กัมพูชาเพื่อนบ้านที่เรารู้จัก แต่ไม่ค่อยคุ้นเคย
เมื่อเราบอกว่าเราจะไปประเทศกัมพูชา บรรดาเพื่อนฝูงรอบข้างก็จะมีคำถามกับเราว่า ไปทำไม
เมื่อเราบอกว่าเราจะไปประเทศกัมพูชา บรรดาเพื่อนฝูงรอบข้างก็จะมีคำถามกับเราว่า ไปทำไม ไม่กลัวอันตรายหรือ มีอะไรน่าสนใจ คงต้องยอมรับความจริงว่ายังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยยังมีทัศนคติเชิงลบกับประเทศนี้ จะด้วยเพราะเกี่ยวเนื่องกับเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง หรือการรับรู้ข้อมูลข่าวสารผ่านข้อคิดเห็นต่างๆ บนโลกอินเทอร์เน็ต ซึ่งนั่นคือสิ่งที่ทำให้เราอยากจะไปเห็นและไปพิสูจน์ความจริงด้วยตัวเองในประเทศกัมพูชา
ปัจจุบันการเดินทางไปยังประเทศกัมพูชาเป็นเรื่องง่ายมาก ถ้าไปในฐานะนักท่องเที่ยวก็ไม่จำเป็นต้องขอวีซ่า แถมยังมีสายการบินให้เลือกมากมาย ทั้งสายการบินต้นทุนต่ำ หรือจะเป็นสายการบินแห่งชาติของกัมพูชา Cambodia Angkor Air ก็มีบินตรงจากประเทศไทยวันละหลายเที่ยวบิน ซึ่งใช้เวลาบินจากกรุงเทพฯ ไปพนมเปญเพียง 50 นาทีเท่านั้น
แน่นอนว่าการจะเริ่มต้นทำความรู้จักกับประเทศใดๆ ก็ตาม ต้องมาเริ่มต้นที่เมืองหลวง มากัมพูชาครั้งนี้ก็เช่นกัน เราเริ่มต้นด้วยการมาทำความรู้จักกรุงพนมเปญก่อน เมืองนี้เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ไม่ยาวนาน เพราะมีการสถาปนาขึ้นมาใหม่หลังจากย้ายเมืองหลวงมาจาก “กรุงอุดง” ในราวต้นศตวรรษที่ 19 ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น พนมเปญเป็นเพียงหมู่บ้านเล็กๆ ที่มีผู้คนอาศัยอยู่ไม่กี่ครัวเรือน
วัดพนม คือจุดเริ่มต้นที่ดีในการเรียนรู้จักประวัติศาสตร์ของพนมเปญ ตามตำนานเล่ากันว่ามีหญิงชรานามว่า “เปญ” พบพระพุทธรูปลอยมากับต้นไม้ในแม่น้ำ จึงอัญเชิญพระพุทธรูปมาประดิษฐานไว้ที่วัดแห่งนี้ ซึ่งในสมัยนั้นยังเป็นเพียงวัดเล็กๆ ที่ตั้งอยู่บนเนินเขาเตี้ยๆ ต่อมาเมื่อมีการอพยพย้ายเมืองหลวงมาตั้งอยู่ที่นี่ วัดแห่งนี้จึงเป็นศูนย์รวมความศรัทธาของผู้คนมากขึ้น จึงมีการเรียกขานชื่อวัดแห่งนี้ว่า วัดพนม ก่อนจะกลายเป็นคำว่า “พนมเปญ” ในที่สุด หรือแปลได้ว่า “วัดเขายายเปญ” อันเป็นที่มาของชื่อเมืองพนมเปญในปัจจุบัน
ความรุ่งเรืองของพนมเปญเกิดขึ้นเมื่อครั้งอยู่ภายใต้การอารักขาของประเทศฝรั่งเศส ซึ่งพัฒนาที่นี่ให้เป็นเมืองท่าที่สำคัญ จนเคยได้รับฉายาว่า “ไข่มุกแห่งเอเชีย” หลังจากนั้นตกต่ำอย่างขีดสุดในสมัยการครอบครองโดยเขมรแดง ซึ่งทำให้ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก และต้องยุติสถาบันกษัตริย์ชั่วคราว พระบรมราชวังจตุมุขสิริมงคล ที่ประทับของกษัตริย์แห่งกัมพูชาจึงถูกทิ้งร้าง จนกระทั่งสิ้นสุดยุคเขมรแดง กัมพูชาจึงฟื้นฟูสถาบันกษัตริย์อีกครั้งหนึ่ง และได้มีการบูรณะพระราชวังแห่งนี้ให้กลับมามีความสวยงามอีกครั้ง ซึ่งปัจจุบันเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามายลโฉมภายในได้อย่างใกล้ชิด ผ่านอาคารที่มีสถาปัตยกรรมงดงาม เช่น “พระที่นั่งจันทฉายา” “พระที่นั่งเทวาวินิจฉัย” และ “พระราชวังเขมรินทร์” หรือ “พระวิหารพระแก้วมรกต”
ในส่วนของใจกลางเมืองกรุงพนมเปญ ก็เป็นเขตเศรษฐกิจที่สำคัญจากการเป็นที่ตั้งอาคารตึกสูงของบริษัทต่างชาติ ส่วนของถนนหนทางก็แออัดไปด้วยการจราจรในชั่วโมงเร่งด่วน แถมยังมีรถยนต์หรูหราวิ่งกันเต็มไปหมด และยังมีป้ายโฆษณาสินค้าสารพัดชนิดอยู่ทั่วทุกมุมเมือง สะท้อนถึงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในมุมที่ไม่ค่อยถูกนำเสนอผ่านสื่อมากนัก ซึ่งการไปเห็นด้วยตาในครั้งนี้ก็ย่อมเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่เรามองประเทศนี้ก่อนการเดินทางได้อย่างดี หากย้อนกลับไปในอดีตกัมพูชาเริ่มต้นวางระบบโครงสร้างทางเศรษฐกิจด้วยการสร้างตลาดขึ้นมาเพื่อเป็นกลไกในการทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนสินค้าและเงินตรา โดยได้รับความช่วยเหลือจากฝรั่งเศสในการก่อสร้างตลาดพซาร์ทเมยขึ้น ด้วยสถาปัตยกรรมแบบอาร์เดโค ที่มีจุดเด่นคือเพดานสูงโปร่ง ภายในเป็นแหล่งซื้อขายอัญมณี ซึ่งมีแหล่งผลิตจำนวนมากทางตอนเหนือของประเทศ รวมถึงเป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าที่ระลึกและเสื้อผ้าสำเร็จรูป
ถ้าพูดถึงห้างสรรพสินค้าสมัยใหม่ในพนมเปญ เชื่อว่าคงไม่มีชาวพนมเปญคนใดไม่รู้จักห้าง Sorya และ Sovanna เพราะถือเป็นห้างที่ใหญ่ที่สุดของที่นี่ ภายในเต็มไปด้วยสินค้าแบรนด์เนมและแฟรนไชส์ต่างประเทศ ที่ยกโขยงเข้ามาเปิดตลาดในกัมพูชา มีจำนวนไม่น้อยที่เป็นแฟรนไชส์สัญชาติไทย ซึ่งจากการสอบถามคนท้องถิ่นบอกกับเราว่า ชาวกัมพูชาส่วนใหญ่ชื่นชอบสินค้าไทยมานานแล้ว เพราะถือเป็นสินค้ามีคุณภาพสมราคา อีกทั้งชาวกัมพูชาก็รู้จักสินค้าเหล่านี้ผ่านการชมโทรทัศน์ไทยอีกด้วย
แต่จากการลองเข้าไปสำรวจซูเปอร์มาเก็ตที่นี่ พบว่ามีผลิตภัณฑ์ทั้งจากมาเลเซีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ จีน และเวียดนาม พยายามเข้ามาตีตลาดสินค้าไทยจำนวนมาก ซึ่งนั่นเป็นเพราะรสนิยมของผู้บริโภคเปิดกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะวัยรุ่นที่เปิดรับวัฒนธรรมต่างชาติผ่านทางสื่อออนไลน์ พวกเขาเหล่านี้ล้วนเข้าถึงระบบการศึกษามากขึ้นกว่าแต่ก่อน สะท้อนได้จากการจัดอันดับการศึกษาโดย World Economic Forum พบว่าตลอด 8 ปีที่ผ่านมา การศึกษาในกัมพูชาไต่อันดับขึ้นมาถึง 23 อันดับ นั่นแสดงให้เห็นว่ากัมพูชากำลังให้ความสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ดังนั้นในอนาคตแรงงานราคาถูกอาจจะไม่ใช่จุดขายของประเทศนี้อีกต่อไป และเรื่องที่เห็นได้ชัดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า วัยรุ่นชาวกัมพูชาให้ความสำคัญเรื่องภาษาเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ ญี่ปุ่น เกาหลี และโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาไทย ที่มีรากฐานเดียวกันกับภาษากัมพูชา และทำความเข้าใจได้ไม่ยาก เพราะกำลังเป็นที่ต้องการในตลาดสูง โดยเฉพาะนักลงทุนที่กำลังเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศนี้จำนวนมาก
เพียงหนึ่งวันในการมาทำความรู้จักกับกัมพูชาผ่านการลงพื้นที่ในกรุงพนมเปญ ทำให้เราเข้าใจประเทศนี้ในหลากหลายมิติมากขึ้น ทั้งๆ ที่เราน่าจะรู้จักเขามากกว่านี้ เพราะเรามีพรมแดนติดกัน มีประวัติศาสตร์ร่วมกัน และยังมีวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกัน ชาวกัมพูชากลับรู้จักประเทศไทยมากกว่าที่เราคิด และส่วนใหญ่มองเราในทัศนคติเชิงบวก ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องลบภาพเก่าๆ และเข้าใจกัมพูชาให้มากขึ้น