posttoday

In My Bag

19 กรกฎาคม 2556

กิตติภูมิ หาญพัฒนกิจพานิช อาชีพ Freelance Baking Instructor, Pastry Chef, Food Stylist

โดย...เรือนแก้ว บำรุง สัมภาษณ์เรียบเรียง

กิตติภูมิ หาญพัฒนกิจพานิช

อายุ 37 ปี

อาชีพ Freelance Baking Instructor, Pastry Chef, Food Stylist

อาศัยอยู่ที่ Buena Park, California, USA

แหล่งที่ซื้ออาหาร : ชอบไปซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ตหลายที่ ติดนิสัยเวลาวิ่งหาของให้ที่ร้าน ต้องเข้าตลาดเกือบทุกแห่งเพื่อเช็กของ ไปตั้งแต่ซูเปอร์มาร์เก็ตเกาหลี อินเดีย จีน เม็กซิกัน ฝรั่ง ส่วนตลาดที่ชอบ คือ Trader Joe’s ที่นั่นจะมีนมแพะ มีชีส Burrata (คล้ายๆ Mozzarella) ซึ่งซูเปอร์มาร์เก็ตอื่นๆ หาซื้อลำบาก มีมะเขือเทศ Heirloom จะราคาถูกกว่าที่อื่นๆ มีขายแบบรวมกล่อง แล้วยังมีผลิตภัณฑ์ที่ทำขึ้นเพื่อขายที่ตลาดนี้ ไม่ผ่านคนกลาง เขาติดต่อกับผู้ผลิตโดยตรง ส่วน Whole Food และ Sprouts เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตเน้นอาหารออร์แกนิก จะไปหาซื้อผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เช่น ชนิดน้ำตาลหายาก หรือสารพัด Gum ที่พวกเล่นกล้าม ลดไขมัน หรือแพ้กลูเตนต้องใช้ในการทำอาหาร

จับพลัดจับผลู สองตลาดนี้จะมีของที่ออกมาล็อตแรกๆ ของฤดูกาล มีแป้งและพวกวัตถุดิบทำขนมที่หายาก หรือต้องซื้อล็อตใหญ่ๆ เพื่อเอามาแบ่งขายให้ในราคาสูงกว่าซื้อถุงใหญ่เล็กน้อย Surfas เป็นอีกร้านที่ชอบมาก แต่ก่อนไม่ค่อยได้ไป เพราะเปิดอยู่แถวโรงแรมที่ทำงานแห่งเดียว แต่ปีนี้มีมาอยู่แถวๆ บ้าน เป็นแหล่งซื้อช็อกโกแลตสำหรับทำขนมได้หลายยี่ห้อ หลายเปอร์เซ็นต์ มีของสำหรับเชฟหรือนักเรียน (ว่าที่เชฟ) ให้เลือกซื้อมากมาย เรียกว่าในตำราหรืออะไรกำลังอินเทรนด์ ที่นี่จะสรรหามาขายให้

การเลือกซื้อบรรจุภัณฑ์ ยี่ห้อ หีบห่อ : โดยส่วนตัวซื้อของไม่ได้ดูราคา เอาที่ชอบและสะดวกเข้าว่า อาหารปกติเลือกจากคุณภาพ ซื้อเพื่อชิมยี่ห้อนี้ยี่ห้อนั้นไปเรื่อยๆ พอถูกใจ จะหยุดใช้ยี่ห้อเดิมๆ ไปจนกว่าจะมียี่ห้อใหม่มาโฆษณาให้ลอง จะสอยมาลองเพื่อเปรียบเทียบ ยกเว้นช็อกโกแลตเวโรน่ากับช็อกโกแลตเฮอร์ชี่ ราคาต่างกันลิบลับ ถ้าทำขายต้องคำนึง ถ้าซื้อมาทำขนมกินหรือกินเล่นเองจะเลือกยี่ห้อที่ชอบ แล้วยี่ห้อที่เลือกก็มักจะแพงกว่ายี่ห้อที่ไม่ชอบเสียด้วย (เศร้า) ของผลิตในประเทศหรือนอกประเทศ ไม่ได้เน้นมาก จะชิมเอาที่ถูกปากเป็นหลัก

การเดินทาง : ปกติไปด้วยรถยนต์ จะแวะก่อนไปทำงาน หรือหลังจากเลิกงาน ถ้าซื้อของไม่เยอะมักจะซื้อที่เดียว (จ่ายแบบไม่สนราคาหรือยี่ห้อ) ในวันว่างๆ จะแวะหลายที่หน่อย รัศมีคร่าวๆ น่าจะขับเป็นวงกลม วางแผนว่าไปร้านนี้ ร้านนั้น กินข้าว แวะร้านขนม แล้วค่อยกลับบ้าน รวมระยะทางประมาณ 10 ไมล์ ไปกลับ ยกเว้นช็อกโกแลตหรือวัตถุดิบพิเศษ ยี่ห้อที่ต้องการ ต้องขับไปกลับ 40 ไมล์ เลยจะรวบรวมไปตอนซื้อของให้ที่ร้าน (เพราะร้านเหล่านี้จะตั้งอยู่ละแวกเดียวกัน ทำให้ได้ของให้ที่ทำงานด้วย ได้ของเราด้วย) แต่ด้วยที่ชอบเดินเล่นตามซูเปอร์มาร์เก็ต ชอบเดินให้ครบเกือบทุกพื้นที่ที่ขายอาหาร (ฮ่าๆ) ไม่มีลิสต์เป็นกระดาษ จะมีแค่ความต้องการในหัวคร่าวๆ ว่าต้องทำเค้ก ตอนนี้ที่บ้านขาดไข่ แป้ง น้ำตาล ฯลฯ จะซื้อแค่นั้น มีบ้างไปถึงตลาดแล้วเห็นอะไรแปะป้ายลดราคาจะเดินเข้าไปดู หรือบนหน้านิตยสารแล้วรูปชวนให้ทำ จะไปซื้อวัตถุดิบมาลองสูตรบ้าง ส่วนใหญ่อาศัยซื้อมาบริโภค หมดแล้วก็ไปซื้อใหม่

ในถุงกับข้าววันนี้ : ที่บ้านอยู่กันสี่ห้าคน ไม่ค่อยทำกับข้าวกินที่บ้าน แต่ละคนจะไปกินข้าวนอกบ้าน ถ้าเหลือก็จะเอากลับมาเก็บเป็นมื้ออื่นๆ ต่อไป จึงนิยมซื้อแยกไม่ต้องเผื่อ เว้นแต่พวกน้ำเปล่า ผลไม้อย่างกล้วย ส้ม แอปเปิล ซื้อแต่ของกิน (เกือบ) สำเร็จรูป เช่น นมสด โยเกิร์ต น้ำส้ม อโวคาโด มะเขือเทศ ผักกาดทั้งหลาย เมนูที่ทำเองบ่อย คือ Insalata Caprese สลัดมะเขือเทศ ผสมมะเขือเทศ เกลือน้ำมันมะกอกบัลซามิก และเบอร์ราต้า ทำสลัดนี้กินได้ทุกเช้า

งบค่าอาหารของตัวเองสูงมาก แทบจะเป็นค่าใช้จ่ายหลักๆ เลย เพราะถือว่าการไปกินร้านอื่นๆ หรือร้านดังๆ เป็นการลงทุน เมื่อทำอาชีพสายนี้ มีหน้าที่ไปเปิดหูเปิดตา ไปชิมฝีมือ ไปดูร้านคนอื่นๆ เอาประสบการณ์ไปแชร์กับเจ้านาย ลูกค้า นักเรียน แลกทัศนคติในสายอาชีพของเรา

ร้านที่ชอบ คือ กินอาหารแล้วรสชาติดี ต่อให้ร้านไม่สวยก็จะนับว่าเป็นร้านที่ชอบ มีหลากหลายตั้งแต่ร้านเชฟดังๆ ร้านราเมง ร้านบะหมี่ซอมซ่อ เมนูที่กินบ่อยจะเป็นพวกเส้นๆ อย่างราเมง หรือพาสตา หรือปลาฟิเลต์ (Filet) เอามาทำอะไรก็ได้ แต่ถ้าเป็นร้านเบรกฟาสต์จะสั่ง Egg Benedict เพราะชอบไข่แดงยางมะตูมมาก