ตำนานผู้พันแซนเดอร์ส กับไก่ทอดเคเอฟซี
จากเด็กผู้ชายที่กำพร้าพ่อตั้งแต่อายุได้ 5 ขวบ เขาต้องช่วยแบ่งเบาภาระแม่ที่ต้องทำงานในโรงงานผลิตกระป๋อง ด้วยการทำอาหารกินกันเองกับน้องๆ
โดย...ตุลย์ จตุรภัทร
จากเด็กผู้ชายที่กำพร้าพ่อตั้งแต่อายุได้ 5 ขวบ เขาต้องช่วยแบ่งเบาภาระแม่ที่ต้องทำงานในโรงงานผลิตกระป๋อง ด้วยการทำอาหารกินกันเองกับน้องๆ เด็กชายฮาร์แลนด์ แซนเดอร์ส จึงเติบโตขึ้นด้วยการทำงานมาสารพัด หลังจากนั้น เส้นทางเดินของเขาก็ได้พลิกผัน จนได้ก้าวสู่เส้นทางการเป็นเจ้าของไก่ชุบแป้งทอดเลื่องชื่อที่ขายในปั๊มน้ำมัน ในเมืองคอร์บิน รัฐเคนทักกี เรื่อยมาจนมาถึง “เคเอฟซี” ในปัจจุบัน
ปี ค.ศ. 1930
ฮาร์แลนด์ แซนเดอร์ส ตัดสินใจเปิดปั๊มน้ำมันในเมืองคอร์บิน รัฐเคนทักกี แต่เนื่องจากในช่วงนั้นเศรษฐกิจที่สหรัฐอเมริกาไม่ค่อยดี เขาจึงตัดสินใจทำอาหารขายให้ผู้คนที่มาเติมน้ำมันในปั๊ม หนึ่งในนั้นคือ “ไก่ชุบแป้งทอด”
ปี ค.ศ. 1934
อาหารของ ฮาร์แลนด์ แซนเดอร์ส ขายดิบขายดี เขาจึงซื้อปั๊มน้ำมันขนาดใหญ่ที่อยู่ฝั่งตรงข้าม และขยายพื้นที่ออกไปอีกหกตาราง เพื่อที่จะได้ขายทั้งน้ำมันและขายอาหารไปด้วยในตัว
ปี ค.ศ. 1936
ด้วยฝีมือการทำอาหาร โดยเฉพาะไก่ชุบแป้งทอด เป็นที่เลื่องลือของผู้คนที่อยู่อาศัยในละแวกนั้น ใครอยากกินไก่ชุบแป้งทอดอร่อยๆ ต้องแวะไปกินที่นี่ ทำให้ชื่อเสียงนี้เข้าถึงหูผู้ว่าการรัฐ ทำให้มาลองชิมฝีมือและก็ติดใจในรสชาติ หลังจากนั้นได้แต่งตั้งฮาร์แลนด์ แซนเดอร์ส ให้เป็นผู้พันกิตติมศักดิ์
ปี ค.ศ.1937
ฮาร์แลนด์ ตัดสินใจเปิดร้านอาหารอย่างเป็นทางการ ที่รองรับลูกค้าได้ถึง 142 คน โดยใช้ชื่อร้านว่า “แซนเดอร์ส คอร์ท & คาเฟ่”
ปี ค.ศ. 1939
ไก่ชุบแป้งทอดของ ฮาร์แลนด์ แซนเดอร์ส ได้รับการยกย่องว่าเป็นอาหารชั้นเลิศ ที่มีคนต้องการกินเพิ่มมากขึ้นทุกวัน แต่การทอดไก่ในแต่ละครั้ง ต้องทอดนานถึง 30 นาที ทำให้ลูกค้าบ่นว่ารอนาน นี่จึงเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้เขาคิดค้นวิธีทอดไก่แบบใหม่ ที่ใช้ระยะเวลาสั้นๆ ด้วยการใช้หม้ออัดความดันที่ใช้เวลาทอดไม่เกิน 10 นาที แต่รสชาติของไก่ชุบแป้งทอดกลับอร่อยมิเปลี่ยนแปลง
ปี ค.ศ. 1950
ฮาร์แลนด์ แซนเดอร์ส เริ่มมองเห็นถึงเส้นทางการเติบโตด้วยการสร้างภาพลักษณ์ เขาจึงไว้หนวดเคราแพะ สวมเสื้อโค้ตสีดำ (ต่อมาเปลี่ยนเป็นเสื้อสูทสีขาว) ผูกสติงไทสีดำที่คอ เพื่อทำให้จดจำภาพลักษณ์ที่โดดเด่นของเขา และเขาก็ได้นิยามตัวเองว่าเป็น “ผู้พันแซนเดอร์ส” ตามที่ได้รับการแต่งตั้งจากผู้ว่าการรัฐนับแต่นั้นมา
ปี ค.ศ. 1955
กิจการกำลังไปได้สวย แต่ก็ต้องหยุดชะงักลง เมื่อมีการตัดทางด่วนใหม่บริเวณร้านของผู้พันแซนเดอร์ส ทำให้ลูกค้าเริ่มมากินอาหารที่ร้านของเขาน้อยลง แต่เขาก็ได้พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ด้วยการขายสูตรลับของไก่ชุบแป้งทอด ภายใต้ชื่อ “เคนทักกี ฟราย ชิกเกน” ซึ่งมีคนสนใจเป็นแฟรนไชส์มากมายเกินคาด
ปี ค.ศ. 1956
ธุรกิจแฟรนไชส์ “เคนทักกี ฟราย ชิกเกน” ประสบความสำเร็จถึงขีดสุด เนื่องด้วยเครื่องปรุงและเครื่องเทศ 11 ชนิด ที่ผสมขึ้นมาเป็นพิเศษสำหรับหมักไก่
ปี ค.ศ. 1964
ผู้พันแซนเดอร์สมีอายุ 74 ปีแล้ว เขาได้ตัดสินใจขายกิจการให้กับกลุ่มนักลงทุน ที่นำทีมโดย จอห์น วาย จูเนียร์ และแจ็ค ซี แมซเซย์ ด้วยมูลค่า 2 ล้านเหรียญสหรัฐ (ต่อมากลุ่มบริษัท เป๊ปซี่ โค ก็ได้เข้ามาซื้อกิจการ และได้แยกธุรกิจเกี่ยวกับอาหารออกมาเป็นบริษัท ไทรคอน)
ปี ค.ศ. 1991
บริษัท ไทรคอน ตัดสินใจเปลี่ยนชื่อ “เคนทักกี ฟราย ชิกเกน” เป็นชื่อย่อ “เคเอฟซี” ด้วยเหตุผลที่ว่า ณ ขณะนั้นมีผู้ประท้วงเกี่ยวกับการใช้ไก่ดัดแปลงพันธุกรรมของบริษัท อีกทั้งยังมีกระแสเรื่องของการลดการบริโภคของทอดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องการเลี่ยงคำว่า ไก่ และคำว่า ทอด เพื่อทำให้ธุรกิจไก่ทอดยังดำเนินต่อไปได้
ปี ค.ศ. 1994
เคเอฟซี มีสาขาในสหรัฐอเมริกาเป็นจำนวน 5,149 สาขา และ 9,407 ทั่วโลก รวมทั้งมีลูกจ้างกว่า 1 แสนคน
ปี ค.ศ. 2002
บริษัท ไทรคอน ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ยัม! แบรนด์ส อิงค์ และได้ดำเนินธุรกิจอาหารจานด่วน โดยมีไก่ทอดเคเอฟซีเป็นหนึ่งในสินค้าขายดีที่ได้รับความนิยมจากผู้คนทั่วโลก