posttoday

ภาษาอังกฤษ ยาขมที่คนไทยต้องกลืน

30 เมษายน 2557

นับวัน “ภาษาต่างชาติ” ยิ่งขยับเข้ามามีความสำคัญกับคนไทยมากขึ้น ไม่ใช่แต่เฉพาะภาษาอังกฤษที่เราถูกกรอกหูมาตั้งแต่เด็กว่า ต้องพูด ฟัง อ่าน เขียน ให้คล่อง

โดย...พุสดี สิริวัชระเมตตา ภาพ คลังภาพโพสต์ทูเดย์

นับวัน “ภาษาต่างชาติ” ยิ่งขยับเข้ามามีความสำคัญกับคนไทยมากขึ้น ไม่ใช่แต่เฉพาะภาษาอังกฤษที่เราถูกกรอกหูมาตั้งแต่เด็กว่า ต้องพูด ฟัง อ่าน เขียน ให้คล่อง เพราะสมัยนี้ถ้าจะอยู่ในระยะปลอดภัยต้องสามารถสื่อสารภาษาที่ 3 ได้ ยิ่งในปี 2558 ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (AEC) อย่างเต็มตัว หลายภาคส่วนเริ่มเตรียมความพร้อม แต่สิ่งสำคัญที่ต้องไม่ลืมเช็กสภาพคือ ศักยภาพด้านภาษาอังกฤษของคนไทย

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เอ็ดดูเคชั่น เฟิร์สท์ (อีเอฟ) สถาบันภาษายักษ์ใหญ่ในประเทศอังกฤษ เปิดเผยการจัดอันดับการใช้ภาษาอังกฤษของ 60 ประเทศทั่วโลกที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ประจำปี 2013 พบว่า ไทยอยู่อันดับที่ 55 จาก 60 ประเทศ โดยร่วงจากอันดับเดิมที่ 53 ในปี 2012 และอยู่ในอันดับรั้งท้ายสุดในอาเซียน

นี่คือสัญญาณสำคัญที่สะท้อนศักยภาพการใช้ภาษาอังกฤษของคนไทย และเป็นเสียงไซเรนที่กระตุ้นให้คนไทยต้องหันกลับมาดูตัวเองว่ายังมองภาษาอังกฤษเป็นยาขมหรือเปล่า

ปรับความคิด พลิกมุมมอง

ดวงฤดี เจริญบัณฑิต อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาอังกฤษ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ปัญหาการใช้ภาษาอังกฤษของคนไทย ว่ามีปัญหาตั้งแต่ทัศนคติที่มีต่อการเรียนภาษาอังกฤษ เพราะคิดว่าเรียนไปเพื่อสอบ แต่ไม่ได้คิดว่าเป็นเครื่องมือสื่อสารที่จำเป็น คนไทยยังติดกรอบว่า เราเรียนภาษาอังกฤษในฐานะภาษาต่างชาติ (English as Foreign Language) แต่ไม่ได้เรียนในฐานะเป็นภาษาที่สอง (English as Second Language) เหมือนสิงคโปร์ มาเลเซีย

“ต้องยอมรับว่าศักยภาพการใช้ภาษาอังกฤษของเด็กไทยดีขึ้นกว่าในอดีตมาก เพราะมีแหล่งรับข้อมูลข่าวต่างประเทศให้ติดตามความสนใจมากขึ้น แต่การรับข้อมูลเหล่านี้อาจยังไม่มากพอ บวกกับวัฒนธรรมของคนไทยยังติดขี้อาย กลัวเสียฟอร์ม ไม่กล้าสื่อสาร กลัวพูดผิด ทำให้ความลื่นไหลในการสื่อสารเสียไป จึงอยากให้มองว่าฝรั่งเวลาหัดพูดภาษาไทย หลายคนก็พูดผิด ออกเสียงเพี้ยน แต่คนไทยก็มองเป็นความน่ารัก ดังนั้น ถ้าเราจะพูดภาษาอังกฤษไม่ถูกต้องทั้งหมดก็คงไม่เป็นไร อยากให้คนไทยรู้จักให้อภัยตัวเอง และคิดว่าการสื่อสารภาษาอังกฤษบ่อยๆ เป็นการฝึกฝน”

ถามถึงความพร้อมในการใช้ภาษาอังกฤษของคนไทย เพื่อต้อนรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน อ.ดวงฤดี มองว่า ภาษายังเป็นปัญหาสำหรับคนไทย ต้องเข้าใจว่าการเรียนภาษาไม่ใช่เรื่องที่สามารถฝึกฝนได้ในช่วงข้ามคืน แต่อย่างน้อยถ้าคนไทยเริ่มตื่นตัวและฝึกฝนก็ยังไม่สาย ขอให้เปิดหูเปิดตาและเปิดใจรับสื่อภาษาอังกฤษ พยายามเลียนสำเนียงการออกเสียงของเจ้าของภาษา เพราะการเลียนแบบคือ หนึ่ง ในหัวใจสำคัญของการเรียนภาษาอังกฤษ

สอดคล้องกับความเห็นของ รศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเรืองสุข กรรมการบริหารและหัวหน้าหลักสูตรการบริหารงานบุคคล สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองปัญหาการใช้ภาษาอังกฤษของแรงงานไทย ว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากระบบการศึกษาไทยที่มีปัญหา เด็กเรียนมาก็ไม่ได้ใช้ พอเข้าสู่ตลาดแรงงาน ก็ขาดแรงจูงใจในการพัฒนาภาษา ยังทำงานกับบริษัทคนไทยใช้ภาษาไทยเป็นหลัก ไม่เห็นความสำคัญของการพัฒนาภาษาอังกฤษ

ภาษาอังกฤษ ยาขมที่คนไทยต้องกลืน

 

 “คนไทยต้องเลิกพูดว่า เราไม่ใช่เมืองขึ้นของชาติอื่น เลยพูดภาษาอังกฤษได้ไม่ดีเท่า ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย หรือสิงคโปร์ แต่ปัญหาจริงๆ คือ คนไทยไม่ขวนขวาย ขาดแรงจูงใจ เราเป็นชาติที่ไม่เคยเจอกับความลำบาก ไม่เหมือนคนจีนที่ประชากรมีจำนวนมาก ต้องปากกัดตีนถีบ ทำให้คนจีนต้องพยายามดิ้นรนพัฒนาตัวเองด้านภาษา เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ได้ทำงานที่มีรายได้ดี

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าคนไทยจะไม่มีคนเก่ง เพราะถ้าวิเคราะห์ตลาดแรงงานไทยต้องแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ กลุ่มเอ คือ กลุ่มที่ใช้ภาษาอังกฤษได้ดี กลุ่มบี คือ กลุ่มกลางๆ ใช้ภาษาอังกฤษได้ไม่ค่อยดี และกลุ่มล่าง มีปัญหาในการใช้ภาษาอังกฤษ ซึ่งในอนาคตเมื่อมีการเปิดประชาคมอาเซียนในปี 2558 แรงงานกลุ่มเอจะโยกย้ายไปหาความก้าวหน้ากันในบริษัทใหญ่ๆ ที่สิงคโปร์ มาเลเซีย ส่วนแรงงานกลุ่มบีและกลุ่มล่างที่ยังอยู่ในไทย ก็ต้องต่อสู้กับแรงงานจากต่างชาติที่หางานในประเทศตัวเองไม่ได้

“สถานการณ์นี้กำลังคืบคลานเข้ามา คนไทยเราต้องเลิกชิลได้แล้ว ประเทศเพื่อนบ้านเราขวนขวายเพื่อถีบตัวเองไปสู่ความก้าวหน้ามาก ยกตัวอย่าง ไกด์กัมพูชาในอดีตอาจนำเที่ยวไม่ได้ แต่สมัยนี้พูดภาษาอังกฤษดีกว่านักท่องเที่ยวไทย หรือแรงงานพม่า สมัยนี้ทำงานในร้านอาหาร ไม่ได้เป็นพนักงานเสิร์ฟ แต่บางคนภาษาอังกฤษดีก็เป็นคนที่ทำหน้าที่แนะนำเมนู

ดังนั้น คนไทยในทุกอาชีพต้องปรับตัว อย่างนักข่าวในอนาคตหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษอาจจะมีมากขึ้น เพื่อขยายกลุ่มคนอ่าน นักข่าวก็ต้องปรับตัว เพราะฉะนั้นคนไทยเราจะรอให้สถานการณ์แบบนี้มาบีบคอก่อนหรือ”

รศ.ดร.ศิริยุพา ยอมรับว่า ปัญหาการใช้ภาษาอังกฤษของคนไทยมีการพูดถึงมากว่า 10 ปีแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข เพราะแรงงานไทยเรายังอยู่รอดมาได้ แม้จะพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ แต่ในอนาคตแรงงานไทยที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้อาจจะอยู่ยากขึ้น

“หากจะหวังพึ่งนโยบายรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาคงยาก ทางที่ดีนายจ้างและสถาบันการศึกษาน่าจะหันมาร่วมมือกัน พูดคุยกันว่าต้องการบุคลากรแบบนี้ ภาคการศึกษาจะได้ป้อนแรงงานได้ตรงกับความต้องการของตลาด จริงๆ เรื่องพวกนี้น่าจะทำตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว แต่มาเริ่มตอนนี้ก็ยังดีกว่าไม่ได้เริ่ม เพราะการเรียนภาษาต้องใช้เวลาพัฒนา ส่วนที่หลายคนเริ่มหันไปหาภาษาที่ 3 ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ภาษาที่สองต้องแน่นก่อน และภาษาที่ 3 ต้องเลือกที่จะเป็นประโยชน์กับสายงานในอนาคต”

ภาษาอังกฤษ ยาขมที่คนไทยต้องกลืน

ถอดบทเรียน ฝึกภาษาอังกฤษให้ได้ผล

ภูมิ คุนผลิน เลขานุการ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไทยพัฒนาประกันภัย วัย 25 ปี ผู้ที่มีโอกาสไปเรียนที่ประเทศอังกฤษตั้งแต่ 9 ขวบ จนจบปริญญาตรีจากอังกฤษ และเป็นคนไทยคนเดียวในรุ่นที่สามารถสอบเข้าเพื่อศึกษาต่อในฮาร์โรว์สกูล โรงเรียนประจำชายอันดับหนึ่งของประเทศอังกฤษ และยังได้รับทุนทางด้านศิลปะจากโรงเรียนแห่งนี้ แถมยังได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้นำและเป็นหัวหน้าในรุ่น ได้ตีแผ่ปัญหาการเรียนภาษาอังกฤษของคนไทยเป็น 3 ประเด็น คือ 1.ขาดโอกาสได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษจากเจ้าของภาษาโดยตรง บางคนเรียนจบมาก็ไม่ได้ใช้สื่อสารในชีวิตประจำวัน 2.ขาดความพยายาม และ 3.ความกลัว ด้วยนิสัยคนไทยที่ค่อนข้างเป็นพวกหัวอนุรักษนิยม กลัวและเกรงใจไปทุกอย่าง จนบางครั้งกลายเป็นไม่ทำง่ายกว่า เลยไม่ได้ฝึกฝนทักษะการใช้ภาษา

“อีกปัญหาใหญ่คือ ระบบการสอนจากประสบการณ์ ผมว่าคนไทยเน้นเรื่องทฤษฎี เรื่องหลักไวยากรณ์เราแน่นมาก แต่เรื่องการนำไปใช้ ทักษะค่อนข้างต่ำ ทั้งที่ชั่วโมงเรียนของเด็กไทยมากกว่าเด็กฝรั่ง แต่เราเรียนแบบท่องจำ ไม่ได้เรียนด้วยความเข้าใจ”

ขณะที่ คณาธิป สุนทรรักษ์ ผู้ซึ่งตั้งใจลุกขึ้นมาฝึกฝนภาษาอังกฤษด้วยตัวเอง เพราะอยากเปิดโลกทัศน์จนกระทั่งก้าวสู่การเป็นติวเตอร์สุดแซ่บ และเป็นเจ้าของสถาบันกวดวิชา Angkriz เห็นว่า คนไทยต้องเปลี่ยนความคิดที่มีต่อคนที่ออกเสียงภาษาอังกฤษเลียนแบบฝรั่ง ว่าแรด ดูน่าหมั่นไส้ หรือใครที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้จะถูกมองว่าโง่ แต่อยากให้มองว่าภาษาเป็นเพียงเครื่องมือสื่อสาร

“คนไทยเรียนภาษาอังกฤษผิดวิธี แทนที่จะเรียนจาก ฟัง พูด อ่าน เขียน แต่คนไทยเรียน อ่าน เขียน พูด ฟัง ซึ่งเป็นการเรียนที่สวนทางกับธรรมชาติการเรียนรู้ของคนเรา นึกภาพตามง่ายๆ เหมือนเด็กเล็ก เริ่มหัดพูด ต้องเริ่มจากการฟังพ่อแม่พูด แล้วก็หัดเลียนเสียงตาม เด็กพูดได้ ทั้งที่ยังอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ แต่การเรียนภาษาอังกฤษ เราเรียนคำศัพท์ แกรมม่า ก่อนที่จะฟังและพูดได้ด้วยซ้ำ”

สำหรับคนไทยที่ยังแก้ตัวว่า เพราะภาษาอังกฤษไม่ใช่ภาษาแม่ คณาธิป มองว่า หมดยุคล่าอาณานิคมแล้ว เราแก้ไขอดีตไม่ได้ และคงไม่มีใครอยากตกเป็นเมืองขึ้นใคร แต่ต้องเข้าใจว่าเด็กยุคนี้ มีเครื่องมือในการเรียนภาษาอังกฤษมากมาย คนไทยเราเก่ง แต่ความอดทนต่ำ ความพยายามยังไม่พอ ยอมแพ้ง่าย

“จริงๆ ถึงจะอยู่ประเทศไทย แต่ภาษาอังกฤษก็มีอยู่รอบตัว แต่เราใช้เวลากับภาษาอังกฤษในแต่ละวันมากแค่ไหน ดูหนังที่ไม่มีซับไตเติลครั้งล่าสุดเมื่อไหร่ ฟังเพลงสากล แล้วเอาเนื้อเพลงมาหาความหมายเมื่อไหร่ หรือไปเดินสยามพารากอนบ่อยๆ เคยได้ยิน โบนันซ่า เคยไปหาความหมายของคำเหล่านี้หรือไม่

ภาษาอังกฤษมีให้ศึกษารอบตัว แต่คนไทยอยากเก่งแบบมีเวทมนตร์ ไม่พยายาม ที่เป็นแบบนี้ส่วนหนึ่งอาจเพราะคนไทยเราไม่ได้อยู่ในสภาวะที่ต้องอดตาย ถ้าพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ในอนาคตถ้าเปิดประชาคมอาเซียน มีแรงงานต่างชาติเข้ามา คนไทยเราจะมีแรงกระตุ้นและขวนขวายมากขึ้น ทางที่ดีเราไม่ควรรอให้ถูกดันเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องอดตาย แล้วค่อยเริ่มฝึกภาษาอังกฤษ” ติวเตอร์สุดแซ่บกล่าวทิ้งท้าย

Thailand Web Stat