ไม้ใบประดับบ้าน – หมากผู้ หมากเมีย
หมากผู้หมากเมีย (Condyline) หรือมะผู้มะเมีย อยู่ในวงศ์ Agavaceae เดิมนักพฤกษศาสตร์จัดให้อยู่ในสกุลลิลี่ (Lilaceae)
โดย...ม.ล. จารุพันธ์ ทองแถม
หมากผู้หมากเมีย (Condyline) หรือมะผู้มะเมีย อยู่ในวงศ์ Agavaceae เดิมนักพฤกษศาสตร์จัดให้อยู่ในสกุลลิลี่ (Lilaceae) แต่ต่อมาจึงโอนเข้าไปอยู่ในสกุลอะกาเว่ดังกล่าว หมากผู้หมากเมียหลายต่อหลายชนิดมาจากต่างถิ่น เช่น นิวซีแลนด์ (Cordyline australis) แต่บางชนิดมาจากออสเตรเลียเขตร้อนอันได้แก่ ควีนสแลนด์ นิวเซาท์เวลส์ สำหรับหมากผู้หมากเมียที่พบเห็นกันในชนบทภาคเหนือ ภาคอีสาน (C. terminalis) มีถิ่นกำเนิดในหมู่เกาะโพพลีนีเซีย และแพร่หลายเข้าไปในอินเดียสู่มาเลเซียและประเทศไทยในที่สุด ดังนั้นจึงพูดได้เต็มปากว่า C. terminalis เป็นไม้ใบต่างถิ่นที่เข้ามาเมืองไทยนานจนเราลืมสัญชาติของมันไปแล้ว อย่างไรก็ตามมันได้แตกเถาเหล่ากอเกิดลูกผสมใหม่ๆ ทั้งจากการเพาะเมล็ดและเกิดการเปลี่ยนทางพันธุกรรม เกิดตาใหม่ ยอดใหม่ที่เพี้ยนไปจากเดิม ได้เป็นพันธุ์ปลูกการค้าใหม่ๆ มากมายเช่นที่เห็นในฮาวาย ซึ่งเรียกกันว่าที (Ti) เช่น Cordyline tarmimalis (Ti) นิยมปลูกกันในฮาวายและนิวกินี ชาวเกาะฮาวายปลูกตัดใบใช้ห่อหมูและเผือกอบในกองไฟนับว่าให้ความหอมดีกว่าใบไม้อื่น
หมากผู้หมากเมียชนิดดังกล่าวบางครั้งใช่ชื่อว่า C. terminalis หรือ C. fruticosa มักเรียกชื่อท้องถิ่นของฮาวายเอียนว่า Tree of Kings or Hawaiian Good Luck Plant นับว่าปลูกแล้วเจ้าบ้านจะเจริญรุ่งเรือง เป็นไทยก็ต้องเรียกไม้มงคลอะไรทำนองนั้น มันมีทรงต้นคล้ายปาล์ม ยอดมีพุ่มใบอยู่บนลำต้นเล็กเรียวยาวแข็งแรงสูงได้ 12 ฟุต ทีเดียว ใบมีรูปร่างยาวขอบขนานปลายใบแหลม แต่แผ่นใบกว้างผิวใบบนมันสีเขียวสด ใบยาวประมาณ 2 ฟุต เรียงตัววนสลับกันเป็นเกลียวรอบลำต้น ชาวเกาะฮาวายมักตัดไปเย็บร้อยเป็นกระโปรงนุ่งเต้นฮูลา (Hula) ขยายพันธุ์ได้ง่ายโดยการตัดลำต้นชำ
ในนิวซีแลนด์มี Cordyline หลายชนิด เช่น C. australis ซึ่งร้านขายไม้ตัดดอกมักเรียกว่า Dracaena indivisa ไม้ชนิดนี้จัดเป็นไม้ยืนต้นสูง 40 ฟุต มีลำเดียวโดดๆ ยอดบนแบนแคบใบหนาเป็นมันสีเขียวอมเทาเงินและมีดอกขาวหอม นับเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวโบราณที่ชาวเกาะเรียกว่า Cabbage tree (คนละชนิดกับที่พบในเกาะซุโคตรา นะครับ) C. australis นี้มีหลายพันธุ์ปลูก เช่น C. Australia cuprea, C. australis ‘Doucetii’ ซึ่งแตกต่างกันที่สีสันลวดลายของใบ
หมากผู้หมากเมียอีกชนิดซึ่งพบในนิวซีแลนด์คือ C. banksii ต้นสูงชะลูด 10 ฟุต แตกเป็นพุ่มมีสาขากว้างกว่าชนิดอื่น ใบสีเขียวเข้มแต่เส้นกลางใบสีเหลือง กว้างเกือบ 4 นิ้ว ดอกเกิดเป็นช่อห้อยมีกลิ่นหอม หมากผู้หมากเมียอีกชนิดในนิวซีแลนด์คือ C. indivisa ต้นสูงใหญ่ถึง 45 ฟุต ลำต้นเดี่ยวยอดเป็นพุ่มใบสีเขียวเส้นกลางใบสีส้มใต้ใบสีน้ำเงิน
หมากผู้หมากเมียที่พบในควีนสแลนด์ได้แก่ Cordyline stricta ต้นสูงมีลำต้นเดี่ยวสูง 12 ฟุต มักแตกกิ่งก้านสาขา ใบสีเขียว
หมากผู้หมากเมียที่พบตามหมู่บ้านในเมืองไทยจะเป็น Cordyline terminalis ที่เรียกชื่อการค้าว่า Red dracaena ลำต้นเดี่ยวชูสูงชะลูดใบหนาเหนียว ใบคล้ายหอกเกิดเวียนแน่นที่ปลายลำต้น ใบมีสีเขียวอมม่วงแดง หากอากาศหนาวเย็นชื้นแสงแดดจัดจะออกสีงดงามมาก ชาวบ้านตัดใบใช้ในงานพิธีต่างๆ หมากผู้หมากเมียในเมืองไทยมีมากมายหลายสิบพันธุ์
ความแตกต่างของพืชสกุลดราซีนาหรือจันทน์ผาและหมากผู้หมากเมียดูง่ายๆ ที่ขุดดูที่รากของมัน หากมีรากสีส้มภายในนั่นคือพืชสกุลดราซีนาหรือจันทน์ผาแน่นอน
สำหรับหมากผู้หมากเมียนั้นคนเชียงใหม่มักเรียกว่าต้นหมากปู้หรือปูหมาก ประเพณีของศาสนาพุทธ ชาวเหนือใช้ใบหมากผู้หมากเมียหรือปูหมากหุ้มห่อคู่กับดอกไม้ เช่น พุทธรักษา ธรรมรักษา นำไปกราบไหว้บูชาพระมาแต่โบราณ แม้ปัจจุบัน C. terminalis ดังกล่าวพบในอัสสัม มาเลเซียและฟิจิ ตาฮิติ ในมหาสมุทรแปซิฟิก
หมากผู้หมากเมีย (Cordyline) ที่กล่าวมานี้นับเป็นไม้ใบประดับซึ่งมีความสวยงามของสีต่างๆ ซึ่งมีสีครบถ้วนตามทฤษฎีสี สลับซับซ้อนอยู่ในใบ นอกจากนี้ยังปลูกเลี้ยงในกระถาง ตั้งประดับบ้านได้ทนนาน หาโรคแมลงรบกวนได้ยาก ขยายพันธุ์ง่าย จึงสมควรแล้วที่จะมีไว้ประดับบ้านและคอนโดของผู้คนในโลกยุคใหม่