posttoday

วิสัชนาธรรมตามนิมิตเพื่อประโยชน์แห่งการเจริญธรรม...(ตอน ๑๐)

07 มิถุนายน 2556

การที่จะก้าวสู่ความเบิกบานได้นั้น อย่างที่กล่าวมาสรุปรวมคือต้องพัฒนาจิตให้เข้าถึงคำว่า “รู้” รู้ดังกล่าวนี้คือรู้แจ่มแจ้งในอริยสัจ

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส

การที่จะก้าวสู่ความเบิกบานได้นั้น อย่างที่กล่าวมาสรุปรวมคือต้องพัฒนาจิตให้เข้าถึงคำว่า “รู้” รู้ดังกล่าวนี้คือรู้แจ่มแจ้งในอริยสัจ ให้จิตกลับมารู้ เป็นการรู้อย่างมีสติปัญญา กำหนดรู้ลงไป แจ่มแจ้งในอริยสัจ จนเกิดอำนาจตัวรู้ขึ้น ตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงตรัสรู้และเข้าถึงตัวรู้นี้โดยพระองค์เอง ที่เรียกว่า พุทโธ เมื่อรู้แล้วจึงเป็นผู้ตื่น... เข้าถึงพุทโธผู้ตื่น เพราะได้เข้าถึงพุทโธผู้รู้แล้ว จึงตื่นจากหลับใหล ที่เกิดจากกิเลสนิทรา หมายถึง ที่เราหลับด้วยกิเลสแม้เรานั่งตื่นอยู่ลืมตาอยู่ คือหลับใหลด้วยอำนาจแห่งกิเลส ดังปุถุชนทั้งหลาย แม้ได้ชื่อว่าตื่นก็ยังหลับอยู่ด้วยอำนาจแห่งกิเลส

ดังนั้น เนื่องในธรรมปริยายที่วิสัชนามานี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าในโอกาสที่สัตว์ทั้งหลายจะระลึกถึงวันเกิดหรือการปฏิสนธิแห่งสัตว์ทั้งหลายนั้น จึงควรศึกษาให้เข้าใจถึงมูลเหตุแห่งการเกิดหรือการปฏิสนธิ เข้าถึงความจริงตามที่กล่าวในจิตวิถีหรือวิถีจิต เพื่อรู้ให้แจ้งว่า อะไรเกิด อะไรทำให้เกิด อะไรเป็นผลแห่งการเกิด... ตามที่กล่าวมาโดยสรุป หากพิจารณาจนเข้าใจก็จะทำให้เกิดปัญญา รู้และสามารถตอบคำถามนั้นได้ การรู้และตอบคำถามดังกล่าวได้ แม้ใคร่ครวญหาเหตุผลอย่างน้อยๆ ก็จะได้นำความรู้นั้นมาเป็นข้อคิดพิจารณาเป็นธัมมานุสติ ดำเนินชีวิตไปอย่างไม่ประมาท และมิใช่ใคร่ครวญอย่างเดียว พิจารณาลงไปให้รู้แจ้งในความจริงดังกล่าว อันสรุปลงไปในอริยสัจ ๔ ที่แสดงถึง ทุกข์สิ่งที่ควรรู้ เหตุแห่งทุกข์สิ่ง-ที่ควรละ นิโรธ-สิ่งที่ควรทำให้แจ้ง และมรรค องค์ธรรมทั้ง ๘ ควรเจริญให้มาก

การดำเนินอยู่ในวิถีธรรมดังกล่าวจึงชื่อว่าไม่ประมาทอย่างแท้จริง เพราะเป็นการประพฤติปฏิบัติอยู่บนเส้นทางธรรม เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา อันเป็นทางสายกลาง ที่มุ่งเจริญสติปัญญาให้รู้เท่าทันในทุกขณะแห่งจิตที่เปลี่ยนแปลงผันแปร เห็นความเกิดความดับอยู่ตลอดเวลา เพื่อจะได้เข้าใจในความจริงแห่งการปฏิสนธิวิญญาณในภพใหม่ เห็นแจ้งจริงว่าเป็นจิตคนละดวงกับจิตจุติของคนใกล้ตาย แต่มีความเกี่ยวเนื่องกัน การเกิดใหม่เป็นความต่อเนื่องอาศัยกันเกิดขึ้นของจิตแต่ละดวง... การเข้าใจดังกล่าวได้เราจึงพบความจริงว่าจิตนี้เป็นสภาพธรรมที่ไม่เที่ยง แปรปรวน ไม่ใช่ตัวตนและเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงถ่ายเทอยู่ตลอดเวลา ยากที่จะควบคุมให้เป็นเช่นนั้นเช่นนี้ได้ การเคลื่อนไหวแห่งจิตด้วยอำนาจผลักดันของความไม่รู้นั้น จึงทำให้ร่าเริงรื่นเริงยินดีในสิ่งที่ไม่ควรยินดี ดังที่กล่าวเป็นอนุสติธรรมจากพระภาษิตที่ว่า...

“...ร่าเริงกันไปทำไม เพลิดเพลินกันไปทำไม เมื่อโลกถูกไฟไหม้โพลงอยู่เป็นนิตย์

ท่านทั้งหลาย อันความมืดห่อหุ้มแล้ว ทำไมไม่แสวงหาดวงประทีปเล่า...”

อ่านต่อฉบับหน้า