พิเชตพล ทองชัชวาล ธุรกิจต้องไปคู่กับสังคมที่ดี
ด้วยเติบโตในสายงานโลจิสติกส์ อาจทำให้หลายคนสร้างกำแพงขึ้นในใจว่า สายงานนี้เป็นเรื่องใกล้ตัว
โดย...พุสดี สิริวัชระเมตตา ภาพ เสกสรร โรจนเมธากุล
ด้วยเติบโตในสายงานโลจิสติกส์ อาจทำให้หลายคนสร้างกำแพงขึ้นในใจว่า สายงานนี้เป็นเรื่องใกล้ตัว แต่หลังจากที่ได้พูดคุยกับ โอพิเชตพล ทองชัชวาล ผู้บริหารหนุ่มเจเนอเรชั่นใหม่ของ นอร์ทสตาร์ โลจิสติกส์ บาย บริษัท สมชายทรานสปอร์ต โลจิสติกส์ แล้ว ต้องบอกว่า โลจิสติกส์เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันเรามากกว่าที่คิด
ยกตัวอย่าง แค่เดินเข้าร้านสะดวกซื้ออย่างเซเว่นอีเลฟเวนหรือแม็คโคร ผลิตภัณฑ์ที่คุณเลือกจับจ่ายใช้สอยล้วนต้องอาศัยการโลจิสติกส์ หรือขนส่งมาจากโรงงาน และยิ่งกว่านั้น ไม่แน่ว่าสินค้าที่อยู่ในมือคุณขณะนี้ อาจเป็นสินค้าที่ของนอร์ทสตาร์ โลจิสติกส์ บาย บริษัท สมชายทรานสปอร์ต โลจิสติกส์ เป็นตัวกลางส่งตรงจากโรงงานถึงชั้นวางสินค้าตรงหน้า
ซีอีโอหนุ่ม บอกว่า ในเมืองไทยมีบริษัทที่โลจิสติส์สินค้าอยู่ไม่น้อย แต่ถ้าจะจัดอันดับบริษัทที่ทำแบบครอบคลุมทั้งประเทศ คงมีไม่เกิน 5 ราย และบริษัทของเขาเป็นหนึ่งในนั้น มีฐานลูกค้ากว่า 3,000 ราย เป็นตัวกลางขนส่งสินค้าในหลากหลายประเภทให้โมเดิร์นเทรด และในอนาคตเขาตั้งใจผลักดันบริษัทให้ก้าวไปอีกขั้น ด้วยการขยายธุรกิจออกไปให้ครอบคลุมทั่วอาเซียน ตอนนี้มีการขนส่งไปทั้งประเทศลาว เวียดนาม กัมพูชา และพม่า
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าโอกำลังไปได้สวยกับงานที่ทำ แต่ไม่น่าเชื่อว่า เขาจะไม่ได้รู้จักหรือสนใจงานด้านนี้มาก่อน เพียงแต่อยู่ในเบ้าหลอมของการค้าขายมาตั้งแต่เด็กเท่านั้น
“ผมโตมาในสภาพแวดล้อมของพ่อค้า นักธุรกิจ ผมเริ่มเข้าสู่วงการธุรกิจตอนเรียนอยู่ปี 3 เข้ามาช่วยกิจการไม้แปรรูปและธุรกิจส่งออกของครอบครัว เพราะเห็นว่าคุณพ่อเหนื่อย ต้องเดินทางไปๆ มาๆ เพื่อดูแลโรงงานที่ลาว ปรากฏว่า ทำไปทำมา ก็เหมือนเราได้เปิดโลก ได้ช่วยคุณพ่อขยายตลาด ไปหากลุ่มค้าปลีก เอาเศษไม้ในโรงงานที่เดิมต้องกลายเป็นของเสีย มาแปรรูปเป็นไม้ปาร์เก้ ก็ได้รับผลตอบรับดีมากๆ จากจุดเริ่มต้นนั้นผมเลยช่วยงานคุณพ่อมาตลอด”
โอ บอกว่า หลังจากช่วยงานที่บ้านมา 45 ปี ธุรกิจเริ่มลงตัว เขาจึงตัดสินใจออกเดินทางไปหามุมมองใหม่ๆ ด้วยการไปเรียนต่อด้านการตลาดที่บารุซ คอลเลจ นิวยอร์ก สหรัฐ เป็นเวลา 3 ปี พอเรียนจบเขาก็ถามตัวเองว่า จะทำอะไรต่อดี เนื่องจากธุรกิจไม้ที่บ้านน้องชายก็เข้ามาดูแล ประจวบเหมาะกับเป็นช่วงที่โอตัดสินใจแต่งงานเริ่มชีวิตคู่ และทางครอบครัวภรรยาทำธุรกิจโลจิสติกส์และนำเข้าเครื่องสำอาง เขาจึงตัดสินใจเข้ามาช่วยทำธุรกิจโลจิสติกส์ ที่ดำเนินบริษัทขนส่งและกระจายสินค้ามามากกว่า 40 ปี
“ตอนมาทำงานใหม่ๆ ผมไม่รู้เลยว่าเนื้องานของโลจิสติกส์ต้องทำอะไรบ้าง ผมใช้เวลาครึ่งปีเพื่อเรียนรู้โครงสร้างการทำงาน ตั้งแต่การรับส่งของ ไปเป็นเซลล์ เป็นผู้จัดการสาขาตามศูนย์กระจายสินค้า”
ด้วยความทุ่มเทและเอาจริงเอาจัง ทำให้ธุรกิจของเขาได้รับรางวัลมาตรฐานคุณภาพบริการรถบรรทุก และรางวัลมาตรฐานคุณภาพบริการขนส่งด้วยรถบรรทุกขั้นก้าวหน้า จากกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ในปี 2553 และในปี 2555 ยังได้โล่รางวัลดีเด่น ด้านการส่งเสริมและปรับปรุงเทคโนโลยีและวิศวกรรม จากโครงการส่งเสริมระบบบริหารจัดการขนส่งเพื่อการประหยัดพลังงาน
โอ บอกว่า อุดมการณ์ในการทำงานของเขา คือ ต้องเปิดใจและรับฟังความคิดเห็นของผู้ร่วมงาน เพื่อเพิ่มประสบการณ์อื่นๆ ไว้เป็นความรู้ และนำมาพัฒนาการทำงานของตนเองอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ ต้องยึดมั่นในความจริงใจ และระมัดระวังไม่ให้เกิดการเอาเปรียบผู้อื่นในการทำธุรกิจ เพราะความสำเร็จที่ได้มาจากการเอาเปรียบผู้อื่นไม่ใช่ความสำเร็จที่แท้จริง
อย่างไรก็ตาม นอกจากงานที่ทำอยู่แล้ว ถามถึงธุรกิจในฝัน โอ บอกว่า ทุกปีจะหาเวลาเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศให้ได้ 2 ครั้ง ทุกครั้งที่ไป จะชอบไปพักตามบูติกโฮเทลของประเทศต่างๆ ได้เห็นเจ้าของบูติกที่เป็นคู่สามีภรรยา ก็รู้สึกประทับใจ และคิดว่าถ้าเกษียณ ก็อยากจะทำธุรกิจแบบนี้บ้าง
สำหรับไลฟสไตล์วันว่าง โอ บอกว่า ชอบอ่านหนังสือ ทำบุญ แต่ที่ขาดไม่ได้ คือ ออกกำลังและเล่นกีฬา ทั้งฟุตบอล ชกมวย และกอล์ฟ อย่างชกมวย ถือเป็นกีฬาแก้เครียดได้ดี ได้ปลดล่อย แถมกลับบ้านยังหลับสบาย พร้อมสู้กับวันต่อไป ขณะที่ฟุตบอล เป็นกีฬาที่ทำให้ได้เจอเพื่อนเก่าๆ ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
ส่วนหลักการในการใช้ชีวิตนั้น โอยกเอาหลักคำสอนในพุทธศาสนา ซึ่งเจ้าตัวออกตัวว่าเป็นวิชาเดียวที่เชิดหน้าชูตาตอนเด็ก ได้เกรด 4 ตลอด นั่นคือ หลักอิทธิบาท 4 พอใจในงานที่ทำ มีความพยายามไม่ย่อท้อต่อความลำบาก มุ่งมั่นในเรื่องที่ทำ และทบทวนความบกพร่องของตัวเอง
อีกมุมของผู้บริหารรุ่นใหม่
ถึงจะดูลุคเป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่ แต่เรื่องธรรมะธัมโม โอให้ความสำคัญมากๆ ถึงขนาดบอกว่า การทำธุรกิจขนส่งก็เป็นการทำบุญอย่างหนึ่ง
“บางครั้งที่บริษัทจะมีพระหรือมูลนิธิมาฝากเราส่งของไปช่วยเหลือเด็กยากไร้ตามที่ไกลๆ ผมจะยินดีมากๆ ยินดีจะบริการให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ถือว่าเป็นการร่วมอนุโมทนาบุญ บางทีก็ฝากของไปร่วมทำบุญด้วยเลย”
นอกจากนี้ เขายงให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจควบคู่ไปกับการช่วยเหลือสังคม ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา ได้มีกิจกรรมช่วยเหลือเด็กกำพร้าตามสถานที่รับเลี้ยงเด็กกำพร้าทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยชวนพนักงานในบริษัทไปร่วมกันทำบุญ และในช่วงวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ที่ประชาชนผู้ประสบภัยขาดแคลนอาหาร น้ำดื่ม เครื่องอุปโภคบริโภค โอยังเป็นหัวเรือใหญ่ในการเปิดศูนย์กระจายสินค้าชั่วคราว และระดมทีมงานและพันธมิตรทางธุรกิจ บริจาคสินค้าช่วยเหลือผู้ประสบภัย เพื่อแก้ปัญหาสินค้าอุปโภคบริโภคขาดตลาดให้กับประชาชนและลูกค้าพันธมิตร แม้ว่าโรงงานตัวเองจะน้ำท่วม รถจมน้ำไปร่วม 10 คันก็ตาม