ควายไทยที่หนึ่งในโลก
ร่างมหึมาร่างนั้นแน่นิ่ง เขายาวโง้ง ดวงตากลมโตกระจ่างใสมีชีวิตชีวา เสียงลมหายใจฟืดฟาดทำให้รู้ว่าควายตัวนี้เป็นของจริงมิใช่หุ่นจำลอง
โดย...อินทรชัย พาณิชกุล ภาพ เสกสรร โรจนเมธากุล
ร่างมหึมาร่างนั้นแน่นิ่ง เขายาวโง้ง ดวงตากลมโตกระจ่างใสมีชีวิตชีวา เสียงลมหายใจฟืดฟาดทำให้รู้ว่าควายตัวนี้เป็นของจริงมิใช่หุ่นจำลอง
บนพื้นที่กว่า 115 ไร่ หมู่บ้านอนุรักษ์ควายไทย (Buffalo Village) อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี อบอวลด้วยกลิ่นอายของสวรรค์บ้านนา ทุ่งข้าวเขียวสด เรือนไทยใต้ถุนสูง และฝูงควาย ประกอบกันเป็นฉากอันโดดเด่น ทั้งหมดถูกเนรมิตขึ้นเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสภาพชีวิตชาวนาไทยดั้งเดิม ในวันที่ยังไม่มีเครื่องจักรทันสมัยใดๆ เข้ามามีบทบาทในชีวิต
แน่นอนว่าพระเอกของที่นี่ก็คือควาย หรือชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่ากระบือ ในโลกนี้มี 2 ชนิด คือ ควายป่า และควายบ้าน ซึ่งควายบ้านยังแบ่งออกเป็นควายปลัก (Swamp Buffalo) มีสีเทาเข้ม อาศัยอยู่ในประเทศต่างๆ ในแถบเอเชีย ได้แก่ ไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย พม่า เวียดนาม กัมพูชา ใช้ทำงานในท้องนา ชอบแช่ในโคลนตมเพื่อป้องกันแสงแดดและแมลงรบกวน ส่วนควายแม่น้ำ (River Buffalo) พบในอินเดีย ปากีสถาน อียิปต์ ยุโรปตอนใต้ ชอบน้ำสะอาด ไม่ชอบลงโคลน
ขึ้นชื่อว่าควาย แม้จะดูน่าเกรงขาม แต่ควายนั้นเชื่องแสนเชื่อง คนไทยเราผูกพันกับควายมาตั้งแต่สมัยโบราณกาล เราใช้แรงงานควายในการไถนาปลูกข้าว ข้าวเป็นอาหารหลักของคนไทย จึงไม่น่าแปลกใจที่ควายจะถูกยกย่องให้เป็นสัตว์ที่มีบุญคุณ จนเมื่อรถไถเข้ามาเป็นกำลังหลักของชาวนาแทบจะร้อยเปอร์เซ็นต์ ควายจึงตกงาน หน้าที่ที่เคยทำมานานนับพันปีบัดนี้ได้สูญหายลงอย่างน่าใจหาย ทางเดินของควายไทยจึงมุ่งสู่โรงฆ่าสัตว์
“ภาพรวมของควายไทย จากที่เราเคยมีประชากรควายมากถึง 4 ล้านตัวเมื่อปี 2544 ถึงวันนี้เหลือเพียงแค่ 1 ล้านตัวเท่านั้น ถ้าคนรุ่นใหม่ไม่เห็นความสำคัญ ถ้าหน่วยงานรัฐไม่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ ในอนาคตควายไทยมีโอกาสสูญพันธุ์แน่ๆ ครับ” มานิต บัวทอง เจ้าหน้าที่ประจำหมู่บ้านอนุรักษ์ควายไทยบอกเสียงเครียด
ดังนั้นหมู่บ้านอนุรักษ์ควายไทย ซึ่งก่อตั้งโดย ประภัตร โพธสุธน นักการเมืองคนดังชาวสุพรรณบุรี จึงหวังให้ที่นี่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางด้านวัฒนธรรมและการเกษตร เพื่อให้ทุกคนที่มาสัมผัสบรรยากาศชนบทแบบดั้งเดิมได้ร่วมกันระลึกถึงควายไทย สัตว์คู่บ้านคู่เมืองของเรา
ที่ถูกอกถูกใจนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะเด็กๆ และชาวต่างชาติ เห็นจะเป็นลานแสดงควาย โชว์น่ารักๆ สนุกสนานเพลิดเพลิน ไม่ว่าจะเป็นการสวัสดีผู้ชม ควายนอนพักผ่อน นอนแกล้งตาย ควายยิ้ม นายฮ้อยในชุดม่อฮ่อมหน้าตาใจดียังสอนวิธีการขึ้นควาย รวมถึงให้ลูกค้าทดลองนั่งควายเทียมเกวียนชมรอบแปลงนาสาธิต ทั้งหมดทำให้รู้ว่าควายนั้นเอาเข้าจริงก็เป็นสัตว์ที่ชาญฉลาดแสนรู้จริงๆ
สังเกตเห็นว่าคนรุ่นใหม่นั้นออกจะตื่นเต้นกับการได้ใกล้ชิดกับควายตัวเป็นๆ ยามใดที่มันเคี้ยวหญ้าอย่างเชื่องช้า ไม่ก็สลัดเนื้อสลัดตัวหายใจฟืดฟาด หรือครวญครางเบาๆ เรียกรอยยิ้ม ชวนให้แต่ละคนยกมือถือกันถ่ายรูปกันจ้าละหวั่น
“สวยเนาะแม่เนาะ ... ทำไมมันตัวหญ๋ายใหญ่ ...แล้วมันจะขวิดคนมั้ย ... นั่นใช่ไหมแม่ เคี้ยวเอื้อง ... ดูโน่นๆ มันลุกขึ้นบิดขี้เกียจด้วย” เด็กน้อยวัย 5 ขวบคนหนึ่งส่งเสียงเจื้อยแจ้ว ท่ามกลางสายตาควายไทยตัวโต ทั้งควายแคระ ควายเผือก พญาควายที่มองมาอย่างไม่แยแส
นอกจากนี้ ความน่าสนใจยังอยู่ตรงการจำลองสภาพแวดล้อมของชนบทภาคกลางไว้ได้อย่างแจ่มชัด นั่นคือหมู่บ้านชนบทไทย จำลองบ้านเรือนของชาวบ้านในอดีต ทั้งเรือนปลายนา เรือนอยู่อาศัยของคนที่มีฐานะค่อนข้างยากจน ก่อสร้างแบบเรียบง่ายด้วยไม้ไผ่และหลังคามุงจาก เรือนศรีประจันต์ บ้านสร้างจากไม้ไผ่ หลังคามุงจากแต่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ ใต้ถุนบ้านจะมีกี่ทอผ้าไว้สำหรับเครื่องนุ่งห่ม หลังว่างเว้นจากทำนา เรือนเครื่องสับใหญ่ เป็นบ้านเรือนไทยสองหลังเชื่อมด้วยชาน มีห้องนอนห้องครัวเป็นสัดส่วน ข้างบ้านมียุ้งฉางไว้เก็บข้าวเปลือก ด้านหลังมีคอกสัตว์ เลี้ยงหมู เป็ด ไก่ เดินดูอย่างละเอียดถี่ถ้วนสักรอบน่าจะนึกภาพวิถีชีวิตคนรุ่นปู่รุ่นย่าออกว่าเขาอยู่เขากินกันอย่างไรในยุคนั้น
วันนี้มีผู้คนให้ความสนใจมาเยี่ยมชม “บ้านควาย” ค่อนข้างบางตา ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเกษตรกรและเด็กนักเรียน พวกเขามีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือมาศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตชาวนา วิธีการทำนาปลูกข้าว ดูควายไทยแท้ๆ ว่ามันงดงามเพียงไร
หมู่บ้านอนุรักษ์ควายไทย ไกลจากกรุงเทพฯ เพียง 129 กิโลเมตร ห่างจากตัวเมืองสุพรรณบุรี 20 กิโลเมตร และห่างจากตัว อ.ศรีประจันต์ ประมาณ 2 กิโลเมตรเท่านั้น เปิดทุกวันไม่มีวันหยุด ตั้งแต่ 09.00-18.00 น. ค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 30 บาท เด็ก 20 บาท ส่วนการแสดงต่างๆ สามารถคลิกเข้าไปดูรายละเอียดที่ http://www.buffalovillages.com/