posttoday

จับตาอาหารไทยอาหารโลก จุดเปลี่ยนจากขาดสู่เกิน!

04 กุมภาพันธ์ 2557

ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งที่กำลังคุกรุ่น ความรู้สึกของผู้คนคงไม่ผิดแผกแตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม ในความวุ่นวายนี้ก็ยังมีข่าวดีเล็กๆ

โดย...วันพรรษา อภิรัฐนานนท์/ภาพ คลังภาพโพสต์ทูเดย์/CFS

ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งที่กำลังคุกรุ่น ความรู้สึกของผู้คนคงไม่ผิดแผกแตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม ในความวุ่นวายนี้ก็ยังมีข่าวดีเล็กๆ ที่เชื่อว่าจะทำให้คนไทยยิ้มได้ นั่นคือข่าวการได้รับรางวัลระดับโลกของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ

เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ระหว่างการประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 20 ณ เมืองกรานาดา ประเทศสเปน ศ.นพ.ไกรสิทธิ์ได้รับรางวัลจากสมาพันธ์โภชนาการนานาชาติสำหรับความสำเร็จตลอดชีพ 2556 (International Union Nutritional Sciences (IUNS) Award for Lifetime Achievement 2013) ในฐานะผู้อุทิศตัวอย่างทุ่มเทให้กับการทำงานด้านโภชนาการอย่างต่อเนื่องและยาวนาน มีผลสัมฤทธิ์ของงานเป็นที่ประจักษ์ มีบทความตีพิมพ์ที่ส่งผลให้เกิดการพัฒนางานด้านโภชนาการในระดับภูมิภาคและในระดับโลก นับเป็นคนไทยคนแรก และนักวิชาการคนที่ 8 ของโลกที่ได้รับรางวัลดังกล่าว

จับตาอาหารไทยอาหารโลก จุดเปลี่ยนจากขาดสู่เกิน!

 

ศ.นพ.ไกรสิทธิ์เล่าถึงสถานการณ์อาหารโลกในปัจจุบันว่า กำลังเข้าสู่จุดเปลี่ยน จากภาวะการขาดสู่ภาวะการเกิน เดิมมีประชากรโลก 1,000 ล้านคนขาดอาหาร ขณะที่อีก 1,000 ล้านคนมีภาวะอ้วนและน้ำหนักเกิน เป็นผู้ประสบปัญหาโรคเรื้อรังจากภาวะอาหารล้น สัดส่วนตัวเลขนี้จะเปลี่ยนไปในทศวรรษหน้า โดยสัดส่วนของประชากรที่อ้วนเพราะอาหารเกินจะมีมากกว่าประชากรขาดอาหาร

“สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะรูปแบบของระบบการเกษตรที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ส่งผลให้ระบบอาหารเปลี่ยนแปลงไปด้วย เพราะเมื่อระบบเกษตรเปลี่ยน ระบบอาหารก็เปลี่ยน จากระบบเกษตรแบบดั้งเดิมเปลี่ยนเป็นระบบเข้มข้น ระบบอาหารก็เช่นกัน เปลี่ยนจากระบบดั้งเดิมเป็นระบบโมเดิร์นฟู้ด ซิสเต็มส์ ปัญหายังรวมถึงการใช้อย่างไม่ถูกต้องและความไม่ปลอดภัยจากสารเคมีในการผลิต”

การเปลี่ยนแปลงของยุคอาหารโลกเป็นสิ่งจำเป็นต้องเกิด เพราะจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น เทคโนโลยีที่พัฒนาดีขึ้น ประกอบกับการโลกาภิวัตน์ของการถ่ายทอดองค์ความรู้ รวมทั้งการเคลื่อนย้ายประชากรจากชนบทสู่เมือง สิ่งเหล่านี้ทำให้มีคนชั้นกลางมากขึ้น คนมีโอกาสมากขึ้น จับจ่ายซื้อหาอาหารด้วยตัวเอง และกินมันอย่างไม่ถูกวิธี

จับตาอาหารไทยอาหารโลก จุดเปลี่ยนจากขาดสู่เกิน!

 

“กินมากแต่ไม่ออกกำลังกาย เกิดภาวะโรคเรื้อรังจากอาหารเกิน สิ่งเหล่านี้จะยิ่งเห็นมากขึ้นๆ และมากขึ้นเรื่อยๆ ในโลกทศวรรษหน้า จากโลกที่ประชากรหิวโหยมีจำนวนมากกว่า จะสวิงกลับเป็นโลกที่มีแต่คนอ้วน กลายเป็นโลกที่คนอ้วนมากกว่าคนผอม และโรคก็เยอะกว่าด้วย” ศ.นพ.ไกรสิทธิ์เล่า

สัญญาณดังกล่าวเริ่มชัดเจนขึ้นในปี 2556 ซึ่งองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุตัวเลขประชากรที่ได้รับอาหารต่ำกว่าเกณฑ์ว่า แกว่งตัวลดลงเหลือจำนวน 850 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นประชากรในชนบทและยากจนในแถบแอฟริกา เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“ไม่ว่าจะปัญหาอาหารขาดหรือเกิน ก็เป็นปัญหาที่ต้องเยียวยา โลกทศวรรษหน้าจำเป็นต้องมีระบบการจัดการเกษตรและระบบอาหารใหม่ ปฏิรูปให้คนเข้าถึงอาหารได้แบบไม่ขาดและไม่เกิน (Integrated management) ระบบโซนนิ่ง ระบบสมาร์ทฟาร์มเมอร์ การทำเกษตรแบบใช้ความคิดและคนทำมีความสุข คำตอบสุดท้ายที่ต้องมีความพอดี”

จับตาอาหารไทยอาหารโลก จุดเปลี่ยนจากขาดสู่เกิน!

 

สำหรับสถานการณ์และปัญหาของอาหารในประเทศไทย ก็เป็นเช่นเดียวกันกับสถานการณ์อาหารทั่วโลก ในทศวรรษหน้าสังคมไทยจะเต็มไปด้วยประชากรที่อ้วนกลม ปัญหาอีกมากมายที่จะตามมา หากยังไม่ปรับตัวโดยเฉพาะผู้นำภาครัฐที่ต้องเห็นและเข้าใจปัญหา ผลักดันนโยบายสู่การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม และเกิดพลังร่วมกันของทุกภาคส่วน

“เบาหวาน ความดัน โรคหัวใจขาดเลือด มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งหมดคือภาวะโภชนาการเกิน”

ศ.นพ.ไกรสิทธิ์เล่าต่อไปว่า ในอดีตประเทศไทยเคยประสบความสำเร็จอย่างมากในการแก้ไขปัญหาการขาดอาหาร โดยได้รับการยกย่องในระดับนานาชาติถึงมาตรการที่ประสบผล โดยเด็กแรกเกิด5 ปีที่ขาดอาหารจากเดิมปี 2522 มากกว่า 50% เหลือเพียงไม่ถึง 10% ในปัจจุบัน

สาเหตุที่มาตรการถูกนำมาใช้อย่างได้ผล เนื่องจากผู้นำมุ่งแก้ปัญหาอย่างจริงจัง โดยประกาศเป็นวาระแห่งชาติในการแก้ปัญหาความยากจน ขณะนั้นเป็นช่วงปี 2522-2523 ซึ่งปรากฏว่าปัญหาภาวะการขาดโภชนาการในเด็กก่อนวัยเรียนของไทยลดลงอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาเพียง 1 ทศวรรษ

จับตาอาหารไทยอาหารโลก จุดเปลี่ยนจากขาดสู่เกิน!

 

“ขณะนั้นเรามีคณะกรรมการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของไทย เพื่อใช้เป็นแผนแม่บทในการสร้างความเข้มแข็งให้กับการจัดการด้านอาหารอย่างเป็นรูปธรรมในทุกมิติ ทั้งด้านความมั่นคงอาหาร คุณภาพและความปลอดภัยอาหาร และความเชื่อมโยงด้านอาหารและโภชนาการสู่คุณภาพชีวิตที่ดี”

นอกจากนี้คือการร่วมอยู่ในคณะกรรมการจัดทำแผนการแก้ปัญหาความยากจนของประเทศ ส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 25252529) ก็ได้ริเริ่มและนำเอาเป้าหมายและตัวชี้วัดด้านโภชนาการผนวกเข้าไว้ในแผนแก้ปัญหาความยากจนดังกล่าว ทั้งหมดนี้ถือเป็นต้นแบบสำหรับการแก้ไขปัญหาทุพโภชนาการระดับชาติ ที่หลายประเทศยึดไทยเป็นต้นแบบ

“ผมอยากสะท้อนให้เห็นว่าปัญหาอาหารเกินแก้ได้ ถ้าผู้นำเห็นปัญหาและเอาจริง ปัจจุบันแม้จะเรียกได้ว่าเข้าสู่วิกฤต แต่ทุกคนก็ยังต่างคนต่างทำ ซึ่งขาดพลัง กรอบยุทธศาสตร์ด้านอาหารมีอยู่แล้ว หากแนวทางการบริหารจัดการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ ยังต้องทำความเข้าใจกัน ทุกคนต้องเดินสู่กรอบที่กำหนด”

ปัญหาอาหารเกิน จะแก้ได้เหมือนปัญหาทุพโภชนาการเหมือนในอดีตหรือไม่ คงเป็นเรื่องที่สังคมไทยจะต้องเรียนรู้และผลักดันร่วมกัน ก่อนที่สังคมของเราจะมีแต่ประชากรอ้วนกลม น้ำหนักเกิน ประชากรที่มีแต่โรค...ประชากรที่แพ้ภัยตัวเองเพราะจานอาหาร

จับตาอาหารไทยอาหารโลก จุดเปลี่ยนจากขาดสู่เกิน!

IUNS Lifetime Achievement Award

รางวัลสมาพันธ์โภชนาการนานาชาติสำหรับความสำเร็จตลอดชีพ หรือ IUNS Lifetime Achievement Award เป็นรางวัลที่ตั้งขึ้นโดยสมาพันธ์โภชนาการนานาชาติ เมื่อปี 2538 สมาชิกประกอบด้วยสมาคมโภชนาการในแต่ละประเทศทั่วโลก พิธีมอบรางวัลจัดขึ้นเป็นประจำทุก 4 ปี

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ คนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัล เป็นผู้อุทิศตนเพื่องานด้านโภชนาการอย่างจริงจังและต่อเนื่องตลอดชีวิตการทำงาน ได้รับการยกย่องในวงการวิชาการทั้งในและต่างประเทศได้รับปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 2 จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลปี 2511 และประกาศนียบัตรแพทย์ฝึกหัดเฉพาะทางกุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลท์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ปี 2516

ในปี 2517 ได้เข้าปฏิบัติหน้าที่ ณ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และดำรงตำแหน่งสูงสุดคือ ศาสตราจารย์ด้านโภชนาการเด็ก เมื่ออายุเพียง 39 ปีเท่านั้น โดยเป็นผู้ที่มีผลงานทางโภชนาการในระดับโลก เช่น การก่อตั้งหน่วยวิจัยการครองธาตุ (Metabolic Unit) คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ผลงานวิจัยส่งผลต่อการแก้ไขภาวะโภชนาการของประเทศไทยในวงกว้าง ได้แก่ การพัฒนาสูตรอาหารเสริมสำหรับหญิงตั้งครรภ์ และอาหารเสริมสำหรับทารกและเด็กเล็กในระดับชุมชนโดยใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่น ต่อมาถูกนำมาใช้เป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหาด้านโภชนาการของประเทศ

จับตาอาหารไทยอาหารโลก จุดเปลี่ยนจากขาดสู่เกิน!

 

ผลงานที่ประจักษ์ระดับนานาชาติ เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางทั่วโลก ในฐานะผู้อุทิศตนด้านโภชนาการ โดยในช่วงปี 25432549 ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการด้านอาหารและโภชนาการ แห่งองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กรุงโรม ประเทศอิตาลี เป็นเวลา 6 ปี หลังจากนั้นดำรงตำแหน่งประธานสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกของสมาพันธ์โภชนาการนานาชาติ (IUNS)

 

นอกจากนี้ ยังดำรงตำแหน่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการขององค์กรระดับสากลต่างๆ ได้แก่ FAO องค์การอนามัยโลก (WHO) กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ธนาคารโลก (WB) และธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank, ADB) ฯลฯ

ตลอดชีวิตของ ศ.นพ.ไกรสิทธิ์ได้รับรางวัลเกียรติยศมากมายเช่น

รางวัลบุคคลดีเด่นของชาติ สาขาพัฒนาสังคมด้านสาธารณสุข จากคณะกรรมการเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ โดยได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

รางวัลศิษย์เก่าดีเด่นจากคณะวิทยาศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

ปริญญาโภชนศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยมหิดล

รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช