หนุ่มกราฟฟิกดีไซน์หัวใจรักเสียงเพลง อัศม์เดช ลิมตระการ

02 มกราคม 2557

ศิลปินหนุ่มรุ่นใหม่รวยอารมณ์ศิลป์ เอิร์ธอัศม์เดช ลิมตระการ นอกจากเป็นศิลปินเล่นกลองให้วงฟลัวร์แล้ว

โดย...วราภรณ์ ภาพ : วีรวงศ์ วงศ์ปรีดี

ศิลปินหนุ่มรุ่นใหม่รวยอารมณ์ศิลป์ เอิร์ธ อัศม์เดช ลิมตระการ นอกจากเป็นศิลปินเล่นกลองให้วงฟลัวร์แล้ว เขายังรั้งตำแหน่งรองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา และหัวหน้าแขนงวิชาแอนิเมชั่น สถาบันกันตนา เพราะอยากนำความรู้ที่ร่ำเรียนมาถ่ายทอดให้นักศึกษาอีกด้วย ไลฟ์สไตล์ในปัจจุบันของอัศม์เดชเกี่ยวข้องกับไอทีค่อนข้างมาก โดยเฉพาะความหลงใหลในด้านดนตรีและการฟังเพลง เขาใช้แอพพลิเคชั่นในการสร้างสรรค์งานเพลงที่เด็ดๆ อยู่หลายแอพ ซึ่งช่วยให้การทำงานเพลงของเขาเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น

ในบทบาทอาจารย์ หนุ่มเอิร์ธสอนอยู่ที่สถาบันกันตนา 3 วิชา ได้แก่ ทัศนศิลป์เพื่อการสื่อสาร งานดีไซน์ และการคิดเชิงสร้างสรรค์งานหนักและงานดนตรี อะไรทำให้ชีวิตพลิกผันจากนักดนตรีมาสู่เส้นทางครู ครูเอิร์ธ เล่าว่า ช่วงทำอัลบั้มชุดที่ 3 และวัยใกล้ 30 เมื่อชีวิตตกผลึกเขามีความคิดว่า เขาอยากเล่นดนตรีไปตลอดชีวิตหรือไม่ ประกอบกับยุคสมัยเปลี่ยนไป คนไม่ค่อยซื้อซีดีเพลงแล้ว แม้จะชอบดนตรีมาตั้งแต่เด็ก แต่สิ่งที่ชอบจะเป็นงานที่สร้างอนาคตได้หรือไม่ และสิ่งที่ผลักดันต่อไป คือ ศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ด้านออกแบบกราฟฟิกดีไซน์ และการได้พูดคุยกับคุณลุงทำให้เขาเปิดโลกทัศน์จากนักดนตรีที่มักมีวิธีคิดอีกแบบหนึ่ง คือ นักดนตรีต้องมีหน้าที่รับผิดชอบต่อสังคม ทำงานเพลงที่สะท้อนตัวตนออกมา และมีความเชื่อแบบหนึ่งซึ่งอาจสื่อสารกับคนภายนอกได้ยาก แต่พอได้มาเรียนศิลปะด้านออกแบบกราฟฟิก ทำให้เขามีอีกโลกหนึ่งที่อยากค้นหา อยากรู้อยากเห็น อยากค้นหาและพบสิ่งใหม่ในทุกๆ สิ่งรอบตัว ทำให้เขาไม่ได้คิดอยู่แต่กับตนเองอีกต่อไป ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาตามหามานานเพื่อทำให้เกิดงานออกแบบดีๆ ออกมา

“งานครูเป็นงานที่เราทำเพื่อคนอื่น ถอดตัวตนออกมาเพื่อส่งต่อองค์ความรู้แก่นักเรียน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความหมายหนึ่งในชีวิต ผมเป็นครูมา 3 ปีแล้ว สอนแต่ละวิชาเป็นงานที่สนุก เช่น วิชาการใช้ภาพในการสื่อสาร การทำหนังแอนิเมชั่น เราต้องเข้าใจการสื่อสารด้วยภาพก่อน ซึ่งก่อนหน้านั้นเราก็ต้องเข้าใจวัฒนธรรมการสื่อสารที่แตกต่างกันระหว่างวัฒนธรรมตะวันตกกับไทยก็ไม่เหมือนกัน เราก็ต้องสอนเด็กให้เข้าใจก่อน หรือวิชาโสตศิลป์เพื่อการสื่อสาร การใช้เสียงในการสื่อสาร ผมได้ใช้ประสบการณ์ในการทำงานด้านเพลงมาช่วยไกด์นักเรียน เพราะเราจะเรียนเรื่องการพากย์เสียง เป็นต้น”

หนุ่มกราฟฟิกดีไซน์หัวใจรักเสียงเพลง อัศม์เดช ลิมตระการ

 

ทำงานด้านศิลปะนักออกแบบกราฟฟิกในดวงใจและนักดนตรีคนโปรดที่เขานำมาเป็นแรงบันดาลใจในการทำงานออกแบบ ได้แก่ Josef MullerBrockmann เป็นชาวสวิตเซอร์แลนด์ที่มีผลงานกราฟฟิกดีไซน์ที่น่าทึ่งมาก

“งานกราฟฟิกดีไซน์ของโจเซฟเป็นที่ยอมรับ ฝีมือออกแบบของเขาได้ชื่อว่าเป็นสงครามโลกทางการออกแบบ ผลงานของโจเซฟที่โดดเด่น คือ งานออกแบบตัวหนังสือที่คลาสสิกมากๆ เด็กออกแบบทุกคนต้องรู้จักเขา โจเซฟเป็นคนคิดการวางเลย์เอาต์กระดาษ งานเขาสมัยใหม่ไร้กาลเวลามากๆ ส่วนวงดนตรีที่ผมชอบมากๆ คือ Manic Street Preachers เป็นวงของอังกฤษในยุค 90 ซึ่งผมบังเอิญไปซื้อซีดีมาฟังเปิดปกซีดีไปอ่าน นักร้องเขาเขียนเวิร์ดดิงเด็ดๆ เช่น จงเอาชนะตัวเอง ทำให้ผมสนใจเนื้อเพลงของวงนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวกับเรื่องการค้นหาตัวเอง การทำสิ่งที่ดี ผมจึงชอบแต่งเพลงที่เกี่ยวกับนักเขียนที่เราชอบ ศิลปินเหล่านี้เป็นทั้งแรงบันดาลใจและมีจิตวิญญาณที่สูงด้วย”

แม้จะสวมบทบาทอาจารย์ แต่หนุ่มเอิร์ธก็ยังสร้างสรรค์งานเพลงอย่างต่อเนื่อง โดยใช้แอพพลิเคชั่นด้านเพลงที่ใช้ง่ายๆ ikaossilator ซึ่งเป็นแอพงานเสียงที่มีทุกอย่างเกี่ยวกับเสียง ซึ่งแต่ละแอพที่เขาชื่นชอบ โดยเลือกใช้ให้เหมาะสมกับตัวเองและคนรอบข้าง เช่น ปฏิทินแชร์กันผ่านแอพพลิเคชั่น

“เช่น พ่อแม่นัดกินข้าวกัน เราใช้แชร์ริ่งมากกว่า เพื่อจะได้ทำงานตรงแผนงานตรงกัน แชร์งาน ชอบมากๆ แอพทางด้านดนตรี เช่น ikaossilator เป็นแอพเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งที่ประกอบไปด้วย ลูป กลอง ซินทิไซเซอร์ คือ เครื่องสังเคราะห์เสียง หรือเครื่องดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ ออกแบบมาเพื่อสร้างเสียงจำลองโดยใช้เทคนิคต่างๆ โหลดมาใช้กดเล่นเสียง ได้รวดเร็ว เล่นได้เลย” หรือแอพพลิเคชั่นที่ใช้ง่ายนิดเดียว คือ ออดิโอ เรคคอร์ดเดอร์ อัดเสียงได้คุณภาพ ได้อารมณ์ เขาจะใช้ต่อเมื่อขับรถอยู่ หากปิ๊งคิดเมโลดีได้ ก็กดอัดเสียงไว้ทันที เพราะทิ้งไว้อาจลืมแน่นอน ซึ่งเป็นแอพที่ถูกใจเขามากๆ เพราะแอพที่อยู่ในโทรศัพท์มือถือที่ติดตัวไปทุกที่ทุกเวลา

“ผมชอบกลอง แต่เล่นเครื่องดนตรีได้ทุกอย่าง ผมชอบอัดเพลง ชอบทำงานด้านเสียง ชอบเทคโนโลยีในการอัดเสียงมากๆ ซึ่งปัจจุบันการอัดเสียงทำได้ง่ายมากๆ ไม่จำเป็นต้องมีเครื่องดนตรีมากชิ้น อยู่ในสถานที่เหมาะๆ ก็สามารถสร้างเพลงได้คุณภาพดี” ปัจจุบันหนุ่มเอิร์ธก็ยังทำงานเพลงอยู่ โดยทำงานนั่งเป็นโปรดิวเซอร์ให้ โป้ โยคีเพลย์บอย กับงานอัลบั้มชุดใหม่

หนุ่มกราฟฟิกดีไซน์หัวใจรักเสียงเพลง อัศม์เดช ลิมตระการ

เมื่อเทคโนโลยีมีข้อดี ในทางกลับกัน ก็มีข้อเสีย แต่ไม่ได้เกิดจากเทคโนโลยีโดยตรง เกิดจากผู้ใช้

“บางครั้งเทคโนโลยีก็มีความล้ำหน้ามากเกินกว่าความยับยั้งชั่งใจของคน คิดไม่รอบคอบพอ ใช้มันมากเกินไปจนเปลือง เช่น ผลิตพลาสติกขึ้นมามากๆ ก็ทำให้โลกร้อน อีกทั้งบางคนติดโทรศัพท์มือถือมากเกินไป ก็ทำให้เราห่างกันเกินไป สิ่งที่เขาเห็นได้ชัดเจนในการสอนด้านแอนิเมชั่น คือ นักเรียนสามารถทำงานแอนิเมชั่นได้ในคอมพิวเตอร์ได้รวดเร็ว ซึ่งทำให้ทักษะบางอย่างของนักเรียนหายไป ”

อาจารย์เอิร์ธ ฝากทิ้งท้ายว่า ข้อดีของเทคโนโลยี คือ เราสามารถค้นหาข้อมูลได้กว้างขวางไม่มีขีดจำกัด แต่เราอย่าใช้เทคโนโลยีเพื่อการวิพากษ์วิจารณ์คนอื่นมากเกินไปในโซเชียลเน็ตเวิร์ก กล่าวคือ อย่าไปสนใจคนอื่นมากเกินไป จนละเลยที่จะดูที่จิตใจตนเอง

“เด็กๆ ที่เล่นโซเชียลเน็ตเวิร์กอาจไม่มีวุฒิภาวะพอ เขียนคอมเมนต์วิพากวิจารณ์คนอื่นแบบไม่พิจารณาให้ดี อาจส่งผลกระทบต่อตนเองและผู้อื่น ก่อนจะโพสต์หรือแสดงความคิดเห็นอะไร ให้พิจารณานิดหนึ่ง โลกโซเชียลทำให้เราแคร์คนอื่นมากไป หากเราติดโซเชียลอาจทำให้โลกเราเล็กลง เด็กสมัยใหม่สิ่งที่เขาห่วง คือ เขาแคร์คนอื่นจะมองว่าเขาเป็นอย่างไร ไม่ได้คิดว่าตัวเขาเองเป็นคนอย่างไร และเขาจะวัดคนจากการกดแชร์ เช่น หากโพสต์อะไรไปแล้วคนไม่กดไลค์ ก็เป็นกังวลว่าทำไมไม่มีใครสนใจ ทำไมเราต้องแคร์คนอื่นมากขนาดนั้น ทำไมต้องดูชีวิตคนอื่นแล้วนำมาเปรียบเทียบกับชีวิตของตัวเอง

แต่เลือกใช้เทคโนโลยีให้เหมาะกับตนเองดีกว่า เช่น ผมมีการตั้งกลุ่มไลน์นักเรียน เพื่อแชร์ข้อมูลการเรียน ความคิดความรู้สึก เช่น บางคนรู้สึกอึดอัดไม่รู้จะพูดคุยกับใคร ก็สามารถมาปรับทุกข์พูดในอินเทอร์เน็ตได้สบายๆ ใจกว่า ไลน์ดี เพราะทำให้คนสื่อสารกันมากขึ้น เป็นอีกลู่ทางหนึ่งที่เชื่อมต่อความรู้สึกถึงกัน ที่สถาบันเราก็มีเซิร์ฟเวอร์เพื่อส่งงาน เราจะส่งงานทางเซิร์ฟเวอร์ ซึ่งจะมีข้อมูลที่เด็กส่ง ณ เวลาใด เราควบคุมตรวจเช็กได้ ส่งตรงกำหนดหรือเปล่า ทำให้มีหลักฐานทำให้การเรียนการสอนดีขึ้น”

เอิร์ธอัศม์เดช ลิมตระการ

อายุ 30 ปี หลงรักดนตรีเป็นชีวิตจิตใจ เขาเริ่มเป็นนักดนตรีตั้งแต่อายุ 18 ปี

ประวัติการศึกษา : ศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาออกแบบมัณฑนศิลป์ คณะศิลปกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2548 และศึกษาจบระดับปริญญาโท ศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาออกแบบเรขศิลป์ คณะศิลปกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2555

ประวัติการทำงาน : รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา และหัวหน้าแขนงวิชาแอนิเมชั่น สถาบันกันตนา (พ.ศ. 2554ปัจจุบัน)

นักดนตรีมือกลอง/ศิลปินวงฟลัวร์ (Bakery Music/Sony Music) (พ.ศ. 2545ปัจจุบัน)

นักออกแบบ บริษัท สยามพิวรรธน์/Loft (พ.ศ. 2551)

แอพพลิเคชั่นหลักๆ ที่ใช้ : ในการเดินทางผมใช้ กูเกิล ไดร์ฟ ส่วนแอพ Pocket คือ เราอยากแชร์เรื่องที่เราอ่านพบให้คนอื่นได้

โทรศัพท์มือถือที่ใช้ : มือถือที่ใช้ตอนนี้ คือ ไอโฟน 4 เอส กำลังรอเวอร์ชั่น 6 มาจึงจะเปลี่ยนใหม่ ที่ชอบแอปเปิลมาก เพราะผมเป็นนักออกแบบ นักออกแบบของแอปเปิลออกแบบโทรศัพท์มือถือได้มีฟังก์ชั่นที่ดีมาก แต่ละฟังก์ชั่นตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผมได้ทั้งหมด โดยเฉพาะด้านเสียงเพลงและงานออกแบบ ใช้ได้ไม่ยุ่งยาก อัพเดตเวอร์ชั่นใหม่ๆ ได้ตลอด แต่ผมไม่ชอบเลย เพราะเปลืองแบตเตอรี่ แบตหมดเร็วมาก

อุปกรณ์เสริม : นอกจากโทรศัพท์มือถือ ผมยังใช้ไอแพด 2 ผมใช้ทุกอย่างที่เกี่ยวกับดนตรี อัดเสียงในไอแพด การควบคุมมิกเซอร์ ตั้งได้ในไอแพด ใช้เป็นทั้งเปียโน คีย์บอร์ด ใช้เป็นเครื่องดนตรี สามารถทำเพลงจบในไอแพดได้คุณภาพเสียงที่ดี ถ้ามีแอพพลิเคชั่นเกี่ยวกับทำเพลงที่ดีแม้จะแพงผมก็ซื้อ เพราะใช้แล้วคุ้มค่า ทำให้เราทำงานเพลงได้รวดเร็วและได้คุณภาพที่ดีมากขึ้น

Thailand Web Stat