posttoday

ทำดีทำไมไม่มีใครเห็น

15 กันยายน 2556

สวัสดีท่านผู้อ่านที่เคารพ ความเครียดอย่างหนึ่งที่มักเกิดขึ้นกับคนที่เป็นคนดี พยายามทำความดี นั้นก็คือ ทำไมไม่ค่อยมีใครเห็นคุณความดีเหล่านั้น

สวัสดีท่านผู้อ่านที่เคารพ ความเครียดอย่างหนึ่งที่มักเกิดขึ้นกับคนที่เป็นคนดี พยายามทำความดี นั้นก็คือ ทำไมไม่ค่อยมีใครเห็นคุณความดีเหล่านั้น ท่านเคยเห็นไหมคนบางคนอาจเป็นเพื่อนท่าน คนที่ทำงานหรือตัวท่านเอง ทำไมจึงทำความดีแล้วไม่ค่อยมีใครเห็น หรือคนอื่นเขาจะเห็นแต่ก็ไม่เคยเอ่ยปากชื่นชมให้เราได้ปลื้มใจ ได้เป็นกำลังใจเลย แม้ว่าจริงๆ แล้วการที่เขาทำความดีก็คงไม่ได้อยากให้ใครชม แต่ความดีนั้นทำยากกว่าการทำชั่ว ดังนั้นเมื่อทำไปมากๆ แล้วไม่มีใครเห็นคุณค่า ไม่มีใครชมก็มักจะท้อใจ อีกอย่างหนึ่งก็คือ กลับมีคนบางคนที่มักถูกชื่นชมเสมอ ทำอะไรนิดหน่อยก็ได้รับความชื่นชม ความดีของคนพวกนี้ดูจะอยู่ในเรดาร์ของคนอื่นหรือของเจ้านาย ของผู้ใหญ่และเพื่อนฝูง

สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องจริงในสังคม ผู้เขียนเองก็เคยแอบสังเกตเห็นหลายครั้ง ซึ่งเรื่องนี้หลายคนอาจแอบน้อยใจ หรือเกิดความอิจฉาผู้ที่ได้รับความชื่นชมนั้น เพราะเขาก็ทำความดีจริงๆ บางคนซ้ำร้ายทำดีแต่กลับถูกเข้าใจผิดก็มี วันนี้ MQ จึงขอนำเอาธรรมะเกี่ยวกับเรื่องนี้มาคุยกัน บางทีเราอาจจะได้หายน้อยใจ หายอิจฉา และทำความดีให้ครบถ้วนขึ้น

ผู้ที่ทำความดีแล้วไม่ค่อยมีใครเห็นใครชม ควรทำความรู้จักกับคำว่า “วรรณมัจฉริยะ” ซึ่งเป็นมัจฉริยะ 1 ใน 5 ข้อ คือ

อาวาสมัจฉริยะ (ตระหนี่ที่อยู่อาศัย)

กุลมัจฉริยะ (ตระหนี่ตระกูล)

ลาภมัจฉริยะ (ตระหนี่ลาภ)

วรรณมัจฉริยะ (ตระหนี่วรรณะ)

ธรรมมัจฉริยะ (ตระหนี่ธรรม)

อ่านแล้วก็จะทราบว่ามัจฉริยะก็คือความตระหนี่นั่นเอง ก่อนที่จะอธิบายเรื่องตระหนี่วรรณะคืออะไร ก็ขอยกเรื่องความตระหนี่อื่นๆ อีก 4 ข้อ คือ คนเราจะตระหนี่ คือ หวงแหนสิ่งที่เรามี ไม่อยากจะให้คนอื่น ไม่อยากจะแชร์แบ่งปัน หรือให้คนอื่นใช้ร่วมกับเรา ความหวงแหนย่อมมีในที่อยู่อาศัย ซึ่งทางธรรมยกตัวอย่างเป็นเรื่องของพระสงฆ์ คือ ไม่อยากให้พระรูปอื่นมาอยู่อาศัยในวัดของเรา ไม่ให้พระรูปอื่นรู้จักโยมที่ทำบุญกับท่าน ไม่อยากแบ่งปันบิณฑบาตและลาภอื่นๆ ไม่ยอมสอนธรรมะและภาษาบาลีให้ เป็นต้น

หากมองในแง่ฆราวาสเราก็คงเคยหวงบ้านที่อยู่อาศัย ญาติมาจากต่างจังหวัดบางทีก็ไม่อยากให้เขามาพัก หวงเส้นสายคนที่รู้จักติดต่องานกัน โดยเฉพาะเพื่อนร่วมงานนั้นต้องไม่ให้รู้จักเลย เดี๋ยวลูกค้าจะไปสนิทกับคนอื่นเราก็จะลำบาก เป็นต้น บางคนก็หวงวิชาไม่ยอมสอนสิ่งที่รู้ สอนไม่หมดบ้าง หวงลาภนั้นแน่นอนอยู่แล้ว คงไม่ต้องอธิบาย

อย่างไรก็ตาม การไม่ให้ ไม่แบ่งปันนั้น ไม่เป็นมัจฉริยะในทุกกรณี เช่น ถ้าผู้นั้นเป็นคนไม่ดี มีเจตนาไม่ดี จะทำให้เกิดความเสียหาย เป็นต้น หากพิจารณาด้วยปัญญาและใจที่เป็นธรรมแล้วเห็นว่าจะทำให้เกิดโทษ เช่น จะทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อมเสีย หรือเขาจะมาหลอกลวงญาติโยมก็ไม่ให้นั้นไม่ใช่ตระหนี่แต่เป็นตัวปัญญาซึ่งเป็นทางกุศล ทางโลกก็เช่นกันต้องใช้ปัญญาพิจารณาด้วยเหตุผลด้วยคุณธรรมก่อน ไม่ใช่สักแต่ให้ ด้วยโมหะ ความหลง หรืออยากได้หน้า

เรื่องของตระหนี่วรรณะนั้นคืออะไร “วรรณะ” หมายรวมถึงสองอย่าง คือ เรื่องของผิวพรรณและความสวยงามกับเรื่องของคุณงามความดี บุคคลที่ตระหนี่วรรณะก็คือพวกที่ไม่ปรารถนาที่จะสรรเสริญคุณงามความดีใคร ใครทำดีก็ไม่ชม ไม่ปรารภคุณความดีของเขาให้เป็นที่ประจักษ์ เพราะจิตใจไม่ชื่นชม แต่กลับไม่ค่อยพอใจ รวมทั้งการที่ไม่ต้องการชมความงาม ความสวย ผิวพรรณดี ความมีรูปร่างหน้าตาดีของผู้อื่น

ท่านผู้อ่านอาจลองสังเกตดูก็จะพบว่าในสังคมเรา วรรณมัจฉริยะนั้นเกิดบ่อยๆ บางคนถึงกับหมั่นไส้เวลาเห็นใครทำความดี กลับไปนินทาว่าเขาซะอีกว่าทำดีบังหน้าบ้างล่ะ ส่วนใหญ่ผู้ที่ไม่สรรเสริญความดีคนอื่น ก็มักไม่สรรเสริญว่าใครสวยใครงามด้วย เรียกว่าชมใครไม่เป็น ซึ่งอันไม่ได้อยู่ที่ปากแต่เกิดจากใจของเขาไม่รู้สึกอย่างนั้น ซึ่งตรงกันข้ามมีคนไม่น้อยที่มีจิตใจงาม เวลาเห็นใครทำดีก็มักสรรเสริญมักชมคน พวกนี้นับว่าเป็นการสั่งสมคุณงามความดี ซึ่งตรงข้ามกับพวกที่สั่งสมวรรณมัจฉริยะ

กฎแห่งกรรมก็คือ ใครทำดีย่อมได้ดี ใครทำชั่วย่อมได้ชั่ว สุดแต่เวลาและเหตุปัจจัย เหมาะสมเมื่อใด กรรมที่ผู้นั้นเคยกระทำไว้แล้วก็จะให้ผล ผู้ที่สั่งสมวรรณมัจฉริยะไว้มากๆ จึงได้รับผล คือ เกิดเป็นผู้ที่ไม่สวยไม่งาม ไม่ได้รับการสรรเสริญ

ดังนั้น ผู้ที่เคยทำหรือกำลังทำกรรมที่ประกอบด้วยวรรณมัจฉริยะแล้วกรรมส่งผล แม้เขาทำความดีจริงๆ พยายามทำความดีต่างๆ คนก็มักจะไม่ค่อยเห็นคุณค่าของเขา ไม่ค่อยมีใครกล่าวสรรเสริญยกย่องหรือชื่นชม ก็เพราะผลกรรมนี้ ดังนั้นเมื่อท่านรู้ว่าการมีวรรณมัจฉริยะนั้นไม่ดี เป็นบาปเป็นอกุศล ก็พยายามลดละเสียอย่าให้เกิดขึ้นในจิตใจ หากเกิดขึ้นก็ให้ระลึกรู้ให้เร็วหน่อย พยายามเปลี่ยนวิธีคิดให้ถูกต้อง เมื่อเห็นคนเขาทำดี เห็นความดีความงาม ต้องชม เพราะสมควรที่จะให้กำลังใจ ให้ความยกย่อง ดังนี้แล้วผลพลอยได้ก็คือ ในอนาคตท่านทำความดีอะไรๆ ใครๆ ก็จะเห็นจะชื่นชม

ใครที่ปัจจุบันมีปัญหาทำดีไม่มีใครเห็น ก็ช่วยกันอธิบายให้เขาทราบเถิดว่า เป็นผลกรรมที่เขาทำเอง อย่าไปโกรธคนอื่นเลย กรรมของท่านบังตาบังใจผู้อื่นไม่ให้เขาชม กรรมที่เราทำไปแล้วแก้ไขไม่ได้ แต่กรรมใหม่สร้างได้ สร้างให้ดีให้ถูกต้อง ความชื่นชมสรรเสริญรวมทั้งความงามและผิวพรรณอันผ่องใส ก็จะปรากฏแก่ผู้นั้น...