เทคนิคการบริหารความเสี่ยงในชีวิต (Risk Management)
คนทุกคนกำลังเดินอยู่บนสะพานแห่งชีวิต ความผิดพลาดอาจเกิดขึ้นได้เสมอ
โดย...ณรงค์วิทย์ แสนทอง /ภาพ คลังภาพโพสต์ทูเดย์
คนทุกคนกำลังเดินอยู่บนสะพานแห่งชีวิต ความผิดพลาดอาจเกิดขึ้นได้เสมอ ถ้าประมาทและขาดการวางแผนที่ดี อย่างไรก็ตาม แม้จะดำเนินชีวิตด้วยการวางแผนที่ดีและมีความรอบคอบเพียงใด แต่บางครั้งความผิดพลาดก็เกิดขึ้นได้ เราคงเคยเห็นชมรมคนเคยรวย นักร้องตกยาก นักกีฬาตกอับ หรือดาราอับแสงกันอยู่บ่อยๆ บางคนถึงขั้นทำใจไม่ได้ ต้องใช้เวลานานถึงนานมากในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพของชีวิตที่ตกต่ำ ยิ่งคนไหนมีลักษณะ “จมไม่ลง” ชีวิตก็ยิ่งสับสน เพราะสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปแล้วแต่ยังทำใจยอมรับไม่ได้
ทุกคนคงเคยได้ยินคำว่า การบริหารความเสี่ยง (Risk Management) ในเชิงธุรกิจกันมาบ้าง แต่ยังไม่เคยเห็นใครสอนเรื่องการบริหารความเสี่ยงในชีวิตเลย ความเสี่ยงในชีวิต แม้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่จัดการได้ เช่น การผ่อนหนักให้เป็นเบา การลดผลกระทบหรือทำให้เกิดช้าลง ในที่นี้ขอแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ
ความเสี่ยงในการดำรงชีวิต (Basic Risk) หมายถึง ความเสี่ยงต่อการอดข้าวอดน้ำ ไม่มีที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม การมีสังคม หรือปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการมีชีวิตอยู่ ความเสี่ยงประเภทนี้ สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนทุกสังคม คนส่วนมากสามารถบริหารและจัดการกับความเสี่ยงประเภทนี้ได้ เพราะเป็นความเสี่ยงที่คนเราคุ้นเคยมาตั้งแต่เกิด
ความเสี่ยงในการพัฒนาชีวิต (Opportunity Risk) ความเสี่ยงประเภทนี้เป็นความเสี่ยงที่จะทำให้ชีวิตของคนดีขึ้นกว่าความเป็นมนุษย์ตามธรรมชาติ หรืออาจจะเรียกง่ายๆ ว่าเป็นความเสี่ยงแห่งโอกาสในการพัฒนาชีวิตให้ดีขึ้น เช่น การเรียนรู้ก็จะมีความเสี่ยงที่จะมีการเรียนรู้ที่ผิดๆ หน้าที่การงานก็มีความเสี่ยงต่อความไม่ก้าวหน้าหรือก้าวหน้าช้ากว่าผู้อื่น ด้านการเงินก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นหนี้และเกิดภาวะขัดสน ด้านเกียรติยศชื่อเสียงก็มีความเสี่ยงต่อการเสื่อมเสีย
คนทั่วไปมักมีความรู้สึกว่าความเสี่ยงเป็นเรื่องที่ไม่ดี แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความเสี่ยงมีทั้งสิ่งที่ดีและสิ่งไม่ดีแฝงเร้น เหมือนภาษาธุรกิจที่กล่าวว่า เบื้องหลังวิกฤตมักมีโอกาสซ่อนอยู่ ดังนั้น ผมจึงอยากให้ทุกคนลองมองความเสี่ยงในชีวิตให้เป็นโอกาส ลองมองความเสี่ยงเป็นโจทย์ของชีวิต ลองฝึกบริหารความเสี่ยงในชีวิตดูบ้าง
เพื่อให้ชีวิตเราพร้อมที่จะจัดการกับความเสี่ยงทุกประเภท จึงขอแนะนำขั้นตอนการบริหารความเสี่ยงในชีวิตดังนี้
1.ประเมินความเสี่ยง ให้ลองลิสต์หรือเขียนความเสี่ยงในชีวิตของเราดูว่ามีอะไรบ้าง เช่น เสี่ยงต่อการตกงาน เสี่ยงต่อการอกหัก เสี่ยงต่อการเป็นหนี้ เสี่ยงต่อการติดคุก เสี่ยงต่อโรคเอดส์ เสี่ยงต่อความแตกแยกในครอบครัว ฯลฯ เพื่อให้เราได้มองเห็นภาพว่าในความเป็นจริงแล้ว ชีวิตของเรามีความเสี่ยงอะไรบ้าง ด้านไหนของชีวิตที่มีความเสี่ยงสูง ด้านไหนที่มีความเสี่ยงน้อย
2.กำหนดทางเลือกในการบริหารความเสี่ยง ให้ลองกำหนดทางในการเลือกเพื่อจัดการให้ความเสี่ยงในแต่ละเรื่องลดลง เช่น ถ้าไม่ต้องการเป็นหนี้ ก็ควรจัดทำแผนการเงินไว้ล่วงหน้า ถ้าไม่ต้องเสี่ยงต่อการเป็นเอดส์ก็ไม่ควรไปเที่ยว หรือมีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ซึ่งในแต่ละความเสี่ยงอาจจะมีทางเลือกได้หลายทางเลือก แล้วค่อยพิจารณาว่าทางเลือกไหนจึงจะเหมาะสมมากที่สุดสำหรับลดความเสี่ยงในชีวิตในเรื่องนั้นๆ
3.ดำเนินการบริหารความเสี่ยง เมื่อมีการวางแผนในการบริหารความเสี่ยงไว้แล้ว เมื่อถึงเวลาที่เราต้องเผชิญหน้ากับความเสี่ยง ก็ขอให้ตั้งสติให้ดี ใช้ปัญญาเอาชนะความกลัว ดำเนินการตามแนวทางที่ได้กำหนดไว้ตั้งแต่ต้น เช่น ถ้าเราไม่ได้รับการเลื่อนตำแหน่ง ก็อย่าเพิ่งท้อ ให้คิดว่าเราจะได้มีเวลาพัฒนาตัวเองเพิ่มมากขึ้น ถ้าเราจำเป็นต้องเป็นหนี้คนอื่น ขอให้คิดว่าเป็นหนี้ได้ก็ต้องหมดหนี้ได้ สิ่งสำคัญอย่าไปตื่นเต้นตกใจกับผลของความเสี่ยง ไม่ว่าผลนั้นจะดีหรือไม่ดี หน้าที่ของเราในตอนนี้คือทำใจให้ยอมรับผลของความเสี่ยงที่เกิดขึ้นให้ได้
4.ประเมินผลการบริหารความเสี่ยง เมื่อความเสี่ยงในเรื่องนั้นๆ ผ่านไปแล้ว ให้ลองคิดทบทวนดูว่าผลที่เกิดขึ้นนั้นเป็นไปตามที่เราต้องการหรือไม่ มีข้อผิดพลาดในการบริหารความเสี่ยงตรงไหนบ้าง แล้วนำผลไปใช้ในการบริหารความเสี่ยงด้านอื่นๆ ต่อไป
สรุป ชีวิตทุกชีวิตมีความเสี่ยง ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้ ชีวิตใดไม่มีความเสี่ยงชีวิตนั้นไม่มีโอกาสแห่งความก้าวหน้า ดังนั้น คนที่รักความก้าวหน้า จึงต้องกล้าเผชิญหน้ากับความเสี่ยง โดยอาศัยเทคนิคและวิธีการในการบริหารจัดการกับความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ