เคยเกิดอะไรในทุ่งบางเขน
โอ้ทุ่งบางเขน แท้จริงเคยเป็นทุ่งรักทุกคนรู้จนประจักษ์ เป็นทุ่งรักสมศักดิ์บาง
โดย...โยธิน อยู่จงดี
“โอ้ทุ่งบางเขน แท้จริงเคยเป็นทุ่งรักทุกคนรู้จนประจักษ์ เป็นทุ่งรักสมศักดิ์บาง ไม่ทันไร น้ำใจน้องมาจืดจาง ทิ้งรอยไถห่าง ทิ้งคนหลังให้ห่วงหา” เนื้อท่อนแรกของเพลงรอยไถ เล่าถึงความรักของหนุ่มท้องนาที่ถูกแฟนสาวทอดทิ้ง เหลือไว้เพียงรอยไถที่เคยทำนาร่วมกัน สะท้อนสภาพท้องถิ่นและวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบางเขนที่เคยเน้นการทำนามาแต่เก่าก่อน แตในปัจจุบันแทบทุกตารางนิ้วของท้องทุ่งแปรเปลี่ยนเป็นความเจริญตึกแถวพาณิชย์ และหมู่บ้านจัดสรรจนแทบจะจำไม่ได้แล้วว่าที่นี่เคยเป็นอะไร และเคยเกิดอะไรขึ้นบ้าง
เมื่อเราขับรถมาตามถนนพหลโยธินมาจนถึงอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ก็จะรู้ได้ทันทีว่าตอนนี้เรากำลังอยู่ในเขตบางเขน เพราะเป็นเหมือนแลนด์มาร์ค ที่ทำให้ทุกคนจดจำเขตบางเขนนี้ได้ดีที่สุด อนุสาวรีย์นี้ออกแบบโดยหลวงนฤมิตรเลขการ มีลักษณะคล้ายลูกปืน ประดับกลีบบัวซ้อน 2 ชั้น มีบันไดวนรอบฐาน ส่วนบนสุดของเสาอนุสาวรีย์เป็นพานรัฐธรรมนูญ สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงการปราบกบฏบวรเดช เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2476นำโดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม นำกำลังทหารจากหัวเมืองภาคอีสานล้มล้างการปกครองของรัฐบาลปรีดี พนมยงค์
เหตุการณ์ในครั้งนั้นมีความหมายทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพราะเป็นกบฏแรกหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย และถือเป็นเหตุการณ์สำคัญอันนำมาสู่การสร้างสถานที่สำคัญๆที่เกี่ยวเนื่องจากเหตุการณ์ที่ทหารไทยเราต้องรบกันเองเพราะความขัดแย้งทางการเมือง
เมื่อกบฏบวรเดชได้นำทหารจากโคราชเดินทางผ่านดอนเมืองล้อมพระนคร ในชื่อแผนล้อมกวาง จนเข้ามาปะทะกับกำลังทหารรักษาเมืองที่บริเวณทุ่งบางเขน หรือบริเวณหลักสี่ โดยฝ่ายรัฐบาลตั้งกองรักษาการณ์ที่สถานีรถไฟบางซื่อ ส่วนกองกำลังกบฏตั้งอยู่ที่สถานีรถไฟหลักสี่ทหารทั้งสองฝ่ายปะทะกัน แต่ฝ่ายกบฏมีกำลังน้อยกว่าจึงถอยกลับไปที่โคราช พระองค์เจ้าบวรเดช และพระชายา ขึ้นเครื่องบินลี้ภัยไปที่เวียดนาม
ผู้ที่เกี่ยวข้องในการก่อการกบฏได้รับพระราชทานอภัยโทษ เพราะพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้สละราชสมบัติ จึงมีอภัยโทษประหารชีวิตเหลือเป็นจำคุกตลอดชีวิต ต่อมาจึงสร้างอนุสาวรีย์ปราบกบฏ และเปลี่ยนชื่อเป็นอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญเพื่อเตือนให้ระลึกถึงอำนาจประชาชนในระบบประชาธิปไตยที่ได้มาด้วยความยากลำบาก
มาถึงในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้เสนอคณะรัฐมนตรีให้สร้างวัดประชาธิปไตย (วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร) เพื่อเป็นอนุสรณ์การปกครองระบอบประชาธิปไตย จากนั้น พล.ร.ต.หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ได้เดินทางไปขอพระบรมสารีริกธาตุจากรัฐบาลอินเดียซึ่งทางรัฐบาลอินเดียเองก็ยินดีที่จะมอบพระบรมสารีริกธาตุที่ขุดพบที่มหาสถูปธรรมะราชิกะ รวมทั้งกิ่งพระศรีมหาโพธิ์ 5 กิ่ง ดินจากสังเวชนียสถานคือสถานที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และปรินิพพาน มาสถิตไว้เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2485
ภายในมีเจดีย์องค์เล็กประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และที่ผนังมีช่องบรรจุอัฐิของผู้ทำประโยชน์แก่ประเทศ ซึ่งรัฐบาลและสภาผู้แทนมีพระศรีสัมพุทธมุนีเป็นพระประธานในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยปางมารวิชัย บริเวณวัดเรายังได้เห็นต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่คณะทูตนำมาจากอินเดียปลูกและเติบโตอย่างสวยงาม
จากนั้นออกจากวัดเราเลี้ยวเข้าไปที่มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร เพื่อเข้าชมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเขตบางเขน แต่ดูเหมือนว่าหลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมาทำให้ข้าวของภายในพิพิธภัณฑ์เสียหายไปจำนวนไม่น้อย แต่ก็ยังพอทำให้เราทราบถึงวิถีชีวิตดั้งเดิมและเรื่องราวสำคัญๆ ที่เกิดขึ้นกับทุ่งบางเขนได้พอสมควร โดยเฉพาะภาพถ่ายประวัติศาสตร์เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 เสด็จพระราชดำเนินพร้อมพระอนุชาทอดพระเนตรทำนาและทรงหว่านข้าวเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2489 เป็นพระราชกรณียกิจสุดท้ายของพระองค์ท่าน ก่อนที่พระองค์ท่านจะสวรรคตเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2489 จึงมีการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 8 ด้านหน้าอาคารวิทยาลัยพุทธศาสตร์และปรัชญา ซึ่งใกล้กับบริเวณที่พระองค์ท่านทรงหว่านพืชเพื่อเป็นสิริมงคลแก่พสกนิกรชาวบางเขน เพราะเดิมทีเขตบางเขน หรือทุ่งบางเขนเดิมนั้นมีอาณาเขตกว้างขวางมาก ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมมีท้องนากว้างขวาง ซึ่งสมัยก่อนนั้นถือเป็นท้องที่ชานเมืองที่ห่างไกลความเจริญอย่างมาก
ภายในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเขตบา
งเขนก็จะมีข้าวของเครื่องใช้เก่าๆ รวมไปถึงอุปกรณ์โสตทัศนศึกษารุ่นเก่าที่เคยใช้ในการเรียนการสอนของครูสมัยก่อนจัดวางอยู่ภายใน เพราะใกล้กันกับพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ก็ยังมีพิพิธภัณฑ์การฝึกหัดครูไทยตั้งในมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครอยู่ด้วยเหมือนกัน
ภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เราจะได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ การเรียนการสอนผ่านภาพถ่ายเก่า ถึงยุคที่ต้องเรียนกับพระอาจารย์ในวัด มาจนถึงการตั้งโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ในสมัยรัชกาลที่ 5 ไล่มาจนถึงการตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูพระนคร บางเขน ต่อมาเปลี่ยนเป็นวิทยาลัยครูพระนคร ซึ่งก็คือมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครในปัจจุบัน
ระหว่างการเดินชมพิพิธภัณฑ์ก็มีเทคโนโลยีภาพและเสียงเข้ามาช่วยอธิบาย เมื่อเราเดินเข้าไปใกล้ๆ หรือต้องการกดฟังเสียงบรรยาย หรือบางจุดก็มีโทรศัพท์โบราณให้เรายกหูฟังข้อมูลก็นับว่าเป็นการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำให้พิพิธภัณฑ์น่าสนใจไม่น้อย
ทั้งหมดล้วนเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในท้องทุ่งบางเขนที่เวลานี้ไม่เหลือภาพท้องนาเก่า แต่สิ่งที่ยังคงอยู่ก็คือประวัติศาสตร์การเมืองนับแต่ครั้งกบฏบวรเดช การเมืองในประเทศไทยก็ดูเหมือนจะวนเวียนอยู่กับการปฏิวัติซ้ำแล้วซ้ำเล่า จากเหตุการณ์ทหารไทยรบกันเอง มาถึงความแตกแยกสามัคคีให้คนไทยเกลียดชังกันและกัน แล้วอย่างนี้อนุสาวรีย์และอนุสรณ์สถานต่างๆ แห่งทุ่งบางเขน จะมีความหมายอะไร