อนุสาวรีย์ ประชาธิปไตย กับวันที่มีชีวิต
ผมเขียนต้นฉบับนี้หลังจากได้เข้าร่วมในพิธีจุดเทียนชัยถวายพระพรเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
โดย...นพพล ชูกลิ่น
ผมเขียนต้นฉบับนี้หลังจากได้เข้าร่วมในพิธีจุดเทียนชัยถวายพระพรเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ความรู้สึกของผมในวันนี้จากการที่ได้ยืนดูอนุสาวรีย์อยู่เป็นเวลานานท่ามกลางผู้คนที่แน่นขนัด ต้องใช้คำว่าแน่นที่สุดเท่าที่ผมเคยเข้าไปร่วมในงานพระราชพิธีใหญ่ๆ มา เพราะผมไม่สามารถขยับตัวไปทางไหนได้เลยครับ แต่กลับเป็นความรู้สึกที่อบอุ่นมากผู้คนที่มามีแต่รอยยิ้มให้กันเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ให้กันและกัน ถึงแม้ตัวอนุสาวรีย์จะเต็มไปด้วยอุปกรณ์ต่างๆ มากมาย แต่ในความรู้สึกของผมทำไมวันนี้อนุสาวรีย์ช่างมีชีวิตชีวา ผมเป็นคนฝั่งธนบุรี ต้องผ่านอนุสาวรีย์ตั้งแต่เด็กๆ ในช่วงเวลานั้นผมรับรู้เพียงแค่ว่าเป็นสถานที่ที่แสดงถึงสัญลักษณ์ของความเป็นประชาธิปไตยเท่านั้น
วันนี้หลังจากผมกลับมาบ้านเลยมีความรู้สึกว่า ผมอยากรู้จังว่าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยอันสง่างามที่ตั้งตระหง่านจนเป็นสัญญลักษณ์แห่งการต่อสู้เพื่อรักษาอุดมการณ์ของคำว่าประชาธิปไตย ที่แม้ว่าจะเกิดความขัดแย้งในแนวคิดและวิธีปฏิบัติ อันทำให้เกิดปัญหาขึ้นในช่วงเวลาต่างๆ ที่ผ่านมา นั่นย่อมแสดงให้เห็นว่าการขาดความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยยังคงมีปัญหาอยู่มาก แก่นแท้ของปัญหาก็เกิดจากความไม่รู้ขาดการศึกษาที่แท้จริง แม้กระทั่งนักการเมืองเองที่มีหน้าที่ที่ต้องทำความเข้าใจก็ยังขาดความเข้าใจ หรือแกล้งไม่เข้าใจหรือพยามที่จะไม่ทำความเข้าใจเลย
ผมคงขออนุญาตไม่พูดถึงประเด็นการเมืองมากไปกว่านี้ แต่ภาพที่เห็นกับการเฉลิมฉลองวันมหามงคลในสถานที่บริเวณโดยรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งเท่าที่ผมจำความได้เพิ่งมีการเฉลิมฉลองกันเป็นปีแรก ทำให้คำว่า การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขนั้น ถูกเฉลิมฉลองไปพร้อมๆ กัน ช่างเป็นภาพที่ทำให้ความเป็นคนไทยของผมที่ได้เกิดภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่เป็นระบอบที่ผมเชื่อว่าดีที่สุดในโลก และการที่ได้เกิดภายใต้พระมหากษัตริย์ที่ทรงรักและห่วงใยพสกนิกรในพระองค์มาก จนผมเชื่อว่าเราคงหากษัตริย์เช่นพระองค์ไม่ได้อีกแล้ว ผมลองหาข้อมูลประวัติของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจากวิกีพีเดียมาให้ท่านผู้อ่านได้ลองอ่านเป็นข้อมูลนะครับขอขอบคุณมา ณ. ที่นี้ด้วยนะครับ
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นอนุสาวรีย์ที่ตั้งอยู่กึ่งกลางวงเวียนระหว่างถนนราชดำเนินกลางกับถนนดินสอ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร สร้างขึ้นเป็นที่ระลึกถึงเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข การก่อสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเริ่มขึ้นในวันที่ 24 มิ.ย พ.ศ. 2482 และทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 24 มี.ค.พ.ศ. 2483 ในสมัยจอมพล แปลก พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นผลงานการออกแบบของ ม.ล.ปุ่ม มาลากุล อันเป็นแบบที่ชนะการประกวดการออกแบบอนุสาวรีย์แห่งนี้ การออกแบบได้นำสถาปัตยกรรมแบบไทยมาผสมผสาน ตรงกลางเป็นสมุดไทยที่สื่อถึงรัฐธรรมนูญประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า นอกจากการเป็นสัญลักษณ์เพื่อระลึกถึงประชาธิปไตยนั้น อนุสาวรีย์แห่งนี้ ยังเป็นหลักกิโลเมตรที่ศูนย์ของกรุงเทพมหานครและประเทศไทยอีกด้วย
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยได้ใช้เป็นพื้นที่สำคัญของการชุมนุมทางการเมืองหลายครั้ง อาทิ การชุมนุมของประชาชนและนักศึกษา ในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ, การชุมนุมของประชาชนในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ, การชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ พ.ศ. 2553, การชุมนุมต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม 2556
แนวความคิดและพิธีก่อฤกษ์
ในสมัยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้มีดำริที่จะจัดสร้างอนุสรณ์เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังรำลึกถึงความสามัคคีกลมเกลียวในชาติ และพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญของชาติ ตลอดจนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนี้นำมาซึ่งความสถาพรแก่ชาติ รัฐบาลจึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อจัดหาพื้นที่ที่เหมาะสมแก่การสร้างอนุสาวรีย์ เมื่อพิจารณาที่เหมาะสมนั้น จึงเห็นว่าบริเวณถนนราชดำเนินที่กำลังมีการปรับปรุงอยู่ในขณะนั้น เป็นพื้นที่ที่เหมาะสม ประกอบกับขณะนั้นกำลังมีการก่อสร้างสะพานเฉลิมวันชาติในบริเวณเดียวกัน การสร้างอนุสาวรีย์จะยิ่งสร้างความสง่างามแก่บ้านเมือง รัฐบาลได้จัดการประกวดการออกแบบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยนี้ โดยแบบที่ได้รับรางวัลและนำมาจัดสร้างคือแบบของ ม.ล.ปุ่ม มาลากุล
พิธีก่อฤกษ์อนุสาวรีย์ได้ถือฤกษ์วันชาติไทยในขณะนั้น คือ 24 มิ.ย. พ.ศ. 2482 เป็นวันก่อฤกษ์ โดยจอมพล แปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้เป็นประธานในพิธีมณฑล พิธีเริ่มต้นขึ้นในเวลา 9 นาฬิกา 16 นาที เสร็จสิ้นเมื่อเวลา 9 นาฬิกา 57 นาที
งานก่อสร้างและพิธีเปิด
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขณะกำลังก่อสร้าง
การก่อสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเริ่มต้นขึ้นในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2482 โดยรัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการการก่อสร้างอนุสาวรีย์ขึ้นเพื่อควบคุมกำกับการก่อสร้าง โดยมี ศ.ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างและ สิทธิเดช แสงหิรัญ เป็นผู้ช่วยปั้นอนุสาวรีย์ [1] ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 250,000 บาท [2]
พิธีเปิดอนุสาวรีย์จัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มี.ค. พ.ศ. 2483 โดย จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีได้กล่าวในในพิธีเปิดอนุสาวรีย์เป็นข้อความตอนหนึ่งว่า
...อนุสาวรีย์นี้จะเป็นศูนย์กลางแห่งความเจริญก้าวหน้าทั้งมวล เป็นต้นว่า ถนนสายต่างๆ ที่จะออกจากกรุงเทพฯ ไปยังหัวเมืองก็จะนับต้นทางจากอนุสาวรีย์นี้ ถนนราชดำเนินซึ่งเป็นแนวของอนุสาวรีย์ ก็กำลังสร้างอาคารให้สง่างามเป็นที่เชิดชูเกียรติของประเทศ และเป็นการสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช ที่ทรงตั้งพระราชหฤทัย จะทำให้ถนนนี้เป็นที่เชิดชูยิ่ง...
— จอมพล ป.พิบูลสงคราม
ผมรักประชาธิปไตย ผมรักประเทศไทยนี้จัง ขอบคุณครับ