posttoday

เปลื้องชุดนักโทษ เปลี่ยนมนุษย์จากที่คุมขัง

03 เมษายน 2557

ทุกวันนี้มีนักโทษ 2.34 แสนกว่าคน ในเรือนจำมากกว่า 188 แห่งทั่วประเทศไทย

โดย...พริบพันดาว โรดริเกวซ/ภาพ : iLaw

ทุกวันนี้มีนักโทษ 2.34 แสนกว่าคน ในเรือนจำมากกว่า 188 แห่งทั่วประเทศไทย ซึ่งอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ที่ทำหน้าที่ดูแลเรือนจำและนักโทษจากคดีต่างๆ

ตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ มาตรา 60 ระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยเครื่องแต่งกายสำหรับผู้ต้องขัง พ.ศ. 2538 ก็มีการกำหนดรายละเอียดชุดและสีของผู้ต้องขังไว้อย่างชัดเจน ล่าสุด เรื่องเครื่องแต่งกายผู้ต้องขังหรือเรียกตามภาษาปากง่ายๆ ว่า “ชุดนักโทษ” ได้มีการพูดถึงกันเล็กๆ เมื่อโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อสังคม หรือ iLaw (www.iLaw.or.th) ร่วมกับแฟนเพจเฟซบุ๊ก “คนห้องกรง” ได้จัดการประกวดออกแบบชุดนักโทษใหม่ ภายใต้แนวคิด “นักโทษก็เป็นคน” เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับการใช้งาน สวยงาม ทันยุคสมัย ไม่ล้าหลัง และไม่เป็นการละเมิดซ้ำต่อคนที่ต้องแบกรับโทษทัณฑ์อยู่แล้ว (หารายละเอียดการประกวดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ iLaw.or.th)

ก็ได้มีการตั้งคำถามถึงชุดนักโทษไทยที่เป็นอยู่ว่าไม่ดีจริงหรือ? รวมถึงอนาคตของชุดนักโทษไทยจะเป็นอย่างไร?

‘กรมคุก’ ไม่ขวาง

หลังจากที่มีการจัดประกวดออกแบบชุดนักโทษใหม่ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กอบเกียรติ กสิวิวัฒน์ ให้สัมภาษณ์สื่อต่างๆ ถึงโครงการนี้ว่า ตามหลักแล้ว รูปแบบและชุดผู้ต้องขังหรือนักโทษนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอด แต่ต้องพิจารณาด้วยว่ารูปแบบชุดใหม่นั้นเหมาะสมหรือไม่เพียงใด ทั้งในด้านความเป็นระเบียบเรียบร้อยภายในเรือนจำ ด้านงบประมาณที่ต้องใช้ รวมไปถึงความสบายในการสวมใส่ของผู้ต้องขัง

“ชุดในปัจจุบันทางกรมราชทัณฑ์เป็นผู้ออกแบบด้วยตัวเอง โดยเน้นถึงความเหมาะสมในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะการใช้งานภายในเรือนจำ คือ เพื่อแยกประเภทของผู้ต้องขังตามระดับชั้นได้สะดวก และการเลือกใช้ผ้าที่บางใส่สบาย เนื่องจากเมืองไทยเป็นเมืองร้อน ทั้งนี้ ปัจจุบันชุดผู้ต้องขังในประเทศไทยใช้ชุดแขนสั้น มีหลักๆ อยู่ด้วยกัน 2 สี คือ สีน้ำตาลลูกวัว และสีน้ำเงิน โดยแบ่งตามระดับชั้นของผู้ต้องขัง ได้แก่ ผู้ต้องขังระหว่างรอการพิจารณาคดีจะใช้สีน้ำตาลลูกวัว โดยจะเป็นชุดที่เห็นผู้ที่ถูกฝากขังเดินทางไปที่ศาล อีกประเภท คือ ผู้ต้องขังเด็ดขาด คือกระบวนการพิจารณาคดีเสร็จสิ้นแล้ว จะใช้สีน้ำเงิน ทั้งนี้ เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและใช้สังเกตเพื่อแยกแยะผู้ต้องขังแต่ละประเภทได้อย่างถูกต้อง

กอบเกียรติ ก็ไม่ได้ต่อต้านการประกวดออกแบบชุดนักโทษใหม่ พร้อมรับลูกว่า ทางกรมราชทัณฑ์ก็ยินดีรับรูปแบบชุดนักโทษใหม่ไว้พิจารณา แต่ต้องคำนึงถึงเรื่องของความเหมาะสม ประโยชน์ต่อการใช้งานจริง รวมถึงงบประมาณที่ได้รับด้วย ซึ่งในปัจจุบันกรมราชทัณฑ์ได้ออกแบบชุดนักโทษเป็นแบบฟรีไซส์ เพราะผู้ต้องขังมีขนาดรูปร่างที่แตกต่างกัน ถ้าต้องใช้หลายขนาดก็จะสั่งตัดได้ยาก ใช้เวลานาน และงบประมาณอาจไม่เพียงพอ โดยเน้นเรื่องของความประหยัดและใส่สบาย ตลอดจนความเป็นระเบียบเรียบร้อยต่อการใช้งานจริงอีกด้วย นอกจากนี้ ชุดผู้ต้องขังในปัจจุบันถูกออกแบบและใช้งานมานานแล้ว การเปลี่ยนแปลงใดๆ จึงต้องพิจารณาดูอย่างรอบคอบ

เปลื้องชุดนักโทษ เปลี่ยนมนุษย์จากที่คุมขัง

 

‘อุดมคติ’ ชุดนักโทษไทย

การประกวดออกแบบชุดนักโทษใหม่นั้น อานนท์ ชวาลาวัณย์ เจ้าหน้าที่ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw Project) เท้าความว่า เริ่มจากการที่พวกเขาไปศาลกันบ่อยๆ ได้เห็นภาพสะเทือนใจของผู้ที่อยู่ในชุดนักโทษและโซ่ตรวน

“งานของเราจะเกี่ยวกับคดีที่เกี่ยวกับเสรีภาพ ภาพหนึ่งที่เราเห็นติดตาเป็นประจำ ก็คือ ชายในชุดสีน้ำตาลเดินเท้าเปล่าลากตรวนมาในศาล เราก็ตั้งคำถามว่า การแต่งตัวแบบนี้ดูไม่ค่อยมีศักดิ์ศรีเท่าไหร่ เพราะโดยหลักการแล้ว คนที่มาศาลคือนักโทษที่คดียังไม่สิ้นสุด ซึ่งต้องสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะมีศาลสุดท้ายตัดสินออกมา คนเหล่านี้ทุกคนต้องมีสิทธิที่จะได้รับประกันตัวในการสู้คดี

เพราะฉะนั้น เวลาที่คนเหล่านี้มาศาลเขามาในฐานะผู้บริสุทธิ์เหมือนกับจำเลยที่มีสถานะได้รับการประกันตัว ซึ่งไม่มีอะไรต่างกันเลย แล้วต้องใส่ชุดนักโทษของกรมราชทัณฑ์มา เวลาคนมองก็จะมองเป็นคนที่แตกต่างออกไปว่าคือ คนที่ทำผิด เป็นคนไม่ดี คือเครื่องแบบนักโทษกับสถานะมันผูกด้วยกันอยู่ เราก็มาคุยถึงเรื่องนี้กัน แล้วก็คิดเป็นแคมเปญประกวดออกแบบชุดนักโทษขึ้นมา”

ทัณฑสถานเป็นแค่ที่คุมขังตัวนักโทษ ชุดนักโทษอย่ามาเป็นที่คุมขังจิตใจเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่ง ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ นักวิชาการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อสังคม มองว่า ในเรื่องเสื้อผ้า เนื้อผ้า การออกแบบ ของชุดในโทษในแง่แฟชั่นก็แล้วแต่จะมอง

“ชุดนักโทษของไทยดูเป็นนักโทษมากๆ คือเป็นชุดที่เดินมาก็รู้เลยว่า คุณเป็นคนที่มีสถานะพิเศษอะไรบางอย่าง เหมือนกับเขารู้สึกโดนกดศักดิ์ศรีอยู่ดี ในมุมของเราก็คิดว่า ถ้าได้ใส่อะไรที่เป็นผู้เป็นคนอย่างคนปกติเขาใส่กัน อย่างน้อยดูผ่านๆ มันก็ไม่เลวร้ายจนเกินไป จินตนาการเล่นๆ ว่า ถ้านักโทษได้ใส่เสื้อขาว กางเกงสแล็กส์ รองเท้าหนัง เป็นชุดที่ออกจากเรือนจำ ก็เป็นสิ่งที่ทุกคนใส่ได้ ก็น่าจะดูไม่แย่จนเกินไป ปัจจุบันนี้เป็นชุดที่คนปกติไม่ใส่กัน ทั้งเนื้อผ้าทั้งทรง ถ้าเลือกได้คงไม่มีใครอยากจะใส่

“จริงๆ แล้วแคมเปญนี้ เราคาดหมายว่าจะนำไปสู่การตั้งคำถามถึงขนาดว่า ชุดนักโทษจะมีต่อไปดีหรือเปล่า ไม่มีชุดนักโทษเลยเป็นเป้าหมายที่จะไปให้ถึง อยากจุดประเด็นคำถามเหล่านี้ให้เกิดขึ้น หลังจากได้แบบที่ได้ชุดชนะการประกวดแล้ว ก็ต้องเสนอกรมราชทัณฑ์ ระหว่างนั้นก็จุดประเด็นเรื่องชุดนักโทษในสังคมให้รับรู้ว่า ชุดนักโทษของไทยควรมีการเปลี่ยนแปลงได้แล้ว แต่จะเกิดขึ้นจริงค่อนข้างเป็นไปได้ยาก ทำใจไว้พอสมควรอยู่แล้ว”

เปลื้องชุดนักโทษ เปลี่ยนมนุษย์จากที่คุมขัง

 

ชุดนักโทษไทยในสายตานักวิจัยแฟชั่น

มายาคติของชุดนักโทษที่อยู่ในมโนทัศน์ของคนทั่วโลก ย่อมหลีกเลี่ยงไม่พ้นชุดนักโทษคลาสสิกลายขวางสีขาวสลับดำ ซึ่งมีมานานจนกลายเป็นภาพจำ โดยชุดนักโทษลายขวางถูกใช้ครั้งแรกในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 เพราะช่วยให้สามารถมองเห็นนักโทษแหกคุกได้ง่ายขึ้นเมื่ออยู่ในฝูงชน แต่ก็มีเจตนาที่จะลงโทษทางจิตวิทยาไปด้วยในตัว เพราะสำหรับคนในยุคนั้น เสื้อผ้าลายขวางเป็นเสื้อผ้าของโสเภณี ตัวตลก และพวกที่สังคมไม่ยอมรับ

แม้กระทั่งในภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด ชุดนักโทษสีส้มและสีฟ้าก็กลายเป็นความรู้สึกว่า เป็นชุดนักโทษที่ดูดี ด้วยอิทธิพลของสื่อบันเทิง กรณีตัวอย่างที่เห็นชัดว่าเสื้อนักโทษที่ใส่กันในหนังซึ่งสื่อถึงสมชายชาตรี แข็งแรง บึกบึน เนื่องจากความทรหดของผ้า ก็คือ Chambray มีอีกชื่อหนึ่งว่า Cambric สีน้ำเงิน จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า Prison Blue และเสื้อ Chambray ได้รับความนิยมสวมใส่เป็นแนวลำลองในช่วงยุคทศวรรษที่ 1980 และ 1990 จนกลายเป็นแฟชั่นไปทั่วโลก

สาธิต ธีรประเสริฐ คณบดีคณะอุตสาหกรรมสิ่งทอ และผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแฟชั่นแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ มองว่า การจะเปลี่ยนแปลงชุดนักโทษต้องดูที่การใช้ประโยชน์เป็นหลัก เนื้อผ้าที่มีความคงทนและสวมใส่สบายต้องมาเป็นอันดับแรก ส่วนการออกแบบก็แล้วแต่ความเหมาะสมของแต่ละประเทศไป

“ผมมองว่าชุดนักโทษต้องมีความคงทนที่สูงต่อการซัก ส่วนสีชุดนักโทษของบ้านเราออกไปทางน้ำตาลแดงก็เป็นสีที่ถูกกำหนดมาดั้งเดิมของกรมราชทัณฑ์ การออกแบบก็เน้นความสะดวกสบายใส่ง่ายถอดสะดวกเป็นหลัก”

แน่นอน ปัจจุบันสีน้ำตาลแดงหรือที่เรียกกันว่า สีน้ำตาลลูกวัวหรือสีอิฐ ถูกมองว่าเป็น “สีอัปมงคล” คนธรรมดาไม่ค่อยจะเลือกสวมใส่ เพราะเดี๋ยวจะมองว่าสีเหมือนนักโทษ สาธิต เสนอแนะทางออกว่า

“การเปลี่ยนแปลงรูปแบบก็ทำได้ โดยเฉพาะสีน่าจะทำให้มีหลายระดับ อย่างโทษหนักก็จะเป็นสีทึบที่ดูหม่นมืด เมื่อโทษลดลงเรื่อยๆ ก็ค่อยเปลี่ยนสีให้มีสีที่อ่อนโยนขึ้นไปตามลำดับ จนสุดท้ายจากสีที่ดูหม่นหมองกลายเป็นสบายตา โดยเฉพาะนักโทษที่จะพ้นโทษออกจากคุกควรให้ใส่สีเขียวดูสะอาดโปร่งตา เพื่อจะปรับระดับจิตใจของนักโทษว่า ใกล้จะเป็นคนธรรมดาแล้วไปเรื่อยๆ ซึ่งดีต่อความรู้สึกในการเตรียมตัวออกไปสู่โลกภายนอก”

เปลื้องชุดนักโทษ เปลี่ยนมนุษย์จากที่คุมขัง

ชุดนักโทษไทย

ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยเครื่องแต่งกายสําหรับผู้ต้องขัง พ.ศ. 2538

นักโทษเด็ดขาดชาย

ก.เสื้อคอกลมแขนสั้นแค่ศอก

ข.กางเกงขาสั้นเหนือเข่าพองาม

นักโทษเด็ดขาดหญิง

ก.เสื้อคอกลมผ่าหน้าเล็กน้อย แขนสั้นแค่ศอก

ข.ผ้าถุง

นักโทษเด็ดขาดที่อยู่ในชั้นดีขึ้นไป

ให้ใช้เครื่องแต่งกายเสื้อสีฟ้า กางเกงหรือผ้าถุงสีกรมท่า

สำหรับผู้ที่อยู่ชั้นกลางลงมา

ให้ใช้เครื่องแต่งกายเสื้อสีน้ำตาลอ่อน กางเกงหรือผ้าถุงสีน้ำตาลเข้ม

นักโทษเด็ดขาดชาย ผู้ได้รับการแต่งตั้งให้มีตําแหน่งหน?าที่ช่วยเหลือเจ้าพนักงานเรือนจํา

ก.เสื้อเชิ้ตสีเทาแขนสั้นแค่ศอก

ข.กางเกงขาสั้นสีกรมท่า

ค.เข็มขัดหนังสีดํา หัวเข็มขัดทําด้วยโลหะสีทองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าทางตั้งมุมมน มีเข็มสําหรับสอดรู 1 เข็ม

ง.รองเท้าผ้าใบและถุงเท้าสีดํา

นักโทษเด็ดขาดหญิง ผู้ได้รับการแต่งตั้งให้มีตําแหน่งหน้าที่ช่วยเหลือเจ้าพนักงานเรือนจํา

ก.เสื้อเชิ้ตสีเทาแขนสั้นแค่ศอก

ข.ผ้าถุงสีกรมท่า

คนต้องขังอื่นและคนฝาก

ให้ใช้เครื่องแต่งกายส่วนตัวของผู้ต้องขังนั้นๆ หากไม่มีและจําเป็น ให้จ่ายเฉพาะเสื้อ กางเกง หรือผ้าถุงที่กําหนดไว้ สําหรับนักโทษเด็ดขาดชั้นกลาง ตามความจําเป็นของผู้ต้องขังชายหรือผู้ต้องขังหญิงนั้น

ผู้ต้องขังในทัณฑสถานวัยหนุ่ม

ก.เสื้อคอปกโปโลแขนสั้นเหนือศอกเล็กน็อยสีขาว

ข.กางเกงขาสั้นแบบนักเรียน เอวติดตะขอมียางยืดด้านข้างทั้งสอง สีกรมท่า

ผู้ต้องขังป่วยที่พักรักษาตัวอย