตลอดถึงเป็นจริยธรรมสากลที่ปวงปราชญ์ราชบัณฑิตและปัญญาชนทั่วโลกต่างเห็นตรงกันว่า เป็นคุณธรรมซึ่งจะขาดเสียไม่ได้ใน หมู่มนุษยชาติ มนุษยชาติขาดน้ำไม่ได้ฉันใด โลกก็ขาดเมตตาไม่ได้ฉันนั้น ในพุทธศาสนาเอง พระพุทธเจ้าทรงให้ความสำคัญกับ “เมตตาธรรม” เป็นอันมาก ดังปรากฏว่าทรงเน้นย้ำหลักธรรมเรื่องเมตตาไว้ในหมวดธรรมต่างๆ มากมาย ทั้งในฐานะหลักธรรมที่พึงปฏิบัติเฉพาะเรื่อง เฉพาะกรณี (การแผ่เมตตา ซึ่งเป็นกิจส่วนบุคคล) หรือหลักธรรมที่พึงปฏิบัติเพื่อบูรณาการกับหลักธรรมข้ออื่นๆ (พรหมวิหารธรรม 4) ตลอดถึงเป็นหลักธรรมสำหรับผ่อนพักอย่างเป็นสุขอยู่ในปัจจุบันขณะ (เมตตาพรหมวิหาร)

ในพุทธธรรม เราจะพบคำสอนเรื่องเมตตากระจายอยู่ในหมวดธรรมต่างๆ มากมาย โดยมีจุดมุ่งหมายหรือจุดเน้นที่ต่างกันไปตามสภาพแวดล้อม หรือตามความจำเป็นที่เมตตาธรรมจะต้องไป เชื่อมโยงหรือสนับสนุนหลักธรรมข้ออื่นๆ เมตตาธรรมที่ปรากฏในระบบพุทธธรรมหรือในสารบบพุทธศาสนา เช่น

เมตตาในฐานะเป็นหนึ่งในบารมี 10

บารมี หมายถึง คุณธรรมอันยิ่งยวดที่ผู้เป็นพระโพธิสัตว์จะต้องบำเพ็ญให้ครบบริบูรณ์ ทั้งสามระดับ คือ ระดับต้น (บารมี) ระดับกลาง (อุปบารมี) ระดับสูงสุด (ปรมัตถบารมี) บารมีดังกล่าวนี้ มี 10 ประการ คือ

1.ทานบารมี

2.ศีลบารมี

3.เนกขัมมบารมี

4.ปัญญาบารมี

5.วิริยบารมี

6.ขันติบารมี

7.สัจจะบารมี

8.อธิษฐานบารมี

9.เมตตาบารมี

10.อุเบกขาบารมี

เมตตาในฐานะเป็นพรหมวิหารธรรม

หลักธรรมที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติมีคุณสมบัติเป็นผู้ประเสริฐ หรือเป็นดั่งพระพรหมผู้สร้างสรรค์ อภิบาลโลก (หลักการบริหารความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับสัตว์ คนกับหลักการ คนกับความรู้สึก คนกับความจริง) เรียกว่า พรหมวิหารธรรม มี 4 ประการ คือ

(1) เมตตา ปรารถนาให้คนและสัตว์เป็นสุข

(2) กรุณา ปรารถนาให้คนและสัตว์พ้นจากความทุกข์

(3) มุทิตา พลอยยินดีในคราวที่ผู้อื่นมีความสุขความเจริญ

(4) อุเบกขา ความวางใจเป็นกลางเมื่อเห็นบุคคล/สัตว์กำลังเสวยผลแห่งกรรมที่ตนเป็นคนก่อไว้เอง

เมตตาในฐานะเป็นอัปปมัญญา

การปฏิบัติตามหลักพรหมวิหารธรรม 4 ประการที่กล่าวมาข้างต้น ที่ขยายขอบเขตออกไปอย่าง ไร้พรมแดน ไม่มีขีดคั่น ไม่มีเงื่อนไข ไม่มีข้อจำกัด แผ่คลุมออกไปทั่วทั้งสากลจักรวาล เรียกว่า “อัปปมัญญา” (ไม่มีประมาณ ไม่มีข้อจำกัด) มี 4 ประการ คือ

(1) เมตตา ปรารถนาให้คนและสัตว์เป็นสุข เสมอหน้ากันทั้งหมด

(2) กรุณา ปรารถนาให้คนและสัตว์พ้นจากความทุกข์เสมอหน้ากันทั้งหมด

(3) มุทิตา พลอยยินดีในคราวที่ผู้อื่นมีความสุขความสำเร็จ เสมอหน้ากันทั้งหมด

(4) อุเบกขา ความวางใจเป็นกลางเมื่อเห็นบุคคล/สัตว์กำลังเสวยผลแห่งกรรมที่ตนเป็นคนก่อไว้ เสมอหน้ากันทั้งหมด

เมตตาในฐานะเป็นเมตตากรรมฐาน

การฝึกจิตที่เรียกว่า “กรรมฐาน” นั้น สามารถใช้เมตตาเป็นอารมณ์ของจิตได้ ผู้ที่ฝึกกรรมฐาน โดยการใช้เมตตาเป็นอารมณ์ในการฝึก ก็เรียกว่าเป็น “ผู้เจริญเมตตากรรมฐาน” การเจริญกรรมฐานโดยใช้ เมตตาเป็นอารมณ์นี้ จะถือว่าสัมฤทธิผลสูงสุดก็ต่อเมื่อสามารถแผ่เมตตาไปยังบุคคล 4 จำพวกโดย ปราศจากการเลือกที่รักมักที่ชังอย่างสิ้นเชิง บุคคลทั้งสี่จำพวกนี้ก็คือ

(1) ตนเอง

(2) คนอันเป็นที่รัก

(3) คนเป็นกลางๆ

(4) คนที่ตนเกลียดชัง

ถ้าผู้เจริญเมตตากรรมฐานสามารถวางใจให้เมตตาต่อคนทั้งสี่จำพวกนี้ได้เสมอกัน ก็จะเป็นการเจริญเมตตาชนิดไร้พรมแดน สามารถยกใจให้สูง รัก เมตตา เอ็นดู ห่วงใย เป็นมิตรกับคนและเทวดาได้ทั้งสากลโลก

เมตตาในฐานะเป็นสื่อสมานไมตรี

มนุษย์ปุถุชนซึ่งเป็นคนหนาด้วยกิเลส ย่อมจะมีกิเลส คือ อคติ 4 อันได้แก่ ความลำเอียงเพราะรัก ลำเอียงเพราะชัง ลำเอียงเพราะหลง ลำเอียงเพราะกลัว เป็นม่านกางกั้นเอาไว้ทำให้ไม่สามารถอยู่ร่วมกัน ด้วยความรัก สมัครสมานสามัคคี เป็นเหตุให้มีใจคิดอิจฉา ริษยา โกรธกริ้ว พยาบาท เบียดเบียนซึ่งกันแล กัน แต่เมื่อใดก็ตามที่มนุษย์รู้จักยกใจให้สูงขึ้นมา เพราะมองเห็นว่าบุคคลที่อยู่ตรงหน้าของตนทั้งหมดนั้น แท้ที่จริงแล้วก็คือ “มิตรร่วมโลก” ของเราด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น เมื่อสามารถมองดูคนทั้งโลกด้วยสายตาอัน เปี่ยมด้วยเมตตาหรือความรู้สึกเป็นมิตรแล้วอคติ 4 ก็หายไป คนที่มีความแตกต่างหลากหลายในทาง เชื้อชาติ ศาสนา ภาษา วัฒนธรรม เพศ ผิว เผ่าพันธุ์ ก็จะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสนิมสนมกลมกลืนเกิด เอกภาพ เกิดความสมัครสมานสามัคคี มีศานติในเรือนใจ อยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข การที่จะฝึกใจให้สูง จนเกิดเป็นภาวะเปี่ยมไปด้วยน้ำใจไมตรีเช่นนี้ มีวิธีสำคัญที่ทรงแสดงไว้ใน กรณียเมตตสูตร ก็คือ ขอให้เราฝึกแผ่เมตตาให้แก่มนุษย์ เทวดา ตลอดถึงสรรพชีพ สรรพสัตว์อย่างไร้ขีดจำกัด โดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ด้วยการตั้งกุศลจิต ปรารถนาให้เขาเหล่านั้นอยู่ร่วมกัน ปฏิบัติต่อกันฉันมิตร พึงปฏิบัติต่อมิตร (มิตร มีรากศัพท์มาจากคำว่า เมตตา) ด้วยจิตนุ่มนวล อ่อนโยน ละมุนละไม ไร้ความวิหิงสาพยาบาท ปรารถนาแต่ให้เขาเหล่านั้นพ้นจากสรรพทุกข์ สรรพโศก สรรพโรค สรรพภัย สรรพเสนียดจัญไรทั้งปวง เผื่อแผ่ความเมตตาการุณย์รักไปยังสรรพชีพ สรรพสัตว์ ดังหนึ่งมารดาปรารถนาให้บุตรน้อยของตนยังชีพ ยืนชนม์อย่างสุขศานติไปตลอดกาล

เมื่อเราฝึกแผ่เมตตาจนสามารถแผ่พลังงานแห่งความรัก ความปรารถนาดี ความมีไมตรีจิตไปยัง สรรพชีพ สรรพสัตว์ ด้วยความรู้สึกดังหนึ่งแม่แผ่ความรักความหวังดีให้ลูกน้อยกลอยใจได้สำเร็จเช่นนี้แล้ว เมื่อนั้นแหละ เราย่อมจะได้ชื่อว่าเป็นผู้อยู่ด้วยเมตตาพรหมวิหาร เป็นผู้มีใจแช่มชื่นเบิกบานอยู่ด้วยรักแท้ และเป็นผู้ที่จะสามารถสร้างสรรค์บันดาลโลกทั้งผองให้เป็นพี่น้องกันได้อย่างแท้จริง เมตตาที่ฝึกภาวนาหรืออบร่ำไว้ในใจจนฉ่ำชื่นรื่นรมย์อยู่เป็นนิตย์นิรันดร์นั้น แท้จริงแล้วก็คือรากฐานแห่งสันติภาพอันถาวรที่จ กลายเป็นหลักประกันสันติภาพของมวลมนุษยชาติโดยรวมสืบไป