หล่อเนื้อเชื้อไข ‘อินดี้’ ขอทำเพลงด้วยหัวใจ
ผมเคยลองถามตัวเองดูเล่นๆ ว่า จากยุคสมัยหนึ่ง ซึ่งเป็นยุคสมัยที่ผมยังเป็นเด็กหัวเกรียน และเริ่มอยากแหกขนบเดิมๆ ไปจากคนทั่วไป
โดย...ตุลย์ จตุรภัทร
ผมเคยลองถามตัวเองดูเล่นๆ ว่า จากยุคสมัยหนึ่ง ซึ่งเป็นยุคสมัยที่ผมยังเป็นเด็กหัวเกรียน และเริ่มอยากแหกขนบเดิมๆ ไปจากคนทั่วไป การหันไปฟังเพลงโดดๆ อย่าง “บุษบา” ของ “โมเดิร์นด็อก” เริ่มหมกมุ่นอยู่กับเพลงของนักร้องหัวทองอย่าง “ออดี้” เริ่มมีใจให้ “พี่ป้างนครินทร์ กิ่งศักดิ์” ไปจนถึงเหล่าบรรดาเพลงระดับขั้นเทพของ “บอย โกสิยพงษ์” มันเป็นอะไรที่ “ใช่” ไปหมด
มาวันนี้ล่ะ
ผมยังคงฟังเพลงแบบนี้อยู่อีกหรือเปล่า?
ผมยังคงอยากฟังนักร้องอินดี้ที่เขามีเรื่องอยากเล่า อยากสื่อสาร อยากระบายเป็นเสียงเพลง เพื่อส่งผ่านถึงกลุ่มวัฒนธรรมย่อยๆ ของตัวเอง โดยไม่ยึดติดค่ายใหญ่ยักษ์อยู่ใช่ไหม? ที่ตั้งคำถามเหล่านี้ขึ้นมา เพราะคลับคล้ายว่า “เพลงอินดี้” ได้เลือนลับหายไป และกลุ่มคนฟังเพลงอินดี้ในยุคโน้นก็ค่อยๆ โตเป็นผู้ใหญ่ และเหล่าเนื้อเชื้อไขก็เบาบางเต็มทน
มาวันนี้ ผมกระจ่างในคำตอบแล้วครับ ใครว่าเพลงอินดี้ ของค่ายเพลงอินดี้ ถูกแช่แข็งไปตลอดกาล รากฐานของความเป็นอินดี้ยังคงไหลเทจากรุ่นสู่รุ่น อย่างเงียบๆ แต่ทว่าหนักแน่นและมั่นคง แม้จะมีใครบางคนยอมซูฮกให้กับค่ายเพลงใหญ่ยักษ์ แต่ก็ยังมีใครอีกหลายคนที่ยังยืนหยัด ท่ามกลางอุดมการณ์ ที่ไม่ยอมให้ “การตลาด” มาคอยบงการทุกสิ่งทุกอย่างจนต้องละทิ้งสิ่งที่เคยมุ่งมั่นไป
เชื้อไขของความเป็นอินดี้
มันอยู่ในจิตวิญญาณของทุกผู้ทุกคน
นี่คือเรื่องจริง!
และหนึ่งในพื้นที่สำหรับการแสดงพลังแห่งอินดี้ ก็คือ เทศกาลดนตรีโคตรอินดี้
‘เฮง บุรินทร์ทร’ กับเทศกาลดนตรีโคตรอินดี้ที่ยัง ‘9’ ไป (ภาพที่ 1 เฮง บุรินทร์ทร)
ผู้ชายคนนี้คือใคร เขามีชื่อเต็มๆ ว่า “บุรินทร์ทร แซ่ล้อ” ประธานกลุ่มเยาวชนโคตรอินดี้ และเป็นผู้อำนวยการเทศกาลดนตรีโคตรอินดี้ที่จัดมาเข้าสู่ก้าวย่างปีที่ 9 แล้ว
“กับการเดินทางของเทศกาลดนตรีโคตรอินดี้ เราเดินทางมาอย่างดื้อดันมาก (หัวเราะ) แต่สิ่งที่เราทำ เราก็ทำเพื่อคนที่ต้องการฟังเพลงจริงๆ อีกทั้งเรายังได้เปิดพื้นที่ให้กับคนดนตรีทุกค่ายทุกสังกัด ทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่ จะแมสหรือไม่แมส เราเปิดรับหมด เราเชื่อว่า ดนตรีบนประเทศนี้ยังมีกลุ่มคนกลุ่มเล็กๆ ที่พร้อมขยับเขยื้อน และมีพี่ๆ ศิลปินรุ่นใหญ่ๆ มาช่วยเหลือกันอย่างเต็มที่”
ด้วยความที่บุรินทร์ทรเชื่อว่า เพลงหนึ่งเพลง ไม่ว่าจะวงไหนทำ ค่ายไหนทำ ต่างใช้เวลาและพลังอย่างมากมายมหาศาล “เราแค่อยากบอกว่า เพลงหนึ่งเพลง ใช้เวลาทำพอสมควร เมื่อทำเพลงเสร็จ คนทำก็อยากเล่นดนตรี เพื่อให้คนได้ฟัง เมื่อฟังแล้วก็เกิดความสุขร่วมกัน”
บุรินทร์ทรให้นิยามของคำว่าอินดี้ไว้ว่า “อินดี้คืออิสระ” ที่ไม่ว่ากาลเวลาจะผ่านไปนานแสนนานเพียงใด นิยามความหมายของมันก็ยังคงเหมือนเดิม “แต่ใครจะอยู่กับมันยังไง นี่สิ ที่สำคัญมากกว่า ไม่ว่าคุณจะอยู่ค่ายใหญ่หรือค่ายเล็ก คุณก็อินดี้ได้ แต่มันต้องมีรูปแบบที่เลื่อนไหลดำเนินต่อไป อินดี้จะอยู่ตราบชั่วกัลปวสานที่เป็นสูตรผสมใหม่ๆ อยู่เสมอ แต่มันต้องมาจากเบสิกนะ ผมเชื่อในความเป็นเบสิก เมื่อเราเข้าใจเบสิก เราก็จะสามารถดีไซน์มันขึ้นมาใหม่ได้เสมอ อย่างเทศกาลดนตรีโคตรอินดี้ของเรา เราก็ดีไซน์ให้มันเป็นเทศกาลดนตรีที่ไม่สูบ ไม่ดื่ม และเราก็ยังรณรงค์ให้สันติภาพจงบังเกิด นี่ไงคือความอิสระทางความคิด อิสระทางตัวตน ที่มาพร้อมกับอิสระทางดนตรี”
อย่างเทศกาลดนตรีนี้ บุรินทร์ทรก็ใช้ความพยายามในการรณรงค์ให้คนรุ่นใหม่พร้อมใจกันเป็นอินดี้ที่สร้างสรรค์ “เราทำมาแต่ละปี ก็เห็นน้องๆ ค่อยๆ ให้ความร่วมมือ เราเชื่อว่ามันไม่เปลี่ยนแปลงเพียงชั่วพริบตา แต่เราเชื่อว่ามันจะเป็นไปในทิศทางที่ดี ทุกคนจะมาสนุกร่วมกันได้โดยไม่ดื่มไม่สูบ ผมอยากให้ทุกคนมาสนุกสนานกับเทศกาลดนตรีในครั้งนี้ อีกทั้งพาลูกพาหลานมามันร่วมกันได้ครับ ยังไงความเป็นอินดี้มันส่งต่อเชื้อไขถึงกันได้อย่างแน่นอน”
เทศกาลดนตรีโคตรอินดี้ ครั้งที่ 9 จะจัดเพื่อออดิชันวงดนตรีทั่วทุกภาคของประเทศ ก่อนจะเปิดเทศกาลฯ ของแต่ละพื้น เริ่มต้นวันนี้ (17 ส.ค.) กับเทศกาลดนตรีโคตรอินดี้ ครั้งที่ 9 (ภาคเหนือ) ณ หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต่อกันใน วันที่ 31 ส.ค. ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และวันที่ 9 พ.ย. ณ สนามม้านางเลิ้ง สนใจเทศกาลดนตรีโคตรอินดี้ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/kodindyFC หรือ http://kodindythailand.blogspot.com/
‘พี สะเดิด’กับจินตนาการทางดนตรีที่ไร้ขีดจำกัด (ภาพที่ 2 พี สะเดิด)
แปลกไหม หากนักร้องเพลงลุกทุ่งอย่าง “พี สะเดิด” หรือ “พีรพัฒน์ สวัสดิ์มูล” จะมีหัวใจ เลือดเนื้อ และจิตวิญญาณเป็นอินดี้อย่างสมบูรณ์
“ผมเป็นคนชอบฟังเพลงหลากหลายแนว แล้วเอามาปรับใช้กับตัวเอง ผมมีความเป็นลูกทุ่ง มีความเป็นอีสาน แต่ผมก็มีความเป็นร็อค นี่ไงครับคือ อินดี้ อิสระที่จะเป็นอะไรก็ได้ เพราะความเป็นอินดี้มันอยู่ในจินตนาการของเราทุกคนอยู่แล้ว ขอเพียงแค่เราสร้างสรรค์มันขึ้นมาเท่านั้นเอง”
นอกจากนี้ พี สะเดิด ยังเชื่อว่า ดนตรีทุกแนวสามารถขึ้นมาเล่นบนเวทีเดียวกันได้ “เพราะดนตรีไม่มีการแบ่งแยกคน แม้ดนตรีมันจะแบ่งแนวทางของตัวมันเอง”
‘ลิงชัดๆ’ กับส่วนผสมแห่งความเป็นไทย ที่ไม่ยอมขึ้นตรงต่อค่ายเพลงใหญ่ยักษ์ (ภาพที่ 34 วงลิงชัดชัด)
ถ้าวงดนตรีวงนี้ ฉีกทุกข้อจำกัด ไม่ว่าจะเป็น โตเป็นผู้ใหญ่แล้ว มีใจรักในความเป็นเฮฟวีเมทัล แต่ก็ผสมผสานความเป็นไทยไว้ด้วยแนวดนตรีทั้ง 4 ภาค ได้อย่างลงตัว ไม่ว่าจะเป็นเพลงเรือยาวประเพณี นครราบสูง เสียด ตะลุงไป่ไหน๊ หรือเสภาร็อค นี่คงเป็นวงดนตรีที่มีความน่าสนใจไม่ใช่น้อย
“การรวมตัวของเราคือการที่เราทำงานเกี่ยวกับดนตรีพื้นบ้าน แต่จิตวิญญาณของเราคือเฮฟวีเมทัล เมื่อเรารู้สึกเบื่อๆ กับงานดนตรีที่มันซ้ำๆ เดิมๆ เราทั้งห้าคนเลยเห็นตรงกันว่า มาทำเพลงแนวใหม่กันดีกว่า เราเลยเริ่มทำเพลงเสภาร็อก ต่อมาเราได้ถูกแนะนำให้มาอยู่ค่ายบีบี เรคคอร์ด และได้ไปขึ้นคอนเสิร์ต ซึ่งได้รับการตอบรับดีมาก ทำให้เรารู้สึกว่า เรามาถูกทางแล้ว อีกทั้งยังมีครูเพลงทั้งหลายชี้ทาง และส่งเสริมให้เราก้าวเดินต่อไปได้อย่างถูกทิศทาง”
ด้วยเสน่ห์ของวงลิงชัดชัด คือการแสดงสด เมื่อไปทำการแสดงที่ไหน พวกเขาทั้งห้าจะไม่เล่นเพลงของคนอื่นเลย เพราะพวกเขาเชื่อว่า คนชอบเพลงของเขาก็คือชอบ ถ้าไม่ชอบก็คือไม่ชอบ “มันเหมือนเพลงของเราไปปลุกเลือดในกายของเขา ว่านี่แหละคือตัวแทนของเขา คือสิ่งที่เขาอยากฟัง ส่วนคนที่ไม่ชอบ ก็คงไม่ถูกจริต ซึ่งเราก็ไม่ว่ากัน”
วงลิงชัดชัด เลือกที่จะทำงานเพลงแบบผสมผสานความเป็นไทยทั้ง 4 ภาคเข้าไปในเพลงหนักๆ เขากล่าวว่า นี่คือการทำงานที่อิสระและสบายใจ โดยไม่ต้องคำนึงถึงการตลาด แต่กลับคำนึงถึงประโยชน์ที่คนฟังจะได้รับ “เราตั้งใจทำเพื่อให้เด็กรุ่นใหม่ฟังแล้วได้ไอเดีย เวลาเด็กๆ เห็นเราเอาซอ หรือพิณอีสานมาผสมผสาน เขาอึ้ง และอยากเล่นแบบเราบ้าง เราคิดว่านี่เป็นสิ่งที่ดีนะ”
‘โคโคนัท ซันเดย์’ กับแนวทางอินดี้...ที่มากกว่าแค่การทำเพลง (ภาพที่ 57 วง โคโคนัท ซันเดย์)
3 หนุ่ม กับอีก 1 สาวสุดเปรี้ยวปรี๊ด วง “โคโคนัท ซันเดย์” คือวงดนตรีอิสระที่ฟอร์มวงกันตั้งแต่ปี 2010 และมีทิศทางของวงเป็นแนวดิสโก้ผสมกับร็อค
“เราเป็นวงอินดี้ที่อยากทำอะไรที่แตกต่าง เราเลยเลือกที่จะทำแบบนี้ แต่งเพลงแบบนี้ อัดเพลงแบบนี้ เสื้อผ้าหน้าผมแบบนี้ ทำโปสเตอร์แบบนี้ ทำมิวสิควิดีโอแบบนี้ ทำการโปรโมตแบบนี้ เรารู้สึกว่าอินดี้ไม่ใช่แค่แนวดนตรี แต่มันคือการลงมือทำเอง มันคือวิธีการทำงานที่มากกว่าการทำแค่เพลง”
พวกเขาทั้งสี่มีเพลงฮิตอย่าง “บางเวลา” และมีเพลงใหม่ล่าสุด “บอกรัก (I Love You)” และยังมีอีกหลากหลายเพลงที่หนุ่มสาวอินดี้ยุคใหม่รู้จักเขาอยู่มิใช่น้อยผ่านทางการแสดงสดและยูทูบ
“การทำเพลงอินดี้มันต่างจากการทำเพลงกับค่ายใหญ่ อยู่ค่ายใหญ่ก็ดี อาจจะมีโอกาสมากมาย แต่การทำเอง มันคือความอิสระ ความสบายใจ มันมีข้อดีข้อเสียต่างกัน ทำเองก็มีข้อดี เพราะมันได้ทำในแบบที่เราชอบ ส่วนเรื่องรายได้ เรามีการดาวน์โหลด ในไอทูนส์ และอีกหลายๆ ที่ที่ให้ดาวน์โหลด และเราก็มีรายได้จากการเล่นสด มีคนมาจ้างเราไปเล่นตามงานเทศกาลต่างๆ ได้ไปเล่นเปิดให้กับศิลปินใหญ่ๆ ซึ่งนี่แหละคือหนทางที่เราได้เลือกแล้ว”
เป็นเพราะเขาทั้งสี่เชื่อว่า ทุกวันนี้ คนฟังเพลงเลือกฟังเพลงได้เยอะขึ้น เลือกในสิ่งที่ชอบได้ แยกแยะเพลงดีๆ ไม่ดีได้ ชัดเจนยิ่งขึ้นได้ สรุปคือฟังเพลงเป็นมากขึ้น
“ที่สำคัญ พวกเราเชื่อว่า เพลงคืองานศิลปะ ที่เมื่อไรบ้านเมืองเราเจริญมากขึ้น เศรษฐกิจดีขึ้น เพลงก็จะเจริญตามไปด้วย เราก็ได้แต่หวังว่า ถ้าเมื่อไรที่คนมีเงินมากกว่า 15 บาท มีเงินพอซื้ออะไรกิน ก็มีเงินพอที่จุนเจือดนตรีได้บ้าง เพื่อที่จะได้ให้คนทำงานดนตรีมีรายได้มากพอที่จะสร้างสรรค์งานศิลปะเพื่อทำให้โลกเรารื่นรมย์มากขึ้น”