ดอกเตอร์ตกงานสู่แม่ค้าอินเตอร์ นำทัพสินค้าไทยบุกตลาดอียิปต์

14 กันยายน 2556

แม้ไม่ได้เติบโตมากับครอบครัวที่ทำธุรกิจทางการค้า แต่วิกฤตกลับสร้างโอกาสให้เธอเติบโต ดร.โสดากิตติ์ วงศ์โกมลเชษฐ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดอไทย คอร์ปอเรชั่น

โดย...โชคชัย สีนิลแท้

แม้ไม่ได้เติบโตมากับครอบครัวที่ทำธุรกิจทางการค้า แต่วิกฤตกลับสร้างโอกาสให้เธอเติบโต ดร.โสดากิตติ์ วงศ์โกมลเชษฐ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดอไทย คอร์ปอเรชั่น หรือ เดอไทย คอร์ป ผู้นำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคเข้าไปทำตลาดในดิวตีฟรี ช็อป ประเทศอียิปต์มานานกว่า 4 ปี แม้เวลานี้อียิปต์จะเผชิญกับปัญหาทางด้านการเมือง

ดร.โสดากิตติ์ หรือ ดร.เชอร์รี่ เล่าว่า เธอเป็นทายาทครอบครัวข้าราชการ เดชชาติ วงศ์โกมลเชษฐ์ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งชีวิตในวัยเด็กมีความโดดเด่นด้านการศึกษาตั้งแต่เรียนอยู่โรงเรียนอัสสัมชัญศึกษา ร่ำเรียนอยู่ในระดับท็อป 5 ของรุ่นมาโดยตลอด สามารถสอบข้ามชั้น 2 ครั้ง และเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ตอนอายุ 14 ปี และเรียนจบปริญญาตรีตอนอายุ 17 ปี

จากนั้นก็ไปเรียนต่อต่างประเทศได้ปริญญาตรีรัฐศาสตร์อีกใบจาก University of Colorado, Boulder และเรียนต่อปริญญาโท ด้านบริหารที่ University of California, Berkeley และเรียนต่อที่นี่กระทั่งจบปริญญาเอกด้านการเงิน

เริ่มต้นชีวิตการทำงานด้วยการรับราชการเป็นอาจารย์ที่ภาคความสัมพันธ์ระหว่างประเทศคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้อำนวยการโครงการบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร และผู้ริเริ่มคณะนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิต คือ ได้มีโอกาสเข้าทำงานเป็นผู้แทนการค้า ดูแลตลาดตะวันออกกลางที่กาตาร์ในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการไปเปิดตลาดสินค้าไทยในต่างประเทศ แต่ทันทีที่เดินทางเข้าไปรับตำแหน่งประเทศไทยเกิดปฏิวัติยึดอำนาจนายกฯ ทักษิณ เมื่อปี 2549 ตำแหน่งข้าราชการที่โอนย้ายไปจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ยังไม่เสร็จ กลายเป็นคนว่างงาน จึงจำเป็นต้องอยู่ที่ประเทศกาตาร์ต่อกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความเป็นแม่ค้า

ดอกเตอร์ตกงานสู่แม่ค้าอินเตอร์ นำทัพสินค้าไทยบุกตลาดอียิปต์

 

เพราะการปฏิวัติยึดอำนาจในช่วงนั้นนั่นเองทำให้เธอมีเวลาว่างมาก และยังไม่กล้าที่จะเดินทางกลับมายังเมืองไทย จึงใช้เวลาว่างเกือบครึ่งปี เริ่มประกอบธุรกิจค้าขายสินค้าจากเมืองไทย โดยอาศัยความสามารถทางด้านภาษา โดยเฉพาะภาษาอารบิกที่ทำให้เข้าหาคนท้องถิ่น รวมถึงระดับผู้ใหญ่ในประเทศที่เป็นมุสลิมได้โดยง่าย และที่สำคัญคือความมีอัธยาศัยที่ดีของคนไทยเป็นใบเบิกทางที่สำคัญ

เธอเริ่มตั้งบริษัท เดอไทย คอร์ปอเรชั่น ขึ้นมาทำธุรกิจด้วยการนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยไปทำตลาดในกาตาร์ ธุรกิจแรกคือ ปูนซีเมนต์ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ทั้งเหล็กเส้น เสาเข็ม เฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ ต่อด้วยธุรกิจตกแต่งภายใน เพราะในช่วงนั้นธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานในกาตาร์บูมมาก สินค้าขายดีมาก โดยมีเจ้าชายคาลิด ฮาหมัด แห่งราชสกุลอัล ธานี พระปิตุลาของผู้ครองรัฐกาตาร์ ผู้ที่เคยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยนานถึง 37 ปี ซึ่งเป็นที่รู้จักของคนในตะวันออกกลางเป็นผู้สนับสนุน (คนต่างชาติที่จะทำธุรกิจได้ต้องมีสปอนเซอร์)

แต่หลังจากกาตาร์เผชิญวิกฤตทางเศรษฐกิจ ได้ย้ายมาหาช่องทางค้าขายในดูไบตามคำชักชวนของเพื่อนๆ แต่ก็ยังขายวัสดุก่อสร้างเพราะงานก่อสร้างในดูไบกำลังบูม แต่ก็ยังต้องเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจอีกเช่นกัน จึงเปลี่ยนเป้าหมายมาที่อียิปต์ตามคำชักชวนของเพื่อนที่เข้าไปเปิดธุรกิจร้านอาหารไทยในอียิปต์

“ช่วงที่ขายวัสดุก่อสร้างใช่ว่าจะเก็บเงินค่าวัสดุก่อสร้างได้ทั้งหมด เพราะเขาก็ไม่มีจ่ายเหมือนกัน แต่ก็ต้องสู้และลองหาโอกาสใหม่ๆ คิดว่าของกินของใช้น่าจะขายได้ง่ายกว่า” ดร.เชอร์รี่ ย้ำ

ที่อียิปต์ความต้องการบริโภคสินค้ามีสูงมาก แต่สินค้าจากเมืองไทยยังไม่มีใครเข้าไปเจาะตลาดเลย อย่างช่วงเดือนถือศีลอดหรือรอมฎอน ผู้นับถืออิสลามจะต้องซื้อข้าวของเครื่องใช้ใหม่ทั้งหมด โดยเฉพาะอุปกรณ์ในครัวเรือน จึงเป็นโอกาสให้สินค้ากลุ่มดังกล่าวเติบโตเป็นอย่างมาก สินค้าไทยก็มีโอกาสมากที่จะเข้าไปทำตลาด เพราะอยู่ระดับกลางๆ ราคาไม่แพงเหมือนสินค้าที่มาจากยุโรปและมีคุณภาพดี คนที่นั่นเชื่อในคุณภาพสินค้าไทย

ในปี 2553 บริษัท เดอไทย มีโอกาสได้สัมปทานนำสินค้าเข้าไปวางจำหน่ายในร้านค้าปลอดภาษี (ดิวตีฟรี) ที่สนามบินนานาชาติไคโร และสนามอื่นๆ ของประเทศอียิปต์ 6 สนามบิน รวมถึงนำสินค้าไปวางจำหน่ายในช่องทางโมเดิร์นเทรดทั้งสิ้น 31 แห่งในอียิปต์อีกด้วย นับเป็นครั้งแรกที่บริษัทคนไทยเข้าไปทำธุรกิจการค้าในประเทศอียิปต์กระทั่งปัจจุบัน

สินค้าที่บริษัทนำไปจำหน่ายในประเทศอียิปต์ส่วนใหญ่จะเป็นอาหารการกิน ของใช้ เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ (ยกเว้น เครื่องสำอาง เหล้า และบุหรี่) โดยสินค้าแรกที่นำไปวางจำหน่ายคือ “ถั่วโก๋แก่” ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะถั่วที่วางขายในอียิปต์มีแต่ถั่วนิ่มๆ แต่ไม่มีถั่วลิสงกรอบๆ เหมือนสินค้าจากเมืองไทย

ปัจจุบัน บริษัท เดอไทย คอร์ปอเรชั่น มีรายได้จากร้านค้าปลอดภาษี (ดิวตีฟรี) ในสัดส่วน 60% ที่เหลืออีก 40% เป็นรายได้จากการขายสินค้าผ่านช่องทางโมเดิร์นเทรด โดยในปี 2555 ที่ผ่านมามียอดขายรวมประมาณ 70 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2,100 ล้านบาท ตลอดเวลา 4 ปีที่ผ่านมา พบว่าธุรกิจโดยรวมมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองในอียิปต์ช่วงที่ผ่านมาก็ไม่ได้ส่งผลกระทบกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทแต่อย่างใด

ดร.เชอร์รี่ ย้ำว่า เหตุผลที่เธอสามารถนำสินค้าจากเมืองไทยไปทำตลาดในประเทศตะวันออกกลางและแอฟริกาได้ ก็เพราะความรู้ในภาษาถึง 5 ภาษา ได้แก่ ภาษาอารบิก อังกฤษ สเปน ฝรั่งเศส เยอรมนี หากไม่นับรวมภาษาไทย ซึ่งถือว่าเป็นใบเบิกทางที่สำคัญมาก

แม้ชีวิตจะหนักไปทางการทำธุรกิจ แต่สิ่งที่ ดร.เชอร์รี่ มุ่งมั่นคือ งานทางวิชาการ เพราะมีความใฝ่ฝันว่าอยากจะเปิดโรงเรียนอินเตอร์เนชั่นแนล เน้นสอนทางด้านสายวิชาชีพ ซึ่งปัจจุบันสายพาณิชยกรรมเริ่มขาดแคลน เพื่อพัฒนาศักยภาพของคนไทยให้สูงขึ้น และนี่คือแรงบรรดาใจที่สามารถพลิกวิกฤตในชีวิตให้เป็นโอกาสได้

Thailand Web Stat