อาหารมุสลิม อาหารฮาลาล
สัปดาห์ก่อน ผมมีโอกาสได้รับประทานอาหารมุสลิมอร่อยๆ ถึง 3 ร้าน เป็นร้านที่มีชื่อเสียงเลื่องลือทั้งหมด
โดย...อินทรชัย พาณิชกุล ภาพ อินทรชัย พาณิชกุล
สัปดาห์ก่อน ผมมีโอกาสได้รับประทานอาหารมุสลิมอร่อยๆ ถึง 3 ร้าน เป็นร้านที่มีชื่อเสียงเลื่องลือทั้งหมด นั่นคือ ร้านข้าวหมกไก่แม่ทองดี ย่านประชาชื่น ร้านโรตีมะตะบะ ถนนพระอาทิตย์ และยูซุปโภชนา ราชาข้าวหมก แถวเกษตรนวมินทร์ เลยอดไม่ได้ที่จะมาเล่าให้ฟัง
เชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านคงจะโปรดปรานอาหารมุสลิมเป็นทุนเดิม เมนูเด็ดที่นิยมกันแพร่หลาย มีทั้งข้าวหมกไก่ ข้าวหมกแพะ ซุปเนื้อ ซุปหางหัว สลัดแขก โรตีมะตะบะ เป็นต้น แม้จะหารับประทานได้ไม่ยากจนเกินไปนัก (เดี๋ยวนี้มีเพจเฟซบุ๊ก ThaiHalalGuide แนะนำร้านอาหารมุสลิมทั่วไทยเลยด้วยซ้ำ) ทว่าร้านที่อร่อยติดใจจริงๆ นั้นต้องว่ากันอีกเรื่อง
เมื่อเอ่ยถึงร้านอาหารมุสลิม คงต้องเคยได้ยินคำว่า ฮาลาล (Halal) หรือเห็นสัญลักษณ์เฉพาะบนป้าย แน่นอน บ้างสะกดว่า ฮะลาล หรือหะลาล เป็นที่รับรู้กันว่าหมายถึงอาหารมุสลิมที่ไม่มีสิ่งเจือปนอันขัดกับหลักศาสนาอิสลาม
บางคนอาจสงสัยระหว่างอาหารมุสลิมกับอาหารฮาลาล ว่ามีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร “อาหารมุสลิม” คนที่จะปรุงอาหารประเภทนี้ต้องเป็นคนมุสลิมเท่านั้น ที่สำคัญต้องปรุงให้ถูกต้องตามหลักบัญญัติอิสลาม ไม่ขัดต่อบัญญัติอิสลาม และยังต้องมีวิธีการปรุงที่สะอาด รวมทั้งส่วนผสมก็ต้องสะอาด ไม่เน่า หรือไม่ส่อว่าอาจมีเชื้อโรค เพราะหลักการอิสลามอนุมัติให้มุสลิมบริโภคสิ่งที่อนุมัติ และสภาพดีมีคุณค่า เช่น เนื้อสัตว์ต้องได้รับการเชือดโดยมุสลิม มีการกล่าวพระนามของพระผู้เป็นเจ้าขณะเชือด มีวิธีการเชือดถูกต้องตามหลักการอิสลาม คือ เชือดเส้นเลือดใหญ่ที่คอให้สัตว์นั้นตายทันทีโดยไม่ทรมาน
นอกจากนี้ อาหารมุสลิมต้องไม่ขัดต่อบัญญัติอิสลาม คือ ไม่มีส่วนผสมที่ต้องห้าม เช่น เนื้อหมู น้ำมันหมู หรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ จากหมู รวมถึงเลือดสัตว์ไม่ว่าชนิดใด อาหารที่มาจากพืชที่มีพิษและเป็นอันตรายทุกชนิด รวมถึงอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
ส่วนคำว่า “อาหารฮาลาล” หมายถึง อาหารที่ได้ผ่านกรรมวิธีในการทำ ผสม ปรุง ประกอบ หรือแปรสภาพ ตามบัญญัติอิสลามที่กล่าวมาโดยสังเขปข้างต้นทุกประการ และต้องได้รับการรับรองจากเจ้าหน้าที่ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ออกเครื่องหมายรับรอง หรือออกหนังสือรับรองตามกฎหมาย เพื่อเป็นการรับประกันว่าชาวมุสลิมโดยทั่วไปสามารถบริโภคอาหาร หรืออุปโภคสินค้าหรือบริการต่างๆ ได้อย่างสนิทใจ โดยผู้ออกตราฮาลาลคือคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย
เสน่ห์ของอาหารมุสลิมน่าจะอยู่ตรงความกลมกล่อมของรสชาติ โดยมีกลิ่นหอมของเครื่องเทศเป็นตัวดึงดูดใจ ยกตัวอย่างขมิ้น อบเชย กระวาน กานพลูพริกไทยในข้าวหมกสีเหลือง หรือหอมเจียวที่โรยโชยกลิ่นเหนือซุบเนื้อวัว ซุปหางวัวอันเผ็ดเปรี้ยวจี๊ดจ๊าด แป้งโรตีมะตะบะกรอบๆ จนถึงเนื้อแพะเหนียวนุ่มรสโอชา อร่อยแบบประหลาดล้ำลึก
ถึงบรรทัดนี้ น้ำลายสอ อยากจะไปลิ้มชิมรสอาหารมุสลิมอีกจัง