‘หนังเคล้าน้อย’ โรจนเมธากุล ผู้สืบวิญญาณหนังตะลุง
“หนังตะลุง หนังตะลุงเมืองปักษ์ใต้ เอาหนังควายมาระบายด้วยพู่กัน ใช้วาทศิลป์กับศิลปะรวมกัน เชิดชูสร้างสรรค์วัฒนธรรมสดใส...”
โดย...กองบรรณาธิการ
“หนังตะลุง หนังตะลุงเมืองปักษ์ใต้ เอาหนังควายมาระบายด้วยพู่กัน ใช้วาทศิลป์กับศิลปะรวมกัน เชิดชูสร้างสรรค์วัฒนธรรมสดใส...”
เสียงเพลงที่ชื่อว่า “หนังตะลุง” ของวง “ฌามา” เพลงนี้ดังขึ้นคราใดก็ชวนให้คิดถึงและอยากหวนกลับไปนอนดูหนังตะลุงหน้าโรงอีกสักครั้ง ใครมีโอกาสเดินทางล่องลงใต้ทุกวันนี้ หากอยากดูหนังตะลุงสักคืน สอบถามเอาจากปากชาวบ้านร้านตลาดคงพบได้ไม่ยาก ว่าคืนนี้นายหนังดังมาตั้งโรงเล่นที่ไหนบ้าง
แต่หากฟังคนรุ่นเก่าๆ เล่า หนังตะลุงในวันนี้ก็เทียบไม่ได้กับสมัยเมื่อ 3040 ปีก่อน ทั้งวิถีการเล่น วิถีการชม สมัยก่อนหนังตะลุงเป็นเครื่องบันเทิงยามค่ำคืนเพียงไม่กี่ชนิดที่ชาวบ้านเข้าถึง เพราะตอนนั้นโทรทัศน์ยังไม่แพร่หลาย หนังจะเล่นตั้งแต่ค่ำไปจนฟ้าสางเหลือคนดูหน้าโรงอยู่สองสามคน เนื้อเรื่องที่เล่นก็จะประยุกต์มาจากนิทานพื้นบ้านหรือวรรณคดี เช่น รามเกียรติ์ และเล่นตามขนบโบราณ คือ ให้ความสำคัญกับการว่าบทว่ากลอน และเล่นให้ครบเรื่อง คือรู้เรื่อง แต่สมัยหลังๆ มาหนังตะลุงก็ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเล่นมาเป็นลักษณะที่คล้ายๆ กับการ “ทอล์กโชว์” มากขึ้น เพื่อให้ถูกใจผู้ชมสมัยใหม่และดึงดูดคนดูไว้ได้
นายหนังรุ่นเก่าๆ ที่แก่ตัวลงก็เล่นไม่ไหวเสียแล้ว ขณะที่นายหนังรุ่นใหม่ต่างแสวงหาวิธีปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด แล้วศิลปะการแสดงพื้นบ้านชนิดนี้จะยังคงอยู่ต่อไปได้อีกนานแค่ไหนนั้น เราพบว่า ณ ปักษ์ใต้ชายฝั่งอันดามัน จ.กระบี่ นั้น ยังมีนายหนังตะลุงเก่าคนหนึ่งทำงานที่ตนถนัดอยู่เช่นเคย
“นายหนังเคล้าน้อย โรจนเมธากุล” อดีตนายหนังใหญ่แห่งภาคใต้ที่ได้ชื่อว่าเป็น “หนังตะลุงชั้นครู” เป็นอีกคนหนึ่งที่กำลังทำงานสืบทอดศิลปะการแสดงพื้นบ้านหนังตะลุงมาอย่างต่อเนื่อง
หนังเคล้าน้อย เป็นนายหนังคนล่าสุดเป็นลำดับที่ 7 จากแดนด้ามขวาน ที่ได้เชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หนังตะลุง) ปี 2555 วันนี้ในวัยที่แก่ตัวลงด้วยอายุ 71 ปี แม้ไม่สามารถเดินสายเล่นหนังตะลุงเป็นอาชีพมากว่าสิบปีแล้ว แต่ก็ได้ผันตัวเองมาเป็นครูภูมิปัญญา เพื่อถ่ายทอดศิลปะ “หนังเงา” ชนิดนี้ให้คนรุ่นหลังสืบทอดต่อไปตราบเท่าที่ยังทำได้
“เรื่องการสืบทอดนี้ จริงๆ ผมทำมานานแล้ว คือ ทำมาเรื่อยๆ ตั้งแต่สมัยที่ยังโด่งดังมีชื่อเสียง ผู้คนยอมรับ ก็มีผู้เข้ามาสมัครเป็นลูกศิษย์ลูกหาจำนวนมาก” หนังเคล้าน้อย เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นงานถ่ายทอดภูมิปัญญา ก่อนจะเอ่ยชื่อคณะหนังตะลุงชื่อดังที่ทำให้พอร้องอ๋อได้บ้างว่าเป็นศิษย์หนังเคล้าน้อยนี่เอง อาทิ หนังเอียดนุ้ย ศ.เคล้าน้อย หนังสามารถ ศ.เคล้าน้อย และอีกหนึ่งนายหนังที่น่าทึ่ง คือ หนังน้องเดียว ลูกทุ่งวัฒนธรรม นายหนังหนุ่มตาบอดทั้งสองข้างแต่สามารถเล่นหนังตะลุงได้ดีเหมือนคนปกติ เพราะมีใจรักและได้รับการฝึกหัดที่ดี
“อย่างหนังน้องเดียวนี่ก็ลูกศิษย์ผม ถือว่าเป็นศิษย์รุ่นหลังๆ ล่าสุดที่เล่นหนังตะลุงจนมีชื่อเสียงโด่งดัง เมื่อก่อนเขาเป็นคนที่ถือว่าด้อยโอกาสในสังคมนะ เพราะพิการตาบอด แต่อยากเล่นหนังตะลุง มีใจรัก ผมเห็นว่าถ้ามีใจรักเเล้วมันฝึกไม่ยาก แล้วพอเขาเล่นหนังเป็นมันก็เอาไปเป็นอาชีพได้ เขาก็เลี้ยงตัวเองได้ ไม่เป็นคนพิการที่เป็นภาระของสังคม นี่คือสิ่งที่ผมต้องการทำ คือ นำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นไปช่วยให้คนด้อยโอกาสใช้ทำมาหากินได้ ถือว่าสำเร็จเเล้ว” หนังเคล้าน้อย เล่าอย่างภาคภูมิใจพร้อมเสริมว่า เดี๋ยวนี้หนังน้องเดียวตาบอดโด่งดังมาก ใครจะรับไปเเสดงต้องจองกันข้ามปี ขึ้นโรงเล่นหนังเเต่ละทีก็มีคนดูไม่ต่ำกว่า 1,000-2,000 คน
หนังเคล้าน้อยนั้นมีคู่ชีวิต คือ “มโนราห์ฉลวย ประดิษฐ์ศิลป์” อดีตมโนราห์ชื่อดังของภาคใต้ (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้วเมื่อ 3 ปีก่อน) ก่อนหน้านั้นหนังเคล้าน้อยกับผู้เป็นคู่ชีวิตได้ใช้บ้านของตัวเองเป็นที่ฝึกสอนหนังตะลุงและมโนราห์ให้แก่ผู้สนใจและคนในละแวกใกล้เคียงจนมีลูกศิษย์ลูกหาจำนวนหนึ่ง
ต่อมาเมื่อปี 2555 หนังเคล้าน้อยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน (สสค.) โดยได้รับทุนครูสอนดีประจำ จ.กระบี่ จึงได้โอกาสทำการปรับปรุงบ้านให้กลายมาเป็นที่ตั้งโครงการ “แหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านปักษ์ใต้” ด้วยความคิดมุ่งเน้นถ่ายทอดศิลปะการแสดงหนังตะลุงให้แก่เยาวชนเป็นหลัก เพราะมองว่าศิลปะการแสดงพื้นบ้านควรฝึกหัดตั้งแต่เยาวชนจึงจะได้ผลดี สามารถสืบทอดต่อไปได้อีกยาวนาน อีกทั้งมองว่าศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นจะสูญหายแน่ ถ้า “คนรุ่นใหม่ไม่สนใจ คนรุ่นเก่าไม่ถ่ายทอด”
โดยที่บ้านแห่งนี้หนังเคล้าน้อยจะอยู่ฝึกหัดหนังตะลุงให้กับเด็กเยาวชนที่สนใจทุกวันเสาร์อาทิตย์ ปัจจุบันฝึกสอนให้เด็กราว 34 คน ช่วงอายุตั้งแต่ 12-18 ปี เพราะการฝึกหัดหนังตะลุงนั้น จะได้ผลดี ครูกับศิษย์ต้องถ่ายทอดเรียนรู้กันตัวต่อตัว แต่ละคนก็มีพัฒนาการไปตามความสามารถลดหลั่นกันไป
สำหรับการแสดงหนังตะลุงนั้น ถือกันว่านายหนังเป็นอัจฉริยบุคคลทีเดียว เพราะในการแสดง มือต้องเชิดรูป ปากต้องว่าบท พากษ์เสียงตัวหนัง (ตัวละคร) เปลี่ยนไปมา ความรู้ ปฏิภาณไหวพริบก็ต้องมี จะดำเนินเรื่องได้ราบรื่นไม่ติดขัด เป็นที่ถูกอกถูกใจผู้ชมตลอดการแสดง ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดงหนังตะลุงจึงบอกว่า การจะฝึกใครสักคนให้เล่นหนังตะลุงได้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย
“คือผมคิดว่าพรสวรรค์นั้นเรื่องใหญ่ ถ้าคนมีพรสวรรค์ ไม่มีอะไรยาก ไม่ใช่ว่าคิดจะเล่นหนังตะลุง คิดจะเล่นมโนราห์ แล้วเล่นได้ ไม่ได้ มันต้องมีพรสวรรค์ หนึ่งใจชอบ สองอยากเล่น อยากทำ อยากแสดงออก บางคนอยากทำอยากเล่นอยากแสดงออก แต่พอแสดงออกแล้ว มันไม่ได้ดี ก็ถือว่าต้องมีพรสวรรค์ชั้นยอดถึงจะทำได้ดี เพราะมันต่างกัน ระหว่างเล่นหนังได้ เล่นเป็น กับเล่นเป็นจนมีชื่อเสียง ถ้าคนมีพรสวรรค์นี่จะไปถึงระดับมีชื่อเสียงได้มากกว่า” หนังเคล้าน้อย ย้ำถึงประเด็นนี้ด้วยเหตุว่าตนเองนั้นก็ถือว่าเป็นผู้มีพรสวรรค์คนหนึ่ง เพราะมี “เลือดเนื้อเชื้อไข” หนังตะลุงมาตั้งแต่รุ่นปู่และรุ่นพ่อ
“อย่างผมนี้ ไม่เห็นยากเลย ผมไม่ได้ฝึกเลย ผมนึกอยากจะเล่นหนังตะลุง ผมก็เล่นได้ เพราะมันมีมาแล้วในตัว คุณปู่ก็เป็นนายหนังตะลุง มาคุณพ่อก็เล่นจนตาย เล่นจนแก่จนตาย ผมก็สายเลือดตรงนี้ มันซึมซับ เล่นจนแก่ 70 แหละ ลูกไม่เอานะ แต่หลานต่อ” หนังเคล้าน้อย เปิดเผย จึงทำให้พบกับเรื่องที่น่าทึ่งว่า การเล่นหนังตะลุงที่ว่ายากนักหนานั้น วันนี้มีเด็กอายุเพียง 9 ขวบ เล่นได้และได้ดีเสียด้วย
“ด.ช.สิงหา” ที่วันนี้ใครๆ เริ่มจะเรียกว่า “หนังสิงหา หลานเคล้าน้อย” เป็นเลือดเนื้อเชื้อไข หลาน (ตา) ของหนังเคล้าน้อย ชอบดูหนังตะลุงตั้งแต่เริ่มเดินได้ พอพูดได้ก็ชอบว่าเลียนเสียงตามหนังที่ดู ผู้เป็นตาเห็นว่ามีแววสืบทอดศิลปะการแสดงต่อจากตนเองได้ จึงค่อยๆ ฝึกหัดการขับกลอน การเชิดรูป การเล่าเรื่อง จน ด.ช.สิงหา สามารถพากย์เสียงตัวละครต่างๆ ได้ด้วยตนเอง เป็น “นายหนัง” เล่นหนังได้ไม่แพ้ผู้ใหญ่เลยทีเดียว และทุกวันนี้ก็เริ่มมีชื่อเสียงแถบ จ.นครศรีธรรมราช ว่าเป็นหนังตะลุงเด็กน้อย เริ่มมีผู้ว่าจ้างเชิญไปแสดง สร้างรายได้ให้ตนเองและครอบครัวได้อย่างน่าทึ่งด้วยวัยเพียง 9 ขวบ
ท่ามกลางสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป สื่อหลากหลายชนิดมาดึงดูดความสนใจ แน่นอนว่าผู้คนไม่นิยมดูหนังตะลุงกันค่อนคืนเหมือนเมื่อครั้งอดีตอีกต่อไปแล้ว หนังเคล้าน้อย ระบุถึงเรื่องนี้ว่า ที่เห็นได้ชัด คือ คนดูก็ลดลง แล้วก็ชื่อเสียงหนังตะลุง คนไม่ค่อยกล่าวขวัญถึงเท่าไหร่ ยิ่งมาถึงยุคนี้ ชักจะน้อยมาก
“แต่ไอ้หนังตะลุงที่เก่งๆ ไอ้คนเก่งๆ มันไม่หมด เขาเรียกว่ากรุงศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดี นายหนังมันมีความพยายามในการพัฒนาการเล่นการแสดงให้ทันกับเหตุการณ์สมัยใหม่ ถ้าถูกใจ คนก็เฮมาดูอีก สิ่งที่เปลี่ยนไปจากยุคสมัยผม คือ หนังตะลุงเดี๋ยวนี้เขาจะตลกแบบทอล์กโชว์ แต่ใช้มุขไม่เหมือนพวกนั้น เราใช้มุขคนใต้ แต่แนวเล่นคล้ายๆ กัน คือ พยายามเอาตลกดึงคนดูไว้ ตั้งกระทู้ไว้ ว่ากันไปแก้กันไป เดี๋ยวนี้มันเก่งกันแบบนี้”
เมื่อถามถึงอนาคตต่อไปของหนังตะลุง ศิลปินแห่งชาติมองว่ามันจะยังคงอยู่ไปเรื่อยๆ อยู่คู่กับปักษ์ใต้ไปตลอด ไม่มีวันตาย “ด้วยเหตุอะไรที่ไม่มีวันตาย ก็เด็กรุ่นนี้มันเล่น ผมยกตัวอย่าง ผมไม่ใช่จะโจมตี เด็กรุ่นนี้เข้าวัดไหม ผมกลัววัดจะหมดก่อน ถ้าผมไม่สืบทอดไม่ต่อยอด ถ้าทุกคนงอมืองอเท้า พวกโนรา นายหนังตะลุงทั้งปักษ์ใต้ ไม่คิดต่อยอด อันนี้หมดแน่ มันมี 2 ประเด็น หนึ่งคนรุ่นก่อนไม่ต่อยอด สองเด็กรุ่นนี้ไม่สนใจ”
“...อย่างหนังเอียดนุ้ย ลูกศิษย์ผมก็ไปขยายมีลูกศิษย์เกือบ 20 กว่าคนแล้ว ผมสอนทุกคนว่า พวกนายทำได้ แล้วต้องสอนคนอื่นต่อนะ พูดถึงตอนนี้ พวกนายหนังตะลุงยังเต็มบ้านเต็มเมืองอยู่เหมือนเดิม เว้นแต่ว่าคนดูมันลดลงไปบ้าง ทีนี้กว่าจะดึงเด็กแต่ละกลุ่มมาอยู่ตรงนี้ เราก็ดึงยาก หนักใจเหมือนกัน แต่ถ้าเด็กหันมาเล่นหนังตะลุง มาเล่นมโนราห์แล้ว ร้านเกมมันไม่ไป ผมภูมิใจตรงนี้”
“แรกๆ ผมสอนให้พากย์รูปก่อน เชิดรูปก่อน ให้รู้ว่ารูปตัวนี้มันเชิดอย่างไร และแสดงท่าทางของรูป เช่น ตอนรูปตัวนี้มันต้องโกรธเชิดอย่างไร รูปร้องไห้เชิดอย่างไร มันสำคัญ รูปที่เชิดกับปากที่พากย์ออกไป มันต้องใกล้เคียงกัน หนังตะลุงเขาดูตรงนี้ มีตัวละครตัวหนึ่งโกรธ อีกตัวหนึ่งขำ อีกตัวร้องไห้ในเวลาพร้อมกัน เขาเรียกว่าสลับอารมณ์ นายหนังต้องเป็นคนช่างสลับ คือ พูดกันตรงๆ นะ มันต้องสวมวิญญาณให้แก่ตัวละคร นายหนังคนเดียว เวลาร้องไห้ก็ต้องสวมบทร้องไห้ให้มัน โกรธก็ต้องสวมวิญญาณโกรธให้ หัวเราะเราก็ต้องคึกคะนอง เราต้องขำอยู่ในจิตใจ คือ รูปหนังตะลุงทุกตัวต้องสวมวิญญาณให้ จะได้ดี
หนังตะลุงจะไม่มีวันหายไปจากแผ่นดินไทย นี่คือปฏิญาณของหนังเคล้าน้อย...