‘แอคติ้ง โค้ช’ อับดับต้นๆ ของเมืองไทย รสสุคนธ์ กองเกตุ
13 ปี ของการเป็นครูสอนด้านการแสดงของ ครูเงาะรสสุคนธ์ กองเกตุ ซึ่งน้อยคนนักในเมืองไทยที่ทำอาชีพ “แอ็กติ้ง โค้ช”
โดย...วราภรณ์ ภาพ : วีรวงศ์ วงศ์ปรีดี
13 ปี ของการเป็นครูสอนด้านการแสดงของ ครูเงาะรสสุคนธ์ กองเกตุ ซึ่งน้อยคนนักในเมืองไทยที่ทำอาชีพ “แอ็กติ้ง โค้ช” หรือครูสอนด้านการแสดง ที่มีหน้าที่สอนด้านการแสดงเพื่อปูพื้นฐานให้นักแสดงเข้าใจถึงบทบาทของตัวละครนั้นๆ ระหว่างหนังหรือละคร การถ่ายทำก็ต้องดูนักแสดงว่าเล่นถึงบทบาทเพียงใด และปรับแก้เพื่อให้แสดงได้ดีที่สุด
ปัจจุบัน ครูเงาะก็เป็นคุณครูอันดับต้นๆ ของเมืองไทยและมีลูกศิษย์มากมายทั้งสายจอเงินและจอแก้ว สายภาพยนตร์ อาทิ ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์ นุ่นศิรพันธ์ วัฒนจินดา ญารินดา บุนนาค เป้อารักษ์ อมรศุภศิริ เก้าจิรายุ ละอองมณี ละครจอแก้ว อาทิ ญาญ่าอุรัสยา เสปอร์บันด์ ณเดชน์ คูกิมิยะ บอยปกรณ์ ฉัตรบริรักษ์ ฯลฯ ก็ล้วนเป็นลูกศิษย์ของครูเงาะ
เกิดมาเพื่อเป็นครู
ครูเงาะ เล่าว่า เธอรักชอบการแสดงและกล้าแสดงออกมาตั้งแต่เด็กขณะอยู่ชั้นประถม และมัธยมที่เตรียมอุดม นำเสนอตัวเองเล่นละคร เขียนบท และกำกับ พอสอบเข้ามหาวิทยาลัยก็เลือกคณะนิเทศศาสตร์สื่อสารมวลชน ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แทนคณะศิลปกรรมการแสดงเพราะยังไม่รู้ว่ามีคณะที่สอนด้านกำกับและการแสดงโดยตรง ที่นี่เองทำให้ครูเงาะได้แสดงศักยภาพด้านการแสดงหลายอย่าง
“ได้เล่นละครเวทีแล้วสนุกมาก เวลาเรียนไปสาย แต่ไปซ้อมละครตรงเวลาตลอด และได้เป็นครูครั้งแรกตอนเรียนปี 4 เพื่อนชื่อ โต้งบรรจง ปิสัญธนะกูล มอบหมายให้สอนด้านการแสดงแก่นักแสดงคนหนึ่ง เราก็ยินดี เพราะรู้ตัวว่าตนเองมีทักษะในการสังเกตคน วิธีการสอนของเราไม่ได้สอนบอกให้คนรีแลกซ์ แต่เรามีเทคนิคบ้างอย่าง เราสังเกตคนรอบข้าง สอนสื่อสารแล้วคนเข้าใจ เกิดผลลัพธ์ เราจึงรู้สึกสนุก แต่ในยุคนั้นก็งงๆ ว่าอาชีพแบบนี้เรียกว่าอะไร เพราะยุคนั้นยังไม่มีแอ็กติ้ง โค้ช มีแต่ผู้ช่วยผู้กำกับ พอเรียนจบก็พุ่งเป้าไปที่ครูแอ๋ว อรชุมา ไปทำงานกับครู ไปเรียนกับบางกอกการละคร สอนการแสดงไม่ใช่งานเล็กๆ การแสดงเราต้องซื่อสัตย์กับตัวเอง”
นักแสดง ต้องซื่อสัตย์กับตัวเอง
รสสุคนธ์ บอกว่า การเป็นนักแสดงที่ดีต้องซื่อสัตย์และจริงใจกับตัวเองมากๆ
“การเป็นนักแสดงที่ดีได้ คนคนนั้นต้องจริงใจกับตัวเองมากๆ คนที่ไม่รู้จักตัวเอง มักพรีเซนต์ตัวเองเป็นอีกแบบหนึ่ง มีเกราะให้ตัวเองเยอะ เช่น ฉันไม่แคร์คน ฉันสุภาพมากๆ จริงๆ มนุษย์ทุกคนมีรักโลภ เราจะควบคุมตัวเองได้ดี ไม่อิจฉา ก็ต่อเมื่อเรารู้ว่าความอิจฉาเกิดขึ้นกับตัวเอง นักแสดงที่ดีต้องรู้จักตัวเอง เข้าใจตัวเอง รู้อารมณ์ตัวเอง เราทำอะไรเพื่ออะไร การทำให้คนคนหนึ่งเป็นคนอื่นได้ เราต้องเข้าใจตัวละครอย่างลึกซึ้ง เพราะการแสดงเป็นศิลปะ การแสดงสำคัญที่การรู้ บวกศาสนา ทำให้นักเรียนตามทันอารมณ์และความรู้สึก ตอนเราแสดงละครเวที เราเล่นเราปล่อยมุข แต่ยังอยู่ในคาแรกเตอร์ เราแคร์ว่าจะตลกไหม พอมีประสบการณ์เราเข้าใจด้านการแสดงมากขึ้น รู้ว่าเราต้องซื่อสัตย์กับตัวเอง โฟกัสจึงชัด หาหนังสือมาอ่าน ขวนขวายหาความรู้ไม่หยุดนิ่ง”
ครูเงาะมักบอกเด็กนักเรียนของเธออยู่เสมอว่า หากรักอะไรแล้ว ให้โฟกัสและฝึกตัวเองให้ดี เพราะความโชคดี คือโอกาสกับความพร้อมมาเจอกัน ดังนั้นเราต้องทำให้ตัวเองพร้อมอยู่เสมอ
ครูสอนด้านการแสดงที่ดี ต้องเชี่ยวชาญ
“เวลาเงาะเรียนก็เรียนให้จริง พอมาเป็นครูก็สอนให้จริง ให้เชี่ยวชาญ เมืองไทยขาดสเปเชียลลิสต์ที่รู้รอบ เราทำงานอะไรควรรู้ให้ลึก แล้วเราจะรู้ได้อย่างไร ก็คือการลงมือทำกิจกรรม ซึ่งสิ่งเหล่านี้เงาะได้จากการทำกิจกรรม ลองทำก่อน” ครูเงาะ เล่าถึงวิธีค้นพบตัวเอง
อาชีพ “แอ็กติ้ง โค้ช” เริ่มแพร่หลายเมื่อ 10 ปีก่อน เมื่อมีการโฟกัสในงานด้านการแสดงมากขึ้น พอทำงานได้ระยะหนึ่ง ครูเงาะรู้สึกตัน เธอจึงไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา เพื่อเพิ่มรากแก้วให้ลึกในวิชาชีพ “คนเราหากทำอะไรให้ดี ควรมีรากแก้ว เพื่อเราจะได้มีรากฐานที่แข็งแรงและเผยแพร่ได้ไกล ช่วงหนึ่งหยุดทำงานแล้วไปเรียนต่อ เพื่อนำเทคนิค เรียนเพื่อให้รู้หลัก สุดท้ายเอาวิชาชีพกลับมา ก็มาเปิดโรงเรียน ดราม่า อคาเดมี่ ซึ่งเราทำงานกันหนักมาก เพราะแอ็กติ้ง โค้ช เป็นวิชาชีพที่เราเคารพรักจริงๆ ต้องลงมือทำ และเรียนรู้อย่างลึกซึ้ง”
สิ่งที่ทำให้ครูเงาะเป็น “แอ็กติ้ง โค้ช” อันดับต้นๆ ของเมืองไทยได้ เพราะต้องรู้ลึกในศาสตร์ของการแสดง ต้องเป็นคนช่างสังเกตพฤติกรรมของคน อีกทั้งเมื่อรู้แล้วต้องเป็นผู้ที่ถ่ายทอดได้ และเป็นนักเล่าเรื่องที่ดี เพราะอาชีพครูคือต้องสื่อสาร นำสารสื่อออกไปให้นักเรียนเข้าใจ และเห็นภาพ จนเกิดอารมณ์และความรู้สึก
อยากเป็นนักแสดงที่เก่งต้องฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ
สิ่งหนึ่งที่ครูเงาะบอกกับลูกศิษย์อยู่เสมอ คือ การเป็นนักแสดงที่เก่งได้ต้องฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ ฝึกฝนงานชิ้นต่อชิ้น ไม่ใช่ท่องบทแค่เล่น ต้องทำงานอย่างลึกซึ้งทุกครั้ง สังเกตชีวิต สังเกตใส่ใจในงาน ทำด้วยรัก ใส่ใจตั้งมั่น ที่สำคัญควรใช้ชีวิตบ้าง เช่น พักผ่อน หาวิธีผ่อนคลายตนเองซะบ้าง เพราะการพักผ่อนคือการให้เวลากับตัวเอง เพื่อเติมพลังชีวิต เพราะบางครั้งการเป็นนักแสดงที่มีงานล้นมือ จนบางครั้งอาจทำให้ตนเองรู้สึกเหนื่อย ท้อ และมีที่เกลียดงานตัวเองก็มี
“นักแสดงที่งานเยอะๆ บางคน ทำงานจนเครียด ความเครียดจะทำให้เราตึงเกินไป ดังนั้นเราควรหาเวลาว่างให้ตัวเองสักเวลาหนึ่ง เพื่อเอาของใหม่ใส่ตัวเอง สุดท้ายต้องดูแลตัวเองในเรื่องความสวยความหล่อ เพราะเราต้องใช้ตัวคุณ ต้องดูแลสุขภาพ บุคลิกภาพ การแต่งกาย ออกมาดูสะอาดดูดี ภาพลักษณ์กับการวางตัวต่อคนรอบข้างก็สำคัญ รู้ว่าปฏิเสธอย่างสุภาพอย่างไร งานอย่างไหนรับหรือปฏิเสธ หาข้อมูลใส่ตัว นักแสดงที่ดูแพงคือนักแสดงที่มีสมอง และคนที่มีสมองคือมีความคิดของตัวเองอย่างมีเหตุผล ผ่านการฟัง การอ่าน ต้องรักการอ่าน ต้องหาอาหารสมอง ทำให้ตัวเองเป็นคนมีเสน่ห์ คนมีเสน่ห์คือ ฉลาด มีไหวพริบ มีอารมณ์ขัน อีกสิ่งหนึ่งคือยิ่งเรารู้มากเท่าไหร่ ยิ่งต้องถ่อมตน เป็นนักแสดงต้องเปิดรับ”