posttoday

จากเด็กหลังห้องถึงทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ วิชิตพล ผลโภค

17 ธันวาคม 2556

จาก “เด็กหลังห้อง” ที่ถูกตราหน้าว่า เรียนไม่ได้ เรียนไม่เก่ง เด็กมีปัญหา เมื่อเติบโตขึ้น ไม่เพียงเรียนได้ เรียนเก่ง และไม่มีปัญหาเท่านั้น

โดย...วันพรรษา อภิรัฐนานนท์/ ภาพ กิจจา อภิชนรจเรข

จาก “เด็กหลังห้อง” ที่ถูกตราหน้าว่า เรียนไม่ได้ เรียนไม่เก่ง เด็กมีปัญหา เมื่อเติบโตขึ้น ไม่เพียงเรียนได้ เรียนเก่ง และไม่มีปัญหาเท่านั้น แต่ “ตะ” วิชิตพล ผลโภค ในวัยเพียง 26 ปี หลังจากจบปริญญาตรีคณะรัฐศาสตร์ จากโอกลาโฮมา ยูนิเวอร์ซิตี้ ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็บินกลับมาก่อตั้งมูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ (Teach For Thailand) ขึ้นในประเทศไทย มูลนิธิเพื่อการเรียนการสอนคนในชาติ ที่หลักการไม่ได้มุ่งแก้เฉพาะปัญหาการศึกษา แต่รวมถึงปัญหาสังคมที่ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน

ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ เริ่มต้นขึ้นได้อย่างไร คงต้องตอบว่า เกิดขึ้นในเช้าวันหนึ่งในห้องเรียนที่สหรัฐ เมื่ออาจารย์ถามบรรดานักศึกษาในห้องว่า พวกคุณจบแล้วจะทำอะไร ทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ทีช ฟอร์ ยูเอสเอ ความมุ่งมาดปรารถนาและความพร้อมเพรียงของเพื่อนๆ นักศึกษาในห้องนี้เอง ที่จุดประกายความสนใจของตะว่า ทีช ฟอร์ ยูเอสเอ คืออะไร ทำไมทุกคนจึงต้องการทำในสิ่งเดียวกัน

“ทีช ฟอร์ ยูเอสเอ คือ การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของระบบการศึกษาในสหรัฐ แนวคิดมาจากเด็กนักศึกษาชั้นหัวกะทิจากฮาร์วาร์ดคนหนึ่งที่เล็งเห็นว่า ปัญหาของสหรัฐต้องแก้ด้วยการศึกษา และด้วยการแก้ไขในทุกภาคส่วน จากคนรู้ปัญหาที่อยู่ในแต่ละภาคส่วนของสหรัฐเอง” ตะเล่า

แม้จะเป็นผู้นำของประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่สหรัฐก็มีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไม่แพ้ประเทศใดในโลก ขณะนั้นเป็นปี 2533 ทีช ฟอร์ ยูเอสเอเริ่มประกาศรับอาสาสมัครนักศึกษาจบใหม่หรือที่กำลังจะจบ ที่สนใจจะเข้าไปสอนในโรงเรียนที่มีปัญหาทั่วสหรัฐ ปัญหาในที่นี้หมายถึงทุกปัญหา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาครูไม่มีคุณภาพ ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางการศึกษา ฯลฯ ปัญหาการศึกษาในสหรัฐเป็นปัญหาใหญ่ที่ยุ่งขิงมานาน แทบไม่มีใครคิดว่า มันจะแก้ได้ด้วยโครงการเล็กๆ ของเด็กคนหนึ่ง

“หนึ่งในหลักการสำคัญของทีช ฟอร์ ยูเอสเอ เริ่มจากการให้ จิตใจของอาสาสมัครต้องคิดก่อนว่าจะให้ คิดว่าจะให้แล้วก็คืนกลับโอกาสทางการศึกษาแก่เพื่อนร่วมชาติในรูปของการสอน คนเก่งแย่งกันมาเป็นครู เพราะโครงการนี้ภาพลักษณ์ของอาชีพครูในสหรัฐจึงเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง” ตะเล่า

น่าทึ่งว่านักศึกษาส่วนใหญ่ในมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็น ฮาร์วาร์ด (Harvard University) สแตนฟอร์ด (Stanford University) จอห์น ฮอปกินส์ (John Hopkins University) และพรินซ์ตัน (Princeton University) ล้วนแต่เข้าจองชื่อเพื่อสมัครเป็นครูในโครงการนี้ปีล่าสุดสูงถึง 6 หมื่นคน กำหนดระยะเวลาการสอนในโครงการ 2 ปี ต่อเมื่อบุคคลเหล่านี้แยกย้ายไปทำงาน หรือกระจายไปอยู่ในสาขาอาชีพอื่นๆ ก็จะกลายเป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญ เพราะเป็นบุคคลที่รู้ปัญหา ก็แก้ปัญหาจากจุดที่ตัวเองยืนอยู่ นี่เองที่ทำให้โครงการประสบความสำเร็จ

“ความสำเร็จของทีช ฟอร์ ยูเอสเอ ไม่เพียงแก้ปัญหาการศึกษาในสหรัฐเท่านั้น หากยังเผยแพร่ไปทั่วโลก ถึงปัจจุบันมี 32 ประเทศทั่วโลก ที่นำหลักการของทีช ฟอร์ ยูเอสเอไปใช้ ไม่ว่าจะเป็นประเทศอินเดีย มาเลเซีย ญี่ปุ่น จีน รวมทั้งอังกฤษ ซึ่งมีโครงการชื่อทีช เฟิร์สต์ (Teach First) ก่อนที่คุณจะไปทำงานอะไร คุณสอนก่อน โครงการประสบความสำเร็จมาก เพราะปัญหาการศึกษาในอังกฤษ ก่อนหน้านี้ก็ติดอยู่ในหล่มเช่นกัน” ตะเล่า

ปัจจุบันยังมีทีช ฟอร์ ออล (Teach For All) ซึ่งเป็นองค์กรแม่ ทำหน้าที่ประสานการจัดตั้งโครงการในประเทศต่างๆ ให้สะดวกรวดเร็วขึ้น ตะนั้นเมื่อแรกสมัครทีช ฟอร์ ยูเอสเอ หากโครงการจำกัดเฉพาะบุคคลสัญชาติอเมริกัน นำมาซึ่งความคิดที่จะตั้งทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ในประเทศไทย โครงการเริ่มในปี 2553 หากขณะนั้นเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง ทำให้ต้องหยุดไว้ เขาเดินทางไปทำงานที่ประเทศสิงคโปร์ แต่ก็คิดตลอดเวลาว่า จะต้องกลับมาทำทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ให้สำเร็จ

“ตอนเรียนมัธยม ที่โรงเรียนมีโครงการติวหนังสือให้น้องหลังเลิกเรียน เด็กที่ผมไปช่วยติวเป็นเด็กประถมที่ไม่ทำงาน ไม่ทำการบ้าน ถูกมองว่ามีปัญหา เขาถูกตราหน้ามากว่าเรียนไม่ได้ เรียนไม่เก่ง ผมเหมือนมองเห็นตัวเองตอนเด็กๆ ในตัวของเด็กของนี้” ตะเล่า

เพียงสัปดาห์เดียวก็เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลง จากเด็กที่ไม่ทำการบ้าน ก็เปลี่ยนมาตั้งใจทำการบ้าน ตั้งใจเรียน อ่านหนังสือ และอยากที่จะเรียนหนังสือ ตะบอกว่า มันเป็นเพราะไม่เคยมีใครให้โอกาสเขา นี่คือเรื่องของโอกาสที่ทุกคนควรได้รับ เช่นเดียวกับระบบการศึกษาที่จำเป็นมากที่เด็กทุกคนจะต้องได้รับโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียม เด็กเรียนไม่เก่ง หรือเด็กไม่เรียน ไม่ใช่เด็กโง่ หน้าที่ของเรามีอยู่ด้วยกัน คือการผลักดันให้เด็กได้โอกาส ปลดล็อกทางความคิดว่า เด็กคนนั้นเด็กคนนี้ เรียนไม่ได้

ก่อนจะมาเป็นเด็กเรียนดี ตะเองก็เคยเป็น “เด็กหลังห้อง” ที่ถูกมองว่า มีปัญหาและเกเรมาก่อน เขาพบว่าทัศนคติของครูมีผลกระทบต่อตัวเขามาก เรื่องนี้รุนแรงและกลายเป็นปมในจิตใจถึงขั้นต้องขอย้ายโรงเรียน จากนั้นสถานการณ์จึงค่อยๆ ดีขึ้น ต้องยกความดีความชอบให้แก่คุณพ่อคุณแม่ ซึ่งบอกกับเขาตลอดเวลาว่า ไม่จำเป็นต้องเรียนเก่ง ไม่จำเป็นต้องเรียนดี แต่เรียนอะไรก็ได้ หรือทำอะไรก็ได้ ที่ต้องการจะเรียน หรือต้องการจะทำ

ไม่แปลกใจเลยว่า หากทีช ฟอร์ ไทยแลนด์คือสิ่งที่เขาต้องการจะทำ โครงการนี้จะต้องเกิดขึ้นและประสบความสำเร็จแน่ อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาการศึกษาของไทยที่ยืดเยื้อเรื้อรังมานาน อาจมีเงื่อนไขและเงื่อนเวลา ที่ต้องคิดต้องทำมากกว่าที่ไหนๆ ในโลก และอาจต้องใช้มากกว่าคำว่า “ความต้องการจะทำ”

อนึ่ง ในปีการศึกษาหน้า ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นแรกจำนวน 3050 คน จะเข้าไปทำหน้าที่ครูใน 3 วิชาที่ขาดแคลน คือ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ในโรงเรียนขยายโอกาสของ กทม. 18 แห่ง ในระหว่างนี้จะมีครูพี่เลี้ยงจากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ Leadership Development Officer จาก ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง กำกับดูแลด้านการสอนและภาวะผู้นำอย่างเข้มข้น

Teach First

ชื่อ วิชิตพล ผลโภค

ชื่อเล่น ตะ

อายุ 26 ปี

การศึกษา

มัธยมศึกษา โรงเรียนร่วมฤดีอินเตอร์เนชั่นแนล

ปริญญาตรี University of Oklahoma

MajorPolitical Science

MinorArt History;International Area Studies

การทำงาน

2553-2554 Pigo Global ประเทศสิงคโปร์

2555 ก่อตั้งมูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ (www.teachforthailand.org)