‘นอร์เวย์’ ผู้มั่งคั่งทางด้านพลังงาน
หากพูดถึงกลุ่มประเทศในยุโรปเหนือ เชื่อเหลือเกินว่าผู้คนจะนึกถึงประเทศนอร์เวย์เป็นอันดับแรกสุด
หากพูดถึงกลุ่มประเทศในยุโรปเหนือ เชื่อเหลือเกินว่าผู้คนจะนึกถึงประเทศนอร์เวย์เป็นอันดับแรกสุด เพราะชื่อเสียงจากการเป็นประเทศที่ได้สมญานามว่า “ดินแดนแห่งพระอาทิตย์เที่ยงคืน” มากไปกว่านั้นความสวยงามและแปลกตาของภูมิประเทศอย่าง “ฟยอร์ด” ก็เป็นสิ่งที่ดึงดูดให้ผู้คนทั่วโลกเดินทางมาให้เห็นกับตา นอกจากนั้นแล้วคุณภาพชีวิตที่ดีและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนชาวนอร์เวย์ รวมไปถึงการเป็นประเทศที่มีค่าครองชีพสูงติดอันดับโลกก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจและศึกษา ดังนั้น การเริ่มต้นพาไปทำความรู้จักกับนอร์เวย์ของโลก 360 องศาครั้งนี้ จะทำให้คุณผู้อ่านได้เข้าใจในประเทศนี้ไม่มากก็น้อย
ประเทศนอร์เวย์มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “ราชอาณาจักรนอร์เวย์” เป็นประเทศในกลุ่มนอร์ดิก อันประกอบไปด้วยอีก 4 ประเทศ คือ สวีเดน เดนมาร์ก ฟินแลนด์ และไอซ์แลนด์ ประเทศนอร์เวย์มีเมืองหลวงชื่อว่า “กรุงออสโล” ตั้งอยู่ทางตอนล่างของประเทศ เป็นเมืองที่มีความทันสมัย มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น เพราะเป็นศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจและการปกครอง
ในมุมมองของนักท่องเที่ยวนั้น เสน่ห์ของนอร์เวย์คือการเป็นดินแดนแห่งพระอาทิตย์เที่ยงคืน คือจุดกำเนิดบ้านเกิดของนักรบไวกิ้งและความสวยงามของภูมิประเทศที่เกิดจากธารน้ำแข็งอย่างฟยอร์ด แต่ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์นั้น ประเทศนี้คือประเทศที่มีจีดีพีต่อประชากรสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และเป็นหนึ่งในประเทศร่ำรวยที่สุดในโลก จากการประเมินมูลค่าเงินทุนสำรองต่อหัวของประชาชน (Capital Reserved Per Capita) ดังนั้น ไม่ว่าจะมองในมุมไหนๆ ก็เห็นความน่าสนใจของประเทศนี้เต็มไปหมด
ทีมงานโลก 360 องศา ได้มีโอกาสเข้าพบเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงออสโล ท่านธีรกุล นิยม เพื่อสอบถามและขอข้อมูลเบื้องต้นที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเทศนี้ ท่านทูตได้เล่าให้เราฟังว่า นอร์เวย์แม้จะเป็นประเทศเล็กแต่มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจสูง เพราะมีรายได้จากการขุดเจาะและส่งออกน้ำมันเป็นอันดับ 8 ของโลก ทำรายได้เข้าประเทศถึงปีละ 43 พันล้านเหรียญสหรัฐ อีกทั้งยังเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลก และยังเป็นแหล่งประมงชั้นดีที่ส่งออกอาหารทะเลไปทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลาแซลมอนจากนอร์เวย์เป็นที่ต้องการในตลาดญี่ปุ่นสูง ซึ่งเป็นตลาดรับซื้อปลาที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีมูลค่าประมูลซื้อขายสูงที่สุดในโลก แค่เพียงรายได้หลักจาก 3 แหล่งดังกล่าวก็เพียงพอที่จะทำให้นอร์เวย์เป็นรัฐสวัสดิการแบบ 100 เปอร์เซ็น ได้อย่างสบายๆ เช่น การได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาลฟรีและการให้การศึกษาฟรีถึงระดับปริญญาเอกไม่จำกัดสาขา แต่ในขณะเดียวกันกลไกดังกล่าวนี้ ก็ทำให้ที่นี่มีค่าครองชีพสูงติดอันดับโลก และยังเป็นสังคมเปิดที่เคารพความหลากหลายทางวัฒนธรรมและความเท่าเทียมกันทางเพศ ด้วยเหตุนี้นอร์เวย์จึงมีบทบาทสำคัญในเวทีโลกเกี่ยวกับเรื่องประชาธิปไตย
ประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกสุดในเอเชียที่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับนอร์เวย์ในปี 1905 ภายหลังจากได้รับเอกราชจากสวีเดนอย่างสงบ มากไปกว่านั้น การเสด็จพระราชดำเนินเยือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในปี 1907 ก็ยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นในทุกระดับจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ซึ่งท่านทูตได้เสริมประเด็นนี้ว่า นอร์เวย์และไทยมีความสัมพันธ์ในมิติของประชาชนอย่างแข็งแกร่ง เพราะมีจุดแข็งอยู่ 3 ประการ คือ หนึ่ง การเป็นเพื่อนแท้ในยามยากเมื่อครั้งนอร์เวย์เพิ่งได้รับเอกราช สอง คือการไปมาหาสู่ระหว่างกัน ซึ่งในปีๆ หนึ่งนั้นมีชาวนอร์เวย์เดินทางไปประเทศไทยมากถึง 135,000 คน และสาม คือการมีคนไทยมาตั้งรกรากที่นอร์เวย์มากถึง 13,000 คน ดังนั้น ชาวนอร์เวย์ส่วนใหญ่จะรู้จักประเทศไทยเป็นอย่างดี คนไทยจึงได้รับการต้อนรับอบอุ่นจากชาวนอร์เวย์อยู่เสมอ ซึ่งจุดแข็งดังกล่าวนี้ย่อมจะเป็นประโยชน์ที่นำไปสู่การขยายความสัมพันธ์ด้านอื่นๆ เช่น ด้านเศรษฐกิจและด้านพลังงาน
ถึงแม้ว่านอร์เวย์จะไม่ได้เป็นสมาชิกของกลุ่มโอเปก (OPEC) แต่รายได้หลักจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติก็เพียงพอที่จะสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับชาวนอร์เวย์ได้ ซึ่งปัจจุบันนอร์เวย์มีอัตราการว่างงานต่ำมาก เพียง 2.6 เปอร์เซ็นต์ และกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้แรงงานเป็นลูกจ้างรัฐที่เพียบพร้อมด้วยสวัสดิการและค่าแรงเฉลี่ยในอัตราสูง
นอร์เวย์เป็นตัวอย่างของประเทศที่มีเศรษฐกิจแบบผสมระหว่าง “ตลาดที่มีการแข่งขันอย่างอิสระ” บวกกับ “รูปแบบการจัดการรัฐวิสาหกิจ” ในบางธุรกิจสำคัญๆ เช่น ธุรกิจพลังงาน ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญของภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน ดังนั้น การจัดการด้านพลังงานจึงถูกกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ เนื่องจากเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว มีอัตราการใช้พลังงานเปลี่ยนแปลงไม่มากนักในแต่ละปี ซึ่งพลังงานอย่างไฟฟ้านั้นมีการใช้อยู่ที่ 125-130 พันล้านหน่วยต่อปี จากการบริโภคของครัวเรือน อุตสาหกรรมและการบริการในสัดส่วนใกล้เคียงกัน
นอร์เวย์โชคดีที่มีภูมิประเทศส่วนใหญ่เหมาะสำหรับการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าที่ไม่สร้างผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม จึงสามารถผลิตไฟฟ้าคิดเป็น 95 เปอร์เซ็นต์ของความต้องการในประเทศ อีก 4 เปอร์เซ็นต์มาจากก๊าซธรรมชาติ และอีก 1 เปอร์เซ็นต์มาจากพลังงานลม ซึ่งการผลิตไฟฟ้าด้วยวิธีการดังกล่าวดูสวนทางกับการเป็นแหล่งเชื้อเพลิงพลังงานอย่างน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่นอร์เวย์มีอยู่อย่างมั่งคั่ง เพราะรัฐบาลเล็งเห็นถึงความเสี่ยงในการพึ่งพาเชื้อเพลิงพลังงานเหล่านี้ในอนาคต จึงมีการจัดตั้งกองทุน Government Pension Fund Global ที่นำเอารายได้ส่วนหนึ่งจากธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติไปใช้ในการลงทุนตราสารหนี้และอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ เพื่อให้มั่นใจว่าเมื่อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติหมด ในอนาคตนอร์เวย์จะยังคงเป็นประเทศที่มีสถานะทางเศรษฐกิจดีไม่แพ้ปัจจุบัน
ดร.พัลลภา เรืองรอง หนึ่งในคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ขยายความเรื่องนี้ให้เราฟังว่า รูปแบบของการจัดการพลังงานในนอร์เวย์เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับประเทศไทย ซึ่งมีแหล่งพลังงานเชื้อเพลิงอย่างก๊าซธรรมชาติสำรองในอ่าวไทยในการผลิตไฟฟ้าถึง 60-70 เปอร์เซ็นต์ จึงเป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยจะเริ่มคิดทบทวนถึงแผนสำรองเชื้อเพลิงนี้ไว้ให้ลูกหลาน ในขณะเดียวกัน ก็ต้องมองหาความร่วมมือทางด้านพลังงานอื่นๆ มาใช้ในการผลิตไฟฟ้าในราคาต้นทุนที่เหมาะสมและยุติธรรม ซึ่งรูปแบบดังกล่าวนี้กำลังจะเกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศทั่วโลกที่ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า การมุ่งสร้างรายได้เข้าประเทศมากๆ อาจไม่ใช่คำตอบแรกสุดของการพัฒนาประเทศ แต่การบริหารจัดการทรัพยากรภายในประเทศให้ยั่งยืน ทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดีในระดับที่เหมาะสม อาจเป็นดัชนีชี้วัดความสุขของผู้คนในประเทศนั้นๆ ก็เป็นได้
ทุกวันนี้หลายๆ ประเทศมุ่งไปที่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ดังนั้น ความสุขของประชาชนและอนาคตของลูกหลานกลายเป็นปัจจัยที่ต้องให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้น ประเทศนอร์เวย์ผู้มั่งคั่งทางด้านพลังงานก็เช่นกัน ประเทศนี้มีทรัพยากรต้นทุนทางด้านพลังงานที่มีมูลค่ามหาศาลในปัจจุบัน มิหนำซ้ำจะยิ่งมีมูลค่ามากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมากพอที่จะให้ผู้คนในยุคปัจจุบันอยู่กันอย่างสุขสบายถ้วนหน้า แต่นโยบายของนอร์เวย์กำลังมุ่งไปที่อนาคตของรุ่นลูกรุ่นหลานว่าจะอยู่กันอย่างไร และความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศจะยังคงดำเนินต่อไปได้หรือไม่ และนี่คือตัวอย่างของวิธีคิดที่บางประเทศควรจะต้องนำมาพิจารณาเป็นตัวอย่างในการพัฒนาประเทศต่อไป