100 ปีความยิ่งใหญ่ สู่รีแบรนดิง ‘วิศวะจุฬาฯ’

15 มิถุนายน 2556

คณะวิชาเก่าแก่คณะหนึ่งของประเทศ สั่งสมชื่อเสียงมานาน และได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งใน “8 เกียร์” ที่นักเรียนชั้นหัวกะทิทั่วประเทศหมายมั่นจะเป็น “วิศวกร”

โดย...กองบรรณาธิการ

คณะวิชาเก่าแก่คณะหนึ่งของประเทศ สั่งสมชื่อเสียงมานาน และได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งใน “8 เกียร์” ที่นักเรียนชั้นหัวกะทิทั่วประเทศหมายมั่นจะเป็น “วิศวกร” ในอนาคต นั่นคือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เปิดสอนเป็นแห่งแรกของเมืองไทย เมื่อไม่นานนี้ คณะนี้ประกาศว่ามีอายุครบ 100 ปี

ประวัติอันยาวนานของคณะนี้ ย้อนกลับไปในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์มีพระประสงค์ให้จัดตั้งโรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือนขึ้นในพระบรมมหาราชวัง ณ ตึกยาว ข้างประตูพิมานไชยศรี ตรงข้ามศาลาสหทัยสมาคม ในปี 2442 ได้รับพระบรมราชานุญาตให้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนมหาดเล็ก เมื่อ 1 เม.ย. 2445 ทั้งนี้เพื่อผลิตบุคลากรให้รับราชการซึ่งมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว อันเป็นผลจากพระบรมราโชบายปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดินเมื่อปี 2425

ต่อมาเมื่อถึงต้นรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงเรียน “มหาดเล็ก” ก่อนจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนข้าราชการพลเรือนแห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” โดยมีพระราชประสงค์จะให้มีการเรียนทางด้านรัฐประศาสนศาสตร์ แพทยศาสตร์ เกษตรศาสตร์ กฎหมาย ครุศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์

ในปี 2455 หลายหน่วยงานทั้งด้านทหารและคมนาคม ต่างต้องการนักเรียนที่สำเร็จวิชานี้มาก เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีได้มาเป็นผู้บัญชาการโรงเรียนข้าราชการพลเรือน จึงได้ให้จัดการตั้งโรงเรียนช่างกลขึ้น วางหลักสูตรหาอาจารย์มาเพิ่มเติมให้ได้มากที่สุด และได้นักเรียนช่างกลชุดแรกจากโรงเรียนเกษตรวิศวกรรมการคลองที่เลิกไปมาประมาณ 3040 คน โดยสถานที่ของโรงเรียนเกษตรนั้นได้จัดตั้งเป็นโรงเรียนช่างกลและได้เปิดสอน รับสมัครนักเรียนภายนอกเรียกว่า “โรงเรียนยันตรศึกษาแห่งโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” นับตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2456 เป็นต้นมา

นั่นเป็นที่มาพอสังเขปของคณะนี้ 1 ใน 4 คณะแรกตั้งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งอยู่ในส่วนพื้นที่หลักฝั่งเดียวกับสนามพระรูป แบ่งออกเป็น 13 ภาควิชา นิสิตคณะนี้มักเรียกแทนตัวเองว่า “อินทาเนีย”

“วันสถาปนาปีนี้ เป็นวันครบรอบ 100 ปี ซึ่งองค์กรที่มีอายุยาวนานขนาดนี้ ถ้าเป็นเอกชนก็ต้องหวั่นไหว แต่สำหรับเราถือเป็นจุดหนึ่งที่ใช้เป็นโอกาสทบทวนบทบาทหน้าที่ของตัวเองที่มีต่อสังคมที่รองรับผลผลิตของเรา นักศึกษาที่จบออกไปรุ่นแล้วรุ่นเล่าจนถึงวันนี้และกระทั่งอนาคต สังคมมองไปที่พวกเขาอย่างไร”

ประโยคแรกที่ ดร.บุญสม เลิศหิรัญวงศ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มแนะนำคณะในโอกาสครบรอบ 1 ศตวรรษ หัวเรือใหญ่ท่านนี้ บอกว่า จากผลงานที่สั่งสมมา ไม่ใช่เรื่องเกินเลย หรือกล่าวเกินจริง หากจะระบุอีกว่า ที่ผ่านมานั้น วิศวะจุฬาฯ มีบทบาทเป็นจุดแข็งซึ่งเป็นที่เชิดหน้าชูตาระดับประเทศในหลากหลายบริบท ศิษย์เก่าเกือบ 3 หมื่นคน นอกเหนือจากยึดหัวหาดวงการนี้แล้ว ยังกระจายออกไปทำงานรับใช้สังคมในวงการต่างๆ หลากหลายอาชีพ

“นับตั้งแต่ปีแรกจนถึงวันนี้ ทุกภาคส่วนของประเทศต้องมีศิษย์เก่าของเราเข้าไปสร้างผลงานไว้ เรียกได้ว่าอย่างมากมายมหาศาล โดยเฉพาะสายสัมพันธ์ที่เรามีในกลุ่มเศรษฐกิจนั้น บอกได้เลยว่า กว่า 70% ของตลาดหลักทรัพย์คุมโดยศิษย์เก่าของวิศวะจุฬาฯ หรือกระทั่งรากฐานของตึกใหญ่ๆ ในกรุงเทพฯ เราไปวางรากฐานให้เกือบทั้งหมด ยังไม่นับรวมถึงบุคคลที่มีชื่อเสียงในวงการอื่นๆ อีกมากมาย ”

แม้จะเป็นคณะที่สั่งสมความสำเร็จมายาวนาน 1 ศตวรรษ แต่ ดร.บุญสม บอกว่า นี่เป็นช่วงที่ต้อง “รีแบรนดิง” หรือปรับภาพลักษณ์ตัวเองใหม่

โดยยึดแนวคิดจากประโยคที่ว่า Foundation Toward Innovation ที่แปลได้ว่า รากฐานที่แข็งแกร่งของเราจะก้าวสู่นวัตกรรม รวมไปถึงสัญลักษณ์เดิมของคณะที่เคยจัดประกวดออกแบบใหม่มาก่อนหน้านี้ เดิมเป็นรูปเกียร์กับองค์พระเกี้ยว มาเป็น CHULA ENGINEERING ซึ่งตรง E จะเป็นตัวซิกมาที่เห็นแล้วเข้าใจทันทีว่าเป็นสายวิศวกรรมศาสตร์ และเหมือนลูกศรที่เหลื่อมเข้าไปใน N หมายความถึงการพุ่งไปข้างหน้า

ขยายความได้ว่า ข้อความดังกล่าวสื่อถึงความทันสมัยและความเป็นสากลมากขึ้น ในส่วนที่อยู่ระหว่างตัว E และ N (คำว่า Engineering) เป็นเครื่องหมาย “Forward” สีขาว สะท้อนถึงการพุ่งไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ด้านล่างจะเป็นคำว่า Foundation Toward Innovation เป็นหนึ่งในทิศทางสำหรับการทำงานของคณะที่มีโจทย์ใหญ่รออยู่

ดร.บุญสม เล่าว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ การปรับหลักสูตรการเรียนการสอนให้เป็น Outcome Based ที่เน้นผลการเรียนรู้ของนักศึกษา สร้างการยอมรับในตัวหลักสูตร และปรับหลักสูตร วิธีการจัดการเรียนการสอนเข้าสู่มาตรฐานสากล ลดการเรียนในห้องลง ผลักดันให้นิสิตเรียนด้วยตัวเองผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ใช้ห้องเรียนเป็นที่แลกเปลี่ยนสิ่งที่เรียนรู้มา พูดคุยกันเป็นกลุ่ม โดยใช้ตึก 100 ปี เป็นพื้นที่การเรียนแบบใหม่ กระตุ้นให้เกิดการทำงานเป็นทีม นักเรียนต่างสาขามาทำงานด้วยกัน

“นักศึกษารุ่นต่อไปของเราต้องตอบโจทย์นวัตกรรมของยุคต่อๆ ไปได้ ต้องเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ขณะที่เราต้องผลิตหลักสูตรโดยรู้ว่าตลาดต้องการอะไร เราต้องมีงานวิจัยถูกจุดเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด นอกจากนี้ยังเป็นการรวบรวมองค์ความรู้ให้มาอยู่ในระบบ เป็นการจัดการองค์ความรู้ที่เกิดจากการเชื่อมต่อกับภาคอุตสาหกรรม เช่น ในอนาคตการผลิตรถยนต์ต้องมีงานวิจัยที่เน้นผสานกันระหว่างศาสตร์ เช่น การผลิตรถยนต์ในอดีตใช้วิศวกร 1 คนก็ได้แล้ว แต่วันนี้เมื่อเทคโนโลยียานยนต์เป็นไฮบริดหรือไฟฟ้า และอื่นๆ ที่จะตามมา จะต้องมีวิศวกรอย่างน้อย 3 สาขาในการผลิตรถยนต์ 1 คัน ในอนาคตยิ่งต้องบูรณาการระหว่างศาสตร์ เช่น หากต้องผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนเอง ก็ยิ่งขยายการเรียนรู้ หรือเพิ่มวิศวะคอมพิวเตอร์เข้ามา”

แนวคิดนี้ถูกนำร่องไปบ้างแล้วตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยบัณฑิตที่จบในปี 2557 กำลังจะเป็นผลิตผลรุ่นแรกจากการปรับหลักสูตรตามแนวคิดนี้

ก้าวสู่ศตวรรษใหม่ คณะนี้ไม่เพียงแต่ต้องเผชิญหน้ากับการรักษามาตรฐานที่ทำไว้ และการปรับภาพลักษณ์ใหม่ อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องเตรียมการรับมือและปรับตัวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558

“เรื่องนี้เด็กปริญญาตรีของเรากว่า 4,000 คน เราจะเน้นให้นักศึกษาฝึกทักษะภาษาอังกฤษด้วยตัวเอง โดยเรามีทั้ง SelfLearning Center โปรแกรม English Discoveries และ Tell Me More ซึ่งถ้านิสิตเราเข้ามาเรียนรู้ครบ 100 ชั่วโมง แล้วไปสอบโทเฟลได้ 550 คะแนน คณะจะออกเงินค่าสอบให้”

นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้นิสิตภาคปกติได้เรียนหลักสูตรภาษาอังกฤษเดียวกับนักศึกษาภาคอินเตอร์ฟรี แทนที่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเทอมละ 8 หมื่นบาท โดยมอบโอกาสนี้ให้กับนิสิตที่มีผลการเรียนดีแต่ไม่มีทุนทรัพย์ คณะออกค่าใช้จ่ายให้เรียน โดยเปิดสอนบางรายวิชา มีทั้งกลุ่มที่เป็นภาษาอังกฤษกับภาษาไทย แล้วให้นักศึกษาเลือก ตั้งเป้าว่ามีนักศึกษา 30% เข้าร่วมโครงการ เริ่มในปีการศึกษา 2557

รวมมิตรชาวอินทาเนีย

ถ้ากล่าวถึง พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล นักการเมืองรุ่นเก๋าที่คร่ำหวอดในเวทีการเมือง ถือเป็นผลผลิตของคณะที่สร้างชื่อเสียงให้กับสถาบัน จบปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมโยธา โดยใช้เวลาเรียนถึง 6 ปี (ตามหลักสูตรต้องเรียน 4 ปี) เข้าสู่เส้นทางการเมืองครั้งแรกปี 2524 โดยร่วมก่อตั้งพรรคปฏิวัติ ก่อนย้ายไปหลายพรรค ปัจจุบันเป็นแกนนำคนสำคัญของพรรคไทยรักไทย ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีหลายกระทรวง ล่าสุดเป็น รมว.พลังงาน

ในวงเสวนา 100 ปี คณะวิศวะ จุฬาฯ เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา “พงษ์ศักดิ์” พูดติดตลกเรื่องเรียนนานกว่าเพื่อนว่า “สังเกตให้ดี คนที่เรียนจบวิศวะ 4 ปี ส่วนใหญ่จะประสบความสำเร็จเป็นระดับซีอีโอของบริษัทใหญ่ๆ แต่รู้มั้ย คนที่เรียนจบ 6 ปี อย่างผม ได้เป็นรัฐมนตรีนะ” เรียกเสียงฮาได้ทันที

พยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่นปี 2514 หรือ วศ.14 มีเพื่อนร่วมรุ่นที่รู้จักในวงการเศรษฐกิจธุรกิจเป็นอย่างดี อาทิ ณอคุณ สิทธิพงศ์ ปลัดกระทรวงพลังงาน สุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และประเสริฐ บุญสัมพันธ์ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.

หลังจบการศึกษาในปี 2517 เริ่มงานแรกที่ กฟผ. แต่เป็นระยะสั้นๆ เพียง 3 เดือนเท่านั้น ก่อนจะไปเริ่มงานที่บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย ตั้งแต่ปี 2518-2553 โดยตำแหน่งสูงสุดในการร่วมงานกับปูนซิเมนต์ไทย คือ ผู้จัดการบริหารโครงการ และระหว่างปี 2540-2553 ก็ได้ร่วมงานกับบริษัท สยามยูไนเต็ดสตีล (1995) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของปูนซิเมนต์ไทย โดยมีตำแหน่งสูงสุด คือ กรรมการรองผู้จัดการ

ต่อมาได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธาน ส.อ.ท. ตั้งแต่ปี 2553-2555 และได้รับเลือกอีกครั้งในปี 2555-2557 นอกจากนี้ยังได้รับแต่งตั้งจากรัฐบาลชุดนี้ให้เป็นกรรมการหลายคณะ เช่น คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) คณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (กพข.) เป็นต้น

Thailand Web Stat