เจริญอิทธิบาท 4 ทำให้อายุยืน
ท่านผู้อ่านที่เคารพ วันมาฆบูชาและวันแห่งความรัก ซึ่งในปีนี้มาตรงกัน เพิ่งจะผ่านไป
ท่านผู้อ่านที่เคารพ วันมาฆบูชาและวันแห่งความรัก ซึ่งในปีนี้มาตรงกัน เพิ่งจะผ่านไป หากจะคิดดูให้ดีแล้ว สิ่งที่ทุกคนรักเป็นอย่างยิ่งก็คือ ตนเอง และก็คือ การมีชีวิตที่ยืนยาวอยู่ได้ตลอดอายุขัย ใน มหาปรินิพพานสูตร พระพุทธเจ้าตรัสกับท่านพระอานนท์ว่า
“อิทธิบาท 4 อันผู้ใดผู้หนึ่งเจริญแล้ว ทำให้เป็นดุจยานทำให้เป็นที่ตั้ง ให้ตั้งมั่นแล้ว อบรมแล้ว ปรารภดีแล้ว ผู้นั้นเมื่อจำนงอยู่ พึงดำรงอยู่ตลอดกัป หรือเกินกว่ากัป”
เมื่อมารมาทูลขอให้พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน ด้วยว่าพระพุทธศาสนาตั้งมั่นดีแล้วและพุทธสาวกมีความฉลาดในธรรมแล้ว พระองค์ได้ทรงกล่าวแสดงข้อความข้างต้น (อิทธิบาท 4 อันผู้ใดผู้หนึ่งเจริญแล้ว ...ฯลฯ... หรือเกินกว่ากัป)เช่นนี้เป็นนิมิตหลายครั้งต่อหน้าพระอานนท์ แต่พระอานนท์มิได้รู้เท่าทัน จึงไม่ได้วิงวอนขอพระตถาคต พระตถาคตจึงทรงปลงอายุสังขาร
ในมหัปผลสูตร ว่าด้วยอานิสงส์ของการเจริญอิทธิบาท 4 แสดงไว้ว่า ผู้เจริญอิทธิบาท 4 (ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา) ย่อมมีผลมาก (ใช้ได้ทั้งในทางสมถะและวิปัสสนา ผลคือมีการได้ฤทธิ์และการบรรลุธรรม คือ มรรค ผล นิพพาน ด้วย) มีใจความว่า
“ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญอิทธิบาท อันประกอบด้วย ฉันทสมาธิ และ ปธานสังขาร ดังนี้ว่า ฉันทะของเราจักไม่ย่อหย่อนเกินไป ไม่ต้องประคองเกินไป ไม่หดหู่ในภายใน ไม่ฟุ้งซ่านไปในภายนอก และเธอมีความสำคัญในเบื้องหลังเบื้องหน้าอยู่ว่า เบื้องหน้าฉันใด เบื้องหลังก็ฉันนั้น เบื้องหลังฉันใด เบื้องหน้าก็ฉันนั้น เบื้องล่างฉันใด เบื้องบนก็ฉันนั้น เบื้องบนฉันใด เบื้องล่างก็ฉันนั้น กลางวันฉันใด กลางคืนก็ฉันนั้น กลางคืนฉันใด กลางวันก็ฉันนั้น เธอมีใจเปิดเผย ไม่มีอะไรหุ้มห่อ อบรมจิตให้สว่างอยู่ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อิทธิบาท 4 อันภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ กระทำให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก”
คำที่เรามักสงสัยก็คือ นอกจากเจริญ “อิทธิบาท 4” ซึ่งประกอบด้วย ฉันทะ วิริยะ จิตตะ และ วิมังสา แล้ว ทำไมต้องมีคำว่า “ปธานสังขาร”
ในฉันทสูตร ว่าด้วยอิทธิบาท กับ ปธานสังขาร แสดงไว้ว่า
ถ้าภิกษุอาศัยฉันทะ*แล้ว ได้สมาธิ ได้เอกัคคตาจิต นี้เรียกว่า ฉันท*สมาธิ
เธอยังฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้ เพื่อไม่ให้บาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น เพื่อละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น เพื่อความตั้งอยู่ เพื่อความไม่เลือนหาย เพื่อเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญบริบูรณ์แห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เหล่านี้ เรียกว่า ปธานสังขาร
ฉันทะนี้ด้วย ฉันทสมาธินี้ด้วย และปธานสังขารเหล่านี้ด้วย ดังนี้เรียกว่า อิทธิบาทประกอบด้วยฉันทสมาธิและปธานสังขาร
*เนื่องจากอิทธิบาท 4 มีองค์ประกอบ 4 คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ และ วิมังสา ก็สามารถเจริญโดยใช้ตัวใดตัวหนึ่ง เช่นใช้ วิริยะ เป็นตัวนำ ก็จะเปลี่ยนเป็น “ถ้าภิกษุอาศัยวิริยะแล้ว ได้สมาธิ ได้เอกัคคตาจิต นี้เรียกว่า วิริยสมาธิ”
ผู้ที่ต้องการเจริญอิทธิบาท 4 จึงต้องตั้งอิทธิบาทใดอิทธิบาทหนึ่งขึ้นเป็นใหญ่ แล้วเจริญสมาธิ ประกอบด้วยความเพียรชอบ เพื่อให้ถึงซึ่งความสำเร็จในสมาธิกุศลนั้น เมื่อเจริญสมาธิอย่างมั่นคงย่อมเป็นบาทให้ทำอภิญญาคือฤทธิ์ต่างๆ ได้ และย่อมสามารถทำฌานให้เป็นบาทของวิปัสสนา หรือทำความสงบตั้งมั่นแล้วเจริญวิปัสสนา อิทธิบาท 4 นั้น อรรถกถาท่านอธิบายให้เห็นความแตกต่างกัน เปรียบเหมือนลูกอำมาตย์ 4 คน ปรารถนาตำแหน่ง เข้าไปอาศัยพระราชา
คนที่ 1 อาศัย ฉันทะ คือ เกิดความพอใจในการรับใช้ รู้พระราชอัธยาศัย และความพอพระทัยของพระราชา จึงรับใช้ทั้งกลางวันและกลางคืน ทำให้พระราชาโปรดปราน จึงได้รับตำแหน่ง ผู้ที่ให้โลกุตรธรรมเกิดได้ด้วย ฉันทธุระ (ความพอใจ) ก็ฉันนั้น
คนที่ 2 อาศัย วิริยะ คือ เป็นคนที่ไม่สามารถรับใช้ทุกๆ วันได้ จึงคิดว่าเมื่อเกิดความจำเป็นขึ้น เราจะรับใช้ให้สุดความสามารถ เมื่อชายแดนกำเริบ ถูกพระราชาส่งไปแล้วก็ปราบข้าศึกจนสุดความสามารถ จึงได้รับตำแหน่ง ผู้ที่ให้โลกุตรธรรมเกิดได้ด้วย วิริยธุระ (ความเพียร) ก็ฉันนั้น
คนที่ 3 อาศัย จิตตะ คือ การรับใช้ทุกวันก็ดี การเอาอกรับหอกรับลูกศรก็ดี เป็นภาระโดยแท้ เราจะรับใช้ด้วยกำลังมนต์ แล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาฝึกหัดความรู้เกี่ยวกับเพลงอาวุธ ทำให้พระราชาโปรดปรานด้วยการจัดแจงมนต์ (ความรู้) จนได้รับตำแหน่ง พึงทราบผู้ที่ให้โลกุตรธรรมเกิดได้ด้วย จิตตธุระ (การเอาใจใส่) ก็ฉันนั้น
คนที่ 4 อาศัย วิมังสา คือ การรับใช้เป็นต้น จะมีประโยชน์อะไร ธรรมดาพวกพระราชาย่อมประทานตำแหน่งแก่ผู้สมบูรณ์ด้วยชาติ (ลูกผู้ดี) เมื่อประทานเช่นนั้น ก็จะประทานแก่เรา อาศัยความถึงพร้อมด้วยชาติเท่านั้น ก็ได้รับฐานันดร ดังนั้นผู้ที่อาศัยความพินิจพิจารณาไตร่ตรองหาเหตุผลล้วนๆ แล้วทำให้เกิดโลกุตรธรรม เรียกว่าได้ด้วย วีมังสาธุระ (ปัญญา)
ผู้ที่อยากมีอายุยืนอยู่ได้ตลอดอายุขัยของกัปของเรา ก็ควรพิจารณาคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ให้ลึกซึ้ง แล้วประกอบความเพียรเจริญสมาธิวิปัสสนา ด้วยอิทธิบาท 4 เป็นตัวนำ ความปรารถนาของผู้มีศีล สมาธิ ปัญญา บริสุทธิ์ดีแล้วย่อมสำเร็จ...