‘สมพงษ์ ลีระศิริ’ ศิลปินแซนด์ อาร์ต 1 ใน 4 ของไทย
“ศิลปะวาดทราย” หรือ “Sand Artist” ถือเป็นศิลปะแนวใหม่ที่ได้มาจากประเทศทางแถบยุโรป ศิลปะแขนงนี้เผยแพร่ในเมืองไทยราว 4 ปีก่อน
โดย...วราภรณ์ ภาพ : เสกสรร โรจนเมธากุล และคอลเลกชันภาพส่วนตัวของ อ.สมพงษ์
“ศิลปะวาดทราย” หรือ “Sand Artist” ถือเป็นศิลปะแนวใหม่ที่ได้มาจากประเทศทางแถบยุโรป ศิลปะแขนงนี้เผยแพร่ในเมืองไทยราว 4 ปีก่อน สำหรับเมืองไทยมีศิลปินวาดทรายเพียง 4 คน ที่มีผลงานอันโดดเด่น หนึ่งในนั้นคือ อาจารย์สมพงษ์ ลีระศิริ อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปะจิตทัศน์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทวิโรฒ ประสานมิตร ที่มีผลงานโชว์ผ่านสาธารณะ อาทิ แสดงการวาดทรายประกอบบทพระราชนิพนธ์เรื่อง พระมหาชนก จัดแสดงสื่อร่วมสมัยประกอบการบรรเลงดนตรีดุริยางค์ซิมโฟนีออร์เครสตรา มศว. และกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม และมูลนิธิหอสมุดดนตรีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9
สร้างสรรค์ศิลปะหลากหลายสู่แซนด์ อาร์ต
อาจารย์สมพงษ์ชื่นชอบการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะหลากรูปแบบเนื่องจากเมื่อครั้งเรียนสาขาวิตรศิลป์ คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เขาได้เรียนทักษะด้านศิลปะหลากหลาย สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับศิลปะหลายแขนง ไม่จำกัดที่การแสดงรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เช่น งานจิตรกรรมสองมิติ ภาพพิมพ์ งานภาพถ่าย ตลอดจนงานแสดงสดหรือเพอร์ฟอร์มแมนซ์ อาร์ต การสร้างสรรค์งานมีเดีย อาร์ต เป็นต้น
“อาจารย์ของผมสอนให้ผมมีความคิดในการสร้างสรรค์งานได้หลากหลายมาก สอนให้สร้างสรรค์นำสิ่งที่ไม่ได้เคยนำมาสื่อสารในแง่งานศิลปะมาก่อน เช่น ทราย ศิลปินก็สามารถนำทรายมาสร้างสรรค์เป็นภาพศิลป์ ทดแทนการใช้สี ดิน หรือผ้าใบ “แรงบันดาลใจการสร้างสรรค์งานศิลปะวาดทราย ซึ่งเป็นงานศิลปะเกิดเริ่มต้นที่ตะวันตก หรือแซนด์อาร์ต เป็นการวาดภาพด้วยทราย ที่งานบีโอไอ แฟร์ เมื่อปี 2013 จัดนั้นถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์ แซนด์ อาร์ต ที่หลากหลายในเวลาต่อมา
“ครั้งแรกที่ผมเห็นศิลปินชาวยูเครนวาดภาพโดยใช้ทราย เป็นการวาดภาพพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวง ผมเห็นถึงพลังของพระบรมฉายาลักษณ์ซึ่งทุกคนซาบซึ้ง ยินดีและมีความสุข รับรู้ได้ถึงพลังของพระบรมฉายาลักษณ์ มีความสุขที่ได้เห็นภาพของพระองค์บนพื้นทราย เป็นภาพที่ไม่ได้เห็นได้ง่ายๆ หรือทั่วไป จากจุดนี้ผมเกิดตั้งคำถามว่า หากเรามีโอกาสมีพื้นที่ให้ผมได้ทำงานในฐานะคนไทยคนหนึ่ง วาดพระบรมฉายาลักษณ์ มันจะมีผลต่อความรู้สึกคนไทยหรือไม่”
ศิลปะบนพื้นทรายเป็นเรื่องใหม่ของไทย
อาจารย์สมพงษ์ เล่าว่า Sand Art ยังไม่ค่อยแพร่หลายในเมืองไทย เนื่องจากศิลปะทรายยังไม่ได้จัดกระบวนการเรียนการสอนเป็นขั้นตอน หากอยากสร้างสรรค์ได้ต้องฝึกฝนด้วยตนเอง เมื่อรู้สึกประทับใจผลงานแซนด์ อาร์ต ของศิลปินชาวยูเครน อาจารย์สมพงษ์หาวิธีทำด้วยการศึกษาวิธีการวาด สร้างภาพและวิธีการเล่าเรื่อง ดูลักษณะการใช้ประโยชน์จากอวัยวะในร่างกาย เช่น มือ นิ้วทุกส่วน ผ่ามือ การแบ การปล่อยทราย การกำ การปล่อย การบังคับเส้น ศิลปะทรายหากมีการเรียนการสอน ผมคิดว่าน่าจะดีเพราะเรามีพื้นฐานหัตถกรรมในสายเลือด คนไทยมีความอ่อนช้อย มีสมาธิเพราะเรามีศาสนา ที่อินเดียมีการสอนแซนด์ อาร์ตแล้ว แต่เมืองไทยยังไม่มี ศิลปินหลายคนประยุกต์แซนด์ อาร์ตจากการวาดภาพบนตู้ไฟ หากคุณวาดทรายได้ ก็ต้องหาเทคนิคเฉพาะตัว เช่น เพิ่มขนาดตู้ให้ใหญ่ หาเทคนิควาดรูปเพิ่มจำนวนคนในการวาด การเขียนภาพบนพื้นทรายเป็นยุคเริมต้นของเมืองไทย
หลังจากคิดค้นลองผิดลองถูกอยู่นาน 6 เดือน ก็พบวิธีการถ่ายทอด และได้มีโอกาสแสดงครั้งแรก ณ ศูนย์วัฒนธรรมไทยญี่ปุ่น เป็นการวาดภาพพระบรมฉายาลักษณ์ด้วยทราย ประกอบเพลงบรรเลงออร์เครสตรา ซาบซึ้งประทับใจผู้คนอย่างที่เขาวาดหวังไว้
“ครั้งนี้ถือเป็นการวาดสด ซึ่งการวาดภาพสดแต่ละครั้งความงามจะแต่งต่างกันตามเทคนิค มีปัญหาเรื่องความอ่อนเพลียหรือไม่ แต่การโชว์ครั้งแรกค่อนข้างประสบความสำเร็จ เพราะสังเกตปฏิกิริยาของผู้คนที่ยืนชม และได้รับกำลังใจจากคนดู คนดูมาขอจับมือ วันนั้นจึงได้คำตอบว่า หากดูงานแล้วไม่มีความรู้สึก เมื่อคนไทยวาดภาพที่มีความหมายเช่นนี้ คนไทยจะตอบสนองความรู้สึกออกมาเป็นอย่างไรบ้าง”
กว่าจะได้เป็นภาพที่สวยงาม
ทรายเม็ดเล็กๆ เมื่อมารวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน ก็เกิดเป็นภาพ เช่นเดียวกับความจงรักภักดีของคนไทย กลายเป็นกำลังใจในการเขียนภาพพระบรมฉายาลักษณ์อีกหลายๆ ครั้ง โดยเขาเลือกวาดในโอกาสที่เหมาะสม เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระองค์
“ความงามของการวาดทรายแต่ละครั้งก็ไม่เหมือนกัน ชนิดของทรายรวมทั้งแหล่งที่มาของทรายเวลาเอามาวาดภาพก็แตกต่างกัน การวาดทรายน้ำหนักทรายวาดผู้หญิงให้ดูนุ่มนวลก็แตกต่างกัน เราก็ต้องเข้าใจความนุ่มนวลของทราย และความนุ่มนวลของผู้หญิง การวาดทรายคือการไม่ใช่การโรยทราย แล้วเอานิ้วไปวาด เราต้องมีเทคนิคการโรยทราย ระยะห่างมือกับจอให้ได้ระยะที่พอเหมาะ มันคือการเรียนรู้ใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา เช่น ผมหายใจก็มีผลต่องาน เราอยู่ในห้องที่เย็นมาก ก็มีผลต่อการวาดทั้งสิ้น การวาดภาพเอาต์ดอร์มีแมลงตัวเล็กเยอะๆ การทำงานก็ยากขึ้น การวาดทรายคือการทำงานที่เข้าใจว่า มันคือธรรมชาติของแมลง ย่อมชื่นชอบแสงสว่าง”
สำหรับทรายที่อาจารย์สมพงษ์ใช้สร้างงานศิลป์คือทรายจากแม่น้ำเจ้าพระยาเพราะมีคุณสมบัติเมื่อร่อนแล้ว คือ นุ่มและเบา อาจารย์สมพงษ์บอกว่า การเป็นนักวาดศิลปะบนพื้นทรายที่ดีต้องมีพื้นฐานการควบคุม ถ่ายทอดสิ่งที่มีในสมองผ่านมือ การวาดภาพให้เกิดรูปร่าง ต้องฝึกเขียน และฝึกจนช่ำชอง และควรมีประสบการณ์ในการถ่ายทอดภาพมาก่อน เพราะงานวาดทรายไม่ใช่งานวาดแล้วเก็บได้ แต่คือการวาดแล้วเห็นสด ๆ ประทับอยู่ในใจ แล้วภาพก็หายไป เหมือนเช่นงานชมนาฏศิลป์ นอกจากนี้สิ่งสำคัญ คือ การเล่าเรื่อง นักวาดทรายต้องมีเรื่องราวในสมองก่อน โดยมีการคิดเป็นลำดับขั้น เล่าเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ ต้องมีการลำดับเรื่องราวเพื่อให้เกิดความกลมกลืน และเข้าใจได้ง่าย
“ทรายแม่น้ำมีลักษณะพิเศษที่เหมาะกับนำมาใช้วาดบนตู้ไฟ คือ นุ่มเบา เป็นรูปทรง ให้น้ำหนักแสงเงาเมื่ออยู่บนตู้ได้ดี ทรายทุกที่แตกต่างกันทั้ง สี ขนาด น้ำหนัก ความหนาแน่น และปฏิกิริยาของทรายเมื่อสัมผัสกับตู้ทรายไม่เหมือนกัน การโรยมากหรือน้อยจึงต่างกัน นี่แหละคือเอกลักษณ์ของทราย”
เสน่ห์วาดทราย
เส่น่ห์ของการวาดภาพบนพื้นทรายอยู่ตรงการใช้สมาธิและสติในการสร้างงานศิลปะ เมื่อจิตใจสงบผู้วาดจะสามารถรับรู้ถึงสภาวะปัจจุบันรวบรวมสมาธิให้อยู่กับสิ่งที่เราจะทำ กำหนดลมหายใจเข้าออก ความรู้สึกตื่นเต้นลมหายใจก็จะแรง ซึ่งก็มีผลต่อการวาดทรายอีก นี่คือหัวใจของการสร้างสรรค์ภาพบนพื้นทราย อีกทั้งเราต้องมีความเชื่อและความศรัทธาต่องานศิลป์ด้วย
สำหรับแนวคิดในการสร้างสรรค์ภาพบนพื้นทราย ล้วนเป็นเรื่องที่นักวาดเรียนรู้จากสิ่งรอบๆ ตัว เช่น การ์ตูน ภาพยนตร์ หรือผลงานวาดทรายของศิลปินท่านอื่นๆ “การวาดทรายก็เหมือนกับการฉายภาพยนตร์ที่ภาพเปลี่ยนตลอดเวลา เมื่อสรุปภาพแล้วคนเข้าใจ ก็ต้องฝึกการเล่าเรื่อง พยายามหาลูกเล่นใหม่ๆ สำหรับเทคนิคของผม คือ ผมใช้วิธีวาดภาพประกอบมือ เช่นเดียวกับการร่ายรำ เพื่อเพิ่มความน่าสนใจ การวาดภาพบนพื้นทราย มือถือเป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุด”
หากน้องๆ นักศิลปะอยากวาดภาพบนพื้นทรายได้เก่งๆ อาจารย์สมพงษ์แนะนำว่า อันดับแรกอยากวาดให้เก่ง ต้องเริ่มฝึกจากวาดเส้นลงแสงเงาให้เก่งๆ ก่อน เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานสำคัญ อย่าใจร้อน หัดวาดเส้นให้เห็นแสงเงา เวลาเราเริ่มวาดภาพบนพื้นทรายไม่จำเป็นต้องเล่าเรื่องยาวๆ ลองวาดภาพง่ายๆ เช่น ปลา ท้องฟ้า ฝึกมือดูก่อน เมื่อฝึกจนชิน นำรูปต่างๆ มาวาดประกอบกัน วาดปลา น้ำ มีท้องฟ้า ต้นไม้ เรียกว่าต้องพัฒนาและฝึกเป็นขั้นตอนไป
“เมื่อเล่าเรื่องจากหนึ่งเป็นสองภาพ ก็ค่อยๆ เพิ่มฉากไปเรื่อยๆ สิ่งสำคัญที่สุดต้องมุ่งมั่น อดทนกับการฝึกฝน และรักในงานศิลปะที่เราทำ พยายามเข้าใจธรรมชาติของทราย และต้องอาศัยการเรียนรู้ด้วยตนเอง เพราะไม่มีใครสอนขึ้นมาเป็นเรื่องเป็นราวจริงจังในสถาบันการศึกษา”
สมพงษ์ ลีระศิริ อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปะจินตทัศน์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นักสร้างสรรค์งานศิลปะ และศิลปินอิสระ
การศึกษา : ปัจจุบันกำลังทำวิทยานิพนธ์ ระดับดุษฎีบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปริญญาโท ศ.ม. (ภาพพิมพ์) มหาวิทยาลัยศิลปากร
ปริญญาตรี ศศ.บ. (ภาพพิมพ์) ภาควิชาจิตรศิลป์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กรุงเทพฯ
ผลงานศิลปะ : สมพงษ์ มีงานภาพศิลปะแสดงนิทรรศการภาพหลายครั้งทั้งเดี่ยวและกลุ่ม อาทิ นิทรรศการศิลปกรรม “ทัศนศิลป์ทัศนศึกษา อีสานใต้” โดยคณาจารย์ภาควิชาทัศนศิลป์ ณ ห้องศิลปะ นิทรรศมารศรี พิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด เป็นต้น
รางวัลเกียรติยศ : ปี 2545, 2539, 2534 รางวัลยอดเยี่ยม รางวัลชมเชย และรางวัลพิเศษ นิทรรศการศิลปกรรม โตชิบา “นำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต” ตามลำดับ
2540 รางวัลเหรียญทองแดง นิทรรศการศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 43 ณ หอศิลปแห่งชาติ กรุงเทพฯ
รางวัลเหรียญเงิน ศิลปกรรมร่วมสมัยศิลปินรุ่นเยาว์ ครั้งที่ 14 ธนาคารไทยพาณิชย์ กรุงเทพฯ
ผลงานด้านแซนด์ อาร์ต
2555 – แสดงการวาดทราย เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครบรอบ 84 พรรษา ณ โครงการโบ๊ทเฮ้าส์หัวหิน
แสดงการวาดทรายประกอบบทพระราชนิพนธ์เรื่อง พระมหาชนก จัดแสดงสื่อร่วมสมัยประกอบการบรรเลงดนตรีดุริยางค์ซิมโฟนีออร์เครสตร้า มศว. และกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม และมูลนิธิหอสมุดดนตรีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9
แสดงการวาดทรายประกอบเนื้อเรื่องการศึกษา สื่อการเรียนการสอน ของกระทรวงศึกษาธิการ
แสดงการวาดทรายประกอบไวโอลิน ในงาน ฮาลลาล ความสัมพันธ์ระหว่างไทย และบรูไน
แสดงการวาดทรายประกอบการเล่าเรื่อง ในงานผลิตภัณฑ์นาฬิกา Patek Philippe
2556 – แสดงวาดทราย ในโครงการศิลปะทรายร่วมสมัย