posttoday

เมื่อซากุระบาน

29 กันยายน 2556

ชาวญี่ปุ่นเชื่อกันว่าต้นซากุระ หรือเชอร์รี ถือกำเนิดขึ้นมาบนภูเขาโยชิโน ใกล้เมืองนารา ลักษณะเด่นของดอกไม้ชนิดนี้คือกลีบดอกมีรอยหยัก 5 รอย

โดย...ม.ล.จารุพันธ์ ทองแถม

ชาวญี่ปุ่นเชื่อกันว่าต้นซากุระ หรือเชอร์รี ถือกำเนิดขึ้นมาบนภูเขาโยชิโน ใกล้เมืองนารา ลักษณะเด่นของดอกไม้ชนิดนี้คือกลีบดอกมีรอยหยัก 5 รอย ใบสีน้ำตาลอมแดงอ่อน เกิดขึ้นมาพร้อมดอก ดอกสีขาวถึงชมพูหรือชมพูเข้ม ซากุระมีพันธุ์ซึ่งให้ดอกซ้อน คนญี่ปุ่นเรียกซากุระว่า ยามาซากุระ และชื่อทางพฤกษศาสตร์ของซากุระ คือ Prunus jamasakura หรือ P.serrulata

ซากุระอีกกลุ่มเรียกกันว่า โอยามาซากุระ จัดเป็นกลุ่มที่ทนหนาว ให้ดอกสีเข้มกว่า และพบบนยอดเขานากาโนระดับสูง ดอกสีแดงคล้ำ นับเป็นกลุ่มที่ได้รับความนิยม โดยจัดเป็นเชอร์รีต้นกำเนิดของเชอร์รีทั้งหลายนั้นเทียว

ซากุระมีมากมายนับได้ตั้งแต่ 30 พันธุ์ไปจนถึงหลายร้อยพันธุ์ แต่การจัดความแตกต่างของพันธุ์และการตั้งชื่อพันธุ์ดูจะสับสนมาก ยามาซากุระ อยู่ตามภูเขาสูง และจะออกดอกหลังจากซากุระในเมืองออกดอกไปแล้วประมาณหนึ่งสัปดาห์ ต้นซากุระในเมืองเรียกกันว่า โซเมยโยชิโน (Someiyoshino) พวกนี้ออกดอกบานสะพรั่งราวต้นถึงกลางเดือน เม.ย. บนภูเขาโยชิโนทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของนครโอซากา โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่วัดคิโยมิซูดีรา และอาราชิยามา ในนครเกียวโต ตลอดจนพบบนภูเขาคามาคุรา

เมื่อซากุระบาน

 

โตเกียว เชอร์รี (โซเมยโยชิโน)

จัดเป็นเชอร์รีลูกผสม (Prunus x yedoensis) ที่สวยงามเหลือเกิน เพราะแม้จะมีดอกชั้นเดียว แต่มันมีขนาดใหญ่ ออกดอกบานเต็มกิ่งก้านดูขาวโพลนไปทั้งต้น ดอกเชอร์รีพันธุ์นี้ดอกบานก่อนจะแทงใบอ่อนออกมา ตาดอกสีชมพู แต่เมื่อดอกบานจะกลายเป็นสีชมพูอ่อนจนดูเป็นสีขาวทั้งต้น นับเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กที่ทนทานอายุนานเพียง 20 ปี ก็จะทรุดโทรมไป นับว่าช่วงอายุสั้นเมื่อเทียบกับต้นเชอร์รีพันธุ์อื่นๆ ต้นไม้พันธุ์นี้นับเป็นลูกผสมที่เกิดขึ้นเมื่อร้อยปีเศษเท่านั้น กล่าวกันว่ามันเกิดมาจากเชอร์รีลูกผสมต้นเดียวแท้ๆ โดยเกิดในเนิร์สเซอรีในเมืองโซเมย ในเขตนครสุกาโม (โตเกียว) นั่นเอง โตเกียวชุดแรกถูกปลูกในปี ค.ศ. 1872 ในขณะเดียวกับที่กำลังก่อสร้างพิพิธภัณฑ์อิมพีเรียลในเขตนั้น แต่บัดนี้กลายเป็นโฮเต็ลอิมพีเรียลในนครโตเกียวไปแล้ว และทุกวันนี้ต้นโตเกียวเชอร์รีได้ถูกปลูกไปทั่วเมือง งดงามอย่างบอกไม่ถูกยามได้เห็นโตเกียวเชอร์รีบานพร้อมกัน

เชอร์รีหลิว (ชิดาริซากุระ)

เชอร์รีหลิวมีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Prunus pendula หรือ P.itosakura ออกดอกสีขาวหรือชมพูก็ได้ เป็นต้นไม้ที่อายุยืนนานมากทีเดียว บางต้นอายุมากกว่าพันปีด้วยซ้ำ ดูอายุได้จากขนาดเส้นรอบวงลำต้นของมัน 10 เมตรก็มี ต้นที่มีชื่อเสียงมากอยู่ที่ไดโกจิ และสวนสาธารณะมารุยามาในนครเกียวโต นอกจากนี้ ยังควรไปชมทางเดินผ่านทรงพุ่มที่ห้อยย้อยลงมาบริเวณวิหารเก่าในนครเกียวโต ต้นเชอร์รีหลิวอายุมากอีกต้นอยู่ที่มิฮารุ ในฟูกุชิมา ปรีเฟกเจอร์ นักวิชาการบางคนบอกว่าต้นเชอร์รีหลิวบางต้นเกิดจากเชอร์รีชนิดอื่นก็ได้ ตัวอย่างเช่น ชิ ดาริยามาซากุระ เป็นต้น

เมื่อซากุระบาน

 

ฟูจิเชอร์รี (มามิซากุระ)

ชื่อทางพฤกษศาสตร์ของฟูจิเชอร์รีคือ Prunus incise ต้นสูง 35 เมตร เติบโตช้า ดังนี้จึงถูกนำไปจัดบอนไซกันมาก ดอกขนาดเล็ก แต่ดกเกิดเต็มกิ่ง ดอกสีขาว แต่เมื่อยังตูมกลับสีชมพู ใบขนาดเล็กและมีขอบจัก ใบเปลี่ยนเป็นสีแดงส้ม ในฤดูใบไม้ร่วง เราอาจพบฟูจิเชอร์รีได้มากบนลาดภูเขาไฟฟูจิ สมชื่อจริงๆ ครับ

เชอร์รีดอกซ้อน (ซาโตะซากุระ)

เกิดจากพ่อแม่ ที่ไม่ทราบชื่อเป็นลูกผสมข้ามที่เกิดในธรรมชาติ แต่ผลที่ออกมานั้นงดงามเกินคำบรรยาย เชอร์รีเหล่านี้ผ่านการปลูกเลี้ยงผสมพันธุ์ คัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์ จากนั้นจึงนำต้นพันธุ์ดีที่ได้มาเสียบกิ่งเข้ากับต้นตอ ทำกันมากว่าพันปีแล้ว ตัวอย่างเช่น ซาโตะซากุระ เป็นชื่อต้นเชอร์รีพันธุ์ปลูก ซึ่งตรงข้ามกับยามาซากุระ จากป่าเขา เหยซากุระ เป็นพันธุ์ดอกซ้อนและเป็นดวงตราประจำเมืองนารา ซาโตะซากุระนี้ได้ถูกเก็บผสมพันธุ์ ปลูกกันอย่างแพร่หลายโดยโตกุคาวาและเผยแพร่พันธุ์ไปทั่วโลกในยุคของเมจิและความนิยมก็ยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แหล่งปลูกรวบรวมพันธุ์อยู่ทางตอนใต้ของเกาะฮอกไกโด ในบริเวณสวนสาธารณะมัตสุเม ซึ่งมีต้นอยู่ประมาณ 8,000 ต้น และ 250 พันธุ์ ในการนี้ซาโตะซากุระ 3,000 ต้น ถูกปลูกทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำอารากาวาในกรุงโตเกียว สมัยเมจิ แต่สูญหายล้มตายไปจนกระทั่งมีการปลูกใหม่อีก 1,000 ต้น ในระยะหลัง

ซากุระต้องการอากาศหนาวเย็นจัด เพื่อทำลายการพักตัวของตาดอก ดังนั้น แม้จะมีความพยายามปลูกซากุระในเมืองไทย แต่คงเป็นไปได้ยาก เพราะสภาพอากาศที่แปรปรวนและภาวะโลกร้อน ทำให้เราต้องทำใจขึ้นไปดูดอกท้อและนางพญาเสือโคร่งแก้ขัดไปพลางๆ ก่อนละกันครับ