posttoday

เที่ยวหาแรงบันดาลใจ ‘ดอยตุง’

30 พฤศจิกายน 2556

มาเที่ยวดอยตุงแล้วจะได้สามอย่าง คือ ร่างกายดี อารมณ์ดี และความคิดดี คุณหญิงพวงร้อย ดิศกุล ณ อยุธยา

โดย...กาญจน์ อายุ

มาเที่ยวดอยตุงแล้วจะได้สามอย่าง คือ ร่างกายดี อารมณ์ดี และความคิดดี คุณหญิงพวงร้อย ดิศกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาดอยตุงฯ กล่าวไว้

ร่างกายดี เพราะบนดอยตุงมีอากาศบริสุทธิ์ และมีอาหารปลอดสารพิษให้รับประทาน อารมณ์ดี เพราะมองไปทางไหนก็เพลินตา แต่สำหรับความคิดดีไม่ได้มาง่ายๆ เพราะต้องคิด ต้องถาม และจะเข้าใจ

บนดอยตุงเป็นที่ตั้งของโครงการพัฒนาดอยตุงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ซึ่งโครงการนี้ได้ดำเนินงานธุรกิจเพื่อสังคมภายใต้แบรนด์ “ดอยตุง” แบ่งเป็น 4 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ หัตถกรรม อาหารแปรรูป การเกษตร และการท่องเที่ยว แต่กลุ่มสุดท้ายการท่องเที่ยว มันสามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสามกลุ่มแรกได้

ยกตัวอย่าง กลุ่มหัตถกรรมที่มีศูนย์ผลิตสินค้าทำมือที่ “52 ไร่” อยู่บริเวณเชิงดอยตุง ในศูนย์มีโรงงานทอผ้าที่ไม่ใช้เครื่องจักร แต่ยังใช้กี่และแรงคนถักทอ เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวเข้าไปชมกระบวนการยกแทงกระสวย แต่ทั้งนี้คุณจะต้องรู้จักการเรียนรู้ด้วยตัวเองก่อน โดยเริ่มจากการคิด ตั้งคำถาม และเข้าไปพูดคุยกับคุณป้า คุณน้า ที่ดูเหมือนกำลังยุ่ง แต่พร้อมให้คำตอบ นอกจากนี้ยังมีโรงทำกระดาษสา และโรงงานทำเซรามิก งานฝีมือจากสองมือชาวบ้านที่ครั้งหนึ่งเคยผลักไสลูกสาวไปขายตัวเพราะไม่มีเงิน

เที่ยวหาแรงบันดาลใจ ‘ดอยตุง’

 

อีกหนึ่งตัวอย่างอยู่ที่ “นวุติ” ตั้งอยู่บนดอยตุงเช่นกัน เป็นบริษัทแรกในไทยที่ดำเนินธุรกิจเพื่อสังคม สิ่งที่นวุติทำ คือ ลงทุนซื้อต้นแมกคาเดเมียและต้นกาแฟมาปลูกบนดอยตุง ซื้อเครื่องจักรจากต่างประเทศมาแปรรูป และจ้างชาวบ้านเป็นคนขับเคลื่อนกระบวนการผลิต ผลิตสินค้าแบรนด์ดอยตุงออกวางจำหน่าย นำเงินที่ได้มาจ่ายค่าแรงชาวบ้านและลงทุนต่อไป

ผลลัพธ์ของการลงทุนไม่ใช่ผลกำไร แต่คือการสร้างงานและรายได้ที่มั่นคงให้ชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านเลิกปลูกฝิ่น เลิกทำไร่เลื่อนลอย อีกทั้งยังช่วยโลกด้วยการเพิ่มปริมาณป่าไม้ด้วยผืนป่าเศรษฐกิจ ทำให้เขาหัวโล้นในอดีตกลายเป็นภูเขาสีเขียวทึบดังเช่นปัจจุบัน

นวุติ มีพื้นที่ป่าเขาใน อ.แม่ฟ้าหลวง 9 หมื่นกว่าไร่ ตอนนี้ทำเป็นผืนป่าเศรษฐกิจ (แมกคาเดเมียและกาแฟ) แล้ว 3,000 กว่าไร่ แบ่งพื้นที่ดูแลงานออกเป็น 6 ไซต์ ซึ่งมีศูนย์กลางการแปรรูปอยู่ที่ไซต์ 1 ไซต์นี้นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาดูวิธีแปรรูปและสัมผัสทั้งรูป รส กลิ่น วิธีการเที่ยวก็เหมือนเดิมคือ “ถ้าอยากรู้ต้องถาม” เจอใครผ่านไปผ่านมาสามารถถามได้ทุกคน ชาวบ้านอาจไม่ใช่วิทยากร แต่เขาคือผู้รู้จริงในสิ่งที่เขาทำ ดังนั้นอย่าปล่อยให้ความรู้ดีๆ หลุดลอยไป

เที่ยวหาแรงบันดาลใจ ‘ดอยตุง’

 

หากมองในภาพใหญ่ดอยตุงทั้งดอยคือ ผลิตผลของแนวคิดหลัก “ปลูกป่า ปลูกคน” ตามพระราชดำริของสมเด็จย่า มีความหมายว่า เมื่อเราปลูกป่าแล้ว เราต้องปลูกคนให้อยู่กับป่าได้ด้วย ถ้าคนไม่หิว ป่าก็ไม่หาย ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงในอดีต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความยากจนของชาวบ้าน ปัญหาการปลูกฝิ่น ปัญหาค้ายาเสพติด เหล่านี้ถูก “เปลี่ยน” เพราะชาวบ้านมีความรู้และมีทางเลือกใหม่ให้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว

ความสำเร็จในการพลิกโฉมดอยตุง เกิดเป็นแรงบันดาลใจให้ประเทศอื่น เช่น พม่า อินโดนีเซีย อัฟกานิสถาน ได้นำแนวคิดเรื่องการอยู่กับป่าไปใช้ประยุกต์ในพื้นที่ตัวเอง แต่สิ่งที่โครงการพัฒนาดอยตุงหวังให้เกิดขึ้นในตอนนี้ ไม่ใช่เพียงการเปลี่ยนแปลงในภาพใหญ่ ทว่าอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงใน “ตัวคน” ซึ่งเป็นจุดที่เล็กที่สุด

บังเกิดเป็นผลลำดับที่สี่ “แรงบันดาลใจ” โดยอาศัยการท่องเที่ยวบนดอยตุงสร้างแรงบันดาลใจ และแรงกระเพื่อมอะไรบางอย่างให้คนกล้าเปลี่ยนแปลง มุ่งหวังให้นักท่องเที่ยวที่มาถึงดอยตุงแล้วได้อะไรกลับไปมากกว่าภาพถ่ายและเรื่องเล่าธรรมดา

เที่ยวหาแรงบันดาลใจ ‘ดอยตุง’