ไผ่พื้นฐานของชีวิต
สำหรับผู้ที่ขึ้นไปเที่ยวบนสถานีเกษตรหลวงดอยอ่างขางนอกจากไม้ดอกไม้ประดับจากเมืองหนาวที่บานสะพรั่งอยู่ทั่วไปแล้ว
โดย ม.ล. จารุพันธ์ ทองแถมไผ่พื้นฐานของชีวิต
สำหรับผู้ที่ขึ้นไปเที่ยวบนสถานีเกษตรหลวงดอยอ่างขางนอกจากไม้ดอกไม้ประดับจากเมืองหนาวที่บานสะพรั่งอยู่ทั่วไปแล้ว หากมองขึ้นไปตามแนวชายป่าและบนดอยสูงใกล้กับสถานีท่านจะได้พบต้นไผ่นานาชนิดที่ขึ้นอยู่จนกล่าวได้ว่ากลมกลืนกับไม้ต้นชนิดอื่นๆ ที่ขึ้นอยู่จนสภาพของดอยหัวโล้นที่เคยเป็นอยู่ในอดีตนั้นหายไปสิ้น
ไผ่นับเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวเช่นเดียวกับหญ้า ซึ่งรวมอยู่ในวงศ์เดียวกัน แต่ไผ่นั้นต่างจากหญ้าตรงที่มีลำต้นแข็ง มีก้านใบเห็นชัดเจน ส่วนต่างๆ ของดอกจำนวน 3 เกือบทุกสกุล กล่าวคือกลีบดอกส่วนมากเท่ากับ 3 (หรือ 2) เกสรตัวผู้มีจำนวน 3 หรือ 6 ผล เป็นจำพวกเนื้อนุ่มเปลือกอ่อนที่เรียกว่าเบอร์รี (berry) หรืออาจเนื้อแข็งเปลือกแข็งซึ่งคล้ายนัต หรือเนื้อแข็งเปลือกแข็ง เช่น เมล็ดข้าวเปลือกแตกต่างกันไปในแต่ละเผ่า
ไผ่มีลักษณะพิเศษต่างไปจากวงศ์หญ้าดังกล่าวมาแล้วเป็นตัวชี้ให้เห็นว่าไผ่มีกำเนิดมาก่อนหญ้า ซึ่งหญ้ามีวิวัฒนาการขึ้นมาภายหลัง นักวิทยาศาสตร์จึงยกฐานะไผ่เป็นพืชวงศ์หนึ่งต่างหากออกไป และให้ชื่อวงศ์ไผ่ว่า Bambusaceae
ต้องยอมรับประการหนึ่งว่าการไปชมพรรณไม้ในสวนพฤกษศาสตร์กรุงเกียวโต ทำให้ได้เห็นการสะสมพันธุ์ไผ่ต่างๆ เอาไว้มากมาย ดังจะนำมากล่าวถึงในบทความตอนนี้
ชาวญี่ปุ่นเห็นว่าไผ่เป็นพืชให้ทั้งอาหารแก่ร่างกายมนุษย์และยังเป็นอาหารทางใจหรือจิตและวิญญาณ ไผ่ให้วัตถุดิบหรือเป็นสื่อสร้างสรรค์งานศิลปะให้วัสดุทางสถาปัตยกรรมให้ผลตอบแทนแก่มนุษย์ทางด้านการเกษตร ไผ่เป็นพืชที่ช่วยจรรโลงสภาพความกินอยู่ดีในประชาชาติอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศจีนและญี่ปุ่นเราได้ประจักษ์ด้วยตาตนเองถึงความยิ่งใหญ่ของไผ่ ทั้งในประโยชน์ด้านการใช้สอยและวัฒนธรรมของชนชาตินี้ แม้ขณะรถไฟวิ่งด้วยความเร็วสูงตัดผ่านนาข้าวและทิวเขาเขียวขจี เรายังทันมองเห็นไผ่ขึ้นเป็นทิวแถวอยู่ที่เชิงเขา จากฝีมือคนปลูกเอาไว้เพื่อตัดเอาเนื้อไม้ใช้สอย
ไผ่เป็นพืชที่มีความสำคัญในสวนแบบญี่ปุ่นและสวนจีน มันให้ความสงบเงียบแก่ท้องถิ่นชนบท และเมื่อนำมาจัดปลูกในสวนหลังบ้านในเมืองใหญ่ มันให้ความรู้สึกของป่าเขาและชนบทที่ไร้ความวุ่นวาย แม้แต่ไผ่ที่เราปลูกเลี้ยงไว้ในกระถางแบบบอนไซจนมีอายุกว่า 30 ปี มันยังคงให้จิตวิญญาณที่ไม่แพ้ต้นไผ่ยักษ์ ซึ่งปลูกลงดินไว้ในสวน
นักพฤกษศาสตร์เห็นว่าด้วยลักษณะโดดเด่นเป็นพิเศษของไผ่นี้เองเขาจึงจัดมันให้อยู่ในวงศ์ของมันเอง ซึ่งแบ่งแยกออกไปอีกถึง 50 สกุล (genera) และ 1,250 ชนิด (species) ในญี่ปุ่นมีไผ่เด่นๆ อยู่ประมาณ 15 ประเภทที่นิยมปลูกกัน ได้แก่ ไผ่ที่มีรากวิ่ง (running bamboo) ซึ่งศัพท์วิชาการเรียกว่า “โมโนโพเดียล” (monopodial) พวกนี้รากจะแตกออกด้านข้างมุดขนานไปกับดิน เรามองไม่เห็นรากเหล่านี้จนกระทั่งมันพุ่งลำต้นขึ้นมาเบื้องบน ดังนั้น พวกนี้จึงเป็นไผ่ลำเดี่ยว ลำขึ้นอยู่ห่างกัน ดูสวยงามดีเวลาปลูกในพื้นที่กว้างขวางเพื่อใช้เป็นสวนป่าไผ่ แต่พวกนี้ต้องควบคุมให้ดี มิฉะนั้นจะแทงรากเข้าไปรุกล้ำนอกพื้นที่เป็นความกับเพื่อนบ้าน กลายเป็น invasive species ไปเสียก็ได้
ไผ่อีกกลุ่มเป็นไผ่กอ (clump forming group) หรือเรียกว่า “ซิมโพเดียล” (sympodial) ก็ได้ พวกนี้ส่วนใหญ่มาจากเขตร้อน เช่น ในป่าเมืองไทย ส่วนใหญ่เป็นไผ่จำพวกนี้ ไผ่กอไม่ทนหนาวจึงปลูกบนยอดดอยสูงไม่ค่อยไหว ไผ่ดังกล่าวในญี่ปุ่น ได้แก่ มาดาเกะ (madake) ลำต้นสูงชะลูด อีกชนิดคือโมโสะ (moso) รวมกันทั้งสองกลุ่มมีปริมาณรวมถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ของไผ่ในญี่ปุ่นทั้งหมด ไผ่ที่มีขนาดเล็กลำต้นเตี้ยเป็นกอคลุมพื้นดินเรียกว่า ซาซ่า (sasa) โดยมากพบทางเหนือ พวกนี้เป็นไผ่แคระปกคลุมพื้นในสวนแทนที่จะเป็นหญ้าสนาม ซาซ่านี้มีสองชนิดหลักคือ ซาซ่าใบเขียวธรรมดาและคูมาซาซา (Kumazasa) ซึ่งมีใบกว้างยาวกว่าและขอบใบสีขาวครีมจำง่าย
ไผ่เป็นพืชที่เจริญเติบโตรวดเร็วมาก การเติบโตของหน่อสูงถึง 47 ฟุต 6 นิ้ว ภายในเวลา 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ จากการวัดการเจริญเติบโตในสวนที่เมืองเกียวโต
ที่น่าแปลกคือแม้ไผ่ขนาดใหญ่จะมีลักษณะคล้ายไม้ยืนต้น แต่อย่าลืมทีเดียวว่ามันเป็นเพียงพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ดังนั้น มันจึงไม่มีวงปี (annual rings) ที่ส่วนลำต้นซึ่งเรียกกันว่า ลำ (culms) ส่วนลำไม้ไผ่นั้นเรานิยมใช้กับลำแห้ง ส่วนหน่อไม้เรียกกันว่า “ทาเกะโนโกะ” (takenoko) หรือแปลว่าไผ่ที่เป็นเด็กทารกจะถูกหุ้มด้วยกาบ กาบแต่ละกาบจะติดกับข้อ ซึ่งกาบหุ้มหน่อนี้จะหลุดร่วงไปเมื่อลำมีอายุมากขึ้น แต่กาบนี้อาจใช้ห่ออาหารและมุงหลังคาก็ได้