ชีวิตต้องมีจุดหมาย ‘กัปตันเรือศุภชัย ปัณฑะโชติ’
เวลาเราหลงทาง หากมีเข็มทิศพกติดตัวก็พออุ่นใจได้ระดับหนึ่ง ในการจะหาเส้นทางเดิน แต่มีเข็มทิศทว่ายังไม่รู้ตัวอีกว่าจะเดินทางทิศเหนือ ใต้ ตก ออก
โดย...นกขุนทอง ภาพ วีรวงศ์ วงศ์ปรีดี
เวลาเราหลงทาง หากมีเข็มทิศพกติดตัวก็พออุ่นใจได้ระดับหนึ่ง ในการจะหาเส้นทางเดิน แต่มีเข็มทิศทว่ายังไม่รู้ตัวอีกว่าจะเดินทางทิศเหนือ ใต้ ตก ออก เข็มทิศนั้นก็ดูจะลดประโยชน์ลง สำหรับบางคนอาจไม่ใส่ใจในการวางแผน กำหนดเข็มทิศชีวิตให้กับตัวเอง แต่บางคน การตั้งเข็มทิศ มีเป้าหมายที่แน่นอน ช่วยทำให้เขาก้าวไปสู่จุดหมายนั้นได้เร็วขึ้น
กัปตันเรือศุภชัย ปัณฑะโชติ ในวัย 31 ปี จัดเป็นบุคคลที่สำเร็จในอาชีพที่ทำงานบนเรือมาแล้วแทบทุกตำแหน่ง ไต่เต้าตั้งแต่ระดับล่างจนถึงตำแหน่งที่ใหญ่สุดบนเรือ นั่นเพราะเขามีจุดมุ่งหมายที่แน่นอน หลายคนหวาดกลัวต่ออาชีพที่ทำงานอยู่กลางทะเล ร้อยวันก็ยังไม่ได้เห็นฝั่ง แต่สิ่งนั้น ศุภชัย สามารถรับมือกับมันได้ เพื่ออนาคตที่ดีของตัวเองและครอบครัว
“บางคนวาดภาพที่ทำงานบนเรือไว้น่ากลัว ซึ่งจริงๆ การทำงานบนเรือไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด การกินอยู่ก็ดี ผมอยากให้นึกภาพสนามฟุตบอล 3 สนาม 2 สนามครึ่งเป็นที่ระวางสินค้า ที่เหลือเป็นส่วนที่พัก ซึ่งส่วนนี้มีทั้งห้องนอน ห้องครัว โต๊ะปิงปอง ห้องเล่นเกม ดูหนัง ถ้าเรือลำใหญ่มากก็มีสระว่ายน้ำ มีคนทำกับข้าวให้กิน มีการทำงานเป็นเวลา เพียงแค่เราไม่ได้อยู่บนบกเท่านั้นเอง ก็มีบางคนที่ทนไม่ได้สติแตก ผมว่าแล้วแต่จุดมุ่งหมายของแต่ละคน อย่างผมก่อนลงเรือก็เที่ยวทุกคืน แต่พอลงเรือเราก็อดทน เพราะเรามีจุดหมายว่าจะทำงานตรงนี้เพื่อบ้านเรา ตัวเราต้องการรายได้ดี ต้องแลกกับความอดทน มันไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด สมัยก่อนมีข่าวฆ่าโยนลงทะเล แต่ตอนนี้ทุกอย่างมีระบบ คนเรือสมัยนี้ถูกกำหนด มีคุณสมบัติขั้นต่ำ อายุเท่าไหร่ ผ่านการฝึกอบรมอะไรมาบ้าง ข้อกำหนดค่อนข้างเยอะ จะมีที่น่ากลัวก็คือโจรสลัด แต่ถ้าบนเรือจัดเวรยามดี เราก็สามารถป้องกันได้”
เปิดเส้นทางมาสู่การเป็นกัปตันเรือ ศุภชัย เล่าว่า อยากเป็นทหารเรือ จึงไปสอบโรงเรียนนายเรือ แต่สอบไม่ติด ระหว่างที่เดินมารอรถที่ป้ายรถเมล์ ซึ่งอยู่ด้านหน้าศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวี กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม (จ.สมุทรปราการ) แล้วเห็นนักเรียนในเครื่องแบบชุดขาวเดินออกมา เกิดความประทับใจ อยากเท่แบบนั้นบ้าง จึงตัดสินใจเข้าไปสมัคร และเส้นทางของเขาคงถูกเลือกแล้ว เขาสอบติด
ศุภชัย ลงเรือครั้งแรกเมื่อ 8 ปีก่อน ปัจจุบัน ศุภชัย เลิกลงเรือมาได้ 2 ปีแล้ว โดยมาทำงานในตำแหน่ง เทรนนิง เมเนอร์เจอร์ ที่โรงเรียนการเดินเรือเคมสตาร์
“ผมเคยอยู่เรือสินค้ามา 4 ปี ย้ายมาอยู่เรือซัพพลายแท่นขุนเจาะน้ำมัน 1 ปี และก็มีชอร์ต คอนแทกต์ เหมือนมือปืนรับจ้าง คือลงเรือแทนคนอื่นประมาณ 23 เดือน เพราะเกิดเหตุการณ์ทำให้ผมต้องคิด เพราะตอนที่คุณพ่อผมเสีย ผมอยู่บนเรือ ตอนนั้นอยู่ที่สิงคโปร์กำลังจะกลับไทย ผมไม่ได้เห็นหน้าท่าน ร้องไห้อยู่ 2 วัน พอมาถึงไทยเราก็อยากอยู่ให้นานๆ แต่อยู่ได้ไม่กี่วันก็ต้องกลับลงเรือ เพราะถึงกำหนดออก ผมนั่งร้องไห้อยู่บนสะพานเดินเรือ จากเหตุการณ์นั้นทำให้ผมกลับมาทบทวนว่าความต้องการในชีวิตเราคืออะไร เพราะอยู่เรือเงินดี ตอนนั้นผมอยู่ในตำแหน่งต้นหน (มีหน้าที่ดูแลเรื่องการวางแผนการเดินเรือจากเมืองท่าประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่ง จะวิ่งไปให้สั้นที่สุดและปลอดภัยได้อย่างไร)
ตอนนั้นผมสับสนว่าจะอยากทำอาชีพต่อไปไหม อาชีพนี้เราต้องการจริงหรือเปล่า นอกจากรายได้ที่ดี เราขาดอะไรไปบ้าง เราเหลือแม่คนเดียวจะทำยังไงให้มีเวลาอยู่กับครอบครัวด้วยมีเงินใช้ด้วย หลังจากนั้นอีก 1 ปี ผมก็ตัดสินใจย้ายมาอยู่บนเรือภายในประเทศได้ขึ้นบกบ่อย และได้ตำแหน่งกัปตัน ทุกวันนี้เลิกลงเรือมา 2 ปี เพราะถึงจุดๆ หนึ่ง เรามีเงินเก็บพอที่จะทำธุรกิจส่วนตัวที่เราเคยคิดอยากทำได้ และที่สำคัญได้อยู่กับแม่ ผมโชคดีที่พี่วิชัย รามมะเริง (เจ้าของโรงเรียน) ให้โอกาส ผมมาทำงานตั้งแต่โรงเรียนเพิ่งเปิด ตั้งแต่มีนักเรียน 10 คน จนทุกวันนี้มีนักเรียนเฉลี่ยวันละ 300400 คน ผมทำทุกอย่าง หลักๆ ดูแลการจัดการการเปิดคอร์สเรียน หลักสูตรการอบรม จัดตารางให้เหมาะสมกับคนเรือที่เขาขึ้นมาเรียนกับเรา ดูแลเรื่องการตลาด ดูแลเรื่องการจัดการภายใน ต้องสอนด้วย”
กัปตันเรือ หรือต้นหน และอีกหลายๆ ตำแหน่งที่ทำบนเรือ เป็นอาชีพที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงมากนัก ทว่าเป็นตลาดอาชีพที่ต้องการพนักงานอีกเพียบ โดย ศุภชัย ได้แนะนำช่องทางการเดินเข้ามาสู่อาชีพนี้ว่า
“เขาฝึกความอดทนตั้งแต่ตอนเรียนแล้วครับ อย่างปีหนึ่งรับเข้ามา 130 คน เหลือเรียนจริงไม่ถึง 80 คน เพราะฝึกหนักมาก ต้องให้เราพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ และมีลงเรือ 1 ปี (ไม่ต่อเนื่อง) ตรงนี้แหละจะรู้ว่าเราสามารถทนอยู่ได้ไหม รายได้ดี อย่าง สามโอ (ผู้ช่วยต้นเรือ) ก็ได้ 6 หมื่นบาท คือตำแหน่งแรกสุดหลังจากเรียนจบ มีหน้าที่ดูแลอุปกรณ์เซฟตี้ทั้งลำ ต้นหน 8 หมื่นบาท ต้นเรือ 1 แสนบาท ตำแหน่งกัปตัน 1.2 แสนบาท นี่คือต่ำสุดนะครับ แต่ต้องอดทนมากๆ เพราะลงเรือครั้งหนึ่ง 9 เดือน ต้องห่างครอบครัว แต่ถ้าทำได้ก็เป็นอาชีพที่น่าสนใจ เพราะส่วนใหญ่พออายุ 30 นิดๆ ก็ผันตัวเองมาทำงานบนบกแล้ว แต่คนที่จะทำงานบนบกได้ต้องผ่านตำแหน่งต้นเรือมาก่อน ถ้าไม่มีประสบการณ์ตำแหน่งและเงินเดือนก็ได้ต่ำ จริงๆ อาชีพนี้ ณ ปัจจุบัน ค่อนข้างเปิดกว้าง มีหลายสถาบันที่เปิด และโชคดีที่เปิดไม่พร้อมกัน พลาดอีกที่ก็ไปลองอีกที่”
ในช่วงที่ทำงานบนเรือ ศุภชัย ได้ไปมาครบทุกทวีป เวลาเรือเทียบฝั่งนั้นคือสวรรค์ของคนบนเรือ ที่พิเศษก็คือ สวรรค์ของพวกเขาเปลี่ยนที่ไปเรื่อยๆ พร้อมทั้งได้เปิดประสบการณ์ให้มากมาย หากไม่ทำอาชีพนี้ก็ยากที่จะได้ไปเยือนประเทศต่างๆ
ปัจจุบันมี 3 ที่ ที่เรียนพาณิชย์นาวีและได้วุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี แต่ต้องจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 สาย วิทย์คณิต
1.ศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวี กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม
2.คณะโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยบูรพา
3.วิทยาลัยพาณิชยนาวีนานาชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
นอกจากนี้ ยังมีโรงเรียนการเดินเรืออีกหลายแห่งที่เปิดสอนหลักสูตร 2 ปี และอีกหนทาง คือ ไต่เต้าตั้งแต่เป็นลูกเรือ คือ ทำตั้งแต่เคาะสนิม ทาสี ถือท้าย ฯลฯ เก็บประสบการณ์ให้ได้ 3 ปี แล้วมาเรียนต่อที่โรงเรียนการเดินเรือ ซึ่งมีหลายหลักสูตรทั้งระยะสั้นและยาว