อะไรคือ ปาราชิกสังฆาทิเสสของภิกษุในพุทธศาสนา!!! (ตอน ๑๒)
หรือภิกษุมีจิตกำหนัดน้อมไปในกาม ไปกล่าวบำเรอคุณว่า หากผู้หญิงได้บำเรอกามให้กับตน ซึ่งเป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์
โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส
หรือภิกษุมีจิตกำหนัดน้อมไปในกาม ไปกล่าวบำเรอคุณว่า หากผู้หญิงได้บำเรอกามให้กับตน ซึ่งเป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ จะมีอานิสงส์มีผลยิ่งจะไปสู่สวรรค์ได้ง่าย หญิงนั้นรู้ในอธิบาย เข้าใจและกระทำ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
หรือภิกษุทำสิ่งที่ไม่ควรทำ สื่อให้หญิงชายอยู่ร่วมเป็นผัวเมียหรือชู้กัน โดยนำความประสงค์ของหญิงไปบอกเล่าชาย ชายเล่าหญิง ชักโยงให้ทั้งสองเป็นผัวเมียเป็นชู้ อันจะนำไปสู่การให้ได้สังวาส คือ อยู่ร่วมกัน ภิกษุนั้นผู้ชักสื่อต้องอาบัติสังฆาทิเสส
เรื่องในสิกขาบททั้ง ๕ ข้อที่ผ่านมา ครูบาอาจารย์สั่งไว้ว่า ให้ภิกษุหมั่นดูระวังให้จงมาก ภิกษุผู้ไม่ได้ศึกษาเป็นคนคะนองกายวาจา อาจจะล่วงเข้าไปประพฤติผิดได้ง่าย
ข้อที่ ๖ ภิกษุทำกุฏิที่อยู่ด้วยทัพพะสัมภาระอันมีอิฐปูนไม้อันตนเที่ยวขอมาเอง ไม่มีทายกเป็นเจ้าของผู้สร้างถวาย จะทำอยู่เอง และไม่ได้ให้สงฆ์แสดงพื้นที่ ทำลงในที่มีอุปัททวะอันตราย ถ้าไม่มีอุปจารเป็นปริมณฑล ในปริมณฑลของที่ตั้ง ทำให้เกินประมาณ คือ เกินขนาดตามพุทธบัญญัติ คือ ยาวกว่า ๑๒ คืบสุคต กว้างกว่า ๗ คืบสุคต กำหนดวัดในล่วงฝาข้างใน ทำเกินไปตามที่บัญญัติไว้ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
ข้อที่ ๗ ภิกษุทำเองหรือให้ผู้อื่นทำวิหารที่อยู่เป็นอารามใหญ่ ไม่กำหนดประมาณ แม้มีทายกเป็นเจ้าของลงทุนสร้าง แต่หมายใจจะอยู่เองเป็นเจ้าของ และไม่ให้สงฆ์ชี้หรือแสดงที่ตั้งให้ ทำตามอำเภอใจ ทำลงในที่มีอุปัททวะอันตราย และไม่มีอุปจารก็ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
ในสิกขาบทข้อที่ ๘ ของหมวดสังฆาทิเสส ภิกษุขึ้งโกรธขัดเคืองภิกษุอื่น คิดจะให้เคลื่อนจากพรหมจรรย์ คือ ให้สึกไปเสีย โดยการตามกำจัดโทษยกโทษด้วยอาบัติปาราชิกไม่มีมูล คือ ตัวไม่รู้ไม่เห็นไม่ได้รังเกียจ แกล้งโจษเล่นเฉยๆ เพื่อให้พระภิกษุนั้นสึกไป ผู้กระทำนั้นต้องอาบัติสังฆาทิเสส
ในสิกขาบทข้อที่ ๙ ภิกษุขึ้งโกรธภิกษุและโจษด้วยอาบัติปาราชิกอย่างฉะนั้น ต่างกันแต่เอาเลศมาใส่ไคร้เสแสร้งแกล้งยกโทษ คือ ตนได้เห็นสัตว์เดรัจฉานอันสัตว์กันเป็นต้น หรือได้รู้ได้เห็นใครลักทรัพย์สิ่งของ ใครฆ่ามนุษย์ ใครอวดฤทธิ์เดชพิเศษ อวดอุตริมนุสธรรม ก็ให้ถือเอาเลศนัยมาใส่ไคล้ภิกษุที่ตนขัดเคือง คือ เอาเรื่องต่างๆ ที่เห็นที่รู้มาใส่โทษพระภิกษุที่ท่านไม่รู้และไม่ได้กระทำ กล่าวโทษท่าน ใส่เท็จใส่ความท่าน ผู้กระทำก็ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
สิกขาบททั้ง ๙ นี้ชื่อว่า ปฐมาปัตติกะ ภิกษุล่วงพระพุทธบัญญัติเมื่อใด ต้องอาบัติสังฆาทิเสสเมื่อนั้น
ในสังฆาทิเสสข้อที่ ๑๐ ภิกษุอันเพียรพยายามทำลายสงฆ์ให้แตกร้าวจากกัน กระทำสังฆเภท เมื่อภิกษุทั้งหลายได้รู้เห็นห้ามปรามก็ยังดื้อดึง มิได้ละความพยายามทำลายสงฆ์ พระสงฆ์สวดสมนุภาสน์ แปลว่าสวดประกาศห้ามมิให้ถือรั้นในการอันมิชอบนั้น หรือห้ามด้วยบัญญัติจตุตถกรรม เมื่อจบอนุสาวนา (อนุสาวนา คือเป็นคำขอมติของสงฆ์ ประกาศข้อปรึกษาข้อตกลงของสงฆ์) พอจบที่ ๓ ถ้ายังไม่ละอายความเพียร ก็ถือว่าต้องอาบัติ
ในสังฆาทิเสสข้อที่ ๑๑ ภิกษุรูปหนึ่งหรือสองรูปเป็นพรรคพวก ประพฤติตามภิกษุที่เพียรจะทำลายสงฆ์ พลอยเข้ามาโต้ท่านต่อเถียงแทนว่า ภิกษุนั้นว่ากล่าวตามพระธรรมวินัยภิกษุทั้งหลายห้ามปรามสั่งสอนให้ละทิฏฐินั้นก็ไม่เชื่อถือ ภิกษุนั้นพยายามทั้งหลายพามายังท่ามกลางสงฆ์ สวดสมนุภาสน์ห้ามอย่างฉะนั้น เมื่อจบอนุสาวนาที่ ๓ หากไม่ละกรรมนั้น ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
ในสิกขาบทข้อที่ ๑๒ ภิกษุเป็นผู้สอนยาก เมื่อภิกษุทั้งหลายกล่าวสั่งสอนด้วยข้อพระวินัยบัญญัติ กลับดื้อดึงถือตนไม่ยอมให้ภิกษุทั้งหลายพามายังท่ามกลางสงฆ์ สวดสมนุภาสน์ห้ามปรามเพื่อจะให้ละความเป็นผู้สอนยากนั้นเสีย เมื่อจบอนุสาวนาที่ ๓ ลง ถ้ายังไม่โอนอ่อนหย่อนพยศลดมานะทิฏฐิเสียไซร้ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
ในสังฆาทิเสสข้อที่ ๑๓ ภิกษุอันอาศัยอยู่ในบ้านหรือนิคมใด เป็นผู้ประทุษร้ายต่อตระกูล ด้วยให้ดอกไม้ผลไม้ หรืออาสารับใช้คฤหัสถ์ อันมิใช่ญาติหรือมิใช่ปวารณา เป็นบุคคลมีมารยาทอันลามกหยาบช้า ภิกษุทั้งหลายได้รู้ได้เห็นได้ยินข่าว ไม่ปรารถนาจะสัมโภค (การกินอยู่ร่วมกัน) คบหาร่วมสังวาส (การประกอบสังฆกรรมร่วมกัน) จึงทำปัพพาชนียกรรม (กรรมอันที่สงฆ์พึงกระทำกับภิกษุ คือไล่เสีย ไล่ออกจากวัดจากหมู่คณะขับออกไป)
หากกลับโต้แย้งติเตียนว่าภิกษุทั้งหลายลุอำนาจแก่อคติ ลำเอียงไม่เที่ยงธรรม ภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าวเพื่อจะให้ละถ้อยคำนั้น ถ้ายังโต้ตอบต่อว่ายังไม่ยอม ถ้ายังละเสียไม่ได้ พึงให้พามายังท่ามกลางสงฆ์ สวดสมนุภาสน์ห้ามอย่างนั้น เมื่อจบอนุสาวนาที่ ๓ ถ้ายังขืนติเตียนการกสงฆ์ (คณะสงฆ์ที่มีหน้าที่ในการทำงานนั้นๆ) คือการทำงานของสงฆ์อยู่ไซร้ ก็ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
นี่คืออาบัติสังฆาทิเสสทั้ง ๑๓ ข้อเป็นวุฏฐานสุทธิ
ภิกษุต้องเข้าอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว จักทำตนให้บริสุทธิ์เป็นปกติได้ด้วยปริวาสกรรม คือต้องอยู่กรรม ถ้าต้องเข้าแล้วก็ให้สำแดงบอกเล่าแก่ภิกษุแล้วจึงขอปริวาสแก่พระภิกษุต่อไป ปกปิดไว้นานวันนับได้วันเดือนปีเท่าไร ภิกษุจะใคร่พ้นโทษก็ต้องอยู่ปริวาสกรรมนับเท่าวันเดือนปีที่ปกปิดไว้ แล้วจึงขอมานัตต์แด่องค์สงฆ์อีก ๖ ราตรี สงฆ์คณะรวม ๒๐ รูป ให้อัพภาณชักออกจากโทษได้ แล้วจึงเป็นผู้บริสุทธิ์ได้
นี่คือ การออกจากโทษของสังฆาทิเสส ซึ่งเป็นครุกาบัติ อยู่ในหมวดเดียวกับปาราชิก แต่ปาราชิกคือตายไปเลยจากพระศาสนา ส่วนสังฆาทิเสสนั้นต้องมีกระบวนการนำออกมา โดยการพึ่งสงฆ์ ต้องอยู่กรรม คณะสงฆ์ ๒๐ รูป ให้อัพภาณชักออกจากโทษ จึงเป็นผู้บริสุทธิ์ได้ ส่วนอาบัติต่อๆ ไปนั้นก็ออกมาโดยการแสดงความเปิดเผยต่อสงฆ์
(อ่านต่อฉบับหน้า)