posttoday

วิสัชนาธรรมตามนิมิต เพื่อประโยชน์แห่งการเจริญธรรม...(ตอน ๖)

03 มิถุนายน 2556

ดังนั้น การดำเนินหน้าที่ของจิตของสัตว์ทั้งหลาย จึงเป็นเรื่องน่าศึกษายิ่งนัก เพราะรวมเหตุความไม่รู้ไม่เข้าใจให้เกิดการประพฤติปฏิบัติผิดๆ

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส

ดังนั้น การดำเนินหน้าที่ของจิตของสัตว์ทั้งหลาย จึงเป็นเรื่องน่าศึกษายิ่งนัก เพราะรวมเหตุความไม่รู้ไม่เข้าใจให้เกิดการประพฤติปฏิบัติผิดๆ มีพฤติจิตที่ผิดเพี้ยน มีการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องตามหลักแห่งความจริง อันนำไปสู่ความทุกข์และมากยิ่งกว่าความทุกข์ ด้วยจิตเป็นมหาเหตุ การศึกษาเรื่องจิตจึงเป็นเรื่องของพระพุทธศาสนา โดยศึกษาให้เห็นจริงแห่งการปฏิสนธิหรือการเกิด เมื่อสัตว์ทั้งหลายปฏิสนธิ อะไรปฏิสนธิเล่า อะไรเกิด... และเมื่อจุติก็คือดับ อะไรดับ... ระหว่างการเกิดการดับที่สืบเนื่องต่อไปนั้นคืออะไร ตรงนี้เป็นเรื่องของการลงลึกลงไปในการศึกษาชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย ให้พบวิถีอันหนึ่งที่ให้เห็นการดำเนินชีวิตของสัตว์ หรือเรียกว่าจิตวิถี ตั้งแต่เกิดจนถึงตาย ก็คือจุติ อันมีจิตเป็นพื้น ที่เรียกว่า ภวังคจิต (แปลว่าจิตที่เป็นองค์แห่งภพ หรือจิตในภาวะที่เป็นองค์แห่งภพ) ซึ่งมีลักษณะเป็นธรรมชาติอันหนึ่งคือมีความเกิดความดับแห่งจิตนี้ ไม่ใช่เป็นอัตตา ไม่ใช่คงทน ไม่ใช่เป็นตัวตนบุคคล ไม่ได้เป็นอมตะแห่งธรรม แต่แปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพธรรมนั้นๆ ดังเรียกว่า รูปของภวังคจิต จิตที่เป็นองค์แห่งภพ ซึ่งมีการเกิดดับสืบเนื่องต่อกันไปตลอดเวลา เรียกว่า อยู่ในกระแสของภวังค์ บาลีเรียกว่า ภวังคโสตะ

ถ้าจิตอยู่ในภาวะแห่งภวังค์เป็นภวังคจิต มีความเกิดดับสืบต่อไปตามกระแสภวังค์ ถือได้ว่าเป็นการดำเนินชีวิตไปตามสภาพ อันแสดงความมีชีวิตอยู่แห่งสัตว์นั้น เหมือนคนนอนหลับอยู่ตลอดเวลา แต่มิใช่หมายความว่า สภาพจิตนั้นได้ดับไปแล้วหรือบุคคลนั้นได้ตายไปแล้ว การนอนหลับอยู่ก็เหมือนยังมีชีวิตอยู่ คือ จิตนั้นยังมีการรับรู้หรือทำกรรมทางทวารต่างๆ... เมื่อจิตยังทำกรรม หรือประกอบ หรือมีการกระทำกรรมต่างๆ ได้ จิตจึงมิใช่อยู่เพียงแต่ในภาวะที่เป็นภวังค์ การทำงานของจิตนั้นก็อาศัยการรับรู้ทางอายตนะทั้ง ๖ หรือทวารทั้ง ๖ เมื่อจิตเกิดการเคลื่อนตัวเข้าไปทำกรรมต่างๆ ทางทวาร จิตจึงเคลื่อนตัวออกจากภวังค์ได้ คือ มิใช่เป็นแต่องค์แห่งภพไว้เท่านั้น แต่จะสืบเนื่องให้เกิดการกระทำใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกขณะ เมื่อจิตนั้นเคลื่อนไปรับรู้ เสพ จดบันทึกอารมณ์ใหม่ๆ ที่ไหลเข้าไปให้จิตยึดถือในอารมณ์นั้น อันส่งเข้ามาทางอายตนะทั้ง ๖ โดยภวังคจิตที่กำลังเกิดดับสืบต่อกระแสภพกันอยู่นั้น จะแทนที่ภวังคจิตหนึ่งที่ดับไป จะเกิดเป็นภวังคจิตใหม่ขึ้นมา ก็กลายเป็นว่า ภวังคจิตหนึ่งดับไป แต่เกิดเป็นจิตหนึ่งที่เข้าสู่ในวิถีแห่งการรับรู้เกิดขึ้น ก็คือเคลื่อนตัวออกมารับรู้ การเคลื่อนตัวออกมารับรู้ธรรมทั้งหลาย เรียกว่า จิตออกจากภวังค์ เพื่อเข้าสู่วิถีแห่งการดำเนินทำงานของจิต เรียกว่า จิตวิถี ซึ่งจำแนกไปตามคุณลักษณะของจิตแต่ละขณะ คือ จิตนั้นทำงานอยู่ในลักษณะใดมีคุณลักษณะใด ก็จำแนกลักษณะจิตเป็นไปตามสภาพธรรมนั้นๆ เช่น เบื้องต้นที่กล่าวเรื่องของจิตในรูปของภวังคจิต ซึ่งเกิดขึ้นต่อจากปฏิสนธิจิต เมื่อมีการปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น จิตก็รวมอยู่ในภวังค์อันมีกรรมเป็นมูลเหตุ และรับอารมณ์หนึ่งใน ๓ อารมณ์ อันเป็นอารมณ์ที่เกิดจากกรรม กรรมนิมิต หรือคตินิมิตจากภพก่อน

ภวังคจิต เป็นจิตที่สืบเนื่องมาจากจิตที่ปฏิสนธิ ยังไม่รับรู้อารมณ์ในภพปัจจุบัน แต่รับอารมณ์ที่สืบเนื่องมาจากในภพก่อน ในรูปของกรรมที่เคยกระทำมา กรรมนิมิตคือสภาพแห่งกรรมนั้น หรือคตินิมิตเป็นผลแห่งการกระทำนั้นๆ ที่เกิดขึ้นเป็นคตินิมิตที่จะเกิดขึ้นไปเบื้องหน้า หรือกรรมนิมิตที่เกิดขึ้นตามผลการกระทำนั้น ตรงนี้ต้องเข้าใจว่าเมื่อมีการกระทำเกิดขึ้น เราจำได้เรากระทำสิ่งนี้ กรรมนิมิตคือนิมิตเกิดขึ้นจากการกระทำสิ่งนี้ ให้เห็นผลแห่งการกระทำนั้นที่เป็นในปัจจุบันนั้น หรือคตินิมิต คือ บ่งบอกเรื่องราวที่เกิดจากการกระทำนั้น เพื่อชี้ไปถึงในภพเบื้องหน้า หรือสิ่งที่จะเกิดขึ้นอันสืบเนื่องมาจากภพที่ผ่านมา ภวังคจิตก็จะรับรู้อยู่ในสภาพของการกระทำที่สืบเนื่องมาจากในอดีต ยังให้ผล ณ ปัจจุบัน ขณะจิตอยู่ในภวังค์นั้นจะไม่รับรู้อารมณ์ในภพปัจจุบัน จนกว่าจิตนั้นจะเคลื่อนตัวไปรับอารมณ์ที่ปรากฏทางทวาร หรืออายตนะ ก็จะต้องตัดกระแสของภวังคจิต เป็นการตัดกระแสของภวังคจิตและสืบต่อเข้าสู่วิถีที่จะรู้ในอารมณ์ที่เกิดขึ้นใหม่ จึงมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในกระแสจิต เป็นความเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่า วิถีจิต ได้ดำเนินขึ้น ณ บัดนั้น ซึ่งทำให้จิตในภาวะที่เป็นองค์แห่งภพค่อยละความสนใจในอารมณ์เดิม และหันไปสนใจในอารมณ์ที่มากระทบจนเกิดการไหวตัวของภวังค์ เรียกเป็นภาษาบาลีว่า ภวังคจลนะ และเมื่อไหวตัวด้วยกำลังเข้มข้นขึ้นด้วยจิตนั้นจะต้องรับรู้ในอารมณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นทางอายตนะ และต้องตัดในการถือในอารมณ์เดิมที่เป็นภวังคจิตที่สืบจากภพก่อน จนมีกำลังเข้มแข็งแก่กล้าขึ้นจนตัดกระแสภวังคจิต เรียกว่า ภวังค์ตัดกระแส ภวังคุปัจเฉทะ เมื่อตัดกระแส ภวังคจิตดวงดังกล่าวก็ดับลง กระแสภวังค์ก็ถูกตัดไปด้วยจิตที่เกิดขึ้นทำหน้าที่พิจารณาอารมณ์ใหม่ การเคลื่อนตัวของจิตที่สืบเนื่องตัดกระแสภวังค์ออกมา เรียกจิตดวงดังกล่าวว่า อาวัชชนจิต เป็นจิตที่เข้าสู่การทำหน้าที่ ณ ขณะที่เคลื่อนตัวไปสู่อารมณ์เพื่อพิจารณาอารมณ์ใหม่ที่เกิดขึ้น เป็นการพิจารณาอารมณ์ที่เกิดขึ้นที่ส่งเข้ามาทางทวารทั้ง ๖ อันเป็นสถานที่ทำงานของจิตที่จิตจะไปรับรู้ในอารมณ์นั้นๆ การพิจารณาอารมณ์ของจิตที่จิตเข้าไปยึดในอารมณ์ใหม่ทางทวารทั้ง ๕ นั้น เรียกเป็นบาลีว่า ปัญจทวารวัชชนะ หรือหากจิตพิจารณาอารมณ์ทางใจ ก็เรียกว่า มโนทวารวัชชนะ คือจิตพิจารณาอารมณ์ใหม่ทางใจ

หลังจากนั้น วิญญาณอาศัยอายตนะก็ทำหน้าที่เข้าไปเห็น วิญญาณก็คือลักษณะการทำงานของจิตที่เข้าไปรู้แจ้งในสภาพธรรมนั้นๆ ทางอายตนะ เช่น เข้าไปเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส ได้รับรู้สัมผัส หรือธรรมารมณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อการเคลื่อนตัวเข้าไปรู้ดังกล่าวเกิดขึ้น จิตก็ยกขึ้นสู่สภาพอีกตัวหนึ่งเปลี่ยนจากอาวัชชนจิตเป็นสัมปฏิจฉันนจิต จากพิจารณาอารมณ์เข้าไปเป็นจับฉวยอารมณ์นั้นไว้ และเมื่อจับฉวยอารมณ์นั้นไว้ได้แล้วก็จะไต่สวนอารมณ์ที่จับฉวยไว้นั้น จิตก็ทำหน้าที่ส่งต่อทันที ส่งต่อไปสู่ส่วนของสันตีรณจิต เพื่อทำหน้าที่ไต่สวนอารมณ์ที่จับฉวยไว้ ไม่ว่าเป็นอารมณ์ที่ดีหรือไม่ดี หลังจากนั้นก็จะตัดสินอารมณ์นั้นด้วยจิตขณะต่อไปเรียกว่า โผฏฐัพพนจิต เมื่อตัดสินอารมณ์สมบูรณ์แล้ว ชวนจิต ๗ ขณะก็จะเกิดตามมา ชวนจิตก็จะเสพในอารมณ์นั้น ชวนจิตมีความเร็วและแรงผลักดันซึ่งไม่มีในจิตประเภทอื่น เพราะเป็นจิตที่ประกอบด้วยเจตสิกที่มีกำลังแรง เป็นได้ทั้งกุศลและอกุศล... ด้วยความเร็วและแรงผลักดันของชวนจิต หลังจากการทำงานของชวนจิตได้เกิดขึ้นครบ ๗ ขณะ ตรงนี้ความเป็นกุศลและอกุศล ด้วยอำนาจของเจตสิกที่มีกำลังแรงเกิดขึ้น ณ ขณะนั้นทั้งหมด

อ่านต่อฉบับหน้า