วันที่วงการวิทยาศาสตร์ไทยต้องการ ‘ฮีโร่’
ล่วงเลยมาถึงวันนี้ วันที่โลกมนุษย์เข้าสู่ยุคไซเบอร์เต็มตัว ประเทศที่พัฒนาแล้วส่งนักบินอวกาศไปดาวอังคาร ไม่ก็คิดค้นพัฒนาหุ่นยนต์อัจฉริยะมาอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน
โดย...อินทรชัย พาณิชกุล ภาพ ดร.ธีระชัย/วีรวงศ์ วงศ์ปรีดี ดร.วรวรงค์/ทวีชัย ธวัชปกรณ์ ที่เหลือคลังภาพโพสต์ทูเดย์
ล่วงเลยมาถึงวันนี้ วันที่โลกมนุษย์เข้าสู่ยุคไซเบอร์เต็มตัว ประเทศที่พัฒนาแล้วส่งนักบินอวกาศไปดาวอังคาร ไม่ก็คิดค้นพัฒนาหุ่นยนต์อัจฉริยะมาอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน
เป็นวันเดียวกับที่ประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างไทยกำลังประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ นอกจจากนี้ยังผลวิจัยออกมาว่า การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของเด็กไทย อยู่อันดับที่ 37 จากทั้งหมด 48 ประเทศ อีกทั้งแนวโน้มการเลือกเรียนสายวิทย์ค่อยๆต่ำลง เฉลี่ยแค่ราว 7 หมื่นคน หรือ 35% ของเด็กมัธยมศึกษาปลายทั่วประเทศสองแสนคน
ทั้งที่บ้านเรามีนักวิทยาศาสตร์เก่งๆสร้างชื่อเสียงในระดับโลกอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่แต่ละปีมีการคิดค้นนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ล้ำสมัย สร้างคุณูปการแก่ประเทศชาติชิ้นแล้วชิ้นเล่า ทั้งที่รายการวิทยาศาสตร์กำลังได้รับความนิยมสุดขีดบนจอโทรทัศน์
แต่ทำมั้ยทำไม ทัศนคติของคนส่วนใหญ่ที่ยังมองว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อน น่าเวียนหัว ภาพลักษณ์ของนักวิทยาศาสตร์ยังไม่โดดเด่นเป็นไอดอลเสียที
นักวิทย์ก็เป็นพระเอกได้
"ผมว่าเปลี่ยนไปเยอะนะ เทียบกับเมื่อก่อนคนมักมองว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องไกลตัว พูดถึงคำว่านักวิทยาศาสตร์ คนก็ยังนึกแต่ภาพไอน์สไตน์ ผมเผ้ากระเซิง หมกมุ่นอยู่ในห้องแล็บ เดี๋ยวนี้พอเปิดรายการโทรทัศน์พบว่านักวิทยาศาสตร์เริ่มออกมามีบทบาทเด่นชัดขึ้น รายการวิทยาศาสตร์สนุกๆได้รับความนิยมจากคนดูอย่างน่าชื่นใจ สะท้อนให้เห็นว่าสังคมเริ่มอ้าแขนต้อนรับแล้ว”
เป็นความเชื่อมั่นของ ดร.นิค-ธีระชัย พรสินศิริรักษ์ พิธีกรรายการวิทยาศาสตร์เรตติ้งกระฉูดชื่อ“ISCi ฉลาดยกกำลังสอง” ทางช่องไทยพีบีเอส
"56 ปีที่ผ่านมา ปรากฏการณ์ที่เกิดกับรายการเมก้าเคลฟเวอร์ได้พลิกโฉมรายการวิทยาศาสตร์ในทีวีเมืองไทยไปเลย เมื่อก่อนมีแต่รายการถามตอบ กลายมาเป็นเรียลลิตี้ที่สนุกสนาน อลังการ รายการนี้เราซื้อลิขสิทธิ์จากเยอะมันมาแพงมาก แต่ผลตอบรับคุ้มค่า
จากนั้นมีการซื้อรายการจากต่างประเทศตามมาอีก เช่น สปอนจ์ ฉลาดสุดๆจากเกาหลี ผมเลยคิดว่าทำไมเราไม่ทำขึ้นมาเอง เราก็มีศักยภาพ ต่อมาก็กลายเป็นรายการคนขี้สงสัย ช่องโมเดิร์นไนน์ ตอบคำถามง่ายๆรอบตัว เช่น ทำไมพริกถึงเผ็ด ทำไมต้องหาว ทำไมต้องเรอ คนชอบกันมาก
รายการ ISCi ฉลาดยกกำลังสอง ผมเอาข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้านมาทดลอง โดยไม่ต้องซื้ออุปกรณ์แพงๆจากห้องแล็บ ถ่ายทอดให้คนทุกระดับตั้งแต่เด็ก ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ แม้กระทั่งเด็กชาวเขาแดนไกลก็สามารถทดลองทำเองได้"
คนที่จะมาเป็นพิธีกรรายการวิทยาศาสตร์ ต้องมีทักษะทางด้านวิทยาศาสตร์และสามารถสื่อสารให้คนอื่นเข้าใจง่าย
"ถ้าเอาดารามานำเสนอก็จะอีกแบบนึง เขาอาจตอบคำถามไม่ได้ในยามที่ต้องแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า ต้องเอาคนที่มีความรู้ อธิบายได้ และมีความน่าเชื่อถือ โจทย์สำคัญคือการหาวิธีในการนำเสนอให้สนใจ ให้เห็นภาพ ร้อยคำอธิบายไม่เท่าตาเห็นครับ สื่อเองก็สำคัญ ถ้าไม่มีสื่อ การพัฒนาก้าวไปช้ามาก อย่างผมไปบรรยายนักเรียนวันละ 200 คน เดินสาย 300 วัน เต็มที่ได้คนฟัง 6 หมื่นคน แต่ผมไปออกทีวีสามารถเข้าถึงคนเป็นล้านคนในชั่วเวลา 5 นาที
นักวิทยาศาสตร์คนเก่งคนนี้บอกว่าสังคมต้องปรับวิธีคิด เปลี่ยนทัศนคติใหม่ เช่นเดียวกับบุคลากรในแวดวงวิทยาศาสตร์ที่ต้องสร้างคน สร้างต้นแบบให้สังคมเห็นว่านักวิทยาศาสตร์ไม่ใช่มีแต่หัวยุ่งทำงานอยู่เบื้องหลัง แต่สามารถก้าวออกมาเป็นพระเอกได้
วงการวิทยาศาสตร์ไทยต้องการฮีโร่
มีรายการวิทยาศาสตร์ไม่กี่รายการที่ผงาดขึ้นมาเบียดแทรกละครในช่วงไพร์มไทม์ได้ หนึ่งในนั้นคือรายการ "SCI Fighting วิทย์สู้วิทย์" ต้องยกเครดิตให้พิธีกร อาจารย์โอดร.วรวรงค์ รักเรืองเดช นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ไฟแรงที่ทำให้คนหันมาสนใจรายการวิทยาศาสตร์มากขึ้น ด้วยลุคฉีกแนว รูปหล่อ ไว้หนวดเครา พร้อมแว่นตากรอบหนาสุดเฟี้ยว
"คนเปิดทีวีแล้วต้องอยากดูอะไรที่มันสนุก มีสาระ ผมว่ารายการวิทยาศาสตร์โตขึ้นเยอะ วันนี้คำว่าวิทยาศาสตร์ถูกพูดดังๆในสังคม เราลงแรงกันไปเยอะที่ทำให้วันนี้คนมองวิทยาศาสตร์แล้วไม่ต้องวิ่งหนี นี่คือความสำเร็จ"
นอกจากออกมายืนหน้าจอทีวี ดร.วรวรงค์ยังเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ ควบเก้าอี้รองผู้อำนวยการสถาบันการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
"ข่าวนักวิทยาศาสตร์เก่งๆไทยโกอินเตอร์มีส่วนสำคัญ คนชอบไอดอล ชอบความสำเร็จ ผมพยายามทำให้ตัวเป็นแบบอย่างแก่คนรุ่นหลัง วงการวิทยาศาสตร์เรายังต้องการโรลโมเดลครับ"
หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ไทยที่กำลังเป็นฮีโร่ของคนไทย ดร.นิศรา การุณอุทัยศิริ หัวหน้าห้องปฏิบัติการไมโครอะเรย์แบบครบวงจร ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) เธอมาพร้อมรางวัลมากมาย ตั้งแต่รางวัลทุนวิจัยลอรีอัลเพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ รางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ดีเด่นของประเทศไทย พระราชทานจากพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี อีกทั้งยังได้รับเลือกตั้งเป็นตัวแทนนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ให้ดำรงตำแหน่งประธานร่วมขององค์กรเครือข่ายนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ของโลก
แม้ว่าจะเรียนจบมาด้วยคะแนนสูงปรี๊ด แถมมีกึ๋นไม่แพ้ผู้ชายอกสามศอก ทำให้ดร.นิศรา ได้รับการติดต่อทาบทามให้ไปร่วมงานจากองค์กรระดับโลกหลายแห่ง แต่เธอเลือกที่จะกลับมาใช้ความรู้ความสามารถที่ร่ำเรียนมานับ 10 ปีทำงานตอบแทนประเทศชาติ
"การใช้ความสามารถที่ร่ำเรียนมาเพื่อตอบแทนภาษีประชาชนคือสิ่งที่คุ้มค่ามากกว่า เพราะรัฐบาลเองคงไม่ได้ต้องการเงินคืนมากเท่ากับการสร้างคนที่มีความรู้ความสามารถเพื่อมาช่วยพัฒนาประเทศ”
สังคมงมงาย ตาสว่างได้ด้วย”วิทยาศาสตร์’
จากกระแสความขัดแย้งในกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกรณีข่าวว่าจะตัดงบวิจัยกว่าพันล้านบาท ผลักดันให้บรรดานักวิทยาศาสตร์หัวกะทิของประเทศออกมาตอบโต้อย่างเผ็ดร้อน โดยให้เหตุผลว่าการตัดงบวิจัยจะทำให้ประเทศชาติล้าหลัง ไม่พัฒนา
ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าบทบาทของกระทรวงวิทย์ที่ผ่านมาไม่เคยออกมาทำหน้าที่ตอบคำถามสังคมเลยเวลาเกิดเรื่องที่ทำให้คนไทยรู้สึกว่าต้องการตัว ยกตัวอย่างกรณีเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดจีที 200 อันอื้อฉาว ปริศนาบั้งไฟพญานาค ล่าสุดอย่างข่าวลือเรื่องวันสิ้นโลก 2012
"เราเลยไม่มีวันได้เห็นนักวิทยาศาสตร์ออกมามีบทบาทเด่นในสังคมไทยเท่าไหร่ ทั้งที่ควรออกมาอธิบายให้ข้อเท็จจริงแก่ชาวบ้าน โดยใช้วิชาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เข้ามาพิสูจน์"
นอกจากสอนหนังสือ บวกกับออกมาให้สัมภาษณ์สื่อต่อประเด็นทางสังคมอยู่บ่อยครั้ง ภารกิจสำคัญของเขาอีกอย่างคือการทำให้คนหันมาสนใจวิทยาศาสตร์ผ่านรายการ ‘วิทยาตาสว่าง’ ทางวอยซ์ทีวี รายการที่กล้าหักล้างในสิ่งที่เราถูกสอนมาว่า ‘ไม่เชื่ออย่าลบหลู่’ หรือแก้ไขความเชื่อผิดๆ ที่หลายคนเชื่อมาตลอด
“แนวคิดในการทำรายการ คือ หนึ่งโจทย์ต้องแรง ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องลึกลับ แต่เป็นประเด็นที่สังคมสนใจ สองต้องมีวิธีพิสูจน์ได้ เช่น ตอน ‘รอยพญานาค รอยปลาช่อน’ เราได้ทำการอธิบายและพิสูจน์รอยปริศนาเพื่อบอกที่มาว่าไม่ใช่พญานาค ถึงแม้ว่าคนดูรายการที่เชื่อเรื่องพญานาคจะไม่เชื่อเรา แต่นั่นคือความสำเร็จของเราที่ต้องการกระตุ้นให้คนที่อยู่คนละฝั่งความเชื่อกับเราได้โต้แย้งหรือตั้งคำถามโต้ ไม่ใช่บังคับว่าเขาต้องเชื่อเพราะเราพิสูจน์ได้
วิทยาศาสตร์อยู่รอบตัวเราทุกวินาที ลองจินตนาการโลกหรือสังคมที่ตื่นขึ้นมาแล้วไม่มีอะไรที่เป็นวิทยาศาสตร์หรือเทคโนโลยีช่วยเหลือชีวิตอยู่เลย เราคงอยู่กันยาก เวลาที่เกิดปัญหา เรามีองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และอุปกรณ์เทคโนโลยี ซึ่งมีอยู่มากมาย เพียงแต่ว่าเราเลือกใช้ได้ถูกต้องเหมาะสมหรือเปล่า เรานำมาใช้อย่างเข้าใจ รู้เท่าทัน และนำคุณธรรม จริยธรรมมาประกอบในการใช้แก้ปัญหานั้นหรือเปล่า นี่คือความจำเป็นที่เราต้องศึกษาเรียนรู้วิทยาศาสตร์ขนานไปกับการนำวิทยาศาสตร์มาใช้ตอบโจทย์ต่างๆ ในชีวิต”อาจารย์เจษฎาเคยให้สัมภาษณ์ไว้เช่นนี้
นักวิทย์ไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก
เมืองไทยมีคนเก่ง มีความสามารถมากมายนับไม่ถ้วน โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ แม้บ้านเราอาจไม่ได้ส่งเสริมการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์มากนัก แต่กลับมีนักวิทยาศาสตร์ไทยสามารถสร้างผลงาน สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยได้ไม่น้อยหน้าชาติใดในโลก
ต่อไปนี้คือรายนามของนักวิทยาศาสตร์ผู้เป็นตำนานแห่งยุคสมัย
ศ.นพ.ประเวศ วะสี นักวิชาการด้านสาธารณสุขและการศึกษาที่ได้รับการยกย่องในฐานะ "ราษฎรอาวุโส" ผลงานเด่นคือการค้นพบกลไกทางพันธุศาสตร์ของโรคแอลฟ่าธาลัสซีเมีย ทำให้ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ปี พ.ศ.2526 สาขาชีววิทยา (พันธุศาสตร์) ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา สร้างชื่อเสียงไปในระดับโลก ด้วยการเข้าร่วมออกแบบชิ้นส่วนขาและชิ้นส่วนระบบลงจอดของยานอวกาศที่ถูกส่งไปสำรวจดาวอังคารขององค์การนาซ่า
ศ.ดร.ระวี ภาวิไล นักวิชาการด้านดาราศาสตร์ที่บุกเบิกการศึกษาด้านดาราศาสตร์รุ่นแรกๆ ผลงานเด่น ได้แก่ การศึกษาโครงสร้างของโครโมสเฟียร์ และดวงอาทิตย์ ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน กูรูด้านด้านฟิสิกส์ เจ้าของรางวัลรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2530
ศ.ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์คุณหมอฉายาเภสัชกรยิปซี ประสบความสำเร็จในการคิดค้นวิจัยยาต้านเชื้อไวรัสเอดส์ในประเทศไทย จนสามารถผลิตยาสามัญชื่อ "Zidovudine" (AZT) ซึ่งเป็นยาต้านเอดส์ลดการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกเป็นครั้งแรกของโลก ศ.ดร.วิรุฬห์ สายคณิตนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นคนแรกของไทย สาขาฟิสิกส์ ผู้บุกเบิกในการนำทฤษฎีควอนตัมแบบฟายน์แมนศ.ดร.ยงค์วิมล เลณบุรีนักคณิตศาสตร์ระดับต้นๆของประเทศ ได้รับรางวัลการันตีมาแล้วมากมายจากทั่วโลก ทุกรางวัลล้วนมาจากความทุ่มเทวิจัยด้านการนำขบวนการทางคณิตศาสตร์ใหม่ ๆ ไปใช้อธิบายปรากฏการณ์ และระบบต่าง ๆ ในทางชีววิทยาและการแพทย์ รวมไปถึงระบบนิเวศวิทยาและเทคโนโลยีชีวภาพ
ศ.ดร.ยอดหทัย เทพธรานนท์ นักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีดีเด่นอาเซียน ปี พ.ศ. 2538 ผลงานสำคัญคือการวิจัยค้นพบสมุนไพรรักษามะเร็งเป็นคนแรกของโลกศ.ดร.ณัฐ ภมรประวัตินักวิทยาศาสตร์ไทยเจ้าของรางวัลระดับโลกอย่างPasteur Medalจากองค์การยูเนสโก และสถาบันปาสเตอร์ของ หลุยส์ ปาสเตอร์ นักวิทยาศาสตร์เอกของโลกศ.ดร.สง่า สรรพศรีอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม สมัยนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นคนแรกของสาขาวิชาวนศาสตร์ของประเทศไทยที่ได้รับปริญญาเอกจากสหรัฐอเมริกา ผู้เชี่ยวชาญเรื่องป่าไม้ และยังเป็นนักวิทยาศาสตร์ไทยคนแรกที่เป็นที่ปรึกษาองค์การยูเนสโก
ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญญาแก้ว มีผลงานสำคัญ เช่น การสร้างห้องปฏิบัติการวิจัยสิ่งประดิษฐ์สารกึ่งตัวนำซึ่งเป็นห้องปฎิบัติการที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย รวมทั้งยังศึกษาวิจัยการประยุกต์นำพลังงานโซลาร์เซลล์ หรือเซลล์แสงอาทิตย์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ศ.ดร.แถบ นีละนิธิบิดาแห่งวิชาเคมีของไทย ผู้บุกเบิกจัดทำหลักสูตรปริญญาบัณฑิตทางเคมีเป็นครั้งแรกของประเทศไทยศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา คุณหมอผู้มีสำคัญทางด้านการพัฒนารูปแบบการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่ได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลก
Iรวมถึงคนอื่นๆอีกมากมายที่ไม่สามารถเอ่ยนามได้ครบถ้วน