ดื่มกาแฟดื่มประวัติศาสตร์
หลายอาทิตย์ที่ผ่านมา กาแฟรอบเช้ามาพร้อมข่าวน่าสะเทือนใจอยู่หลายเรื่อง ข่าวปราสาทพระวิหาร ข่าวม็อบต้าน พ.ร.บ.นิรโทษรรม ยังมีข่าวฆาตกรรมอดีตนักกีฬายิงปืนทีมชาติไทย นี่ยังไม่รวมความรันทดหดหู่ใจเพราะสงสารไอ้วัน ลูกนังลำยองจากละครหลังข่าวภาคค่ำอีกนะ แหมบรรยากาศใกล้สิ้นปี ปีนี้ไม่รู้จะอึมครึมไปถึงไหน
หลายอาทิตย์ที่ผ่านมา กาแฟรอบเช้ามาพร้อมข่าวน่าสะเทือนใจอยู่หลายเรื่อง ข่าวปราสาทพระวิหาร ข่าวม็อบต้าน พ.ร.บ.นิรโทษรรม ยังมีข่าวฆาตกรรมอดีตนักกีฬายิงปืนทีมชาติไทย นี่ยังไม่รวมความรันทดหดหู่ใจเพราะสงสารไอ้วัน ลูกนังลำยองจากละครหลังข่าวภาคค่ำอีกนะ แหมบรรยากาศใกล้สิ้นปี ปีนี้ไม่รู้จะอึมครึมไปถึงไหน
ช่วงนี้เลยชอบพกหนังสือเป็นยาบำบัดอารมณ์ เล่มล่าสุด “ประวัติศาสตร์โลกใน 6 แก้ว” หนังสือแปลจาก “History of The World in 6 Glasses” ผลงานของ “ทอม สแตนเดจ” นักสะสมประวัติศาสตร์ผู้เรียงร้อยเรื่องราวแล้วถ่ายย่อยออกมาเป็นตัวอักษรได้อย่างโคตรสนุก
เบียร์ ไวน์ เหล้า ชา โคลา และกาแฟ
6 เครื่องดื่มทรงอิทธิพลที่สุดของโลกกับพัฒนาการของประวัติศาสตร์ ไล่เรียงมาตั้งแต่ยุคต้นอารยธรรมที่มนุษย์เราเริ่มค้นพบรสชาติของธัญพืชหมัก ใครจะไปเชื่อว่า “เบียร์” ในวันนี้ พัฒนามาจากโจ๊กบูดในวันนั้น เครื่องดื่มแห่งอารยะอย่าง “ไวน์” ในยุคถัดมา ก็มีต้นกำเนิดจากน้ำองุ่นที่บูดกับยีสต์ธรรมชาติที่เกาะอยู่ตามผิวองุ่น ยีสต์นี่แหละกลายเป็นตัวเปลี่ยนน้ำตาลในน้ำผลไม้ให้เป็นแอลกอฮอล์ มากไปกว่าเป็นแค่เครื่องดื่ม ไวน์ยังมีความหมายยิ่งต่อเสถียรภาพทางการเมือง การค้า และศาสนาในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษ กระทั่งเราเริ่มรู้จักการผลิตแอลกอฮอล์ที่ได้จากการกลั่น “เหล้า” ก็มีบทบาทสำคัญในการปลดปล่อยอเมริกาจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษ
ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน “กาแฟ” จากกำเนิดในโลกอาหรับเดินทางข้ามฝั่งซีกโลกมากลายเป็นเครื่องดื่มสำคัญในการปฏิวัติฝรั่งเศสและที่ประเทศจีนดินแดนตะวันออก ขณะที่ “ชา” กำลังส่งกลิ่นหอมอันลึกลับ ทำให้ทั้งโลกต้องสะเทือนจากผลพวงสงครามฝิ่น ท้ายสุดที่ “โคลา” เครื่องหมายแห่งเสรีและอเมริกันชนที่แผ่ขยายอิทธิพลสู่ดินแดนทุกส่วนของโลก
อ่านเพลิน บอกเลย ฟินทุกตอน... โดยเฉพาะตอนที่เกี่ยวข้องกับกาแฟนี่ยิ่งอินเป็นพิเศษ ก็ตามประสาคนทำงานในร้านกาแฟนั่นแหละ
เริ่มเรื่องกันที่ ทอม สแตนเดจ มองว่า กาแฟเป็นตัวจุดความสว่างทางปัญญา ก็ตั้งแต่กาแฟแพร่สู่ยุโรปในศตวรรษที่ 17 ทำให้ “เบียร์อ่อน” ซึ่งเป็นเครื่องดื่มยามเช้าที่แพร่หลายที่สุดขณะนั้นถูกลดบทบาทลง ผู้ที่ดื่มกาแฟเริ่มต้นวันจะกระตือรือร้น สดชื่นกระปรี้กระเปร่า ไม่เฉื่อยชาหรือเมาค้าง ทั้งยังทำงานได้มากและดีกว่าเดิม ผู้คนจึงมักจะมองว่ากาแฟคือสิ่งที่ตรงข้ามกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เสริมสติแทนที่จะทำให้เมา
สรรพคุณสร้างความกระปรี้กระเปร่านั้นเป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้วในโลกอาหรับ มีตำนานการค้นพบกาแฟอยู่หลายเรื่อง สแตนเดจขุดความจริงออกมาจากตำนานจนได้ข้อมูลที่น่าเชื่อว่า กาแฟแพร่หลายอยู่ในเยเมนตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 15 แม้ว่าอาจจะมีผู้นำเมล็ดกาแฟมาเคี้ยวเพื่อกระตุ้นร่างกายมาก่อนหน้านั้น ทว่าการปรุงมันเป็นเครื่องดื่มก็น่าจะเป็นการคิดค้นของชาวเยเมนโดยเฉพาะ “มูฮัมหมัด อัล ดับบานี” ปราชญ์และสมาชิกผู้นับถือศาสนาอิสลามนิกายซูฟี
มีหลักฐานชัดเจนว่าในสมัยนั้น กาแฟหรือที่ชาวอาหรับเรียกว่า “กาห์วาห์” (Qahwah) เป็นเครื่องดื่มที่ชาวซูฟีดื่มเพื่อขจัดความง่วงระหว่างพิธีกรรมในยามค่ำคืน
กาแฟแพร่ไปทั่วโลกอาหรับ ไปถึงนครเมกกะและไคโรในปี 1510 จากเครื่องดื่มทางศาสนาขยายวงสู่การเป็นเครื่องดื่มทางสังคมที่มีวางขายตาม ท้องถนน ในตลาดตามจัตุรัสเริ่มมีร้านที่เปิดขายกาแฟโดยเฉพาะ เพราะชาวมุสลิมเริ่มหันมาดื่มกาแฟเนื่องจากเป็นทางเลือกแทนเครื่องดื่มอื่นๆ ที่ผิดหลักศาสนา ขณะที่ร้านกาแฟเริ่มเป็นที่ปรากฏตัวของผู้คนต่างๆ ในสังคม
แต่ก็นั่นแหละ กาแฟไม่ได้บินข้ามพรมแดนทางวัฒนธรรม จากโลกอาหรับสู่ยุโรปได้ง่ายดายซะทีเดียว
ช่วงต้นศตวรรษที่ 17 ก่อนหน้าที่พระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 8 จะสิ้นพระชนม์ พระองค์เป็นผู้กำหนดสถานภาพของกาแฟ เพราะในสมัยนั้นชาวยุโรปส่วนมากยังไม่รู้จักกาแฟ เว้นแต่ในหมู่นักพฤษศาสตร์และแพทย์ ฝ่ายต่อต้านมองว่ากาแฟเป็นสิ่งเสื่อมทราม พวกเขาเชื่อว่าปีศาจร้ายลงทัณฑ์ชาวมุสลิมผู้ไม่สามารถดื่มไวน์อันเป็นเครื่องดื่มศักดิ์สิทธิ์ของชาวคริสต์ได้ จึงต้องหันไปดื่มกาแฟแทน กระทั่งพระสันตะปาปาเป็นผู้พิพากษากาแฟ โดยลิ้มลองรสเครื่องดื่มดำนี้ ว่ากันว่าพระองค์พอใจกับรสชาติและความหอมหวนจนอนุญาตให้ชาวคริสต์ดื่มกาแฟได้โดยไม่ ผิดกฎหมาย
ภายในครึ่งศตวรรษ เครื่องดื่มจากแดนไกลได้เข้ามาใกล้ชิดวิถีชิวิตของชาวยุโรปตะวันตก มีการเปิดร้านกาแฟในอังกฤษในทศวรรษที่ 1650 ในอัมสเตอร์ดัมและเฮกในทศวรรษที่ 1660