ผ้าไหมโบราณหายาก ของ นวพร เรืองสกุล
เอ่ยชื่อ “นวพร เรืองสกุล” นักเศรษฐศาสตร์และการเงิน น้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก
โดย...วรธาร ทัดแก้ว ภาพ เสกสรร โรจนเมธากุล
เอ่ยชื่อ “นวพร เรืองสกุล” นักเศรษฐศาสตร์และการเงิน น้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก อดีตเคยเป็นนักเรียนทุนแบงก์ชาติ ยุค ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นผู้ว่าการ เคยทำงานในธนาคารแห่งประเทศไทย ภายใต้การบริหารของผู้ว่าการถึง 5 ยุค เป็นเวลา 18 ปี ก่อนจะลาออกมาเป็นที่ปรึกษาและกรรมการในภาครัฐและเอกชนหลายแห่ง เคยดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ ธนาคารเกียรตินาคิน หลายสิบปีมานี้จนถึงปัจจุบันผันตัวเองมาเป็นนักเขียนผลิตผลงานคุณภาพมากมาย เป็นคอลัมนิสต์ผู้ถ่ายทอดแนวคิดและตัวหนังสือออกมาได้อย่างลุ่มลึกและคมคาย ปัจจุบันเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ฯลฯ
ในวัย 72 ปี สุภาพสตรีอาวุโสผู้นี้ยังคงแข็งแรง กระฉับกระเฉง อารมณ์ดี ชีวิตมีความสุขกับการเขียนหนังสือเป็นพิเศษ ชอบการเที่ยวท่องเก็บเกี่ยวข้อมูลเขียนหนังสือไปในสถานที่ต่างๆ แต่สิ่งหนึ่งที่อยากจะเผยให้รู้เกี่ยวกับสุภาพสตรีสูงวัยผู้นี้มีความน่าสนใจอยู่ที่ “การแต่งตัว” ที่ถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือไม่ว่าจะอยู่ที่บ้าน ออกนอกบ้านไปทำงาน หรือไปออกงานต่างๆ ชุดแต่งกายจะเป็น “ผ้าไหม” เสมอ
เช่นวันนี้ สตรีอาวุโสก็มาในชุดกระโปรงและเสื้อผ้าไหม เพื่อบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการสะสมของชอบส่วนตัว ซึ่งจะเป็นอะไรอื่นไปไม่ได้ นอกจาก “ผ้าไหมโบราณ” ที่สะสมมานานตั้งแต่ทำงานจวบวัยเกษียณก็ยังเก็บสะสมอยู่
สตรีอาวุโสเล่าที่มาของการสะสมผ้าไหม โดยเริ่มปูพื้นด้วยการเล่าย้อนถึงปูนหลังว่า ตอนสมัยที่ยังเรียนมัธยมมีโอกาสได้ไปเที่ยวสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ได้เห็นวัฒนธรรมการแต่งตัวของคนลาว โดยผู้หญิงจะนุ่งผ้าซิ่นมองแล้วรู้สึกสวยดูดี สื่อถึงวัฒนธรรมการแต่งกายของชาติ ต่อมาคุณพ่อได้เดินทางไปลาวและซื้อผ้าไหมลาวมาผืนหนึ่ง และสองปีต่อมาได้มาอีกชิ้นหนึ่งจากคุณหญิงบุญเลื่อน เครือตราชู ซึ่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (25072518) เพื่อนคุณพ่อ ซึ่งหลังจากนั้นเป็นต้นมาก็มีความสนใจในเรื่องของผ้าไหมเป็นพิเศษ จนกระทั่งเมื่อทำงานก็เสาะหาซื้อไว้
“ผ้าไหมลาวที่คุณพ่อซื้อมาสวยประณีตมาก ซึ่งต่อมาพี่สาวได้ใส่เป็นชุดเจ้าสาวในตอนแต่งงาน ส่วนผ้าที่คุณหญิงบุญเลื่อนเพื่อนของคุณพ่อให้ก็สวยงามและมีความพิเศษ ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ หัว ตัว และตีนผ้า (เชิงผ้า) ความพิเศษอยู่ที่เชิงผ้าเป็นทอง ซึ่งผ้าเชิงทองสมัยก่อนชาวบ้านจะไม่นุ่งกัน เพราะเป็นผ้าที่เจ้านายนุ่ง แต่สมัยนี้ไม่ได้ถือกันแล้ว ทั้งสองผืนนี้เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดความสนใจในผ้าไหมเรื่อยๆ”
โดยเฉพาะหลังกลับจากไปเรียนต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกาแล้วกลับมาทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ ถือเป็นช่วงที่มีการเริ่มซื้อ...ทว่าไม่ใช่การซื้อเพื่อเก็บสะสม แต่เป็นการซื้อให้คุณแม่ได้ใส่และได้ใช้ของดีๆ
“ตอนที่กลับจากเมืองนอก เห็นหลายๆ คนใส่กระโปรง นุ่งกางเกงกัน คุณแม่เราก็ด้วย เลยคิดอยากเปลี่ยนลุคการแต่งตัวให้ท่านใหม่ มานุ่งผ้าซิ่นที่เรามองว่าสวย ใส่แล้วโก้ดี เข้ากับทุกโอกาส เหมาะกับทุกงาน จากนั้นพอมีโอกาสไปเที่ยวที่ไหนๆ เห็นผ้าไหมสวยสะดุดตาก็จะซื้อมาให้ท่านใส่อยู่เรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม รู้สึกดีใจที่คุณแม่ใส่และใส่มาตลอดชีวิตของท่านจนกระทั่งจากเราไป ทุกวันนี้ผ้าที่ท่านใช้เราก็ดูแลรักษาและใช้ต่อมาจนถึงวันนี้”
ไม่เพียงซื้อให้คุณแม่ใส่เท่านั้น นักการเงินอาวุโสก็สวมใส่เช่นกัน โดยตัดเป็นชุดผ้าไหม เป็นชุดลำลองใส่ในบ้าน ชุดทำงาน รวมถึงชุดออกงานต่างๆ มากมายหลายชุด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจุดเริ่มต้นของการมีผ้าเหล่านี้ เธอบอกว่า เพียงเพื่อต้องการให้คุณแม่ใส่ ดังนั้นจึงไม่ใช่การซื้อเพื่อเก็บสะสม แต่หากพูดถึงการเลือกซื้อผ้าไหม นักการเงินอาวุโสเผยเคล็ดลับง่ายๆ ว่า ความสวยต้องมาก่อน สอง ผ้าต้องเนื้อดี สาม ใส่สบาย
“การเลือกซื้อง่ายๆ นะ อันดับแรกจะดูที่ความสวยสะดุดตา หมายถึงลายสวย มีความประณีตบรรจงในการทำ สอง เนื้อผ้าต้องดี ไม่หยาบกระด้าง ประการที่สาม ใส่แล้วนิ่ม ไม่แข็ง ไม่ระคายเคือง รู้สึกสบายตัว แต่หากผ้าไหมที่แข็งส่วนใหญ่มักจะเกิดจากการรีดกาวข้างใน แต่ผ้าที่มีอยู่ทั้งหมดนี้ไม่เคยนำไปรีดกาว ดังนั้นเวลาสวมใส่จะรู้สึกนิ่มใส่สบาย”
แม้จะออกตัวว่าไม่ได้รู้เรื่องผ้าลึกซึ้ง แต่ด้วยประสบการณ์ในการศึกษาเรื่องผ้าไหมมานาน ก็สามารถบอกแหล่งที่มาของผ้าไหมได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นผ้าไทยและต่างประเทศ โดยจะสังเกตจากการอ่านหรือดูลายผ้า รวมถึงเทคนิคการทอ
“ผ้าไทยแต่ละภาคนั้นต่างกันอยู่แล้ว เพราะไทยจะมีวัฒนธรรมย่อยของแต่ละภาคอยู่ ซึ่งวัฒนธรรมของแต่ละภาคนั้นก็เหลื่อมซ้อนกับวัฒนธรรมของเพื่อนบ้านอยู่บ้าง เช่น อีสาน คร่าวๆ จะมีสองกลุ่ม คือ กลุ่มอีสานเหนือก็จะใกล้ลาว ผ้าทอบางส่วนจะเหลื่อมกับผ้าลาว โดยผ้าลาวจะมีโครงสร้าง 3 ส่วน คือ หัว ตัว ตีน คนสูงก็ใส่หัวเข้าไปเยอะๆ ถ้าอีสานใต้ สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ จะเป็นมัดหมี่ ก็จะเหลื่อมกับเขมรคือมัดหมี่เหมือนกัน
ผ้าต่างประเทศก็จะมีคาแรกเตอร์และเป็นไปตามวัฒนธรรมของชาตินั้นๆ เช่น ผ้าอินโด ก็มาจากวัฒนธรรมของอินโดหรือชวา ตั้งแต่สุมาตราลงมามลายูทางใต้ของไทย และเข้ามาที่ไทย ก็จะเหมือนๆ กันคือ เป็นผ้าปาเต๊ะ (บาติก) ของไทยก็จะเป็นผ้าโสร่งที่มีลวดลายหลากหลาย สวยงาม อย่างอินโดที่นำมาให้ดูเป็นผ้าโบราณที่ใช้วิธีการเพนต์ มีบล็อกพิมพ์และมีขี้ผึ้งด้วย ถ้าดมดูจะมีกลิ่นขี้ผึ้ง อีกผืนหนึ่งสามารถใช้นุ่งได้ทั้งสองด้าน ซึ่งแต่ละด้านจะมีลวดลายที่ต่างกัน ความเข้มของสีก็ต่างกันด้วย ถ้าสังเกตก็จะเห็นความแตกต่าง”
นักเขียนอาวุโสให้แง่คิดว่า ผ้าที่สะสมมาทั้งหมดมีทั้งผ้าใหม่และผ้าเก่า ซึ่งในส่วนของผ้าเก่าไม่สามารถระบุได้ชัดว่ากี่ปี แต่คิดว่าไม่ต่ำกว่า 40 ปี บางผืนน่าจะมากกว่านั้น บางผื่นผุไปตามกาลเวลา แต่ทุกผืนที่มีอยู่ถูกนำออกมาใช้อยู่ตลอดปีละครั้งสองครั้ง
“ผ้าเหล่านี้เป็นของที่ซื้อมาใช้ ไม่ได้ซื้อมาเก็บสะสม อีกอย่างเพราะเราคิดเสมอว่า ผ้าไม่ได้มีค่าเพราะเป็นผ้าเก่าผ้าโบราณ แต่มีค่าเพราะความชอบของเรามากกว่า”
การดูแลรักษาง่ายๆ
หลังการใช้จะซักน้ำ แบบซักผ้าทั่วไป แต่ไม่ปั่น ไม่ขยี้ ไม่ขยำให้มันหัก เพราะผ้าไหมลื่นอยู่แล้ว ก็เหมือนกับผมของคนเรา เพราะถ้าเราสระผมยังไงก็จัดการกับผ้าไหมแบบนั้น
ซักเสร็จแล้ว ห้ามบิด ให้ยกจากน้ำขึ้นตากในที่ร่มเท่านั้น ไม่ตากแดดเพราะอาจทำให้สีซีดได้
เมื่อแห้งก็พับเก็บ พยายามไม่พับแน่นเกินไปเพราะจะเป็นรอย และเมื่อเป็นรอยหากถ้าไม่หยิบมานุ่งมาใส่ก็จะเป็นรอยพับอยู่นานอาจจะเสียได้ และต้องคอยไม่ให้ทับที่เดิม หรือไม่ก็ไม่เอาอะไรมาทับซ้อนเยอะๆ