การเจริญ อิทธิบาท 4

30 มีนาคม 2557

ท่านผู้อ่านที่เคารพ ธรรมซึ่งมีประโยชน์มากหมวดหนึ่ง คือ อิทธิบาท 4

ท่านผู้อ่านที่เคารพ ธรรมซึ่งมีประโยชน์มากหมวดหนึ่ง คือ อิทธิบาท 4 ประกอบด้วย ฉันทะ (ความพอใจ) วิริยะ (ความเพียร) จิตตะ (ความเอาใจใส่) และวิมังสา (ปัญญา) ด้วยว่าอิทธิบาท 4 นั้นเป็นบาทฐานแห่งความสำเร็จในการกระทำดีต่างๆ ทำให้อายุยืน อีกทั้งยังเป็นธรรมอุปถัมภ์การทำสมาธิไปถึงวิปัสสนา เพื่อพ้นจากทุกข์โดยสิ้นเชิง

ในวิภังคสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อิทธิบาท 4 เหล่านี้ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก...”

แต่แล้วจะเจริญอย่างไร ในพระสูตรและอรรถกถาดังกล่าวก็ได้ไขข้อข้องใจนี้ไว้ โดยสรุปดังนี้

การเจริญอิทธิบาท 4 เพื่อให้มีผลมากมีอานิสงส์มากนั้นต้องประกอบด้วย ฉันทสมาธิและปธานสังขาร/วิริยสมาธิและปธานสังขาร/จิตตสมาธิและปธานสังขาร/วิมังสาสมาธิและปธานสังขาร (ปธาน หมายถึง ความเพียร)

โดยวิธีการจะยกฉันทะมาเป็นตัวอย่าง ดังนี้ว่า

“ฉันทะ” ของเรา จักไม่ย่อหย่อนเกินไปฉันทะที่ย่อหย่อนเกินไปนั้นหมายถึงฉันทะที่ประกอบด้วยความเกียจคร้าน

ไม่ต้องประคองเกินไปฉันทะที่ต้องประคองเกินไป หมายถึง ฉันทะที่ประกอบด้วยอุทธัจจะคือความฟุ้งซ่าน

ไม่หดหู่ในภายในฉันทะที่หดหู่ในภายใน หมายถึง ฉันทะที่ประกอบด้วยถีนมิทธะคือความง่วง ความหดหู่ท้อถอย

ไม่ฟุ้งซ่านไปในภายนอกฉันทะที่ฟุ้งซ่านไปในภายนอก หมายถึง ฉันทะที่ฟุ้งซ่านไป พล่านไป ปรารภกามคุณ 5 (รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส) ในภายนอก

และเธอมีความสำคัญในเบื้องหลังและเบื้องหน้าอยู่ว่า เบื้องหน้าฉันใด เบื้องหลังก็ฉันนั้นหมายความว่า ความสำคัญในเบื้องหลังและเบื้องหน้า อันภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ยึดไว้ดีแล้ว กระทำไว้ในใจดีแล้ว ทรงไว้ดีแล้ว แทงตลอดดีแล้ว ด้วยปัญญา ภิกษุชื่อว่ามีความสำคัญในเบื้องหลังและเบื้องหน้าอยู่ว่า เบื้องหน้าฉันใด เบื้องหลังก็ฉันนั้น เบื้องหลังฉันใด เบื้องหน้าก็ฉันนั้น

เบื้องบนฉันใด เบื้องล่างก็ฉันนั้นหมายความว่า ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณากายนี้ เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมา เบื้องล่างแต่ปลายผมลงไป มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มด้วยของไม่สะอาด มีประการต่างๆ ว่า ในกายนี้ มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา มันเหลว น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร ภิกษุชื่อว่า มีความสำคัญอยู่ว่า เบื้องล่างฉันใด เบื้องบนก็ฉันนั้น เบื้องบนฉันใด เบื้องล่างก็ฉันนั้น

กลางวันฉันใด กลางคืนก็ฉันนั้นหมายความว่า ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยฉันทสมาธิและปธานสังขารในกลางวัน ด้วยอาการเหล่าใด ด้วยเพศเหล่าใด ด้วยนิมิตเหล่าใด เธอย่อมเจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยฉันทสมาธิและปธานสังขารในกลางคืน ด้วยอาการเหล่านั้น ด้วยเพศเหล่านั้น ด้วยนิมิตเหล่านั้น ย่อมเจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วย ฉันทสมาธิและปธานสังขารในกลางวัน ด้วยอาการเหล่าใด ด้วยเพศเหล่าใด ด้วยนิมิตเหล่าใด เธอย่อมเจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยฉันทสมาธิและปธานสังขารในกลางคืน ด้วยอาการเหล่านั้น ด้วยเพศเหล่านั้น ด้วยนิมิตเหล่านั้น ย่อมเจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วย ฉันทสมาธิและปธานสังขารในกลางคืน ด้วยอาการเหล่าใด ด้วยเพศเหล่าใด ด้วยนิมิตเหล่าใด เธอย่อมเจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยฉันทสมาธิและปธานสังขารในกลางวัน ด้วยอาการเหล่านั้น ด้วยเพศเหล่านั้น ด้วยนิมิตเหล่านั้น ภิกษุมีความสำคัญอยู่ว่า กลางวันฉันใด กลางคืนก็ฉันนั้น กลางคืนฉันใด กลางวันก็ฉันนั้น

เธอมีจิตเปิดเผย ไม่มีอะไรหุ้มห่อ อบรมจิตให้สว่างอยู่หมายความว่า อาโลกสัญญา (ความสำคัญว่าแสงสว่าง) อันภิกษุในธรรมวินัยนี้ ยึดไว้ดีแล้ว ความสำคัญว่า กลางวัน ตั้งมั่นดีแล้ว ภิกษุมีจิตเปิดเผย ไม่มีอะไรหุ้มห่อ อบรมจิตให้สว่างอยู่อย่างนี้แล

ย่อมเจริญอิทธิบาทประกอบด้วย วิริยสมาธิ... จิตตสมาธิ... วิมังสาสมาธิปธานสังขาร อิทธิบาท 4 อันภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ กระทำให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ย่อมสามารถกระทำความสำเร็จ เช่น การทำอภิญญา การกระทำให้แจ้ง เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้

Thailand Web Stat