posttoday

พฤกษชาติงดงามบนดอยปุย

27 ตุลาคม 2556

หลายคนพอเอ่ยถึงดอยปุยมักนึกถึงม้งหรือแม้วดอยปุย เพราะชาวเขากลุ่มนี้ตั้งรกรากเป็นหมู่บ้านอยู่บนดอยสูงเหนือดอยสุเทพมานานจนรู้ว่าพวกนี้มีหมู่บ้านอยู่ที่ช่างเคี่ยน

โดย...ม.ล.จารุพันธ์ ทองแถม

หลายคนพอเอ่ยถึงดอยปุยมักนึกถึงม้งหรือแม้วดอยปุย เพราะชาวเขากลุ่มนี้ตั้งรกรากเป็นหมู่บ้านอยู่บนดอยสูงเหนือดอยสุเทพมานานจนรู้ว่าพวกนี้มีหมู่บ้านอยู่ที่ช่างเคี่ยน หมู่บ้านเหล่านี้อยู่ในระดับความสูงราว 1,000-1,200 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง เนื่องจากอยู่บนภูเขาระดับสูงดังกล่าว ประกอบกับอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติสุเทพปุย จึงมีสภาพป่าไม้หลงเหลืออยู่เป็นเทือกเหนือตัวเมืองเชียงใหม่ เป็นเสมือนปอดใหญ่ให้ออกซิเจนแก่ผู้คนจำนวนมหาศาลที่อาศัยอยู่เบื้องล่าง ป่าไม้บนดอยสุเทพปุย ยังคงมีพืชพรรณไม้ที่คงความหลากหลายไม่แพ้อุทยานแห่งใดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม้ยืนต้นที่โดดเด่นเป็นหลักคง ได้แก่ สนสองใบ สนสามใบ (Pinus spp.) ต้นยางปาย (Dipterocarpus Costatus) ต้นไม้ในสกุลก่อ (Quercus, Castanopsis) พันธุ์ไม้ที่พบเห็นได้บนสถานีวิจัยดอยปุยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีหลายสกุลหลายชนิดที่เป็นทั้งไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม และไม้ดอกไม้ประดับอีกมากมายหลายชนิด ทั้งที่มีถิ่นกำเนิดในเมืองไทยและหลายชนิดถูกนำเข้ามาจากต่างประเทศและนำมาปลูกไว้เพื่อประดับและตกแต่งสถานที่ หลายชนิดถูกปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจ เช่น ไม้ผลเขตกึ่งร้อน เช่น ลิ้นจี่พันธุ์ต่างๆ พลับ (Persimmon) อะโวคาโด ไม้ยืนต้นที่โดดเด่น เช่น ยูคาลิปตัสชนิดหนึ่ง จากอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย คือ ยูคาลิปตัสสายรุ้ง (Rainbow Eucalyptus) E.deglupta ซึ่งเป็นไม้ยืนต้นที่มีอัตราการเจริญเติบโตทั้งในด้านความกว้างของลำต้นและความสูงของลำต้นสูงที่สุดชนิดหนึ่ง สถานีวิจัยดอยปุยเป็นแหล่งปลูกของไผ่ต่างประเทศ เช่น ไผ่ดำญี่ปุ่น (Phyllostachys nigra) ไผ่เหลี่ยม (Phyllostachys sp.) ซึ่งทั้งสองชนิดนี้จัดเป็น Monopodial คือมีลำต้นทอดเอนขนานไปกับพื้นดินแตกต่างจากไผ่กอ (Sympodial) ไผ่ตง ไผ่รวก หรือไผ่เลี้ยงในเมืองไทย ทั้งไผ่ดำและไผ่เหลี่ยมนี้แสดงลักษณะสวยงามเด่นออกมาได้จำเป็นต้องได้รับอากาศหนาวเย็นเท่านั้น หลายคนนำไผ่ดำลงไปปลูกในกรุงเทพฯ เพียงแต่พบว่าลำ (Culm) กลับมีสีเขียวไม่ดำสนิทและไผ่เหลี่ยมจะไม่สร้างลำสี่เหลี่ยมให้เห็นหากปลูกเลี้ยงในพื้นที่ราบอากาศร้อน ไผ่พื้นบ้านชนิดหนึ่งซึ่งมีขนาดของลำใหญ่ชูลำขึ้นสูงและเป็นไม้ไผ่ที่ชาวบ้านและชาวเขานิยมปลูกกันตามหมู่บ้าน เพื่อตัดใช้เนื้อไม้ในงานก่อสร้างและงานหัตถกรรม รวมทั้งบริโภคหน่อไม้อีกด้วย

พฤกษชาติงดงามบนดอยปุย

พันธุ์ไม้ต่างถิ่นที่นำเข้ามาปลูก เพื่อประดับตกแต่งสถานที่และมีความเหมาะสมสำหรับสภาพอากาศเฉพาะถิ่น (Micro Climate) ของดอยปุยก็คือ พันธุ์ไม้ในสกุลคำดอย ซึ่งออกดอกพรูในเดือนสุดท้ายของฤดูฝน คือเดือน ต.ค. และจะออกดอกพรูต่อเนื่องไปจนถึงเดือน พ.ย. และ ธ.ค. อาเซเลียนี้แม้จะเป็นพืชนำเข้าจากยูนนาน จีนตอนใต้และญี่ปุ่น แต่อาเซเลียก็คือโรโดเดนดรอน (Rhododendron) ซึ่งหลายชนิด (Species) ถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตประเทศไทย พืชสกุลนี้ชนิดหนึ่งถิ่นกำเนิดอยู่บนดอยอินทนนท์ในพื้นที่ระดับสูงประมาณ 1,400 เมตรขึ้นไป นั่นคือคำแดง (Rhododendron Arboreum) ซึ่งเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ที่ความสวยงามของดอกจนกลายเป็นไม้ต้นประจำชาติของเนปาล ซึ่งคำแดงหรือคำดอยนี้กระจายพันธุ์อยู่ในเทือกเขาหิมาลัยลงไปสู่จีนพม่า และไทย

เฟินเป็นพันธุ์พืชอีกกลุ่มซึ่งมีการรวบรวมพันธุ์เพาะเลี้ยงขยายปริมาณ โดยการเพาะสปอร์และจำหน่ายให้เกษตรกรนำไปปลูกเลี้ยงต่อ เพื่อใช้เป็นไม้ประดับกระถางตกแต่งในอาคารสถานที่ โดยโครงการหลวงได้ร่วมกับภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดตั้งโครงการเฟินเศรษฐกิจขึ้นภายในสถานีวิจัยดอยปุย จ.เชียงใหม่ ปัจจุบันมีเฟินประเทศไทยและเฟินต่างประเทศจำนวนนับร้อยชนิดถูกขยายพันธุ์เพิ่มปริมาณอย่างต่อเนื่อง เพื่อใช้ในงานด้านการประดับและเป็นวัตถุดิบในการสกัดแยกสารอัลกาลอยด์และอื่น

ดอยปุยจึงเป็นพื้นที่ทดลองวิจัยพืชกึ่งเขตร้อนที่มีศักยภาพสูงของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เนื่องจากมีการคมนาคมสะดวกและมีพื้นที่กว้างขวาง อีกทั้งมีอาคารสถานที่รองรับนิสิต นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ขึ้นไปฝึกงานหาประสบการณ์ในสาขาวิชาต่างๆ เช่น การเพาะเห็ด ที่ต้องการอุณหภูมิต่ำ การศึกษาวิจัยไม้ผลขนาดเล็ก เช่น สตรอเบอร์รี ไม้ผลเขตหนาวอื่นๆ รวมทั้งพืชผักเขตหนาว

พันธุ์ไม้บนถิ่นดอยสุเทพปุย อีกประเภทที่ตกอยู่ในบัญชีพืชหวงห้ามส่งออกของไซเตสและยังพบได้ในเทือกเขาสุเทพปุยนี้คือ เฟินต้น (Tree Ferns) หลายชนิด ซึ่งอยู่ในสกุล Cyathea เฟินต้นเหล่านี้ถูกกิจกรรมของมนุษย์เข้าไปรุกล้ำ จนเหลืออีกในสภาพป่าไม่มากนัก จึงเป็นเป้าหมายถึงโครงการเฟินเศรษฐกิจบนดอยปุย ได้ทำการปลูกรวบรวมพันธุ์ อนุรักษ์ต้นอ่อน หรือสปอร์โรไฟต์ (Sporophytes) ซึ่งได้จากการเพาะสปอร์นำมาปลูกเลี้ยงจนกลายเป็นต้นสูงใหญ่ขึ้นอยู่ทั่วไปในเขตโครงการฯ อย่างไรก็ตาม การศึกษาวิจัยยังต้องทำต่อไป เพื่อหาความลับในการเพาะสปอร์เฟินต้นบางชนิดที่ยังไม่สามารถเพราะสปอร์ให้สำเร็จ

จากที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด จึงเห็นได้ว่าเมื่อขับรถขึ้นไปท่องเที่ยวบนดอยสุเทพแล้วก็ควรขับรถขึ้นไปชมพืชพรรณไม้บนดอยปุยก็จะครบถ้วนกระบวนความ

พฤกษชาติงดงามบนดอยปุย