พจนานุกรมเวอร์ชั่นใหม่หนังสือสามัญประจำบ้าน
ถ้าทุกบ้านต้องมีตู้ยาสามัญประจำบ้านไว้ฉันใด บนชั้นหนังสือของทุกบ้านก็ต้องมีพจนานุกรม
ถ้าทุกบ้านต้องมีตู้ยาสามัญประจำบ้านไว้ฉันใด บนชั้นหนังสือของทุกบ้านก็ต้องมีพจนานุกรม เป็นหนังสือสามัญประจำบ้านที่บุคคลทุกสาขาอาชีพควรมีไว้ใช้เช่นกัน โดยเฉพาะพจนานุกรมขนานเอก อย่างพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 พิมพ์ครั้งที่ 2
เหตุผลคือ พจนานุกรมเล่มนี้เป็นเวอร์ชั่นที่ราชบัณฑิตยสถานหยิบมาชำระใหม่ล่าสุด และมีการเพิ่มคำศัพท์ใหม่ประมาณ 2,000 คำ จากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 โดยได้เพิ่มเติมคำศัพท์ใหม่ให้ทันต่อยุคสมัย ทั้งคำภาษาปาก คำศัพท์เฉพาะสาขาวิชา คำศัพท์ใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือแม้กระทั่งคำใหม่ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายแต่ยากแก่การอธิบาย ภายในเล่มมีคำศัพท์รวมประมาณ 3.9 หมื่นคำ
เวอร์ชั่นใหม่ ไฉไลกว่าเดิม
กนกวลี ชูชัยยะ เลขาธิการราชบัณฑิตยสถาน กล่าวว่า พจนานุกรมฉบับปรับปรุงใหม่ล่าสุดนี้ มีความพิเศษกว่าพจนานุกรมอีก 3 เวอร์ชั่น ที่ทางราชบัณฑิตยสถานเคยทำมา เพราะครั้งนี้มีการศึกษาจากพจนานุกรมของต่างประเทศ ว่า จะทำอย่างไรให้มีน้ำหนักเบา รูปแบบน่าสนใจ หลังจากการศึกษา จึงได้ข้อสรุปว่าจะใช้กระดาษในการจัดพิมพ์ชนิดพิเศษ มีคุณสมบัติทึบแสง ไม่ทะลุ น้ำหนักเบา จะเห็นว่า พจนานุกรมฉบับนี้จำนวนคำ และหน้ามากขึ้น แต่ย้ำหนักยังเบาเหมือนเทียบกับฉบับอื่นๆ กระดาษมีสีนวลตา และยังเข้าเล่มด้วยวิธีที่ดีที่สุดอย่างประณีต ช่วยให้หนังสือยืดหยุ่นเวลาเปิดปิด โดยพจนานุกรมฉบับนี้ใช้เวลาออกแบบถึง 2 ปี เพื่อให้มีคุณภาพทัดเทียมกับพจนานุกรมของต่างประเทศ
“ความพิเศษของพจนานุกรมฉบับนี้คือ ราชบัณฑิตยสถานจัดทำขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธ.ค. 2554 โดยในครั้งนั้นจัดพิมพ์จำนวน 1 แสนเล่ม เพื่อแจกจ่ายแก่สถาบันการศึกษาและหน่วยงานราชการ ทั้งนี้ นับตั้งแต่ราชบัณฑิตยสถานก่อตั้งมา 80ปี มีการชำระพจนานุกรมเพียง 4 ครั้งเท่านั้น โดยจะจัดทำในโอกาสสำคัญๆ ของประเทศ ได้แก่ ปี 2493 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ปี 2525 ในโอกาสเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ฉลอง 200 ปี ปี 2542 ในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ”
จุดเด่นของพจนานุกรมยังรวมถึง การนำคำศัพท์ใหม่อีกกว่า 2,000 คำ ที่ยังไม่เคยนำมาบรรจุไว้ในพจนานุกรม เล่มใดมาใส่ไว้สามารถจำแนกได้เป็น 4 หมวด ประกอบด้วย 1.คำศัพท์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้ในการพัฒนาเรื่องดิน น้ำ ป่าไม้ ลงในพจนานุกรม เช่น แกล้งดิน แก้มลิง กังหันน้ำชัยพัฒนา ทฤษฎีใหม่ เศรษฐกิจพอเพียง โครงการตามพระราชดำริ เป็นต้น 2.คำที่มาจากภาษาปาก เช่น ซัด ชั่วโมงบิน เซี้ยว 3.แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยาม คำศัพท์เฉพาะสาขาวิชาที่มีความสำคัญ เช่น ศัพท์กฎหมายไทย ศัพท์ประวัติศาสตร์ ศัพท์ดนตรีไทย ราชาศัพท์ ศัพท์พืชพรรณและพรรณสัตว์ ศัพท์ดนตรีไทย ศัพท์ดนตรีสากล และราชาศัพท์และ 4.คำที่มีในภาษาไทยที่รู้จักกันแพร่หลาย แต่ยังไม่มีในพจนานุกรม เช่น สปา ตัดต่อ ตัวสำรอง เด็ดสะระตี่ ดูดเสียง ตลาดนัดแรงงาน ของสูง ขายไม่ออก เป็นต้น
คำ...ก็เหมือนแฟชั่น
พจมาน พงษ์ไพบูลย์ ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ยกให้พจนานุกรมเป็นหนังสือสามัญประจำบ้าน ดังคำโบราณที่ว่า “สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล” พจมาน ยอมรับว่า ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสูงในชีวิตประจำวัน พจนานุกรมอาจไม่ใช่หนังสือที่เด็กๆ นึกถึง ยิ่งกว่านั้นปัจจุบันยังมีการใช้ภาษาผิดเพี้ยนกันมากในกลุ่มคนไทย ประเด็นนี้ พจมาน มองว่า คงไปห้ามการใช้ภาษาผิดๆ ไม่ได้ แต่ผู้ใหญ่สามารถช่วยได้ ด้วยการให้ปลูกฝังให้เด็กโตมากับหนังสือวรรณกรรมดีๆ เพื่อให้เด็กๆ ได้ซึมซับกันตัวอย่างภาษาดีๆ บทร้อยกรองที่ไพเราะ
“พจนานุกรมฉบับนี้ ใจกว้างมากขึ้น บรรจุภาษาปากหลายๆ คำเข้าไป แต่ต้องเข้าใจว่า คำบางคำก็ไม่สามารถบรรจุลงในพจนานุกรมได้ เพราะเกิดและดับไปในเวลาสั้นๆ เช่น เหวอ จุงเบย ฝุดๆ โดยหลักแล้วคำที่จะบรรจุลงในพจนานุกรมได้ ต้องเป็นคำที่ต้องมีการใช้ภาษาพูดและภาษาเขียนอย่างน้อย 5 ปี สำหรับในปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนในการเรียนการสอนมาก ถ้าสามารถนำพจนานุกรมไปใส่ในแท็บเล็ตได้ก็น่าจะมีประโยชน์ เพราะเราไม่สามารถไปห้ามหรือกันเด็กออกจากเทคโนโลยี แต่จะทำอย่างไรให้เทคโนโลยีมารับใช้การเรียนการสอน อย่างไรก็ตาม การอ่านพจนานุกรมในรูปแบบหนังสือก็ยังเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ เพราะการเปิดกลับไปกลับมา ทำให้ผู้ใช้ได้ทบทวนคำศัพท์ไปโดยไม่รู้ตัว”