posttoday

มงคลจากความเคารพ (1)

02 กุมภาพันธ์ 2557

สืบเนื่องจากอาทิตย์ก่อน เมื่อเขียนเรื่องความประพฤติถ่อมตนแล้ว ก็ขอนำเรื่องความเคารพมาต่อด้วย

สืบเนื่องจากอาทิตย์ก่อน เมื่อเขียนเรื่องความประพฤติถ่อมตนแล้ว ก็ขอนำเรื่องความเคารพมาต่อด้วย เพราะเป็นมงคลในมงคล 38 ประการเหมือนกัน ซึ่งเรื่องของความเคารพนั้นมีรายละเอียดมากทีเดียว

ความเคารพนั้นเรียกว่า คารวะ เป็นศัพท์ที่เกี่ยวกับความหนัก เช่นเดียวกับคำว่า ครู ซึ่งมาจาก “ครุ” คือ ผู้หนักดังฉัตรหิน ผู้ที่บุคคลทั้งหลายที่ควรทำให้หนัก และเพราะลอยเด่น คือ เฟื่องฟู ได้แก่เปิดเผย คือ เป็นผู้เลิศลอย คือ ปรากฏ

ภาวะแห่งบุคคลผู้หนัก ชื่อว่า “คารวะ” การทำให้หนัก คือ ความเป็นผู้มีความเคารพตามสมควรในบุคคล เป็นต้นว่า พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธะ พระสาวกของพระตถาคต อาจารย์ อุปัชฌายะ มารดาบิดา พี่ชาย พี่สาว ผู้ควรแก่การประกอบความทำให้หนัก ชื่อว่า ความเคารพ

ความเคารพนั้นเป็นมงคล พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ว่า เพราะเป็นเหตุแห่งอิฏฐผลมีไปสุคติเป็นอาทิ ส่วนความไม่เคารพ คือ อคารวะนั้น ไม่เป็นมงคล เป็นอวมงคล เพราะเป็นเหตุแห่งอนิฏฐผลมีไปทุคติ เป็นต้น

“นรชนเหล่าใด ฉลาดในธรรม นอบนบบุคคลผู้เจริญอยู่

นรชนเหล่านั้นเป็นผู้ควรสรรเสริญในทิฏฐธรรม

และสัมปรายภพของเขาก็เป็นสุคติ”

ผู้ที่ไม่เคารพบุคคลที่ควรเคารพ หากไม่เข้าถึงอบาย คือ ทุคติ วินิบาต นรก เมื่อตาย ถ้าเขามาสู่ความเป็นมนุษย์ เกิดในที่ใดๆ ในภายหลังก็จะเป็นผู้มีตระกูลต่ำในที่นั้นๆ ข้อที่บุคคลเป็นผู้กระด้าง ถือตัว ฯลฯ ไม่บูชาบุคคลที่ควรบูชา เป็นปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีสกุลต่ำ ... ในทางตรงกันข้ามผู้ที่ไม่เย่อหยิ่ง ไม่ถือตัว บูชาบุคคลที่ควรบูชา เป็นปฏิปทาอันเป็นไปเพื่อมีตระกูลสูง

การแสดงออกซึ่งความเคารพนั้น รวมถึงการไม่เย่อหยิ่ง ไม่เป็นผู้ถือตัว การกราบไหว้ ลุกรับ ให้อาสนะ ให้ทาง สักการะ ทำความเคารพ บูชา แก่ผู้ที่สมควร

นอกจากนั้น ความเคารพเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุบรรลุความเป็นผู้ไม่เสื่อมจากคุณ มีสมถะและวิปัสสนา หรือจากมรรคและผล ทั้งจะไม่บรรลุมรรคผลที่ตนยังไม่บรรลุก็หามิได้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า

“ภิกษุมีพระศาสดาเป็นที่เคารพ (สตฺถุคารวตา) 1

มีพระธรรมเป็นที่เคารพ (ธมฺมคารวตา) 1

มีความเคารพในพระสงฆ์อย่างแรงกล้า (สงฺฆคารวตา) 1

มีความเคารพในสมาธิ (สมาธิคารวตา) 1

มีความเพียรเคารพยิ่งในสิกขา (สิกฺขาคารวตา) 1

มีความเคารพในความไม่ประมาท (อปฺปมาทคารวตา) 1

มีความเคารพในปฏิสันถาร (ปฏิสณฺฐารคารวตา) 1

ไม่ควรเพื่อจะเสื่อม ตั้งอยู่ในที่ใกล้พระนิพพานทีเดียว”

รายละเอียดของความเคารพทั้ง 7 นี้ ขอยกไปคุยกันอาทิตย์หน้า เพราะมีรายละเอียด อย่างไรก็ตาม บุคคลที่ควรเคารพนั้นท่านเรียกว่า วุฑฺฒํ ซึ่งได้แก่บุคคล 3 จำพวก คือ

- ชาติวุฑฒะ คือ บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยชาติ

- วยวุฑฒะ คือ บุคคลผู้ตั้งอยู่ในวัย

- คุณวุฑฒะ คือ บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยคุณ

การตั้งอยู่ในศีล 5 ความเคารพยำเกรงกันและกันด้วยวัยวุฒิ คุณวุฒิ และชาติวุฒิ ย่อมทำให้การอยู่ร่วมกันในสังคมเป็นไป