ปฏิรูปครอบครัว...
ย้อนหลังไปสัก 30 ปี ก่อนเมืองไทยของเรามีการรณรงค์เรื่องการวางแผนครอบครัว
ย้อนหลังไปสัก 30 ปี ก่อนเมืองไทยของเรามีการรณรงค์เรื่องการวางแผนครอบครัว หรืออีกนัยหนึ่งคือการรณรงค์ลดการมีลูก เพราะการมีลูกสักคนผู้เป็นพ่อเป็นแม่ต้องใช้เงินเพิ่มอีกจำนวนมากจนอาจทำให้เศรษฐกิจในครัวเรือนไม่คล่องและการต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อให้มีเงินพอเลี้ยงดูก็อาจทำให้การดูแลอาจด้อยลง ก่อให้เกิดปัญหาขาดความอบอุ่น ครอบครัวแตกแยก อันนำมาซึ่งปัญหาสังคมอื่นๆ ต่อเนื่องไปอีก ซึ่งนี่ต่างจากสมัยโบราณเป็นอย่างมาก!
ผมหมายไปถึงโบราณในยุคเกษตรกรรมที่วิถีชีวิตเราอยู่กับการทำไร่ไถนา ทำให้ทุกบ้านเลยอยากมีลูกเยอะๆ เอาไว้ช่วยกันทำนา ทำไร่ ค้าขาย การมีลูกเพิ่มมีแต่กำไรเพราะไม่มีทุน ข้าวปลาอาหารที่ใช้เลี้ยงดูก็อุดมสมบูรณ์อยู่รอบบ้านไม่ต้องไปซื้อหาที่ไหน หิวก็เข้าไร่นาเด็ดผัก ผลไม้มากิน เติบใหญ่ออกเรือนกันก็เข้าป่าไปตัดไม้มาสร้างเรือนที่มุมหนึ่งของนา การเรียน การศึกษาก็มีวัด มีพระคอยอบรมอยู่ทุกหัวระแหง ไม่ต้องดิ้นรนหาค่าเทอม ค่าหนังสือ ค่ากิจกรรมเสริมพิเศษ หรือค่าติวเตอร์ เจ็บไข้ได้ป่วยก็ไปหาสมุนไพรพื้นถิ่นรักษากันไปได้ หรือหากหนักหน่อยก็มีหมอประจำหมู่บ้านช่วยกันดูแล ไม่ต้องขายบ้านไปจ่ายค่ายา แต่พอเราผันตัวไปสู่ยุคอุตสาหกรรมที่ผมมักเหน็บแนมว่าเป็นการ “อุตส่าห์หากรรม” การณ์เลยกลับตาลปัตรไป ยิ่งมีลูกมากเท่าไหร่ก็ยิ่งเป็นภาระเท่านั้น ตั้งแต่ค่าฝากท้อง ค่าคลอด ค่านม ค่าเรียน ค่ารักษาพยาบาลล้วนเป็นภาระมากมาย ขนาดมีคำพูดว่ามีลูกคนหนึ่งจนไปเป็นสิบปี หรือมีลูกมากจะยากนาน
ด้วยเหตุนี้จึงเกิดการวางแผนครอบครัวขึ้น ซึ่งก็ไม่เฉพาะเพียงบ้านเรา อีกหลายประเทศก็ใช้นโยบายควบคุมจำนวนประชากรนี้เหมือนกัน จนเราไม่เคยนึกว่าจะมีประเทศไหนส่งเสริมให้มีลูก แต่ทุกสิ่งมีสองด้านเสมอครับ เมื่อมีประเทศวางแผนให้คนของตนมีลูกน้อย ก็มีบางประเทศที่ส่งเสริมให้คนมีลูกมากเช่นกัน ประเทศที่เขาอยากให้คนมีลูกเยอะๆ ยิ่งมีมากคนเป็นพ่อเป็นแม่ก็จะได้โบนัสจากรัฐบาลมาก ประเทศนั้นก็ใกล้ๆ เราเองคือประเทศสิงคโปร์
ปัจจุบันคนสิงคโปร์เขาไม่ค่อยยอมที่จะแต่งงานกันด้วย เพราะค่านิยมในการแข่งขันทำงานที่ต้องการมีหน้าที่การงานตำแหน่งงานสูงๆ หรือเป็นเจ้าของกิจการที่ประสบความสำเร็จ คนของเขาเลยมุ่งมั่นแต่ทำงาน หาเงิน ทุ่มชีวิตไปกับการ “ทำงาน” จนการ “แต่งงาน” การมีครอบครัวเป็นเรื่องไม่สำคัญนัก ก็ขนาดแต่งงานยังไม่อยากจะแต่งกัน ก็ยิ่งไม่ต้องพูดไปถึงขั้นการอยากมีลูกกันเลยครับ หากจะสาวหาเหตุ เหตุหนึ่งก็อาจด้วยเพราะประเทศเขาขาดแคลนทรัพยากรก็เป็นได้ ด้วยภูมิประเทศที่เป็นเกาะเล็กๆ ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่าอย่างน้ำมัน ไม่มีที่เพาะปลูกพืชผลเกษตรเพื่อส่งออก ทำให้วัฒนธรรมของเขาต้องขยันขันแข็งตั้งหน้าตั้งตาทำงาน
อีกทั้งในอดีตที่ต่อเนื่องมายาวนานจนถึงปัจจุบันเขามีผู้นำที่เน้นวินัยอย่างเข้มแข็ง คนจึงมีระเบียบมาก มีความมุ่งมั่นในงานสูงจนเกือบจะคล้ายๆ เป็นเครื่องจักรผลิตผลงาน อีกทั้งผู้ชายกับผู้หญิงแทบจะไม่ต่างกัน ผู้หญิงสิงคโปร์ไม่ได้เป็นช้างเท้าหลังที่คอยมาดูแลจัดการบ้าน หรือมาคอยปรนนิบัติพัดวีให้ การแต่งงานจึงเกิดขึ้นน้อย หรือแม้บางคู่ลงเอยแต่งงานกันก็ด้วยเพราะอยากมีคู่มาดูแลเติมเต็มชีวิตซึ่งกันและกัน ไม่ได้คิดอยากจะสร้างครอบครัวในลักษณะของการมีลูก บทสรุปสุดท้ายประเทศสิงคโปร์ทุกวันนี้จึงขาดแคลนประชากร จนผู้นำของเขาอดห่วงไม่ได้ว่าอนาคตอาจถึงขั้นสูญสิ้นประเทศ เพราะเมื่อไม่มีคนทำงานก็ไม่มีผลของงานออกมา
ไม่มีผลงานก็ไม่สามารถต่อกรกับคู่ค้าอื่นได้ จึงต้องไปนำเข้าแรงงานต่างชาติที่หากเข้ามามากเวลาผ่านจากรุ่นสู่รุ่นสุดท้ายอาจถูกกลืนประเทศ นโยบายสังคมของรัฐบาลเขาจึงส่งเสริมให้คนอยากมีลูกกันอย่างเต็มที่ มีโบนัสให้กับการมีลูกเพิ่ม มีการจัดสวัสดิการที่พัก วันลา วันหยุดให้ฟังแล้วก็ลองจินตนาการเล่นๆ อาจเห็นภาพประเทศเขาเป็นความเจริญเต็มไปด้วยเทคโนโลยี ผนวกกับความมุ่งมั่นขยันทำงานของคนในเมืองที่แม้จะดูทันสมัย แต่ก็รู้สึกได้ถึงการแข่งขันอย่างรุนแรง แม้จะไม่มีนอกเกม แต่ก็เต็มไปด้วยความร้อนระอุ เคร่งเครียด มาประกบกับภาพโบราณของเราที่อยู่กันกลางทุ่งนา ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ท้ายบ้านแกงส้มหัวบ้านก็ได้กินด้วย กลางบ้านตำน้ำพริกทั้งหัวทั้งท้ายบ้านก็ได้กินเช่นกัน ทั้งหมู่บ้านเป็นเหมือนครอบครัวใหญ่ เป็นเหมือนญาติกันหมด ไม่ทางพ่อ ทางปู่ ก็ทางย่า ทางยาย แม้อุปกรณ์อำนวยความสะดวกไม่มาก อาจหิว เหนื่อย ลำบาก แต่บ้านก็เปี่ยมด้วยความสุขด้วยสายใยรักพ่อแม่ลูก
แม้แต่เราจะหลงไปอุตส่าห์หากรรมกันแล้ววัฒนธรรมครอบครัวใหญ่ของเราก็ยังสืบทอดต่อมาไม่น้อย ค่านิยมการมีลูกไว้สืบสกุลก็ยังเข้มแข็งที่แม้ต่อมาการมีลูกสักคนจะมีปัญหาเรื่องการหาเงินมาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องของหลายชีวิตในครอบครัวดังที่เกริ่นในเบื้องต้น แต่ก็เป็นสถานการณ์ที่เกิดมาจากความรักเป็นหน้าที่ของสกุล ทำให้แม้ลำบากแต่ก็เปี่ยมไปด้วยความอบอุ่น ความรัก ความเสียสละ อิ่มก็อิ่มด้วยกัน หิวก็หิวด้วยกัน นึกแล้วอบอุ่นจังครับ ยุคนี้เขาฮิตคำว่าปฏิรูป ที่หากแปลความกันก็อาจได้ว่า “ปฏิ” แปลว่ากลับ “รูป” สิ่งที่รับรู้ได้ รวมกันก็คือกลับสู่บางสิ่งบางอย่าง ซึ่งขยายต่อก็คือการกลับไปสู่สิ่งที่ดีงามในอดีต
ดังนั้น ใครอยากปฏิรูปสังคมก็อาจเริ่มด้วยการนำค่านิยมครอบครัวอบอุ่นนี้กลับมาสู่ประเทศเรากันนะครับ