ไกด์กัมพูชานินทาแขก
เรื่องในเมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา ยังไม่จบ และแม้ว่าคอลัมน์นี้จะเปรียบเทียบ “กำปงพลุ๊ก” ซึ่งเป็นหมู่บ้านตัวแทนของหมู่บ้านประมงริมทะเลสาบกัมพูชา
โดย...จำลอง บุญสอง ชมรมผู้สื่อข่าวท่องเที่ยวอาเชียน
เรื่องในเมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา ยังไม่จบ และแม้ว่าคอลัมน์นี้จะเปรียบเทียบ “กำปงพลุ๊ก” ซึ่งเป็นหมู่บ้านตัวแทนของหมู่บ้านประมงริมทะเลสาบกัมพูชากับ “อินเล” ซึ่งเป็นหมู่บ้านประมงของพม่าไปแล้วก็ตาม แต่ทว่ารายละเอียดที่ลงไปยังไม่สมบูรณ์ ดังนั้นผมจึงขออนุญาตนำมาลงเพิ่มเติมด้วยคำสัมภาษณ์ “ล่ามกอง” ชาวกัมพูชา ล่ามกองสนิทชิดเชื้อกับคณะเรามาก่อน เพราะทำงานให้กับบริษัทท่องเที่ยว Indochina Explorer ที่บริษัททัวร์ไทยใช้เป็น Land ให้
“สุ” เป็นนามสกุล “กอง” ล่ามคนนี้ใช่เพียงแต่บรรยายเรื่องราวตามทางที่ผ่านไปให้เราได้ฟังเท่านั้น แต่ยังถูกส่งไมค์ให้พูดถึงเนเจอร์ของนักท่องเที่ยวแต่ละชาติที่ไปเที่ยวเมืองเขาให้ฟังอีกด้วย
แต่ละชนชาติแม้จะมีนิสัยใจคอตามการเมือง ศาสนา และวัฒนธรรมของชาตินั้นๆ หล่อหลอมมาแล้วก็ตาม แต่แต่ละบุคคลก็ยังมีบุคลิกที่แยกย่อยไปอีกต่างหาก ความเห็นของ กอง จะถูกหรือไม่ถูก จึงเป็นเพียงทัศนะ แต่จะจริงหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เราต้องพิสูจน์ด้วยตัวของเรากันเอง
ในการไปเที่ยวหมู่บ้านลอยน้ำกำปงพลุ๊ก เราต้องนั่งรถผ่าน “ตลาดซาเลอ” สุกอง บรรยายให้เราฟังถึงตลาดนี้ว่า
“ซา” แปลว่า “ตลาด” “เลอ” คือ “บน” เสียมราฐมีตลาดบนกับตลาดล่าง ตลาดบนเป็นตลาดสดที่ใหญ่ที่สุด เปิดตั้งแต่ 05.3019.00 น. แต่ถ้ามา 05.30 น. เราจะได้เห็นแม่ค้าจะปั่นจักรยานบรรทุกผัก ปลา ไก่ หมู แมลง กบ มาจากหมู่บ้านและขายของบนจักรยาน เพื่อให้แม่ค้าที่มีร้านตัวเองมาซื้อเอาไปขายต่อ ถ้านักท่องเที่ยวต้องการเรียนรู้ชีวิตของคนกัมพูชาต้องมาตลาดนี้ ถ้าไปตลาด “ซาจ๊าต” ก็จะได้ของที่ระลึก ไม่ได้เห็นชีวิตจริงของประชาชน ตลาดนี้แม่ค้าชาวบ้านจะไม่ค่อยเข้าใจสกุลเงินต่างชาติเหมือนตลาดซาจ๊าต จึงต้องใช้เงินเขมร หรือเงิน US ที่ชาวบ้านก็รู้จัก
ครั้นรถวิ่งผ่านสถานที่สำหรับรับจัดงานซึ่งมีหลายแห่ง สุกอง บรรยายให้ฟังว่า
“คนเขมรจะแต่งงาน จัดประชุม จัดเลี้ยง ออกบูธ ก็จะมาเช่าสถานที่ที่เรียกกันว่า Wedding Hall ซึ่งมีอยู่หลายแห่ง คนกัมพูชาจะไม่ใช้โรงแรมจัดงาน เพราะแพง ขณะเดียวกันโรงแรมก็ไม่จัดงาน เพราะจะไปทำความรำคาญให้กับนักท่องเที่ยว Wedding Hall ในเสียมราฐมีประมาณ 10 แห่ง
พอใกล้หมู่บ้านกัมปงพลุ๊ก กอง บรรยายถึงทะเลสาบเขมร หรือตนเลสาบ (Tonle Sap) ว่า ทะเลสาบกัมพูชามีพื้นที่อยู่ใน 5 จังหวัด ได้แก่ เสียมราฐ กัมปงทม กัมปงชนัง โพธิสัตว์ และพระตะบอง เลยไปก็จะเป็นแม่น้ำที่จะเชื่อมต่อถึงพนมเปญ จากพนมเปญก็จะมีจตุรมุขเชื่อม 4 เส้นทาง ทางหนึ่งไปเวียดนาม สายที่ 2 เป็นทะเลสาบที่เข้ามาเสียมราฐ สายที่ 3 แม่น้ำคงดังบน สายที่ 4 เป็นทะเลบะสะ ที่จะเข้าไปเวียดนามเหมือนกัน รอบๆ ทะเลสาบมี 170 หมู่บ้าน มีประชากรทั้งหมดรวมคนเวียดนามด้วยก็ประมาณ 8.8 หมื่นคน แต่ที่เสียมราฐ มี 3 คือ จงขะเนี๊ยะ ป๊วก และกัมปงพลุ๊ก (Floating Village) ที่เราจะไป ซึ่งห่างจากเสียมราฐ 16 กิโลเมตร หมู่บ้านนี้เป็นที่เดียวที่ไม่อนุญาตให้ชาวเวียดนามเข้าอยู่ เพราะกลัวคนเวียดนามแย่งอาชีพ หมู่บ้านนี้มีบริษัทที่เขาได้รับสัมปทานมาสร้าง Platform ให้คนเดินชมนก ชมวิว ชมธรรมชาติโดยรอบด้วย
เราถามถึงคนต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในกัมพูชาในสายตาเขาว่าแต่ละชาติมีอุปนิสัยใจคออย่างไรบ้าง
เขาเล่าถึงเกาหลีว่า อยู่เวียดนามมากกว่าอยู่ในเขมร เพราะนิสัยของคนเกาหลีกับคนเวียดนามเข้ากันได้ คือ ชอบโวยวาย กินเหล้าเมาแล้วชอบตีกัน
“คือถ้าตรงไหนที่เกาหลีหรือเวียดนามไปนอน เราก็อย่าไปนอน ตรงไหนที่เกาหลีหรือเวียดนามไปกิน เราก็อย่าไปยุ่ง ให้มันกินกันไป เพราะมันโวยวาย เสียงดัง แล้วยิ่งถ้าเป็นปุฟเฟต์เราอย่าไปทำนิสัยดีหรอก ให้ทำนิสัยเสียเหมือนเขา ถึงจะได้กิน เพราะพวกนี้มันจะตักตรงที่อร่อยๆ ไปหมดเลย คนไทยคนเขมรชอบดูละครเกาหลี แต่ถ้าพวกพี่อยู่กับพวกเขา 2 วันจะปวดหัวตาย”
“ผมเคยเช่ารถให้คนเกาหลีแล้วเขาขับไปชนต้นไม้ มันทิ้งรถเดินกลับบ้านเฉยเลย ตำรวจลากผมไป ผมหมดเงินไปเกือบ 3,000 US ตอนที่มันเช่า มันซื้อรถ มันพูดจาดีมาก พอมันไปชนเขาขาหัก มันทิ้งรถผมเลย มันหนีไปเลย พอไปตามมัน มันบอกว่า มันไม่มีเวลา ผมถามเพื่อน เพื่อนบอกว่า มันเป็นกันทุกคนเลย เช่าบ้านให้มัน มันเอาเงินไปเล่นการพนันหมด แล้วมันก็ไม่จ่าย มันนั่งเครื่องบินกลับประเทศเฉยเลย นี่แหละนิสัยคนเกาหลี แต่มันก็มีทั้งคนดีกับคนไม่ดี แต่ส่วนมากนิสัยจะเป็นแบบนี้เลย” กอง เล่าด้วยความอัดอั้น
เขาพูดถึงนักท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของกัมพูชาว่าเป็นเวียด ที่เวียดมาเที่ยวกัมพูชาเป็นอันดับหนึ่งก็เพราะ
ผู้ใหญ่เวียดนามกับผู้ใหญ่เขมรเหมือน “เมียกับผัว” แต่เขาบอกว่า ประชาชนเหมือน “แมวกับหมา” เข้ากันไม่ได้ เพราะต่างสไตล์กัน ถ้าสองชาตินี้แต่งงานกันนะ คืนเดียวก็เลิกกันแล้ว
เราถามต่อไปว่า แล้ว “รัฐบาลเขมรกับรัฐบาลไทย” “คนเขมรกับคนไทย” ล่ะ
กอง ตอบแบบยิ้มๆ ว่า “ประชาชนไทยเขมรเหมือนน้ำกับปลา” แต่ “รัฐบาลบางชุด” เหมือน “แมวกับหมา”
เราถามว่าเขมรชอบทัวร์คนเวียดนามไหม กอง ตอบว่า “ไม่ค่อย” เพราะมัคคุเทศก์จีนกับเวียดนามขายสินค้าด้วยตัวของเขาเอง
ถ้าเราไปถามนักท่องเที่ยวจีนกับเวียดนามว่า ตลาดกัมพูชาสวยไหม เขาจะตอบไม่ได้!
แล้วนิสัยนักท่องเที่ยวไทยล่ะ? เราถามเพราะอยากรู้ความจริง
“ขอพูดนิสัยของคนญี่ปุ่นก่อนนะ” เราเคยให้กินปลาร้าซึ่งเหม็นมาก ถามเขาว่าอร่อยไหม เขาจะตอบว่าดีมากๆ พอเดินตากแดดร้อนๆ ถามเขาว่า ร้อนไหมๆ คำตอบคือ ไม่ร้อนๆ อยู่ในรถแอร์เสีย ถามว่า ร้อนไหมๆ ไม่ร้อนๆ แต่พอบินกลับยังไม่ทันเปิดกระเป๋าก็วิ่งไปลากคอมพิวเตอร์ออกมาเขียนๆๆๆๆ พวกมึงนี่บ้าฉิบหายเลย กูร้อนจะตาย มึงยังมาถามว่ากูร้อนไหมๆๆๆ อาหารที่มึงให้กูกิน กูอยากจะอ้วก แต่กูก็ไม่กล้า น่าด่ามากเลย คือญี่ปุ่นต่อหน้าเราเขาจะดีทุกอย่าง ให้เกียรติเรามาก เป็นชาติเดียวในใบโลกนี้ทีเดียว ถ้านัด 09.30 น. ก็ต้องเป๊ะนะ ไม่เช่นนั้นมันจะยิ้มแล้วก็จะจำไว้ ถึงบ้านก็จะด่ากระจายเลย
“ส่วนคนไทยไม่เหมือนเกาหลี ไม่เหมือนจีน คือไม่ชอบโวยวาย แต่ชอบ 3 อย่างเป็นหลัก โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ‘ฉี่กับแชะ’ เป็นชาติที่เข้าห้องน้ำบ่อยที่สุดในโลก เข้าห้องน้ำไปแล้ว อีก 10 นาที ถาม สุกอง ห้องน้ำอยู่ไหนๆๆ ทัวร์ไทยนิสัยไม่ดี ชอบเอาขนมเอาของขึ้นมาเต็มรถเลย เดี๋ยวก็แจก เดี๋ยวก็แจก บรรยายยังไม่จบเลย สุกอง แจกน้ำ สุกอง แจกกระดาษ เข้าห้องน้ำ สุดท้ายแล้วกลับบ้านโดยไม่ได้ความรู้กลับไปเลย นั่งอยู่บนรถไม่ฟังเราไม่ว่า แต่พอถึงปราสาทต้องฟัง 5 นาที พอถึง 2 นาทีครึ่งวงแตกแล้ว ไปไหน? ไปแชะ ถ่ายรูป ถึงตลาด ถามเราว่ามีอะไรซื้อบ้าง เราให้เวลาช็อปปิ้ง 1 ชั่วโมง ออกมาไม่ได้อะไรสักอย่าง ถามว่า ทำไมถึงไม่ได้ของละครับพี่ ลูกทัวร์ก็ตอบว่า มัวแต่ต่อราคาก็เลยไม่ได้อะไรเลย แล้วก็มาโทษว่าทัวร์นี้ไม่ให้เราช็อปปิ้งเลย แล้วเวลาคนไทยต่อราคาน่าเกลียดมาก ต่อมากใครจะขายให้เราล่ะ”
กอง เสริมว่า “ผมชอบนักท่องเที่ยวที่ให้เกียรติไกด์ แต่บางคนก็ไม่ให้เกียรติเราเลย ทุกประเทศเลย โดยเฉพาะอินเดีย ถ้าออกไปเที่ยวที่ไหนแล้วไม่ได้หาเรื่องคนอื่นเขาจะไม่สบายใจ แต่ถ้าได้หาเรื่องเขาก็จะอยู่เย็นเป็นสุขสบายใจ ก็คนไทยพูดว่าเห็นงูกับเห็นแขกให้ตีแขกก่อน ผมเพิ่งเจอกับตัวเองเมื่อเดือนที่แล้ว ครอบครัวนั้นตามโปรแกรมไปแค่นครวัด นครธม แต่เขาก็จะขอไปบันเตียสะเรียต่อ ผมบอกว่าถ้าไปคุณต้องเพิ่มเงินนะ ลูกทัวร์บอกว่า ไม่เป็นไรๆ เพิ่มเงินก็ได้ แต่พอถึงโรงแรมบอกว่า ‘ไม่ให้’ เพราะเป็นเที่ยวหนึ่งวัน ผมไปไหนก็ได้ คือ สัญญากันว่าจะไปสองที่ แต่ไปแล้วมันยังเหลือเวลา ก็เลยต้องไปเที่ยวให้มันเต็มวัน”
นินทาแขกมาได้สักพักก็มาถึงหมู่บ้านกัมปงพลุ๊ก กองบรรยายว่า ประชาชนกำปงพลุ๊กต้องย้ายบ้านหนีน้ำ 57 ครั้งต่อปี ตั้งแต่เดือน ก.ค.เป็นต้นไป คือเดือนหนึ่งน้ำก็จะขึ้น 1 เมตร เดือนที่ 2 น้ำก็จะขึ้นเป็น 2 เมตร ประชาชนก็จะใช้เรือเครื่องลากแพเรือไปเรื่อยๆ ใครไปถึงก่อนก็จองที่ทางเอาตามชอบใจ ส่วนบ้านสูงๆ ที่เห็นอยู่นั้นถาวร แต่ต้องสร้างสูง 710 เมตร ผันแปรไปตามความสูงของตลิ่ง ช่วงน้ำขึ้นสูงเดือน พ.ย.ธ.ค.น้ำจะใสเหมือนทะเล
“ที่เห็นเป็นกระชังเลี้ยงปลา ก็จะมีปลาสวาย ปลาดุก ปลาช่อน ชาวบ้านจะเลี้ยงปลาที่เลี้ยงง่ายขายถูก (เพราะได้เงินเร็ว) กุ้งก็เลี้ยง แต่คนเลี้ยงกุ้งต้องชำนาญ แต่เลี้ยงปลาไม่ต้อง ใช้เศษอาหารที่เรากินนั่นแหละ”
“ชาวบ้านทั่วไปก็จะหาได้ประมาณ 200 กว่าบาทต่อวัน ไม่ต้องเอาปลาไปขายที่ไหน เพราะตอนเช้า 05.30 น. จะมีพ่อค้าแม่ค้ามาแย่งกันซื้อเอาไปขายต่อในตลาดเสียมราฐ ตอนนี้รัฐบาลออกกฎหมายใหม่ห้ามจับปลาในช่วงฤดูวางไข่ ทำให้ปลามีมากขึ้น 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลห้ามจับปลา 6 เดือนแล้วก็ปล่อยให้จับ 6 เดือน กอง บอกว่า เขมรเป็นประเทศที่เรียกว่าสุวรรณภูมิ ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ปลูกข้าว 6 เดือนกินได้หนึ่งปี จับปลา 1 วัน กินได้ถึง 5 วัน ทำให้คนเขมรไม่ค่อยขยัน”
กอง ชี้ไปที่ป่าไม้ที่ยังมีคราบน้ำติดอยู่ที่ลำต้น เขาบอกว่าป่าริมทะเลสาบยังมีมาก แต่เขมรจะไม่เรียกป่าโกงกาง เรียกว่า Flood Forest คือ ป่าไม้ที่อยู่กับน้ำได้ ไม่ตาย เป็นที่วางไข่ของปลา รัฐบาลห้ามตัด เขาบอกว่าทะเลสาบยาวประมาณ 75 กิโลเมตร กว้างก็ประมาณ 3537 กิโลเมตร ในเดือนที่ไม่มีน้ำคือช่วงเดือน 4567 จะอยู่ระหว่าง 2,500 ตารางกิโลเมตร แต่ถ้าน้ำขึ้นเต็มที่ความใหญ่มันจะขึ้นถึง 1.2 หมื่นตารางกิโลเมตร