เล่าเรื่องป่าไม้เศรษฐกิจมะฮอกกานี
คนไทยรู้จักต้นมะฮอกกานีกันมานานหลายสิบปีแล้ว ตั้งแต่กรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
โดย...ม.ล.จารุพันธ์ ทองแถม
คนไทยรู้จักต้นมะฮอกกานีกันมานานหลายสิบปีแล้ว ตั้งแต่กรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยมีผู้นำเมล็ดมาปลูกเป็นไม้ยืนต้นเพื่อให้ร่มเงาริมถนนสายใหญ่ เช่น แถบกรุงเทพฯ ชั้นใน บริเวณสวนดุสิต ถนนราชวิถี สามเสนใน เขาดินวนา เป็นต้น
ต้นมะฮอกกานี (Mahogany : Swietenia Macrophylla King) จัดอยู่ในวงศ์ Meliaceae เช่นเดียวกับต้นไม้ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจหลายชนิด มะฮอกกานีใบใหญ่เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ต้นเปล่าสูงได้ 30-40 ม. ขึ้นอยู่กับสภาพดิน โดยมีเส้นรอบวงลำต้นประมาณ 3-4 ม. หากปลูกตามพื้นที่ชายเขาซึ่งมีหน้าดินลึก ลำต้นอาจสูงได้ถึง 60 ม. และมีเส้นรอบวงยาว 9 ม.ทีเดียว ต้นมะฮอกกานีที่ว่านี้มาจากถิ่นเดิมของมันคือในเปรูและบราซิล รวมทั้งในอเมริกากลาง ต่อมาจึงมีพวกนักบวชนำเข้ามาปลูกในฟิลิปปินส์ เมื่อปี 1914 อากาศในฟิลิปปินส์หลายแห่งเหมาะแก่การปลูกมะฮอกกานีเป็นการค้า โดยใช้เนื้อไม้ในงานก่อสร้างเฟอร์นิเจอร์ชั้นดี รวมทั้งการต่อเรือและการผลิตวีเนียร์และฝาผนัง รวมทั้งพื้นไม้ลายสวยงาม หลายแหล่งใช้กล้ามะฮอกกานีเป็นไม้พี่เลี้ยงให้ร่มเงาแก่การปลูกกาแฟและโกโก้ แหล่งปลูกมะฮอกกานีใบใหญ่มีอยู่หลายแห่งในฟิลิปปินส์ เช่น เทือกเขามาคิลิง แถบลากูนา แบงเกวต อิโลคอส อิซาเบลลา อาบรา ซามาร์ มารินดูเก้ ใกล้ซีบูและซาบวงกา ตลอดจนนีวาวิชคายาและอีกหลายท้องที่ในลูซอนและมินดาเนา
ต้นมะฮอกกานีเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบในช่วงฤดูร้อน โดยทั่วไปแล้วมะฮอกกานีมีใบประกอบ ซึ่งมีใบย่อย 5-7 คู่ ใบย่อยแต่ละใบมีขนาดยาว 7-13 ซม. กว้าง 3-5 ซม. ใบจัดเป็นใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว ขอบใบเรียบ ผิวใบบนสีเขียวเข้มเป็นมันสีน้ำตาลหรือม่วง ดอกเกิดเป็นช่อแบบแยกแขนง (Panicle) เกิดที่ปลายกิ่งและโคนใบ
คนไทยผูกพันกับต้นมะฮอกกานีอยู่ไม่น้อย แม้จะเป็นไม้ต่างแดน แต่เข้ามาเมืองไทยนานพอสมควรแล้ว เพราะตั้งแต่ผู้เขียนยังโหนรถรางอยู่แถวสามเสนบางกระบือ ก็เห็นต้นมะฮอกกานีปลูกอยู่แล้ว แถบหน้าเขาดิน และถนนเลียบกำแพงวังสวนจิตรลดา และถนนสุโขทัย ดังนั้นมะฮอกกานีจึงเดินทางมาสู่สยามประเทศ แต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ราวรัชกาลที่ 3 หรือ 4 หรืออาจหลังจากนั้นเล็กน้อย มิได้มีบันทึกเป็นหลักฐานว่าผู้ใดนำเข้ามา แต่อาจเป็นได้ที่มีผู้นำเข้ามาในรูปเมล็ด ซึ่งอยู่ในผลขนาดใหญ่รูปกระสวยสีน้ำตาลอมเขียว ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1-2 ซม. ยาว 2-6 ซม. ซึ่งจะแตกอ้าออกเมื่อแก่จัด และปล่อยเมล็ดมีปีกเดียว ซึ่งเป็นส่วนของเอนโดคาร์ป (Endocarp) ก่อนจะถึงเปลือกเมล็ด (Seed Coat) หนาห่อหุ้มใบเลี้ยง (Cotyledon) และราก (Radicle) ซึ่งขดอยู่ภายในเมล็ดมีจำนวนมากประมาณได้ตั้งแต่ 1,600-2,300 เมล็ด (พร้อมปีก) ต่อกิโลกรัมหรือประมาณ 96 เมล็ด (พร้อมปีก) ต่อลิตร นี่เป็นข้อมูลที่ได้จากเนิร์สเซอรี่ขยายพันธุ์มะฮอกกานีแถวบางทังกาสซึ่งปลูกมะฮอกกานีกันมาก เพราะแม้มะฮอกกานีจะเติบโตได้ในดินหลายแบบ แต่ปกติแล้วจะชอบดินเหนียวร่วนปนทรายที่ระบายน้ำดี แต่ก็โตได้ดีในดินตื้น หรือดินน้ำไหลทรายมูล (Alluvial Soils) ทั่วไป เช่น ภาคเหนือหรือภาคกลางตอนบนของไทย แต่น่าแปลกใจที่ไม่มีผู้ปลูกมะฮอกกานีเป็นสวนป่ากันอย่างจริงจังเลย สนใจแต่ต้นไม้จอมปลอม เช่น ตะกู กฤษณา ซึ่งบัดนี้ยังรอคนรับซื้ออยู่เลย ต้นมะฮอกกานีทนต่อความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิได้ตั้งแต่อากาศเย็น ประมาณ 11C ไปจนถึง 32C และเรียกได้ว่าเป็นต้นไม้เขตที่ราบแบบของไทยอย่างแท้จริง เพราะเอาขึ้นไปปลูกในที่สูงเกิน 600 ม. แล้วจะโตได้ไม่ดีนัก แต่ที่ชอบมากคือควรจะมีปริมาณฝนตกตั้งแต่ 1,500 มม.ขึ้นไป แต่ทนช่วงแห้งแล้งได้นาน 6-7 เดือนทีเดียว จึงเป็นทางเลือกให้ปลูกเป็นสภาพป่าเศรษฐกิจได้ในท้องที่ซึ่งมีปริมาณฝนต่อปีสูงกว่า 1,200 มม.ขึ้นไป หรือมีน้ำจากชลประทานช่วยเป็นบางช่วง เช่น แถวกาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี สุพรรณบุรี ฯลฯ
เราอาจเก็บเมล็ดจากผลมะฮอกกานีซึ่งร่วงลงมาได้ในเดือน ม.ค. ก.พ. มี.ค. ส.ค. และ ธ.ค. โดยแกะเมล็ดออกจากฝักที่ปริอ้าออกก่อนจะนำไปเก็บ และต้องไม่ลืมว่าเมล็ดแก่ที่เก็บจากผลสดนั้นมักจะงอกได้โดยใช้เวลา 8-14 วัน โดยมีเปอร์เซ็นต์งอก 80 เปอร์เซ็นต์ หรืออาจสูงกว่านั้นก็ได้ เมล็ดที่เก็บไว้ภายใต้สภาพความชื้นต่ำและอุณหภูมิต่ำจะยืดระยะความมีชีวิตของเมล็ด การเก็บเมล็ดไว้ในตู้เย็นที่ 20ฐC และ 5C ทั้งในสภาพเปิดและภาชนะที่ปิดนั้นจะรักษาความมีชีวิตของเมล็ดได้ ในบางกรณีเมล็ดมะฮอกกานีเริ่มเสียสภาพความงอกไปหลังจาก 2-3 เดือน ดังนั้นเราอาจเก็บเมล็ดไว้ได้นานถึงหนึ่งปีถ้าผสมเมล็ดกับขี้เลื่อยที่แห้งและสะอาด และเก็บในภาชนะปิดผนึกกันอากาศเข้าออกและใส่ในตู้เย็นที่อุณหภูมิประมาณ 10-12 C
เมล็ดมะฮอกกานีแม้จะมีปีกแบนแผ่นเดียว แต่เมื่อครีบแห้งจะปิดงอและหมุนพาเมล็ดมีชีวิตออกไปจากโคนต้นแม่ เพื่อสืบเผ่าพันธุ์ของต้นไม้ที่มีคุณอนันต์แก่มนุษย์ต่อไป