posttoday

100 ปี คู่คนไทย ท่าอากาศยานดอนเมือง

13 เมษายน 2557

เป็นเวลา 1 ศตวรรษแล้วที่กิจการการบินของสยามประเทศได้เริ่มต้นขึ้น

เป็นเวลา 1 ศตวรรษแล้วที่กิจการการบินของสยามประเทศได้เริ่มต้นขึ้น ในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เมื่อ ชาร์ลส์ ฟาน เดน บอร์น นำเครื่องบินแบบปีกสองชั้นแบบอองรี ฟาร์มัง มาแสดงการบินเป็นครั้งแรกในแผ่นดินสยาม ณ สนามม้าสระปทุม หรือสนามราชกรีฑาสโมสรในปัจจุบัน ซึ่งต่อมาเรียกกันว่าสนามบินสระปทุม จากนั้นกิจการการบินในสยามก็เกิด ขึ้น โดยกระทรวงกลาโหมขณะนั้นได้สั่งซื้อเครื่องบินแบบเบรเกต์และแบบนิเออปอรต์จากประเทศฝรั่งเศสมาใช้ในกิจการ และมีการ ส่งนายทหารไปศึกษาวิชาการบินที่ประเทศฝรั่งเศสอีกด้วย

ปี 2457 เนื่องจากสนามบินสระปทุมมีพื้นที่จำกัดไม่เหมาะสำหรับที่จะใช้เป็นสนามบินถาวร จึงได้มีการหาสถานที่แห่งใหม่แทนสนามบินสระปทุม ซึ่งจากการสำรวจพบว่าพื้นที่ตอนเหนือของกรุงเทพฯ ใน อ.บางเขน ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “ดอนอีเหยี่ยว” มีความเหมาะสม เพราะเป็นที่ดอนไม่ห่างจากพระนครมากนัก ดังนั้น กระทรวงกลาโหมจึงซื้อที่ดินและเวนคืนที่ดินบางส่วน รวมทั้ง มีการสร้างโรงเก็บเครื่องบินและอาคารที่ทำการแล้วเสร็จ และเรียกชื่อสนามบินนี้ว่า “สนามบินดอนเมือง”

100 ปี คู่คนไทย ท่าอากาศยานดอนเมือง

 

นอกจากนี้ ยังมีนายทหารนักบินของประเทศไทย 3 นาย ได้แก่ นายพันโทพระเฉลิมอากาศ นายพันตรีหลวงอาวุธสิขิกร และนายร้อยเอกหลวงทะยานพิฆาต ได้นำเครื่องบินแบบนิเออปอรต์และเบรเกต์ลงที่สนามบินดอนเมืองเป็นปฐมฤกษ์

ปี 2462 มีการทดลองทำการบินรับส่งไปรษณีย์ระหว่างกรุงเทพฯ กับจันทบุรี ด้วยเครื่องบินเบรเกต์ (Breguet XIV) ซึ่งเป็นเครื่องบินทหารที่ได้ดัดแปลงมาใช้งานขนส่งทางอากาศ นับว่าประเทศไทยได้ก้าวเข้ามาสู่การบินก่อนหน้าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ การทดลองทำการบินได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ต่อมาจึงได้มีการขนส่งผู้โดยสารในเส้นทางนี้ด้วย

ปี 2491 รัฐบาลได้ปรับปรุงสนามบินดอนเมืองครั้งใหญ่ และได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ท่าอากาศยานดอนเมือง” โดยยกฐานะเป็นท่าอากาศยานสากล

100 ปี คู่คนไทย ท่าอากาศยานดอนเมือง

 

ปี 2498 มีการเปลี่ยนชื่อท่าอากาศยานดอนเมืองอีกครั้ง เป็น “ท่าอากาศยานกรุงเทพ” โดยมีกรมการบินพลเรือน กองทัพอากาศ เป็นหน่วยงานบริหารท่าอากาศยาน

ปี 2508 นางงามจักรวาลคนแรกของไทย อาภัสรา หงสกุล เดินทางกลับบ้านถึงท่าอากาศยานดอนเมืองด้วยสายการบินสแกนดิเนเวียน แอร์ไลน์ส

ปี 2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ทรงรับประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน ณ สนามบินดอนเมือง

ปี 2522 การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย หรือปัจจุบัน คือ บริษัท ท่าอากาศยานไทย ในชื่อย่อ ทอท. ได้เริ่มดำเนินกิจการและเข้าบริหารงานท่าอากาศยานกรุงเทพต่อจากกรมการบินพลเรือน กองทัพอากาศ

100 ปี คู่คนไทย ท่าอากาศยานดอนเมือง

 

ปี 2531 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ส่งเสด็จเจ้าหญิงไดอานา ที่สนามบินดอนเมือง

ปี 2549 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเริ่ม เปิดให้บริการ ท่าอากาศยานกรุงเทพได้ ลดบทบาทลง และเนื่องจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นท่าอากาศยานหลักของกรุงเทพฯ จึงมีการเปลี่ยนชื่อท่าอากาศยานกรุงเทพ มาเป็นท่าอากาศยานดอนเมือง และใช้ชื่อนี้มาจนปัจจุบัน

ปี 2554 ระหว่างเดือน ส.ค. ถึงเดือน พ.ย. เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในหลายจังหวัด ของประเทศไทย รวมถึงบริเวณโดยรอบ และภายในท่าอากาศยานดอนเมือง ทำให้ ไม่สามารถเปิดบริการทางการบินได้ตามปกติ ในขณะนั้นท่าอากาศยานดอนเมืองได้อำนวยความสะดวกในด้านสถานที่เพื่อเป็น “ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย” หรือ ศปภ.

100 ปี คู่คนไทย ท่าอากาศยานดอนเมือง

 

ปี 2555 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ ท่าอากาศยานดอนเมืองมีบทบาทในการรองรับสายการบินโลว์คอสต์ เพื่อเป็นเส้นทางการบินในประเทศ รวมทั้งระหว่างประเทศแบบจุด ต่อจุด บนหลักการของความสมัครใจของ สายการบิน โดยใช้ท่าอากาศยานดอนเมืองควบคู่กับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

ปี 2555 ท่าอากาศยานดอนเมืองเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในการรองรับสายการบินโลว์คอสต์อย่าง สายการบินไทยแอร์เอเชีย ที่ย้ายการให้บริการจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมายังท่าอากาศยานดอนเมือง

ปี 2557 ท่าอากาศยานดอนเมืองก้าวเข้าสู่ปีที่ 100 ของการดำเนินงาน

100 ปี คู่คนไทย ท่าอากาศยานดอนเมือง