posttoday

การพัฒนาประเทศและเศรษฐกิจของมาเลเซีย

19 เมษายน 2557

การจะพัฒนาประเทศใดประเทศหนึ่งย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย จำเป็นที่จะต้องมีการวางแผนและมียุทธศาสตร์อย่างเป็นระบบ

การจะพัฒนาประเทศใดประเทศหนึ่งย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย จำเป็นที่จะต้องมีการวางแผนและมียุทธศาสตร์อย่างเป็นระบบ ซึ่งจะต้องเหมาะสมกับสภาพสังคมและเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ที่ผ่านมาหลายประเทศล้มเหลวในการพัฒนา แต่ก็มีอีกปลายประเทศที่ประสบผลสำเร็จและกลายเป็นต้นแบบที่น่าสนใจ มาเลเซียคือหนึ่งในนั้น อะไรคือปัจจัยและแรงผลักดันให้มาเลเซียสามารถทำสิ่งนี้ได้

จุดเปลี่ยนสำคัญของประเทศมาเลเซีย คือการประกาศ Vision 2020 โดยอดีตนายกรัฐมนตรี ดร.มหาเธร์ มูฮัมหมัด เมื่อปี ค.ศ. 1991 ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายว่า มาเลเซียจะต้องก้าวขึ้นเป็นประเทศพัฒนาแล้วให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2020 โดยไม่เน้นการพึ่งพาชาติตะวันตก มาเลเซียจึงเน้นการพัฒนาในทุกๆ มิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยี เศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรมและจิตวิญญาณของประชาชน

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว มาเลเซียจะต้องมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้ได้ปีละ 7% ในช่วงแรกเริ่ม หากแต่ว่าวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2007-2010 ได้ทำให้ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลง ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวอีกครั้ง รัฐบาลมาเลเซียในยุคของนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัค จึงได้ประกาศนโยบาย “1 Malaysia” เพื่อเร่งปฏิรูปประเทศให้เป็นไปตามเป้าหมายของ Vision 2020

การพัฒนาประเทศและเศรษฐกิจของมาเลเซีย

การพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจของมาเลเซีย ทำให้มีความต้องการใช้พลังงานในปริมาณเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ถึงแม้ว่าจะเป็นประเทศที่อุดมไปด้วยทรัพยากรเชื้อเพลิง แต่มาเลเซียก็มีปริมาณก๊าซธรรมชาติสำรองเพียงแค่ 33 ปี และมีปริมาณน้ำมันสำรองเพียง 19 ปีเท่านั้น ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องมีมาตรการในการบริหารจัดการทรัพยากรเหล่านี้อย่างยั่งยืน

ในอดีตมาเลเซียผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก เพราะว่ามีทรัพยากรเหล่านี้อยู่มาก แต่ในปัจจุบันนโยบายทางด้านพลังงานก็ต้องปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ เพราะเมื่อมีการคำนวณปริมาณน้ำมันและก๊าซธรรมชาติสำรองแล้วพบว่า มีปริมาณจำกัดและไม่มีความมั่นคงทางด้านราคา ดังนั้นภาคอุตสาหกรรมจึงตั้งคำถามว่า พวกเขาจะอยู่ได้อย่างไรถ้าหากไม่มีความมั่นคงทางด้านพลังงาน สิ่งที่มาเลเซียปฏิบัติ ณ เวลานี้ คือให้ความสำคัญกับพลังงานหมุนเวียน พลังงานไฟฟ้าที่ได้มาจากถ่านหิน และยังรวมถึงพลังงานไฟฟ้าที่ได้มาจากน้ำอีกด้วย

การพัฒนาประเทศและเศรษฐกิจของมาเลเซีย

 

ถึงแม้ว่ามาเลเซียจะมีเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำขนาดมหึมา ที่มีชื่อว่าเขื่อน Bagun ที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ถึง 2,400 เมกะวัตต์ แต่ก็ยังไม่ถือเป็นพลังงานหลักของการผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศ เพราะในปัจจุบันการผลิตไฟฟ้ากว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ ยังต้องใช้ก๊าซธรรมชาติ ส่วนอีก 35-40% มาจากถ่านหินและที่เหลือเป็นพลังงานทางเลือกอื่นๆ

ด้วยต้นทุนของถ่านหินที่มีราคาค่อนข้างถูกและยังหาซื้อได้ง่าย มาเลเซียจึงพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันนี้มาเลเซียมีโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ถึง 46 แห่ง มีกำลังการผลิตรวมกันกว่า 9,000 เมกะวัตต์ และยังมีโครงการขยายเพิ่มอีก 2,000 เมกะวัตต์ ทำให้ต้องมีการนำเข้าถ่านหินถึงปีละกว่า 40 ล้านตันจากออสเตรเลีย อินโดนีเซียและแอฟริกาใต้

การพัฒนาประเทศและเศรษฐกิจของมาเลเซีย

 

ในส่วนของภาคประชาชนนั้น ที่ผ่านมารัฐบาลมาเลเซียเคยให้การอุดหนุนค่าไฟฟ้า เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศและสร้างการพัฒนาทางสังคม ตัวอย่างคือโรงเรียนและสถานศึกษาของรัฐบาล จะได้รับส่วนลดค่าไฟฟ้า 10% ส่วนภาคอุตสาหกรรมนั้น มีการจ่ายภาษีในอัตราพิเศษที่เรียกว่า Special Industrial Tariff หรือ SIT ซึ่งนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1997 เป็นต้นมา มาเลเซียไม่เคยได้ทบทวนโครงสร้างภาษีค่าไฟฟ้าดังกล่าว จนล่าสุดรัฐบาลได้ประกาศขึ้นภาษีค่าไฟฟ้า เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 15% ก็ได้สร้างความตื่นตัวให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศ

แม้ว่าการปรับขึ้นภาษีค่าไฟฟ้าเมื่อต้นปีที่ผ่านมานี้ จะไม่ส่งผลกระทบต่อภาคครัวเรือนมากนัก เนื่องจากมีหลักเกณฑ์ว่าครัวเรือนไหนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ไม่ต้องปรับขึ้นภาษีค่าไฟฟ้า แต่ดูเหมือนว่าภาคอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบโดยตรง จากการปรับขึ้นภาษีค่าไฟฟ้าดังกล่าว ซึ่งท้ายที่สุดแล้วผู้บริโภคก็จะได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าที่สูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตนั่นเอง อย่างไรก็ตาม คงปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งความต้องการใช้ไฟฟ้าก็ต้องเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ดังนั้นจึงเป็นความท้าทายที่ประเทศมาเลเซียจะต้องเผชิญ เพื่อพิสูจน์ว่านโยบายทางด้านพลังงานที่ผ่านมา มีส่วนในการพัฒนาประเทศและเศรษฐกิจตามนโยบาย Visioan 2020 มากน้อยขนาดไหน